กาลครั้งหนึ่ง
ประวัติศาสตร์ประชาชน ตอน 2
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพปัจจุบัน : ประเวช ตันตราภิรมย์
ทหาร ทปท. ภาคใต้ ที่ค่าย ๕๑๔ เคียนซา สุราษฎร์ธานี แต่งตัวชุดธรรมดาในชีวิตประจำวัน ส่วนผ้าขนหนูที่ห้อยคอนั้น ถือเป็นแฟชั่นในหมู่ทหารหนุ่มสาว
ภาพจากหนังสือ ศรัทธาคงมั่น ปั้นดินเป็นดาวแดง หน้า ๔๗
หมู่บ้านวันเสียงปืนแตก
ตามบันทึกของ “ลุงขจัด” หนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกการเคลื่อนไหวในเขตงานภูพาน และอยู่ที่นั่นช่วงปี ๒๕๐๘ เล่าว่าช่วงนั้นมีการประสานพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ขอให้ส่งสหายชาวไทยที่ไปช่วยรบปลดปล่อยประเทศลาวกลับมาร่วมกองป่าภูพาน
“ไม่นานพรรคประชาชนปฏิวัติลาวก็ส่งสหายผู้บัญชาการและนักรบ ๓๑ คน พร้อมด้วยอาวุธและอุปกรณ์ในการรบครบครัน นำโดย ‘สหายภูธร’ ผู้ชี้นำการเมือง ‘สหายสุธี’ ผู้บัญชาการทหาร ‘สหายสนชัย’ รองผู้บัญชาการทหาร มาถึงมีการจัดพิธีต้อนรับ ศึกษาและมอบหมายหน้าที่นำกำลังไปปลุกระดม”
กองป่าภูพานรวมกำลังจัดตั้งทหารได้ ๑ หมวด มี ๓ หมู่ หมู่ละ ๑๒ คน มี “สหายขจัด” เป็นผู้ชี้นำการเมือง
กองกำลังหน่วยนี้เองที่ต่อมาทำให้เกิด “วันเสียงปืนแตก” ในปี ๒๕๐๘
ข้อมูลจากความทรงจำของ หนูลา จิตมาตย์ หนึ่งในแปดคนของฝ่ายกองป่าที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ให้สัมภาษณ์ธันวา ใจเที่ยง ว่าเช้าวันนั้นขณะพักผ่อนหลังปฏิบัติงานมวลชนอยู่ที่เถียงนาบ้านนาบัว กำลังตำรวจโอบล้อมเข้ามาแบบพระจันทร์เสี้ยวแล้วยิงสู้กัน “สหายเสถียร” ซึ่งทางการระบุว่าชื่อ ยน คำเผือก เสียชีวิต