Gayo Coffee จากประวัติศาสตร์
สู่ “สินค้าส่งออก”

ASEAN Capitalization

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์

Image

ภาพ : The Jakarta Post

โดยปรกติภาพจำของอาเจะห์ (Aceh) จังหวัดของอินโดนีเซียที่อยู่ทางด้านตะวันตกสุดของเกาะสุมาตรา มักจะเป็นเรื่องราวของการบังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างสุดขั้ว

แต่อีกมุมหนึ่งอาเจะห์ถือเป็นแหล่ง “กาแฟ” ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ก่อนโรคโควิด-๑๙ ระบาด นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสไปเยือนอาเจะห์มักไม่พลาดการไปจิบกาแฟกาโย (Gayo Coffee) กาแฟดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกซึ่งปลูกอยู่บนที่ราบสูงกาโย (Gayo Highland)

ในอาเจะห์มีการปลูกกาแฟอยู่สองสายพันธุ์ คือ อะราบิกาและโรบัสตา 

อะราบิกาสร้างชื่อเสียงให้อาเจะห์มากที่สุด นำเข้ามาปลูกโดยชาวดัตช์ (เจ้าอาณานิคม) ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙  ด้วยเหตุที่ที่ราบสูงกาโยและบริเวณทะเลสาบลุตตาวาร์ (Lake Laut Tawar) สูงกว่าระดับทะเลถึง ๑,๒๕๐ เมตร อากาศจึงเย็น เหมาะอย่างยิ่งในการปลูกกาแฟ ไร่กาแฟจึงขยายพื้นที่อย่างรวดเร็วโดยมีคนท้องถิ่นเป็นลูกจ้างในไร่

กาแฟอะราบิกาถูกส่งออกไปขายนอกพื้นที่ ขณะที่คนท้องถิ่นนิยมบริโภคกาแฟแบบโรบัสตามากกว่า  มีสถิติว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๓) พื้นที่กว่า ๑.๓ หมื่นเฮกตาร์ (กว่า ๘ หมื่นไร่) ของที่นี่ถูกเปลี่ยนเป็นไร่กาแฟทั้งหมด โดยเฉพาะในเมืองตาเคนกอน (Takengon) ในเขตภาคกลางของอาเจะห์ ได้ชื่อว่าผลิตกาแฟอะราบิกาคุณภาพสูง รสชาติกลมกล่อม

คนต่างถิ่นเรียกที่นี่ว่า “กาโย” (Gayo Land) จึงมักเรียกกาแฟของถิ่นนี้ว่า “กาแฟกาโย” (Gayo Coffee) ไปด้วย

เมื่ออินโดนีเซียได้รับเอกราช ไร่กาแฟเหล่านี้จึงเปลี่ยนมือมาสู่คนท้องถิ่น อาเจะห์กลายเป็นแหล่งปลูกอะราบิกาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย ขณะที่อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกกาแฟอันดับ ๔ ของโลก โดยกาแฟร้อยละ ๔๐ ที่ส่งออกไปขายต่างประเทศมาจากที่นี่ (ราวปีละ ๕ หมื่นตัน)

ทว่าชาวต่างชาติมักไม่ได้รับทราบข้อมูลนี้ ด้วยข่าวความรุนแรงในพื้นที่ ระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลอินโดนีเซียกลบฝังเรื่องราวเหล่านี้ไปหมด แต่เมื่อสึนามิพัดถล่มชายฝั่งประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียใน ค.ศ. ๒๐๐๕ การฟื้นฟูอาเจะห์และการบรรลุข้อตกลงเรื่องการปกครองตนเองด้วยกฎหมายอิสลามทำให้อาเจะห์กลับคืนสู่ความสงบ

ในช่วงฟื้นฟูอาเจะห์ ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ทำให้กาแฟอาเจะห์เป็นที่รู้จักมากขึ้น คนเข้าร้านกาแฟมากขึ้น จนกล่าวกันว่าคนอาเจะห์เข้าร้านกาแฟมากกว่าชาวปารีสด้วยซ้ำ และกฎข้อบังคับที่อนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเข้าร้านกาแฟได้ก็คลายความเข้มงวดลง

