Image
“บทบาทการนำของพระยาพหลฯ
ไม่สามารถประเมินค่าได้”
พล.อ. บัญชร ชวาลศิลป์
นายทหารปืนใหญ่
ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ ๒๔๗๕
๓ มุมมอง กรณีพระยาพหลฯ
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
“ตอนเขียนหนังสือเรื่อง ๒๔๗๕ : เส้นทางคนแพ้ ผมไม่ค่อยเขียนถึงพระยาพหลฯ เพราะมองว่าท่านไม่ค่อยมีบทบาท แต่พอศึกษาลงลึกมากขึ้น พบว่าบุคคลนี้ได้รับความนับถือจากคนจำนวนมาก ท่านไม่มีอำนาจคุมกำลัง แต่ในยุคที่กองทัพไทยมีขนาดเล็ก นายทหารรู้จักกันเกือบหมด พระยาพหลฯ คือนายทหารที่วางตัวอย่างเที่ยงธรรม ไม่มีอำนาจแต่มีผู้คนมาพูดคุยปรึกษา เมื่อพระยาพหลฯ พูดคนจะฟัง ถ้าใช้คำว่าบารมีอาจจะดูเลื่อนลอยเกินไป ภาษาที่เหมาะสมคือ ‘มีความน่าเชื่อถือ’ ไม่ต่างกับเวลาพ่อบอกลูก ลูกก็จะเชื่อมั่นในตัวของพ่อ เวลาเกิดความขัดแย้งท่านก็วางตัวได้ดี ไม่ได้เข้าข้างใคร จึงเป็นคนที่ยึดเป็นหลักได้
“ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ บทบาทการนำของพระยาพหลฯ ไม่สามารถประเมินค่าได้ ถ้าพระยาพหลฯ เกิดยกเลิก คณะราษฎรก็คงต้องสลายตัว แต่นี่คนในคณะฟังท่าน ประโยคที่เขาพูดกันในยุคนั้นว่า ‘รัฐธรรมนูญคือลูกของพระยาพหลฯ’ ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนว่าคนเชื่อมั่นในตัวพระยาพหลฯ มาก ไม่ว่าทหาร พลเรือน หรือราษฎรทั่วไป

“หลายครั้งที่พระยาพหลฯ น่าจะเป็นคนสำคัญที่ช่วยยุติความขัดแย้งในคณะราษฎร เพราะคนที่เชื่อถือท่านมีทั้งทหารบก ทหารเรือ พลเรือน ผมมองว่าถ้าเราแบ่งคนเป็นกล่อง ๆ กล่องหนึ่งคือคนที่มีอุดมการณ์คณะราษฎร ผมเห็นปรีดี พระยาพหลฯ หลวงอดุลเดชจรัส และขุนศรีศรากรลองคิดว่าถ้าไม่มีพระยาพหลฯ เปรียบเทียบก็คือ เหมือนไม่มีตำรวจคุมซอย อาจจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง คนในซอยตีกัน 
Image