Image
รางมิตรภาพ
(ไทย-ลาว)
ระหว่างประเทศ
Train Stories
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ลาวเพิ่งมี “สถานีรถไฟแห่งแรก” สำหรับประชาชนเมื่อปี ๒๕๕๒ ถ้าไม่นับ ๑๐๐ ปีก่อน (ปี ๒๔๓๖-๒๔๘๔) ที่เคยใช้ครั้งอยู่ใต้ปกครองฝรั่งเศส เป็นทางสาย “ดอนเดด-ดอนคอน” ระยะสั้น ๗ กิโลเมตร (ปัจจุบันคือชายแดนลาวในแขวงจำปาศักดิ์ติดประเทศกัมพูชา) ใช้ขนสินค้าผ่านน้ำตกและเกาะแก่งแม่น้ำโขง
เวลานี้รัฐบาลลาวร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนามใช้ประโยชน์จากรอยทางรถไฟซากสะพาน และหัวรถจักรเดิม พัฒนาสู่โครงการทางรถไฟลาว-เวียดนามระยะไกล ๔๕๒ กิโลเมตร ใช้ขนส่งสินค้าลาว-จีนไปท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง (จังหวัดห่าติ๋ญในภาคกลางของเวียดนาม) แต่ยังไม่เสร็จ

ปัจจุบันลาวจึงยังมีทางรถไฟเพียงสองสาย คือรถไฟความเร็วสูงสายลาว-จีน (เวียงจันทน์-บ่อเต็น) เพิ่งเปิดปี ๒๕๖๔ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ เริ่มจากด่านบ่อเต็นในลาวผ่านแขวงหลวงน้ำทา อุดมไซ หลวงพระบาง สิ้นสุดที่เวียงจันทน์ รวม ๑๐ สถานี ระยะ ๔๑๔ กิโลเมตร

ส่วนสายหนองคาย-ท่านาแล้ง หรือ “ทางรถไฟสายแรกของลาว” ช่วงแรก ๓.๕ กิโลเมตร เปิดใช้ปี ๒๕๕๒ เชื่อมต่อทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-หนองคาย แล้วดำเนินการช่วง ๒ เป็นสถานีต่อขยาย “ท่านาแล้ง-เวียงจัน (คำสะหวาด)” ๗.๕ กิโลเมตร เพื่อประโยชน์ด้านโดยสารและขนสินค้าที่อยู่ในแผนพัฒนาย่านสถานีท่านาแล้งให้เชื่อมต่อกับด่านสากล “ท่าบกท่านาแล้ง” เพิ่งเสร็จปี ๒๕๖๕ บรรลุโครงการเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว

ถ้าชีวิตไม่ติดเร่งด่วน อยากชวนตีตั๋วใช้เวลาท้าทายการเดินทางอีกรูปแบบ

ไปทักทายสถานีหนองคาย-ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด
“จุดสิ้นสุดธงชาติไทยจากสถานีหนองคาย-เริ่มต้นธงชาติลาวสู่สถานีท่านาแล้ง โดยมุมมองจากบนรถไฟ
ขณะเคลื่อนขบวนไปตามรางกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๑ เบื้องล่างคือแม่น้ำโขง”

Image
สะพานเศรษฐกิจหนองคาย-ท่านาแล้ง ออกแบบให้ถนนใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างรถยนต์และรถไฟ เพื่อสนับสนุนระบบขนส่งทั้งสินค้าและโดยสารนักท่องเที่ยว
Image