Image

สถานีรถไฟ
ชุมทางมิวเซียม

Hidden (in) Museum

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

มุขหน้าของสถานีกรุงเทพด้านทิศตะวันตกคือที่ตั้งพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย

ที่นี่เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า “MRT หัวลำโพง” กับ “สถานีกรุงเทพ” พิพิธภัณฑ์จึงคล้ายเป็น “สถานีรถไฟชุมทางมิวเซียม” แม้ไม่มีเปลี่ยนขบวนเดินรถขนส่งสินค้า ขายตั๋วโดยสาร หรือรับฝากสัมภาระ แต่บ่อยครั้งก็คล้ายมีเหล่าบุคลากรการรถไฟแห่งประเทศไทยผลัดมาสมมุติตนเป็นนายสถานีใช้พื้นที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เช่นต้นตุลาคม ๒๕๖๖ คณะ “สวัสดีรถไฟ” โดยผู้ก่อตั้งเพจ “รัตนโกสิเนหา” จับมือพิเชษฐ แช่มเนียม ศิษย์เก่าผู้ก่อตั้งเพจ “โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ” นำชมสถานที่แทรกประสบการณ์นับแต่เป็นเสมียนรับส่งสินค้า สอบเลื่อนขั้นเป็นนายสถานี จนดำรงตำแหน่งพนักงานควบคุมการเดินรถ

การพบเขาที่นี่เสมือนได้ย้อนอดีตเรียนรู้วิวัฒนาการด้านขนส่งระบบทางรางของประเทศผ่านสิ่งจัดแสดงด้วย แล้วเมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็คล้ายแว่วเสียงประกาศจากสถานี ตึ่ง ตึง ตึง ตึ๊ง...

โปรดทราบ ขบวนรถที่จะทำขบวนเข้าสู่สถานีรถไฟชุมทางมิวเซียมในชานชาลาที่ ๑ เป็นขบวนรถสายประวัติศาสตร์ที่ ๕๖๗  ขอเชิญผู้โดยสารจากสถานีรถไฟกรุงเทพปลายทางสถานีมักกะสันผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารกับขบวนรถเที่ยวนี้โปรดเตรียมสิ่งของและสัมภาระของท่านรอโดยสารได้ที่ชานชาลาที่ ๑ แล้วพบกันริมหน้าต่างนะ

Image

ตู้รถโดยสาร
ชั้นที่ ๑

โปรดเก็บไว้ให้ตรวจ ข้อความสำคัญบนตั๋วที่ผู้โดยสารต้องถือปฏิบัติ

ก่อนการรถไฟฯ จะจำหน่ายตั๋วด้วยคอมพิวเตอร์พิมพ์บนกระดาษบางเบา สมัยยังเป็น “กรมรถไฟ” ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ (รัชกาลที่ ๕) จะใช้ “ติ๊กเก็ต” พิมพ์โดยเครื่องที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งสยามยังไม่มีเครื่องพิมพ์ ต้องนำเข้า ticket จากต่างประเทศ จึงเรียกด้วยคำทับศัพท์  กิจการรถไฟไทยเติบโตมากในรัชกาลที่ ๖ เปลี่ยนชื่อหลายครั้งทั้ง “กรมรถไฟหลวง” (และเปลี่ยนชื่อสังกัดเป็นกระทรวงคมนาคม) “กรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม” เปลี่ยนกลับเป็น “กรมรถไฟ” สุดท้ายใช้ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” จนปัจจุบัน

Image