Image
ผึ้งหลวงและน้ำผึ้งป่าเสม็ดขาวที่ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา
คน พึ่ง ผึ้ง
ล่อผึ้งหลวงในป่าเสม็ดขาว
Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
เรื่อง : วรรณพร กิจโชติตระการ
ภาพ : คชาธร ขจรบุญ
ร้อนเสียจริง ! ยามบ่ายกลางอุณหภูมิ ๓๑ องศาเซลเซียส

เสียงกรอบแกรบจากฝีเท้าห้าคู่ย่ำเหยียบกิ่งไม้และใบไม้ดังขึ้นตลอดเวลา

ต้นไม้ข้างทางแหวกออกเพื่อหาช่องเดินโดยนักเดินป่าหน้าใหม่สามคน ซึ่งกำลังรีบตามเจ้าถิ่นผู้เดินนำอยู่ข้างหน้าให้ทัน  แม้จะระมัดระวังทุกย่างก้าว แต่ไม่วายโดนกิ่งไม้ข่วนขณะมุ่งหน้าเข้าสู่ป่าลึกเพื่อตามหาแมลงนักผสมเกสรผู้ผลิตน้ำหวานแสนอร่อย

เพียงจินตนาการถึงรสชาติ “หวานหรอย” ดังเจ้าถิ่นเขาว่าไว้ อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาจากสารช่วยต้านโรคมะเร็งและโรคอัลไซเมอร์ของต้นเสม็ดขาวปนอยู่ในน้ำผึ้งซึ่งหากินได้เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น ความน่าสนใจก็เพิ่มขึ้นจนต้องฮึดเร่งฝีเท้า

แมลงตัวเล็กตัวน้อยบินผ่านหน้าไปมาหลายครั้ง แต่ดูเหมือนจะยังไม่เจอ “ผึ้งหลวง” ตัวเอกที่กำลังตามหา หนึ่งในผึ้งป่าซึ่งอาศัยอยู่ในป่าทุ่งบางนกออก ป่าเสม็ดขาวอุดมสมบูรณ์มากที่สุดผืนสุดท้ายในจังหวัดสงขลา กินพื้นที่ห้าหมู่บ้าน กว่า ๖,๒๕๐ ไร่

ลักษณะเฉพาะตัวของผึ้งหลวงคือมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาผึ้งไทย รังจึงมีขนาดใหญ่ตามตัวและจำนวนประชากร ทำให้ต้องอพยพเพื่อตามหาแหล่งอาหารสมบูรณ์อยู่เสมอตลอดทั้งปี อาจอาศัยที่เดิมนานหรือสั้นกว่าปรกติขึ้นกับสภาพแวดล้อม

อย่างไรก็ตามในป่าเสม็ดขาวแห่งนี้กลับพบเจอผึ้งหลวงได้ตลอดทั้งปี เยอะบ้างน้อยบ้าง ตามคำบอกเล่าของ ธันวา วงค์ราชสีห์ ชายเมืองใต้ผิวคล้ำแดด ผมสีดอกเลา วัย ๔๗ ผู้ดูทะมัดทะแมง และหารายได้เสริมจากการเก็บน้ำผึ้งขายตั้งแต่ยังเด็ก

แม้ผึ้งหลวงจะไม่สามารถเลี้ยงได้เหมือนผึ้งชนิดอื่น เช่น ผึ้งโพรงหรือชันโรง ซึ่งได้รับความนิยมในภาคใต้ ด้วยนิสัยการย้ายถิ่นฐาน แต่ชายคนนี้มีวิธีล่อผึ้งหลวงให้มาสร้างรังแล้วรอวันเก็บน้ำผึ้งหอมหวานได้โดยใช้วิธีการกึ่งเลี้ยงที่เรียกว่า “บังกาด”
Image