Image

ดูแผนที่กับ
มิตรเอิร์ธ

เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“โลกน่ะมองแล้วสวยนะ บังเอิญโลกกับเราขนาดตัวต่างกันเยอะเลยมองเห็นได้ไม่ชัดแต่ถ้าลองดูใน Google Earth เราจะเห็นความรังสรรค์ที่อยากร้องว่า เฮ้ย ! ธรรมชาติมันสุดสวย เป็นงานอดิเรกดูได้ทั้งวันไม่มีเบื่อ

“ผมชอบการมองหนังหน้าโลกเป็นบ้าเลย”

คือคำพูดของ ศ. ดร. สันติ ภัยหลบลี้ ชายวัยกลางคนผู้รักแผนที่เป็นชีวิตจิตใจ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะได้พบเขาในฐานะอาจารย์ประจำวิชา Earthscience (วิทยาศาสตร์โลก) ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ คนในแวดวงนักวิจัยอาจจดจำเขาในบทบาทนักธรณีวิทยาแผ่นดินไหว (earthquake geology) ขณะที่คนส่วนมากจะรู้จักเขาจาก Mitrearth หรือมิตรเอิร์ธ เว็บไซต์และเฟซบุ๊กเพจด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเผยแพร่บทความชวนสังเกตความมหัศจรรย์ของพื้นโลกผ่านแผนที่ มีไฟล์ข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มากมายแจกให้คนที่สนใจอยู่เสมอ

โลกในแผนที่คงเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้สันติฟังไม่น้อย ผมจึงขอให้เขาเปิดห้องเรียนให้เราสักคาบหนึ่ง

Image

แผนที่ภูมิประเทศสามมิติขนาดใหญ่ แขวนเด่นสะดุดตา ห้องทำงานของชายผู้อยู่เบื้องหลังมิตรเอิร์ธ

แปลความบนผิวโลก

“คุณอยากดูอะไรก่อนล่ะ” สันติถามพลางเปิดคอมพิวเตอร์พกพาเลื่อนหาไฟล์แผนที่

แผนที่เกือบทั้งหมดที่สันติใช้ท่องโลกนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลโทรสัมผัส (remote sensing) และภูมิสารสนเทศ (GIS) เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม และแผนที่ความสูงต่ำของภูมิประเทศ แผนที่เหล่านี้เป็นข้อมูลดิบจากการเก็บข้อมูลผิวโลกที่ยังไม่ผ่านการแปลความ

แผนที่แรกที่สันติเปิดให้ผมดูเป็นแผนที่ขาวดำ ไม่เห็นอาคารบ้านเรือน ไม่เห็นถนนใด ๆ แต่เต็มไปด้วยร่องรอยคล้ายภาพถ่ายพื้นผิวระยะใกล้ของวัตถุบางอย่าง

นี่คือแบบจำลองความสูงเชิงเลข (digital elevation model - DEM) จากการเก็บข้อมูลความสูงของภูมิประเทศเป็นตารางกริด ข้อมูลความสูงนี้เก็บด้วยการรังวัดโดยมนุษย์เอง หรือใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ได้

จินตนาการถึงกระเบื้องโมเสกบนผนังห้องน้ำที่เกิดจากการนำชิ้นกระเบื้องสี่เหลี่ยมชิ้นเล็ก ๆ มาเรียงต่อกัน จนกลายเป็นภาพใหญ่  DEM มีหลักการคล้าย ๆ กัน

“ในแผนที่นี้จะเห็นลักษณะของภูมิประเทศ หรือเทอร์เรน (terrain) สูง ๆ ต่ำ ๆ”

ทางเหนือมีเทือกเขาวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ สลับกับที่ราบ ทอดสายตาลงมาจากภาคเหนือเป็นแอ่งที่ราบกว้างใหญ่ เมื่อรวมกับเส้นหยึกหยักคล้ายเส้นเลือดฝอย พอจะแปลความได้ว่านี่คือที่ราบลุ่มแม่น้ำ

สันติช่วยโลกเล่าเรื่องเพิ่มเติมว่าน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ จากธารน้ำเล็ก ๆ บนภูเขาค่อย ๆ รวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แต่เมื่อแม่น้ำไหลมาเจอที่ราบ ไม่มีคำว่าสูง-ต่ำอีกต่อไป แม่น้ำก็จะกวัดแกว่งไปมา หรืออาจแตกออกไปเป็นแม่น้ำย่อย ๆ ได้เช่นกัน 

จากการจ้องมองแผนที่ไม่มีสี ตัวอักษร ชื่อสถานที่มีแต่ภูมิประเทศและลีลาการสร้างสรรค์ของโลกใบนี้ ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าหนังหน้าโลกของเรานั้นสวยงามขนาดไหน

สังเกตสีที่เปลี่ยนไป

“คราวนี้มาลองดูแผนที่สีกันบ้าง แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมก็จะมีความเป็นปัจจุบันที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนใหญ่ใช้กับงานเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง เช่น การใช้ที่ดินปีนี้กับปีที่แล้วต่างกันอย่างไร” สันติชวนดูแผนที่ประเภทที่ ๒

ปัจจุบันการสำรวจโลกผ่านแผนที่นั้นเป็นมิตร ง่าย และสะดวกขึ้นมากเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก การมาของ Google Earth ซอฟต์แวร์แสดงแบบจำลองโลกจากภาพถ่ายดาวเทียมทำให้เรายลโฉมความงามจากภาพถ่ายมุมสูงของสถานที่ใดบนโลกก็ได้

Image