เขตที่มีชื่อเสียงในการปลูกกาแฟที่สุดแห่งหนึ่งคือตาเคนกอน และผู้ผลิตที่น่าสนใจที่สุดกลุ่มหนึ่งคือสหกรณ์ Takengon Co-op (K2’s Coffee) ผู้ผลิตกาแฟยี่ห้อ Gayo’s Best Coffee จากผลิตผลของเกษตรกร ๑๘ ครอบครัว (สี่หมู่บ้าน) ในเมืองชื่อเดียวกัน

เกษตรกรกลุ่มนี้เริ่มต้นจากหนุ่มคนหนึ่งนามว่าวอสเตอร์ (Voster) ทำงานด้านพัฒนาชุมชน ผ่านการทำแปลงเกษตรสาธิต อบรม ฯลฯ จนวันหนึ่งเขามองว่าวิธีที่ได้ผลที่สุดคือการที่เขาต้องเป็นเกษตรกรแล้วลงมือทำเสียเอง โดยได้รับความร่วมมือจากเพื่อนเกษตรกรในท้องที่ จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเพื่อปรับปรุงวิธีการผลิตและสร้างรายได้

Image
Image

ฮุสนี อับราฮัม (Husni Abraham) หนึ่งในเกษตรกรไร่กาแฟ เล่าว่าที่ผ่านมา ไร่กาแฟในอาเจะห์ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพดินและการหาตลาดขายผลิตผลมาตลอด จึงเกิดความรู้สึกว่า “เหตุใดเกษตรกรจึงไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหาเสียเลย”

หลังจากนั้น K2’s Coffee ก็เริ่มมีชื่อเสียง นำต้นกาแฟพันธุ์เดิมมาปรับปรุงพันธุ์จนให้ผลผลิตได้ดี เช่นพันธุ์ทิมทิม (Tim Tim/Gayo 1) ให้ผลผลิตได้หลายครั้งต่อปี แตกยอดออกมาได้อีก ๗๐ สายพันธุ์  นอกจากนี้ยังมีกระบวนการผลิตที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการล้าง การกะเทาะเปลือก การคั่วเมล็ด ฯลฯ โดยขั้นตอนทั้งหมดแทบจะไม่มีการใช้สารเคมี

สินค้าที่ได้รับความนิยมของพวกเขาคือ กาโยอะราบิกา (Gayo Arabica, semi-wash/full wash) และกาแฟลูวัก (Luwak Coffee) โดย Luwak คือเมล็ดกาแฟที่ถูกนำไปผ่านระบบย่อยอาหารของชะมดซึ่งใช้ชีวิตตามธรรมชาติ

เมล็ดกาแฟกาโยอะราบิกาเป็นสินค้าราคาสูง เริ่มต้นที่กิโลกรัมละ ๒๔ ดอลลาร์สหรัฐ (กว่า ๗๐๐ บาท) ส่วน Luwak เป็นกาแฟที่แพงที่สุดประเภทหนึ่งของโลก ราคาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ ๘๐ ดอลลาร์สหรัฐ (กว่า ๒,๔๐๐ บาท)

Image

ภาพ : k2story.com

นอกจากนี้ยังมีพริสตินา (Pristina) เมล็ดกาแฟที่ผลิตด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมของคนท้องถิ่น ให้กลิ่นรสแบบพื้นเมืองเหมือนนั่งดื่มรอบกองไฟ ราคาอยู่ที่กิโล-กรัมละ ๒๐ ดอลลาร์สหรัฐ (กว่า ๖๐๐ บาท)

ถึงจุดหนึ่งพวกเขาได้รับคำสั่งซื้อเมล็ดกาแฟจากสหรัฐอเมริกา และส่งออกอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องเล่าของกาแฟกาโยยังเคยได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์อินโดนีเซียเรื่อง ปรัชญากาแฟ : อะโรมากาโย (Filosofi Kopi : Aroma Gayo) ออกฉายใน ค.ศ. ๒๐๒๐ ที่ผ่านมา โดยหนังเล่าเรื่องของริโอ เดวันโต (Rio Dewanto) ที่พยายามเข้าใจการผลิตกาแฟในดินแดนกาโย

ในอาเจะห์ยังมีคำกล่าวติดปากว่า แม้ชีวิตจะมีปัญหามากมาย แต่ “ทุกปัญหาล้วนแก้ไขได้ในร้านกาแฟ”

ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ากาแฟกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอาเจะห์

แม้ว่าตอนนี้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการส่งออกอันเนื่องมาจากโรคระบาดทำให้นักท่องเที่ยวห่างหาย และร้านกาแฟต้องปิดตัวลงไปจำนวนมากก็ตาม

Image

0