โทเบียส หรือโทบี้ จากอาสาสมัครกลายมาเป็นผู้ดูแลสัตว์ (animal manager) ของอาศรมธรรมชาติ เขาอยู่ที่นี่ ๑ ปีแล้ว เขาดูแลไก่อย่างใกล้ชิด ให้อาหาร เก็บไข่ และพูดคุย จนรู้แม้กระทั่งว่าวันนี้ไก่บ่นเพราะฝนตก
TRAIN STATIONS
10 สถานีมีเรื่องราว
EP.01
Train Stories
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
"...ทางรถไฟ อาจจะชักย่นหนทางหัวเมือง ซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเปนหัวเมืองใกล้ ไปมาถึงกันได้โดยสดวกเร็วพลัน...ทั้งเปนคุณประโยชน์ในการบังคับบัญชาตรวจตราราชการ บำรุงรักษาพระราชอาณาเขตรให้ราษฎรอยู่เย็นเปนศุขได้โดยสดวก..."
ประกาศสร้างทางรถไฟสยามแต่กรุงเทพฯ ถึงเมืองนครราชสีห์มา ๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๐๙ (ปี ๒๔๓๓)
ไม่ต่างจากประเทศอื่น กิจการรถไฟสยาม (ต่อมาจะกลายเป็นรัฐวิสาหกิจ คือการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือ รฟท. ในปี ๒๔๙๔) ถือกำเนิดขึ้นในยุคที่รัฐบาลทั่วโลกอยู่ในขั้นตอน “กระชับอำนาจ” เข้าสู่เมืองหลวง
ดังนั้นกิจการรถไฟในยุครัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ นัยหนึ่ง นอกจากกระจายอำนาจรัฐออกไปยังส่วนต่าง ๆ ของสยามแล้ว ยังเป็นการแข่งกับเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายังพื้นที่ที่อำนาจรัฐคลุมเครือในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
กิจการรถไฟสายแรกของรัฐบาลคือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา (โคราช) เริ่มเปิดเดินรถระยะแรก (กรุงเทพฯ-อยุธยา) ในปี ๒๔๓๙ ก่อนที่เส้นทางทั้งหมดจะใช้งานได้สมบูรณ์ในปี ๒๔๔๔
นอกเหนือจากเรื่องการเมืองและการนำเข้าเทคโนโลยี อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับเครือข่ายรางรถไฟคือสถานีรถไฟ ซึ่งเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและปลายทางของระบบราง
สถานีรถไฟสร้างขึ้นในฐานะ “หมุดหมาย” (landmark) ของเมืองที่ก้าวเข้าสู่ความทันสมัย เชื่อมโยงด้วยระบบการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว โครงสร้างสถานีสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดของยุคนั้น พร้อมกับความงามด้านสถาปัตยกรรมที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน
ด้วยพื้นที่นี้คือ “พื้นที่สาธารณะ” และจะเป็น “ฉากหลัง” ในความทรงจำของผู้คนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ว่าการจากลา รอคอย พบเจอ กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ต่าง ๆ
เจ็ดสิบเจ็ดปีผ่านไป นอกจากเครือข่ายทางรถไฟที่อยู่ระหว่างพัฒนาและยกระดับ เพื่อรองรับระบบรถไฟความเร็วสูง สถานีรถไฟเก่าแก่จากยุคแรกเริ่มต่างทรุดโทรมลงตามกาลเวลา บางแห่งได้รับการอนุรักษ์ แต่หลายแห่งก็สูญสลายไปแล้ว และยังมีอีกไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะถูกรื้อถอนทุบทิ้งหรือไม่
ต่อไปนี้คือเรื่องราวของ ๑๐ สถานี ที่ สารคดี เห็นว่าควรได้รับการบันทึกไว้
"ตึกที่ทำงานของเราอยู่ติดทางรถไฟ จากหน้าต่างห้องทำงาน ผมจึงมองเห็นรถไฟทุกขบวนที่วิ่งผ่าน ผมมีความรู้สึกว่าขบวนรถโดยสารมีผู้โดยสารนั่งอยู่เต็มเสมอ ส่วนขบวนตู้สินค้าจะวิ่งไปทุกทิศทาง ทุกๆ สามวัน...”
ลูอิส ไวเลอร์ (Luis Weiler)
เจ้ากรมรถไฟหลวงคนแรก บันทึกจากห้องทำงาน
๑๘ มิถุนายน ๒๔๔๗
โถงรับรองผู้โดยสารด้านในของหัวลำโพงจะเห็นเพดานหลังคาโค้ง
คงไม่เกินไปนักหากจะกล่าวว่าประวัติศาสตร์รถไฟไทยเริ่มต้นที่หัวลำโพง
ลงรายละเอียดจะพบว่า “สถานีกรุงเทพ” ดั้งเดิมอยู่บริเวณหลังอาคารที่ทำการกรมรถไฟหลวง [ปัจจุบันคือตึกบัญชาการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)] อันเป็นจุดเปิดการก่อสร้างรถไฟของรัฐบาลสยามสายแรก (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) โดยเป็นอาคารไม้สองชั้น มีสองชานชาลารับส่งสินค้าและผู้โดยสาร
ก่อนที่ต่อมาในปี ๒๔๔๙ จะย้ายตัวสถานีมาทางทิศใต้ราว ๕๐๐ เมตร จนใกล้แนวคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้กับ “สถานีหัวลำโพง” ของทางรถไฟสายปากน้ำ (กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ) ที่รัฐบาลสยามให้สัมปทานแก่เอกชน (เปิดเดินรถได้ก่อนของรัฐบาล)
ผู้คนจึงสับสนชื่อของสถานีสำคัญสองสถานีที่ตั้งอยู่เคียงกันพากันเรียกรวม ๆ ว่า “หัวลำโพง”