Image

ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

จากเขาใหญ่-ห้วยขาแข้ง-บูโด สู่เมือง

ศิริวรรณ นาคขุนทด
นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก

จากจุดเริ่มต้นสู่ตำนาน งานวิจัย“นกเงือก” (ภาคสนาม)
กว่า ๔ ทศวรรษ

สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก

นับตั้งแต่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ ริเริ่มงานวิจัยนกเงือกในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ และจัดตั้งมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๖ ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ความรู้แง่มุมต่าง ๆ ของนกเงือกเพิ่มพูนขึ้นในสังคมไทย มีผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งภายในประเทศและนานาชาติ มีบทความทางวิชาการรวมทั้งเรื่องนกเงือกถูกนำเสนอในสื่อต่าง ๆ เป็นช่วงเวลากว่า ๔ ทศวรรษแห่งการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เรื่องนกเงือก

งานศึกษาเรื่องนกเงือกของอาจารย์พิไลเริ่มต้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ก่อนขยับขยายไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส และพื้นที่อื่น ๆ

ปัจจุบันมูลนิธิมีงานวิจัยที่ต้องรับผิดชอบหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการอนุรักษ์นกชนหินในภาคใต้  การฟื้นฟูประชากรนกกกในพื้นที่อนุรักษ์ทางภาคเหนือ  จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการทำวิจัยนกเงือก  ฝึกปีนต้นไม้ซ่อมแซมโพรงรัง  การเดินลาดตระเวนสำรวจประชากรนกเงือกให้เจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มอาสาสมัคร ชาวบ้านที่เป็นผู้ช่วยวิจัย  นอกจากนี้ยังเข้าไปเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของนกเงือกในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา  เกาะช้าง จังหวัดตราด เป็นต้น

ขณะเดียวกันโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกซึ่งถือเป็นโครงการหลักของทางมูลนิธิก็ยังดำเนินการต่อเนื่องในสามพื้นที่หลัก เขาใหญ่-ห้วยขาแข้ง-บูโด โดยมีนักวิจัยภาคสนามห้าคนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ประกอบด้วย ศิริวรรณ นาคขุนทด  กมล ปล้องใหม่  ณรงค์ จิระวัฒน์กวี  พิทยา ช่วยเหลือ และ ปรีดา เทียนส่งรัศมี

ยากปฏิเสธว่าการทำงานอยู่เงียบ ๆ ในราวป่าของนักวิจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อการคุ้มครองอนุรักษ์นกเงือกและธรรมชาติ

ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการที่มีอายุยาวนาน หากแต่เป็นงานวิจัยที่จริงจังต่อเนื่องมากที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทย ที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานความรู้ด้านปักษีวิทยา (ornithology) และนิเวศวิทยาสัตว์ป่า (wildlife ecology) ให้โลกใบนี้

Image

ทีมวิจัยนกเงือกนำโดย ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ ใช้ตาข่ายดักจับนกกกหรือนกกาฮังเพื่อติดวิทยุ ศึกษาอาณาเขตการหากินและพฤติกรรม ราวปี ๒๕๕๒ คนซ้ายคือ บุญมา แสงทอง อดีตเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ร่วมบุกเบิกศึกษางานวิจัยนกเงือกมาตั้งแต่เริ่ม คนขวาคือ ศิริวรรณ นาคขุนทด ปัจจุบันยังเป็นนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก

Image