Image

“ช็อกโกแลต”
เปลี่ยนโลก

CHOCOLATE IN SIAM

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์

Image

ที่อาณาจักรแอซเท็ก (Aztec, ค.ศ. ๑๓๐๐-๑๕๒๑) บริเวณทวีปอเมริกากลาง (ปัจจุบันคือเม็กซิโก) เมล็ดคาเคา (cacao) มีค่าเท่ากับเงินตราหลักฐานในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ (ตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง) ระบุว่า คาเคา ๑๐ เมล็ด ซื้อกระต่ายได้ ๑ ตัว และต้องใช้ ๑๐๐ เมล็ดสำหรับซื้อทาส

ในหมู่พระราชวงศ์ ขุนนาง นักรบ และพ่อค้า พวกเขาเรียกเครื่องดื่มที่ทำจากคาเคาว่า “โชโกลัต” (chocolatl-แปลว่า “น้ำขม”) โดยจะใส่พริกไทยน้ำผึ้ง สมุนไพร ถั่วลิสง ดอกวานิลลา เมล็ดผักชี และชาดลงไป น้ำโชโกลัต จึงมีสีแดงชาด

ชาวแอซเท็กเชื่อว่าโชโกลัตกระตุ้นพลังทางเพศและมีข้อห้ามไม่ให้สตรีดื่มมีเรื่องเล่าว่ากษัตริย์มอนเตซูมาที่ ๒ (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๕๐๒-๑๕๒๐) แห่งแอซเท็ก เสวยถึงวันละ ๕๐ แก้ว สันนิษฐานว่า เอร์นัน กอร์เตซ (Hernán Cortés) นายทหารสเปนที่นำกำลังไปพิชิตอเมริกากลาง เป็นชาวยุโรปคนแรกที่เห็นการดื่มโชโกลัตของราชสำนักแอซเท็ก ส่วนเบร์นัล ดิอัซ (Bernal Diaz) นายทหารที่ไปด้วยบันทึกว่า “มีการถวาย (ให้กษัตริย์) เป็นประจำในถ้วยทองคำบริสุทธิ์...สิ่งที่ผมไม่เคยพบคือ มีการใส่เมล็ดคาเคาในเหยือก ๕๐ ใบ มันเต็มไปด้วยฟอง กษัตริย์เสวยบางส่วนจากเหยือกนั้นโดยมีสตรีถวายด้วยเคารพสูงสุด”

เมื่อกอร์เตซกลับสเปน เขาทำให้เมล็ดคาเคาซึ่งคนสเปนรู้จักตั้งแต่สมัย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) กลับจากสำรวจทวีปอเมริกาเป็นที่สนใจอีกครั้ง โดยช่วงแรกมีฐานะเป็นยา ต่อมาปรับรสชาติให้ดื่มง่ายโดยใส่น้ำตาล ทำให้ช็อกโกแลตแพร่หลายมากขึ้น

Image