Image

ตากใบ
คดีที่ไม่มีวันหมดอายุความ
ในใจคนชายแดนใต้
คุยกับ อาอีเส๊าะ อาเย๊าะแซ
และ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

Interview

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ณ วันเกิดโศกนาฏกรรมตากใบ อาอีเส๊าะ อาเย๊าะแซ ทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา ยังเรียนอยู่แค่ประถมศึกษาปีที่ ๖  อาอีเส๊าะในวัยเด็กรู้ว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบและผู้เสียชีวิต แต่ไม่รู้รายละเอียดอื่น ๆ ที่ลึกไปกว่านั้น เพราะยังเสพข่าวสารจากโทรทัศน์ของเพื่อนบ้านเพียงช่องทางเดียว และยังไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้ชัดเจนนัก

แต่เธออยู่กับเหตุการณ์ความไม่สงบที่กระทบกับวิถีชีวิตมาโดยตลอด เช่น โรงเรียนในจังหวัดยะลาถูกเผา ต้องหยุดเรียนไปช่วงหนึ่งเพราะครูไม่กล้ามาสอน, รู้ว่ามีโครงการพับนกกระดาษสู่ชายแดนใต้ พับนกทำไมพับนกให้ใคร เพื่ออะไร ทำให้เธอเข้าใจได้ไม่ยากว่าบ้านตัวเองไม่มีความสงบและไม่รู้ว่าจะสงบเมื่อไร

“พอโตขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราจำเป็นต้องรู้กฎหมาย เพื่อที่จะ หนึ่ง ปกป้องดูแลครอบครัว  สอง สามารถเอาความรู้ที่เรามีไปช่วยเหลือคนอื่นต่อ ยิ่งโดยเฉพาะทนายผู้หญิงมีค่อนข้างน้อย เราคิดว่ากฎหมายคือสิ่งจำเป็นสำหรับคนในพื้นที่บ้านเราหรืออย่างน้อยที่สุดคือคนในหมู่บ้านของเรา ครอบครัวเรา หรือจังหวัดที่เราอยู่”

ปี ๒๕๔๗ เต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่หลายคนจำไม่ได้ แต่หลายคนลืมไม่ลง ทั้งเหตุการณ์ตากใบ การปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ และการบังคับและประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างเคร่งครัด ตามมาด้วยการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งมอบอำนาจมหาศาลให้กับฝ่ายทหารหรือกองทัพไทยในการกำกับชีวิตคนในสามจังหวัดชายแดนใต้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในอดีตก่อนหน้านั้นเธอเองก็ยังไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดฯ มากนักจนกระทั่งได้ทำงานช่วยเหลือสภาทนายความเรื่องการสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทำให้เธอได้สัมผัสกับความรุนแรงที่สะสมอยู่ในพื้นที่

“ตอนนั้นพวกเราตระเวนไปในพื้นที่เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนได้รับมอบหมายให้ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเพราะว่าที่นั่นมีศพ เสียชีวิตไป ๗๙ รายด้วยกัน ส่วนอีก ๖ รายเสียชีวิตที่ สภ.อ. ตากใบ และอีกพันกว่าคนยังไม่ได้ถูกปล่อยตัว ส่วนเราได้รับมอบหมายให้ไปที่นราธิวาส ช่วงนั้นน่าจะเป็นช่วงแรกที่มีการแจกซีดีบันทึกภาพตากใบ สิ่งที่เราจำได้คือ มีน้องนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ช่วยทีมทนายความ พาเราไปตามสถานที่ต่าง ๆ  พอเปิดซีดีภาพข่าวในรถตู้ น้องนักศึกษาคนนี้ก็ร้องไห้โฮ เราตกใจมากก็เลยรู้ว่านี่เรื่องใหญ่มหาศาล ความรุนแรงในเหตุการณ์ตรงนั้นกลายมาเป็นความรุนแรงอีกชั้น และหลาย ๆ ชั้น”

