ฤดู (เทศ) กาล
โคมจีน
ธรรมชาติ ทํามาโชว์
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : ธนิสร หลักชัย
ราวมี “เทศกาลโคมจีน” บนพุ่มไม้คล้ายใครเฉลิมฉลองความรื่นเริงโดยนำโคมจิ๋วสีแดงประดับพู่ห้อยสีเหลือง-สัญลักษณ์ของความโชคดีและสุขภาพแข็งแรงมาแขวนตกแต่งรอบ ๆ อย่างสวยงาม
คนไทยรู้จักในชื่อ “โคมจีน” หรือ “ชบาโคม” (จัดอยู่ในวงศ์ชบาชนิดที่มีกลีบเลี้ยง) บางประเทศอาจเรียก “เมเปิลดอกโคมไฟจีน” เนื่องจากใบคล้ายใบเมเปิล
อันที่จริงต้นนี้มีหลายพันธุ์ ชื่อเรียกต่างกัน แต่มีชื่อวิทยาศาสตร์ร่วมกันคือ Abutilon megapotamicum หรือ Abutilon x Hybridum เป็นพืชเขตร้อนในอาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัย ยอมรับกันว่าลักษณะคล้าย “Chinese lantern” โคมของชาวจีน จึงนิยมปลูกมากในจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย
เราพบดอกไม้น่ารักนี้ที่ชุมชนคนจีน-มาลายา ในหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๐ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พวกเขาปลูกตรงซุ้มประตูเพื่อประดับทางเข้า-ออก เช่นเดียวกับที่ตามบ้านเรือนก็ยังพอมีแขวนโคมสีแดงไว้หน้าบ้าน ครั้นมีงานเทศกาลใดจึงนำออกมาตกแต่งจำนวนมาก
ความน่ารักของดอกไม้ห้ากลีบสีแดงเข้มนี้ไม่เพียงคล้ายโคมจีนย่อส่วนเหลือสัก ๔ เซนติเมตร ฐานดอกสีเหลืองสว่างยังชวนจินตนาการสนุก ๆ ว่าในกระเปาะคงมีดวงไฟจิ๋วซ่อนอยู่เมื่อดอกสะพรั่งต้นจึงดูคล้ายพุ่มไม้ปรากฏแสงไฟอบอุ่น และเกสรตัวผู้ที่ห้อยยาวเด่นก็ยังละม้ายพู่ของโคมด้วย
แม้ต้นเขียวชอุ่มตลอดปี แต่โคมจะบานสวยช่วงฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง
ซึ่งมักเป็นช่วงมงคลที่มีเทศกาลสำคัญ ๆ ทางวัฒนธรรมจีนเสียด้วยสิ
สนับสนุนการลงพื้นที่ : องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา