Image

ธงชัย วินิจจะกูล
บทสนทนาเรื่องแผนที่
และ "๓๐ ปี SIAM Mapped"

INTERVIEW

สัมภาษณ์ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ถ่ายภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ปี ๒๕๓๑/ค.ศ. ๑๙๘๘ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกทางด้านประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย คือ “Siam Mapped : A History of the Geo-Body of Siam” ปรากฏขึ้นในโลกวิชาการ และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการนักประวัติศาสตร์ระดับนานาชาติ

งานชิ้นนี้มีข้อเสนอชั้นต้นว่า องค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่ารัฐชาติไทย โดยเฉพาะ “เส้นเขตแดนรัฐชาติ” เป็นชุดความคิด เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองสมัยใหม่ชนิดหนึ่ง ซึ่งปะทะเข้ากับ “เส้นเขตแดนรัฐจารีต” และแนวคิดชุดเดิม กำเนิดเส้นเขตแดนสยามสมัยใหม่ขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ยังไม่รวมองค์ประกอบอื่น จนก่อเกิดประเทศไทยที่มีหน้าตาเป็นขวานทองบนแผนที่โลก

งานชิ้นนี้ยังเสนอ “ทางเลือก” ในการมองประวัติศาสตร์ไทยใหม่อีกหลายประการ เช่น การเสียดินแดนที่เราเข้าใจมาตลอด อาจเป็นเพียงชุดความคิดของชนชั้นนำสยาม เส้นเขตแดนเป็นสิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่ ฯลฯ

ในเวลานั้น ธงชัย วินิจจะกูล อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และผู้เขียนวิทยานิพนธ์บันทึกไว้เงียบ ๆ ในกิตติกรรมประกาศว่า งานชิ้นนี้เกิดขึ้นเพราะผลสะเทือนของเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙/ค.ศ. ๑๙๗๖ ที่มีต่อเขาและเพื่อนทุกคน (…Let it be know that this work has not been born without the profound effects of what happened to all of us)

วิทยานิพนธ์ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเมื่อปี ๒๕๓๗/ค.ศ. ๑๙๙๔ ในสหรัฐอเมริกา 

เวลานั้นมีแต่นักวิชาการตะวันตกที่รู้จัก Siam Mapped ส่วนวงวิชาการไทยมีแค่กลุ่มเฉพาะ ไม่ต้องกล่าวถึงบุคคลทั่วไปที่แทบไม่รู้จักงานดังกล่าว

ผ่านไป ๒ ทศวรรษเศษ ท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทย การเกิดขึ้นของกลุ่มเยาวชนรุ่นโบขาวในปี ๒๕๖๓/ค.ศ. ๒๐๒๐ ทำให้คนจำนวนมากหันมาอ่านงานประวัติศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่และงานของธงชัยคือหนึ่งในนั้น ขณะในวงวิชาการ Siam Mapped กลายเป็นหนังสือที่นักเรียนประวัติ-ศาสตร์ “ต้องอ่าน”

Siam Mapped จึงกลายเป็นงานที่เพิ่งถูกอ่านในวงกว้างจริง ๆ แม้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ Siam Mapped กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติภูมิกายาของชาติ มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕/ค.ศ. ๒๐๑๒

ปรากฏการณ์ที่ตามมาคือ ฉบับภาษาไทยกลายเป็นของหายาก ทั้งยังปรากฏงานที่ตอบโต้-สนับสนุนจากหลากหลายฝ่ายและขั้วการเมือง รวมถึงมีการตีความที่แตกต่าง

เมื่อต้องทำงานเรื่อง “แผนที่” สารคดี จึงสนทนากับผู้เขียน Siam Mapped อีกครั้ง

ธงชัย วินิจจะกูล*
เกิดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๐/ค.ศ. ๑๙๕๗ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระหว่างเรียนเคยดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)  เป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  หลังได้รับนิรโทษกรรมกลับมาเรียนต่อจนจบปริญญาตรี แล้วต่อปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย  ปัจจุบันอายุ ๖๗ ปี (ปี ๒๕๖๗/ค.ศ.๒๐๒๔) ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา 

งาน Siam Mapped ส่วนใหญ่เขียนที่ประเทศไหน ตอนเขียนอาจารย์เจออุปสรรคเหมือนที่นักศึกษาปริญญาเอกทั่วโลกเจอหรือไม่

ผมเขียนที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย เมื่อทำเป็นหนังสือผมมาปรับตอนทำงานอยู่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันแล้ว คิดว่าคนทำปริญญาเอกแทบทุกคนอย่างน้อยที่สุดต้องเจอความเครียด เจอภาวะถอดใจไม่อยากคิดอะไรอีกเลย (mental breakdown) แต่ส่วนมากเอาตัวรอดได้ ผมก็มีภาวะแบบนั้นตอนเขียนรายงานหลังจากกลับเมืองไทยไปเก็บข้อมูลว่าเนื้อหาหลัก ๆ ของวิทยานิพนธ์จะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าอาจารย์ที่ปรึกษาบอกน่าผิดหวัง เพราะผมยังติดอยู่กับการตั้งคำถามและการถกเถียงในโลกวิชาการภาษาไทย คำแนะนำคือออกไปให้พ้นโลกภาษาไทย  มองย้อนกลับไปคำแนะนำนั้นมีผลอย่างมากต่อผมในช่วงที่กำลังเติบโตทางความคิด จนจุดหนึ่งสนุกกับการศึกษาสัญญะ (semiology) สำนักประวัติศาสตร์อานาล (Annales School) และวิธีคิดแบบหลังสมัยใหม่ (postmodernism) ผมไม่ได้บอกใน Siam Mapped ชัดเจน แต่ถ้าอ่านก็จะรู้  ตอนนั้นผมสังเกตว่าพวกเฟมินิสต์ (feminism) กับพวกโพสต์โมเดิร์น ยังใช้คำศัพท์ภูมิศาสตร์เยอะมาก เช่น domain (ปริมณฑล), boundaries (เขตแดน), margin (ชายขอบ) ด้วยความหมายในแบบของเขา แต่คนเหล่านี้ไม่ศึกษาภูมิศาสตร์  เรานำแนวคิดเหล่านั้นกลับมาศึกษาภูมิศาสตร์ไม่ได้หรือตอนแรกผมไม่คิดว่าจะกลายเป็นทั้งเล่ม แต่พอทำก็พบแง่มุมมากมายเลยกลายเป็น Siam Mapped

"ตอนเขียนผมก็ไม่ได้เข้าใจว่า Siam Mapped จะเป็นที่สนใจกว้างขวางขนาดไหน เพราะอะไร"

Image

Siam Mapped ฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทยกับมือของผู้เขียน

Image