มอง สารคดี ๖ ปีแรก และ ๔๐ ปีให้หลัง
สุชาดา จักรพิสุทธิ์
บรรณาธิการบริหารคนแรก
(ปี ๒๕๒๘-๒๕๓๓)
Editor
40 Years of Storytelling
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ย้อนไปในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง แผงหนังสือยังหาได้ตามซอกซอย มีคำกล่าวในหมู่คนทำนิตยสารว่า หากอยากรู้ว่านิตยสารเป็นแบบไหน ให้ดูบรรณาธิการของนิตยสารเล่มนั้น
สารคดี วางแผงครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ ก็ไม่ต่างจากนิตยสารเล่มอื่น คือถือกำเนิดขึ้นจากทีมงานที่นำโดยบรรณาธิการผู้มุ่งมั่น เพียงแต่ภาพที่แตกต่างคือ บรรณาธิการเป็นสุภาพสตรี โดดเด่นท่ามกลางบรรณาธิการสุภาพบุรุษซึ่งครองวงการนิตยสารอยู่ในเวลานั้น
ทั้งหมดเริ่มต้นปี ๒๕๒๗ เมื่อ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ พนักงานฝ่ายธุรการของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ กับเพื่อนร่วมงานเสนอผ่าทางตันปัญหาขาดทุนของสำนักพิมพ์และวารสาร เมืองโบราณ ด้วยการเปิดนิตยสารหัวใหม่ชื่อ สารคดี
กลายเป็นนิตยสารหัวแรกในตลาดหนังสือเมืองไทยที่เลือกนำเสนองานประเภทสารคดีและภาพถ่ายเล่าเรื่อง ท่ามกลางนิตยสารแฟชั่น ผู้หญิง ตกแต่งบ้าน ท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งการันตีความสำเร็จด้านกำไรมากกว่า
ในแง่ประวัติศาสตร์วงการนิตยสารไทย สุชาดาจึงถือเป็นกัปตันหญิงคนแรกผู้นำเรือรุ่นใหม่นาม สารคดี ออกไปเผชิญคลื่นลม พล็อตจุด ทำแผนที่ตั้งเข็มทิศ วางแบบแผนการเดินเรือ (สำหรับกัปตันเรือคนต่อมา) ท่ามกลางท้องทะเลที่ไม่เคยมีใครสำรวจ ระหว่างนั้นยังต้องอุดรูรั่ว วิดน้ำ ฯลฯ จนที่สุดเรือแล่นได้มั่นคง เปลี่ยนมือกัปตันมาแล้วสามคน
ในโอกาส ๔ ทศวรรษที่ สารคดี ออกจากท่า เรากลับไปคุยกับ “กัปตันคนแรก” อีกครั้ง
สี่สิบปีที่แล้ว อะไรทำให้พี่ตัดสินใจให้กำเนิดนิตยสารเล่มนี้
พี่เรียนมาทางวารสารศาสตร์โดยตรง ประทับใจอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ที่สอนว่าคนเรียนด้านนี้ต้องเห็น “ก้อนหินในสายน้ำไหล” คือเห็นนัยหรือสิ่งซ่อนเร้นเบื้องหลังปรากฏการณ์ที่อาจเป็นเรื่องธรรมดา สมัยนั้นมีนิตยสารชื่อ เพื่อนเดินทาง บรรณาธิการคือ ประพันธ์ ผลเสวก เป็นนิตยสารท่องเที่ยวแนวใหม่ ไม่ได้แค่เขียนพรรณนาชื่นชมธรรมชาติเท่านั้น แต่ทำให้เห็นผู้คนภูมิปัญญา วัฒนธรรมในที่ต่าง ๆ แบบที่ลงลึกมากขึ้น จึงคิดว่าถ้ามีนิตยสารที่ทำได้มากกว่านี้ ซับซ้อนกว่านี้จะเป็นอย่างไรก็ประจวบกับสถานการณ์ที่สำนักพิมพ์เมืองโบราณมีปัญหาขาดทุน