Image

วงแหวนแห่งไฟ
๙ เหตุการณ์เกี่ยวเนื่อง
ในสถานการณ์ไฟใต้

scoop

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

นับกันว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เรียกกันว่า “ไฟใต้” เริ่มต้นขึ้นจากเหตุการณ์ปล้นปืน ๔ มกราคม ๒๕๔๗ จากนั้นก็ลุกลามต่อเนื่องมา บางช่วงรุนแรงบางช่วงเบาบาง แต่ไม่ขาดหาย

แต่ว่าตามจริงรากเหง้าของปัญหาไฟใต้ไม่ได้เพิ่งเริ่มเมื่อปี ๒๕๔๗ แต่มีเชื้อปะทุมายาวนานก่อนนั้น กล่าวเฉพาะช่วงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ก็นับตั้งแต่การจับกุมหะยีสุหลง นักสู้เพื่อคนมลายูมุสลิมชายแดนใต้เมื่อปี ๒๔๙๑ และอุ้มหายไปในอีก ๖ ปีต่อมา แต่เขายังอยู่ในฐานะวีรบุรุษแห่งยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของท้องถิ่นชายแดนใต้ที่หมายถึงสามจังหวัดกับสี่อำเภอตอนล่างของสงขลา ผู้เปรียบเสมือนอิฐก้อนแรกบนเส้นทางการต่อสู้ ที่ยังมักถูกยกมาปลุกเร้าจิตใจของนักสู้เพื่อคนมลายูมุสลิมมาจนปัจจุบัน

กับอีกเหตุการณ์สำคัญคือประวัติศาสตร์ดุซงญอ ที่เป็นการปะทะระหว่างคนมุสลิมท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐ และจบลงด้วยการนองเลือดเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ ซึ่งต่อเนื่องมาเป็นเหตุการณ์ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ หรือที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์กรือเซะ” และอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงเหตุร้ายรายวันที่ต่อเนื่องวนซ้ำเป็นวงแหวนความรุนแรงที่ยังไม่มีจุดจบ

เฉพาะในช่วง ๒๐ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ มีสถิติตัวเลขของทางการที่ผ่านการลงมติร่วมของสามฝ่าย ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองแล้วว่าเป็น “เหตุความมั่นคง” หรือเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนตัว รวมทั้งสิ้น ๑๐,๓๙๒ ครั้ง

ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม ๔,๕๗๗ ราย บาดเจ็บรวม ๑๑,๓๔๙ ราย

จ่ายเงินเยียวยาเหยื่อความรุนแรงไปแล้วในช่วง ๒๐ ปีงบประมาณ รวมทั้งสิ้น ๔,๒๗๘ ล้านบาท

และใช้งบใน “แผนงานดับไฟใต้” ไปแล้วร่วม ๕ ล้านล้านบาท

ไม่เพียงงบประมาณมหาศาล 
รัฐยังมีกฎหมายพิเศษ* อย่างกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้อีกครั้งเมื่อปี ๒๕๔๗  พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘  พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาประกาศใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ก็ยังไม่อาจหยุดยั้งห่วงโซ่ความรุนแรง

ปัญหาไฟใต้ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป แต่มีส่วนเกี่ยวโยงถึงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง ชาติพันธุ์ พื้นที่ ซึ่งเคยเป็นรัฐปาตานีมาก่อน

บางทีการมองเห็นปัญหาตลอดสายอย่างทั่วถึงถ่องแท้ หวังว่าจะมีส่วนช่วยคลี่คลายสถานการณ์ไปได้ตามภวปัจจัย เพราะการดับไฟใต้คงไม่อาจฝากไว้ในมือใครเพียงลำพัง แต่เป็นภาระร่วมของผู้คนทั้งสังคม

Image

ดุซงญอ

เมื่อการปกป้องตนเองกลายเป็นกบฏ

“หนังสือสำคัญฉบับนี้ออกให้...(ผู้มารายงานตัว) ได้หลบหนีไปคราวเกิดจลาจล ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อข้าหลวงประจำจังหวัดนราธิวาสแล้วตามระเบียบ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๙๒ จึงออกหนังสือนี้ให้เป็นหลักฐานว่าเป็นผู้ที่จะประพฤติตนเป็นพลเมืองดีแล้ว ไม่มีกรณีใด ๆ เกี่ยวข้อง”

ณายิบ อาแวบือซา แสดงข้อความในหนังสือมอบตัวของผู้ผ่านเหตุการณ์ดุซงญอรายหนึ่งที่ลูกชายเก็บรักษาไว้และเอาให้เขาดูพร้อมเล่าเหตุการณ์ให้ฟังตามที่รับรู้

Image

เหตุการณ์ในหมู่บ้านกลางหุบเขาสันกาลาคีรี เป็นข่าวใหญ่บนหน้า ๑ หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๙๑ ในเนื้อข่าวระบุว่า “เหตุร้ายในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เช้าวานนี้ มีรายงานข่าวต่อมาว่าพวกก่อการจลาจลได้ยึดเอาหมู่บ้านจะแนะกับหมู่บ้านลุงยอ ตั้งเป็นป้อมค่ายขึ้นต่อสู้กับกำลังฝ่ายปราบปรามของรัฐ และตั้งข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเรียกร้องของอิสลามิกชนในบริเวณ ๔ จังหวัด ๗ ข้อ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ได้เคยขอมาครั้งหนึ่งแล้ว...”

Image

หะยีสุหลง
อับดุลกอเดร์

นักต่อสู้เพื่อมุสลิมชายแดนใต้ที่ถูกอุ้มหาย

“กรณีท่านหะยีสุหลง ใช้เวลา ๕๒ ปี กว่าจะคลายล็อกได้”

พ.อ. อุทัย รุ่งสังข์ รอง ผอ. ศูนย์สันติวิธี กล่าวถึงเหตุการณ์ที่นับกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้ยุคใหม่ที่ยังเป็นความเจ็บปวดติดค้างใจของคนในครอบครัว และเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่มักถูกหยิบยกมาเล่าขานปลุกจิตใจการต่อสู้ของขบวนการต่อต้านรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้

โดยในส่วนแรกได้รับการคลี่คลายไปบ้างแล้ว

“ท่านไกรศักดิ์ ลูกหลานตระกูลชุณหะวัณ มาขอโทษบุตรหลานของท่านหะยีสุหลง ตระกูลโต๊ะมีนาที่ปัตตานีถึงความผิดพลาดของตระกูลที่มีส่วนทำให้ท่านหายไป  มีการยอมรับและขอโทษ ทางตระกูลผู้สูญเสียก็คลายล็อกทางจิตใจ”

หะยีสุหลงถูกอุ้มหายไป ๗๐ ปีแล้ว แต่เขายังอยู่ในฐานะวีรบุรุษของผู้ต่อสู้เพื่อมุสลิมปาตานี

ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image