ในพิธีเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๗๙
๒๔๗๕ พระยาพหลฯ
นายกฯ ที่ถูกลืม EP.02
scoop
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพเก่า : พ.ต. พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ผู้ถือลิขสิทธิ์
พิชญ์ เยาวภิรมย์ สำเนาภาพต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ และสำนักพิมพ์ต้นฉบับ เอื้อเฟื้อไฟล์ภาพ
วิกฤตการณ์
ถอยเข็มนาฬิกากลับไปวันที่ ๒๗ มิถุนายนในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่งของวันนี้ มีการหารือกันในหมู่แกนนำคณะราษฎรถึงการตั้ง “กรรมการราษฎร” หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดแรก
นายพันเอก พระยาพหลฯ ตัดสินใจเสนอพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นประธาน (นายกรัฐมนตรี) แต่แกนนำคนอื่นคัดค้าน
อาจารย์ศรัญญูวิเคราะห์ว่า เพราะพระยาพหลฯ คิดว่าพระองค์เจ้าบวรเดช “เป็นเจ้านายหัวก้าวหน้า เคยคัดค้านการตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมมาแล้วในช่วงก่อนปี ๒๔๗๕”
แต่ คำพิพากษาของศาลพิเศษ ปี ๒๔๘๒ เปิดเผยว่า ที่ประชุมแกนนำคณะราษฎรส่วนมากเกรงว่าพระองค์เจ้าบวรเดช “จะปกครองไปในทางแบบเผด็จการ” หลวงประดิษฐ์ฯ จึงเสนอพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ขุนนางระบอบเก่าที่น่าจะมีทัศนะก้าวหน้าและกว้างขวางในต่างประเทศ ที่สำคัญคือ “สนิทสนมกับพระปกเกล้าฯ” จึงหวังว่า “จะได้ทำการสมัครสมานระหว่างคณะผู้ก่อการ กับพระปกเกล้าฯ ได้”
เรื่องนี้ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชวางพระองค์เหินห่างกับนายพันเอก พระยาพหลฯ ทันที
การเลือกพระยามโนฯ ยังทำให้ฝ่ายอำนาจเก่าหรือ “คณะเจ้า” แปลกใจไม่น้อย โดยท่านชิ้นเขียนว่า เป็น “ความประหลาดใจครั้งใหญ่” (the big surprise)
กล่าวได้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดแรกนั้นเป็น “รัฐบาลปรองดอง คณะเจ้าคณะราษฎร” เพราะมีทั้งขุนนางเก่าและคนคณะราษฎรผสมกัน ฝ่ายคณะเจ้ายังวิจารณ์ว่าคณะราษฎรส่วนมาก “ไม่มีประสบการณ์” ในการบริหาร ในทางกลับกันท่านผู้หญิงละเอียด (ภรรยาหลวงพิบูลฯ) มองว่าผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกจำนวนมากก็เป็น “ท่านผู้ใหญ่ผู้มีเกียรติชื่อเสียงในวงราชการ” เสียมากกว่า ไม่ต่างกับคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ประกอบด้วยนักกฎหมายจบจากอังกฤษและเป็นคนระบอบเก่าเสียส่วนมาก มีฝ่ายคณะราษฎรเพียงคนเดียวคือหลวงประดิษฐ์ฯ ซึ่งจบจากฝรั่งเศส
หลวงพิบูลฯ ยังวิจารณ์เอาตรง ๆ ว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังทำ “ร่างขึ้นในอิทธิพลของพระมหากษัตริย์และของพระยามโนฯ” และฝ่ายคณะราษฎรนั้นถ้าไม่ยอม “ก็ถูกขู่เข็ญอย่างเต็มที่”
ช่วงนี้นายพันเอก พระยาพหลฯ นอกจากเป็นสส. ยังเป็นรัฐมนตรีลอย (ไม่มีกระทรวงว่าการ) รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก โดยมีนายพันโทพระยาทรงฯ เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. ฝ่ายยุทธการ จัดการจัดระเบียบกองทัพ โดยใช้ต้นแบบจาก
สวิตเซอร์แลนด์ที่มีกองทัพขนาดเล็ก โดยยุบหน่วยระดับกองพล กรม ให้เหลือแต่กองพัน ให้แต่ละเหล่า (ราบ ม้า ปืนใหญ่) ขึ้นกับผู้บังคับการเหล่าและขึ้นตรง ผบ.ทบ.
พันตรีพุทธินาถเล่าว่าระยะนี้บิดายกบ้านบางซื่อให้ป้าพิศ (ภรรยาเก่า) ย้ายครอบครัวไปอยู่วังปารุสกวัน ซึ่งคณะราษฎรขอพระราชทานเป็นกองบัญชาการ โดยในวังปารุสก์แบ่งเป็น “ตึกทหาร” (ตำหนักจิตรลดา) ติดถนนศรีอยุธยา ใช้เป็นที่ทำการฝ่ายทหารและ “คุณพ่อย้ายครอบครัวมาอยู่ชั้นบนของตึกนี้ ซึ่งพี่ชาย ตัวผม และน้องสาวอีกสองคนถือกำเนิดที่นี่” โดยมีนายพันโทพระยาทรงฯ อาศัยอยู่อีกด้านของตึก ขณะที่ “ตึกพลเรือน” ด้านติดถนนพิษณุโลก เป็นที่ทำการคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ที่มีหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นแกน
"ถ้าข้าราชการของพระองค์ (รัชกาลที่ ๗) ไม่โลภก็คงจะตลอดรอดฝั่งไปได้"
พระยาพหลฯ กราบบังคมทูลฯ รัชกาลที่ ๗ หลังทรงถามถึงอนาคตของระบอบรัฐธรรมนูญ
ถ่ายหลังจากการ “ผจญภัยทางทะเล” ก่อนพบกับการรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาของพระยามโนฯ ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖
แต่ถึงจะอยู่วังเดียวกัน ช่วงนี้กลับเกิดรอยร้าวระหว่างนายพันเอก พระยาพหลฯ กับนายพันโท พระยาทรงฯ คำพิพากษาของศาลพิเศษฯ เล่าถึงการลอบประชุมผู้บังคับกองพันในตึกทหารโดยนายพันเอก พระยาพหลฯ ไม่ทราบ จนครั้งหนึ่งนายพันเอก พระยาพหลฯ มารับแขกนอกตึก พอจะกลับขึ้นตึก ทหารยามไม่ให้ขึ้นและอยู่ในท่า “เตรียมแทง” พอพระยาทรงฯ มาดู ก็แก้ตัวว่า “ทหารไม่รู้จักผู้บังคับบัญชา” มีการวิเคราะห์ว่า ท่าทีนี้แสดงถึงความมุ่งหมายแย่งชิงอำนาจของนายพันโท พระยาทรงฯ
มิถุนายน-มีนาคม ๒๔๗๕ (นับตามปฏิทินเก่า) รัฐสภาและคณะกรรมการราษฎรก็ยุ่งอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ครม. ยังเร่งให้หลวงประดิษฐ์ฯ ร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” โดยประสานงานกันอย่างใกล้ชิดและคอยกราบบังคมทูลรายงานรัชกาลที่ ๗ จนพอพระทัย ถึงกับครั้งหนึ่งตรัสว่าพระองค์ก็เป็น “โซเชียลลิสต์” (สังคมนิยม) เหมือนกัน
"คุณรักตัวหรือรักบ้านเมือง"
พระยาพหลฯ ถามหลวงพิบูลฯ ก่อนจะร่วมวางแผนทำรัฐประหาร วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