ต่อมาทนายอาวุโส รัษฎา มนูรัษฎา เป็นบุคคลสำคัญในการริเริ่มคดีอาญาฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ข้อหาฆ่าผู้อื่น หน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากเหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.อ. ตากใบ โดยได้รวบรวมพยานหลักฐานที่ดีในช่วงปี ๒๕๔๘ ไม่ว่าจะเป็นสำนวนคดีไต่สวนการตาย คดีฟ้องแพ่ง คดีไต่สวนการตายทั้งผู้เสียชีวิตที่หน้า สภ.อ. ตากใบ การไต่สวนการเสียชีวิตของกลุ่มที่เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจจากการกดทับที่ค่ายอิงคยุทธฯ

ปีนี้คือปี ๒๕๖๗ กว่า ๒๐ ปีให้หลัง การยื่นฟ้องคดีอาญาตากใบกำลังแข่งกับการหมดอายุความ 

สารคดี นั่งย้อนรอยเรื่องราวเหตุการณ์ตากใบและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้กับทนายอาอีเส๊าะและพรเพ็ญที่เวทีเสวนาหัวข้อ “๒๐ ปี แห่งความขัดแย้ง : หนทางการค้นหาความจริง เยียวยา และการนำคนผิดมาลงโทษในบริบทจังหวัดชายแดนใต้” ภายในงาน “ความหวังหลังความเจ็บปวด : วังวนความรุนแรงทางการเมือง ผ่านเรื่องเล่าจากผู้ได้รับผลกระทบ”

เด็กหญิงอาอีเส๊าะในอดีต กลายมาเป็นทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา

นางสาวพรเพ็ญในอดีต กลายมาเป็นผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เดินทางลงไปสามจังหวัดชายแดนใต้บ่อยครั้ง และเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา เธอเป็นทีมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ ผู้รับมอบอำนาจครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจากตากใบ ส่งหมายเรียกเพื่อขอเอกสาร คำสั่ง และรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ตากใบหลายฉบับ รวมถึงได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งไม่ฟ้องกรณีเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมหน้า สภ.อ. ตากใบ

เดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๗ คดีการยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเก้ารายกำลังจะหมดอายุความ

คดีตากใบ

คดีตากใบต่างจากคดีอื่น ๆ ที่ทำมาอย่างไรบ้าง

ทนายอาอีเส๊าะ : เราเป็นทนายความที่ได้รับมอบหมายจากทนายความรุ่นพี่ ให้จัดเตรียมเอกสารเพื่อประกอบในสำนวนคดี รวมถึงการติดต่อประสานงานกับญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นการทำงานเป็นทีมของทีมทนายความผู้ช่วยและผู้ช่วยทนายความ เพื่ออุทิศความรู้ พละกำลังและความคิดของเราให้เต็มที่ เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม ชาวบ้านก็รวบรวมเอกสารหลักฐานมามอบให้ทีมทนายของเราเพื่อริเริ่มฟ้องคดีตากใบเอง โดยฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลยคดีอาญาที่ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตและบาดเจ็บ

เหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้คนเข้าใจมากขึ้นว่าการซ้อมทรมาน การอุ้มหายคืออะไร แล้วคนในพื้นที่รู้สึกอย่างไรบ้าง

พรเพ็ญ : จริง ๆ เราเคยเห็นภาพลักษณะคล้าย ๆ เหตุการณ์ตากใบสมัยเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม และ ๑๔ ตุลาคม ที่เราอาจจะได้ชัยชนะจากการที่ทุกคนใช้สิทธิในการชุมนุมเรียกร้อง ตอนนั้นคำว่า “สิทธิในการชุมนุม” ยังไม่ได้เป็นคำสามัญที่เราใช้กัน ต่อมาพี่น้องตากใบก็รู้สึกประมาณนี้ คือพอคนกรุงเทพฯ เขาประท้วงชุมนุม ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ และใช้คำว่า “สิทธิมนุษยชนในการชุมนุม” คนสามจังหวัดฯ ถึงเพิ่งรู้ว่ามีสิทธินี้ด้วยเหรอ แต่พวกเขาทำไม่ได้ ทำแล้วถึงตาย เลยกลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นภายหลังว่าทำไมเขาชุมนุมแล้วถึงตาย เพราะก่อนหน้านั้นมันตลบอบอวลไปด้วยความหวาดกลัว  ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็มีเยอะมาก นั่นคือ ๑,๓๐๐ กว่าคนที่ตอนนี้เราเรียกเขาได้ว่าเป็นผู้เสียหายจากการทรมาน

Image

Image