งานเสวนาเรื่องเล่าจากตากใบ เมื่อ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๗ เจ้าของความทรงจำสี่ท่านจากชายแดนใต้ มีโอกาสได้มาเล่าความทรงจำ ๒๐ ปี ให้พี่น้องในเมืองหลวงฟัง ท่ามกลางสิ่งของจัดแสดงในนิทรรศการ “ลบไม่เลือน ๒๐ ปี ตากใบ” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน
มองต่างตากใบ
ผู้ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“เหตุการณ์ตากใบ” เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เกิดขึ้นและสิ้นสุดในวันเดียว แต่ถูกนับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งสำคัญใน “สถานการณ์ไฟใต้” อันต่อเนื่องยาวนาน เป็นเหตุการณ์ชายแดนใต้ที่มีการสูญเสียชีวิตมากที่สุด ที่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าปรัมปรา มีผู้เข้าร่วมเกี่ยวข้องรู้เห็นอยู่ในเหตุการณ์หลายพันคน เป็นกรณีที่รัฐยอมรับและมีการกล่าวคำขอโทษเป็นทางการ และได้จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นฟ้องร้องคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทั้งนี้นอกจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง “เหตุการณ์ตากใบ” ยังเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับหลายคนหลายฝ่าย ซึ่งต่างมีความเห็น ข้อเสนอ ข้อเรียกร้องจากมุมมองของตน ในการจัดการความทรงจำ ชำระ และบันทึกเหตุการณ์ตากใบไว้เป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่หวังว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก
“คงมีสักวันหนึ่ง ที่คนที่เขาต้องการ
ให้มาขอโทษจะมาปลดล็อกนี้”
พ.อ. อุทัย รุ่งสังข์
ทำงานป้องกันชายแดนใต้มาร่วม ๓๐ ปี
ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี ค่ายสิรินธร กอ.รมน. ส่วนหน้า
ตอนเกิดเหตุการณ์ผมเป็นนายทหารยศพันตรี อยู่หน่วยป้องกันชายแดนอยู่ที่ทุ่งสง เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน ๔ มกราคม ๒๕๔๗ มีการตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมอยู่ในส่วนหลังที่คอยช่วยสนับสนุนส่งเสริม จนเลื่อนยศเป็นพันโทก็ได้มาเป็นครูฝึกอยู่ที่ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
ผู้ชุมนุมจากเหตุการณ์ตากใบที่ถูกจับกุม ถูกคัดกรองเป็นกลุ่ม ๆ ที่ต้องสงสัยถูกตั้งข้อกล่าวหานำไปสอบสวนกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องปล่อยตัวกลับบ้าน กลุ่มกลาง ๆ ที่อาจกล่าวว่าเป็นสีเทา ๆ จำนวนเกือบ ๒๐๐ คน ถูกส่งตัวไปศูนย์อบรมมวลชนเสริมสร้างสันติสุข ในค่ายรัตนพล ผมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครูฝึก มีลูกทีมราว ๒๐ คน ดูแลอบรมคน ๒๐๐ นี้ให้เข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน ซึ่งผมก็ได้เข้าใจเขาไปด้วย
ไม่ใช่ประวัติศาสตร์
ที่น่าจดจำ แต่จะบังคับ
ให้เลือนหายไปคงไม่ได้
“รู้ว่าเราจะแพ้ แต่ชนะที่ให้สิทธิ์
กับผู้เป็นเหยื่อได้สู้”
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
อยู่ในทีมทนายความมุสลิมของทนายสมชาย นีละไพจิตร มาตั้งแต่เรียกร้องผลักดันให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงและเหตุการณ์รุนแรงชายแดนใต้ อยู่ในทีมทนายจำเลยในคดีตากใบ และเป็นทีมทนายโจทย์ในคดีฟ้องแพ่งเรียกค่าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ล่าสุดกำลังยื่นฟ้องคดีอาญาต่อผู้สั่งการสลายการชุมนุมตากใบ ก่อนคดีจะหมดอายุความในเดือนตุลาคม ๒๕๖๗
“การจับคนซ้อนกันอย่างนั้น
ไม่ใช่การกระทำที่คนจะอยู่ได้”
อับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด
ผู้ทำพิธีกรรมให้กับกลุ่มผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ
เจ้าของปอเนาะบาบอแม* (ดารุลกุรอานิลการีม)
อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส
*บาบอ เจ้าของปอเนาะ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
“เป็นความทรงจำที่ไม่อยากจำ
แต่ถ้าเราไม่จำเขาเจ็บปวดกว่า”
ฮากิม พงตีกอ
ผู้นำเยาวชน นักกิจกรรม
เลขาธิการ The Patani ภูมิภาค Barat Laut
สังคมชายแดนใต้ถูกผลิตซ้ำจากเหตุการณ์ จากชุดนโยบาย ความรุนแรง การถูกซ้อมทรมานจากทหาร รวมทั้งการอุ้มหายที่ถูกเล่าซ้ำ ยิ่งถ้ามีเกิดขึ้นซ้ำก็จะยิ่งย้ำความเจ็บปวด คนรุ่นใหม่เกิดมาก็ยังแบกความเจ็บปวดอยู่ ความทรงจำความเจ็บปวดถูกส่งผ่านสำนึกชาติพันธุ์ เรื่องหะยีสุหลงผมเกิดไม่ทัน แต่ก็มีสำนึกเจ็บปวด
เป็นการถามหาความเป็นธรรม ที่ว่าตายเพราะขาดอากาศ ใครทำให้ขาดอากาศ ปัจจุบันก็ยังถามว่าใครคืออากาศ ต้องไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกกับคนรุ่นหลัง ให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพโดยใช้บทเรียนของกรณีตากใบ
“แค่มีคนไปเยี่ยม รับฟังเขาแบบเข้าใจ เขาก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว”
โซรยา จามจุรี
ประธานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (CIVIC WOMEN) อาสาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงชายแดนใต้
บางคนอาจมองว่าการเยียวยาเป็นงานสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือ ให้เงิน วัตถุสิ่งของ แล้วจบ จริง ๆ ไม่ใช่ มันยิ่งใหญ่กว่านั้น การเยียวยาเป็นงานสันติวิธีด้วย เหมือนเป็นการไปกู้ทุ่นระเบิด ผู้ได้รับผลกระทบเหมือนทุ่นระเบิด ถ้าไม่กู้ก็มีวันระเบิดขึ้นได้ เราพยายามตัดวงจรการใช้ความรุนแรง
ช่วงต้นช่วยครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ ที่มีผู้เสียชีวิต ๓๒ คน เราไปช่วยแม่ ๆ ลูก ๆ ของผู้เสียชีวิต คนข้างนอกอาจมองว่าเยียวยาทำไมลูกเมียโจร
เป็นการช่วยในมิติการเยียวยา ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไม่มีพรมแดน ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร แต่คนที่เหลืออยู่ที่บ้านเป็นผู้บริสุทธิ์ พ่อเขาเป็นโจรจริงไหมก็ยังบอกไม่ได้ ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่เขาโดนยิงเสียชีวิตไปก่อน
ให้เขาเข้มแข็ง ไม่รู้สึกว่าเป็นเหยื่อ แต่เป็นนักคุ้มสิทธิที่ลุกมาช่วยเหลือตัวเอง และให้การเยียวยาคนอื่นได้ด้วย