ไพลิน วีเด็ล
จากนักข่าวสู่ผู้กำกับหนังสารคดี
หญิงไทยคนแรกที่ได้รางวัลเอ็มมี
Documentary Filmmaker
40 Years of Storytelling
สัมภาษณ์ : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เมื่อ ๔-๕ ปีที่แล้ว ไพลิน วีเด็ล ลงพื้นที่เพื่อทำข่าวครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ ซึ่งตัดสินใจรักษาร่างของลูกสาววัย ๒ ขวบที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมอง โดยใช้เทคโนโลยีไครออนิกส์ที่แช่แข็งร่างกายของมนุษย์ไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ด้วยประสบการณ์ในการเป็นนักข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศที่อเมริกาหลายปี การลงพื้นที่ข่าวเป็นสิ่งที่ไพลินคุ้นชิน แต่ครั้งนั้นไม่เหมือนครั้งอื่น ๆ เพราะมีหลายประเด็นที่ไม่ได้ถูกพูดถึง และเธอคิดว่าสังคมต้องรับรู้
ความรู้สึกอึดอัดที่อยากเล่าบางเรื่องราวในข่าวให้ลึกซึ้งเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกมาโดยตลอด
เธอจึงตัดสินใจลงพื้นที่อย่างเต็มกำลัง เริ่มสัมภาษณ์ครอบครัวเพื่อทำสารคดีด้วยทุนของตนเอง (ในระยะแรก) และพยายามอยู่ ๕ ปีจนสำเร็จเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก
ก่อนที่ Hope Frozen : A Quest To Live Twice (ความหวังแช่แข็ง : ขอเกิดอีกครั้ง) จะเข้าฉายใน Netflix เคยฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ หลายเทศกาลมาแล้ว ทั้งยังได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ ยอดเยี่ยมจากเทศกาล Hot Docs Canadian International Documentary Festival ปี ๒๕๖๓ และล่าสุดคือรางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากงาน International Emmy Awards ครั้งที่ ๔๙ ซึ่งไพลินเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
ต่อมาเธอผลิตสารคดีเรื่องที่ ๒ ๑๓ หมูป่า : เรื่องเล่าจากในถ้ำ (The Trapped 13 : How We Survived The Thai Cave) ที่ Netflix ลงทุนในสเกลใหญ่มาก ครั้งผลิต Hope Frozen มีเพียงแค่เธอและช่างภาพเป็นหลักแต่ ๑๓ หมูป่าฯ มีทีมงานกว่า ๒๐๐ คน ไพลินทำงานกับนักจิตวิทยา มีรายละเอียดมากมายที่ต้องเน้นและสื่อสารให้ทีมงานจำนวนมากเข้าใจ เธอบอกว่าเป็นความท้าทายในการทำงานที่บังคับให้ต้องตัดสินใจอย่างเฉียบขาด
แต่ดูเหมือนเธอจะคุ้นเคยกับความท้าทายพอสมควร ไพลินจึงใช้เวลาเพียง ๒ ปี (ซึ่งถือว่ารวดเร็ว) ผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ เพื่อถ่ายทอดมุมมองของโค้ชเอกและน้อง ๆ หมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนให้สังคมได้รู้ถึงมิติที่มากกว่าในหน้าข่าว
การเอาตัวรอด สภาพจิตใจ ความหวัง ความอดทน แรงบันดาลใจ ความไม่ยอมแพ้
ปัจจุบันไพลินเพิ่งจะผลิตสารคดีเรื่องที่ ๓ เสร็จ เรื่องนี้มีเนื้อหาแตกต่างไปจากสองเรื่องแรกอย่างสิ้นเชิง เพราะเกี่ยวกับ drag queen ในประเทศไทย
วันนี้เธอหัวเราะน้อย ๆ และบอกกับเราได้เต็มปากแล้วว่า เธอเป็นผู้ผลิตหนังสารคดี แต่ไม่ว่าเรื่องราวและสไตล์ของหนังแต่ละเรื่องจะแตกต่างกันมากแค่ไหน ประเด็นหนึ่งที่เชื่อมแกนของความเป็นไพลินไว้คือความเป็นมนุษย์