Image

โทเบียส หรือโทบี้ จากอาสาสมัครกลายมาเป็นผู้ดูแลสัตว์ (animal manager) ของอาศรมธรรมชาติ เขาอยู่ที่นี่ ๑ ปีแล้ว เขาดูแลไก่อย่างใกล้ชิด ให้อาหาร เก็บไข่ และพูดคุย จนรู้แม้กระทั่งว่าวันนี้ไก่บ่นเพราะฝนตก

เพอร์มาคัลเจอร์
คืนกลับธรรมชาติ
สู่วิถีที่ยั่งยืน

Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า

เรื่อง : ฉัตรชัย สิทธิจรรยากุล
ภาพ : วันนิษา แสนอินทร์

แสงแดดสาดส่องทอดกระทบหมู่ไม้หลังคาใบเขียว สอดลอดลงมาเป็นริ้วยาวถึงพืชพรรณเบื้องล่าง บนผืนพื้นแผ่นดินอันชุ่มอุดมสมบูรณ์ กรุ่นกลิ่นไอดินหอมฟุ้งไปทั่วอาณา ท่ามกลางความเขียวขจีที่โอบกอดหมู่มวลสิ่งมีชีวิต เคล้าเสียงไก่และนกคลอบรรเลงกล่อมธรรมชาติและผู้คน ณ อาศรมแห่งนี้

“ธรรมชาติอยู่ได้โดยไม่มีคน แต่คนอยู่ไม่ได้หากขาดธรรมชาติ  ท้ายที่สุดแล้วปลายทางของเพอร์มาคัลเจอร์คือการที่มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยที่ต่างฝ่ายต่างเติบโตสมบูรณ์ไปด้วยกัน” เสียงหญิงสาวผิวสีน้ำผึ้งผู้หลงใหลในความงดงามของธรรมชาติและผู้ก่อตั้งอาศรมธรรมชาติ

เสียงนี้ดังขึ้น ณ ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เป็นที่ตั้งของ “กายาอาศรม (Gaia Ashram) หรืออาศรมธรรมชาติ” ชุมชนนิเวศวิถี (ecovillage) ซึ่งมีวิถีชีวิตบนหลักการเพอร์มาคัลเจอร์ (permaculture) โดยเปิดให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรระยะสั้นที่มีค่าใช้จ่าย และยังเปิดรับอาสาสมัครนักศึกษา คนไทยทั่วไป หรือต่างชาติเข้ามาเรียนรู้และช่วยงานด้วย

เพอร์มาคัลเจอร์เป็นแนวคิดและวิถีทางการเกษตรที่เน้นเรื่องความยั่งยืนของชีวิตและสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๘ โดย บิลล์ มอลลิสัน (Bill Mollison) นักนิเวศวิทยา และ เดวิด โฮล์มเกร็น (David Holmgren) นักออกแบบสิ่งแวดล้อม ชาวออสเตรเลียที่นำคำว่า permanent (ยั่งยืน คงทน) และ agriculture (เกษตรกรรม) มารวมกันเพื่อแสดงถึงปรัชญาความยั่งยืนและวิถีชีวิตแบบองค์รวม

แต่ต่อมามอลลิสันและโฮล์มเกร็นเปลี่ยนคำว่า agriculture เป็น culture (วัฒนธรรม) เพื่อให้ความยั่งยืนมีความหมายรวมถึงที่อยู่อาศัย ความต้องการทางสังคมของมนุษย์

หัวใจสำคัญของเพอร์มาคัลเจอร์คือการใส่ใจโลกและใส่ใจผู้อื่น

“การอยู่ร่วมกันคือการหวนคืนกลับไปสู่ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ เร าก็คือธรรมชาติเหมือนกัน อยู่ร่วมกันช่วยดูแลกันให้เติบโต”

 ชาวอาศรมธรรมชาติ (Gaia Ashram) กำลังปรับปรุงสวนครัวมันดาลา (Mandala)

Image