ภาพ : ก้องกนก นิ่มเจริญ
Eco Living
ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ผื น ป่ า
เมื่อปี ๒๕๖๕ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าผืนใหญ่ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย ระบุว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้หลงเหลืออยู่ ๑๐๑ ล้านไร่ หรือประมาณ ๓๑.๕๗ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ลดลงจากปีก่อนหน้าราว ๐.๐๒ เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นพื้นที่ ๗๖,๔๕๙.๔๑ ไร่ แบ่งเป็นป่าที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ๒๒ เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนอีก ๙ เปอร์เซ็นต์
การลดลงของป่าไม้ไทย สวนทางกับเป้าหมายตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่กำหนดให้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ กับพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนอีก ๑๕ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
การลดลงของผืนป่าไทยสอดรับกับสถานการณ์ความเป็นไปของผืนป่าโลก เมื่อปีเดียวกันเว็บไซต์ www.nationalgeographic.com ของนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก นำเสนอรายงานข่าวหัวข้อ The World’s Forests Decades of Loss and Change ที่ระบุว่าระหว่าง ค.ศ. ๒๐๐๐-๒๐๒๐ ทั่วโลกมีป่าลดลงมากถึง ๑๒ เปอร์เซ็นต์
ชั่วเวลาเพียง ๒ ทศวรรษเศษ ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ที่เป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ป่า เป็นต้นกำเนิดสายน้ำและอาหารให้ผู้คนพึ่งพิงอาศัย ได้หดตัวลดขนาดลงอย่างฮวบฮาบ
ในประเทศไทย อัคคีภัยนาม “ไฟป่า” การเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตลอดจนเจตนาที่จะบุกรุกทำลาย เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ สัตว์ป่าที่ถูกคุกคามมีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก สัตว์เลื้อยคลาน ปลา แมลงและสัตว์ป่าที่ไม่มีกระดูกสันหลัง
ในระดับโลก ต้นตอของการสูญเสียพื้นที่ป่าก็คล้ายกับบ้านเรา คือการขยายตัวของภาคเกษตร การทำฟาร์มปศุสัตว์ การรุกรานของแมลงศัตรูพืช การปรับสภาพผืนป่าเพื่อประกอบกิจการค้าไม้ ตลอดจนการตัดถนนหรือตัดเส้นทางรถไฟพาดผ่านป่า
ผลการศึกษาตามโครงการ The Global Roads Inventory Project (GRIP) ของ GRIP global roads database พบว่าทุกวันนี้มีถนนอย่างน้อย ๒๑ ล้านกิโลเมตรทอดยาวไปทั่วโลก
ภาพ : ธนากร เพื่อนรักษ์
แ ผ่ น ฟ้ า
ตลอดปี ๒๕๖๖ เป็นช่วงเวลาที่คนไทยต้องเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวิกฤตด้านคุณภาพอากาศ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จนนำมาสู่การฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่กำกับดูแลงานด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ด้วยผู้ฟ้องเห็นว่าหน่วยงานเหล่านั้นไม่ได้นำนโยบายหรือมาตรการที่มีมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ
Your Inspiring Reading Experience
Reading in other languages by opening in Chrome translate.
Explore our inspiring content by topic