Image

พระยาพหลฯ คือ
“เสาหลัก” ของคณะราษฎร
ผศ. ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๓ มุมมอง กรณีพระยาพหลฯ

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

“พระยาพหลฯ เป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเชษฐบุรุษหรือรัฐบุรุษผู้ใหญ่ ที่ถือเป็นเสาหลักของคณะราษฎรที่ได้รับการยกย่องจากสมาชิกคณะราษฎรทุกฝ่าย รวมถึงมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ให้แก่ประเทศชาติคือ หนึ่ง เปลี่ยนแปลงการปกครอง  สอง พิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ประคองระบอบใหม่ให้เข้ารูปเข้ารอย วางรากฐานให้มั่นคง ปูทางให้การสร้างชาติของจอมพล ป. ในระยะถัดไป  หลายเรื่องในยุคจอมพล ป. มีแนวคิดตั้งแต่สมัยพระยาพหลฯ แล้ว  สาม  ทำให้สถาบันกษัตริย์ดำรงคงอยู่ในระบอบใหม่ บทบาทนี้จะเห็นตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมาจนถึงช่วงรัชกาลที่ ๗ สละราชบัลลังก์ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเหล่านี้ ถ้าไม่มีพระยาพหลฯ เป็นผู้นำ การเมืองอาจจะพลิกผันเปลี่ยนไปจากที่เราเห็นในยุคปัจจุบัน

“ภายในคณะราษฎรมีคนหลากหลายแนวคิดและอุดมการณ์ นับตั้งแต่สังคมนิยม เสรีนิยม จนไปถึงอนุรักษนิยมบุคลิกของพระยาพหลฯ เป็นคนใฝ่ธรรมะ ไม่อยากมีอำนาจมีลักษณะประนีประนอม คุยได้ทุกฝ่ายรวมถึงกลุ่มขุนนางเก่าและกลุ่มเจ้านาย เป็นผู้มีบารมีระดับหนึ่งที่สามารถโน้มน้าวสมาชิกคณะราษฎรได้ พระยาพหลฯ เป็นคนที่เลือกใช้คนเป็นด้วยการมอบหมายหน้าที่แก่บุคคลตามความรู้ความสามารถ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถึงเวลาคับขัน พระยาพหลฯ ก็กล้าที่จะตัดสินใจด้วยความเด็ดขาด

“ในแง่บทบาท ก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระยาพหลฯ
เป็นนายทหารที่เรียนจบจากยุโรป แต่ก็ไม่มีบทบาทสำคัญในการคุมกำลังพล เมื่อพระยาพหลฯ เข้าร่วมกับคณะราษฎรก็ได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะราษฎรจากความอาวุโสสูงสุด หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง บทบาททางการเมืองที่โดดเด่นไปตกอยู่กับ ปรีดี พนมยงค์ ขณะที่บทบาทด้านความมั่นคงจะไปตกอยู่กับพระยาทรงฯ ส่วนพระยาพหลฯ จะเห็นบทบาทชัดเจนเมื่อท่านดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว 

เพราะมี "พระยาพหลฯ อยู่ คณะราษฎรถึงรวบรวมผู้คนได้

Image

บทสัมภาษณ์พระยาพหลฯ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งให้ภาพเบื้องหลังเหตุการณ์ ๒๔๗๕
(หนังสือของ อ. ศรัญญู เทพสงเคราะห์)

“ปัญหาซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ปี ๒๔๘๐ ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ ที่มีการขายที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกให้แก่สมาชิกคณะราษฎรระดับรองและบุคคลทั่วไป เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นเพราะมีการอภิปรายในสภาโดยนายเลียง ไชยกาล สส. อุบลฯ ผมมองว่าเป็นความรับผิดชอบของคณะราษฎรการกระทำแบบนี้ตามหลักการไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดจริยธรรมเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีแรก ๆ ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ

Image