จิตใจอันสงบ มือที่จับไม้ปั้นค่อย ๆ บรรจงลงรายละเอียดบนรูปปั้นพระพุทธรูป

“เรื่องราว
และศรัทธา” 
กาลเวลาสร้างอนุสาวรีย์

เรื่อง : นิสากรม์ ทองทา
ภาพ : ณิชกานต์ ช่างสาร

สิ่งใดบ้างที่ทำให้คนธรรมดาเรียกตัวเองได้ว่าเป็น “มนุษย์” อย่างแท้จริงคือการเรียนรู้ วัฒนธรรม จิตวิญญาณ อารมณ์ความรู้สึก หรือแม้กระทั่ง “ศิลปะ”

“ศิลปะคือภาษาทางทัศนธาตุ เป็นความลึกซึ้งที่สะสมอยู่ภายในตัวเรา ศิลปะยกระดับและขยายขอบเขตของจิตใจให้กว้างขวาง มันขัดเกลา บำบัด และสร้างสรรค์”

ถ้อยคำตรึงใจนี้เป็นของศิลปินผู้มอบความรัก ความศรัทธาและอุทิศตนให้แก่งานศิลปะซึ่งมันหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตเขา - อติ กองสุข ประติมากรปฏิบัติงานคนสำคัญแห่งโรงประติมากรรม ณ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จังหวัดนครปฐม

ภายในพื้นที่ของโรงประติมากรรมขนาดใหญ่ ผนังทางด้านทิศเหนือสร้างจากกระจกโปร่งใส เราได้ยินเสียงนกร้องขับขาน มองออกไปข้างนอกแลเห็นหมู่แมกไม้และใบไม้พลิ้วไหว สัมผัสได้ถึงอากาศอบอุ่น อุณหภูมิพอเหมาะสำหรับเหล่างานประติมากรรม แสงตะวันส่องลอดผ่านกระจกเข้ามาแตะไล้รูปปั้นอันทรงคุณค่า ทุก ๆ ชิ้นงดงาม ประณีตบรรจง

พื้นที่แห่งนี้คือแหล่งผลิตงานประติมากรรมสำคัญมากมายทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน รูปปั้นบุคคลสำคัญ ตลอดจนพระพุทธรูปและสัญลักษณ์ทางศาสนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อนุสาวรีย์” ซึ่งถือเป็นงานหลักงานหลวงที่ศิลปินทุกคนช่วยกันสรรค์สร้าง

อนุสาวรีย์ไม่ใช่เพียงงานศิลปะเก่าแก่ หากสะท้อนถึงถ้อยคำของประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ฝากเรื่องราวไว้เป็นอนุสาวรีย์

ถ้าเรามองไปที่งานประติมากรรมสักชิ้น ขณะผ่อนลมหายใจเข้าออกช้า ๆ จะพบว่าหัวใจเรากำลังซึมซับ
บางสิ่ง อาจคือความรัก ความศรัทธา ความธรรมดา ทว่ามหัศจรรย์ รูปปั้นกำลังสนทนากับเราอย่างแยบยลโดยไม่ต้องอาศัยวาทศิลป์ใด ๆ ด้วยศิลปะซ่อนอยู่ภายในใจเราก่อนแล้ว มันจึงเป็นสิ่งที่ทั้งดวงตาได้เห็นและหัวใจได้มอง

ประติมากรมือทองอย่างอติผู้ปั้นงานประติมากรรมชิ้นสำคัญ เช่น พระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงงาน กล่าวว่า “ลายเส้นบนงานปั้น” คือลายมือของประติมากร

ประติมากรรมใช้แทนคำอธิบายตัวตนของผู้ปั้นได้ ใครที่เข้าใจงานศิลปะของเขาอย่างลึกซึ้งอาจมองเห็นจิตใจของอติได้ทะลุปรุโปร่ง

ในทางกายภาพงานปั้นแบ่งเป็นสองส่วน หนึ่งคือ form หรือเนื้อดินที่ใช้ปั้น เป็นปริมาณที่เราทุกคนมองเห็น อีกส่วนตาเราไม่อาจมองเห็น แต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึกว่ามันมีอยู่ นั่นคือ space หรืออากาศ ซึ่งรายล้อมรูปปั้น เนื้องานล่องหนที่ประติมากรทุกคนจินตนาการว่ามันสอดรับอย่างพอดิบพอดีกับส่วนเนื้อดิน

คำบอกเล่านี้ของอติคล้ายจะอธิบายต่อเรา สิ่งใดก็ตามที่เราระลึกว่าคือศิลปะ มันย่อมเป็นศิลปะ ไม่ว่าจะจับต้องได้หรือไม่ก็ตาม

การสร้างงานประติมากรรมต้องการแสงที่เพียงพอ เพื่อมองระยะ สัดส่วน ความตื้นลึกของชิ้นงาน ให้มีความถูกต้อง ดังนั้นสถานที่ที่เหมาะสมแก่งานสร้างประติมากรรม จึงต้องออกแบบให้มีพื้นที่กว้างขวางและมีแสงแดดส่องเข้ามาตลอดทั้งวัน

ขณะปั้นงานหนึ่งชิ้น “แสงและเงา” คือสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ

โรงปั้นหรือพื้นที่รวบรวมงานประติมากรรมทุกแห่งย่อมมีผนังด้านหนึ่งเปิดให้แสงเหนือหรือแสงใต้สาดส่องได้ เพราะแสงตะวันจากสองทิศนี้เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดตลอดวัน

การสร้างอนุสาวรีย์ทุกแห่งมีหลักการแรกสุดต้องพิจารณา คือ สถานที่ ตำแหน่ง และทิศทางเบื้องหน้า
เบื้องหลังของอนุสาวรีย์ เพราะบางครั้งเมื่อต้องแสงตะวัน ขนาดของประติมากรรมจะบิดเบือนไป

“หากเราทำให้คนดูงานประติมากรรมของเราได้ คนที่เดินผ่านหยุดมอง นั่นแหละคือศิลปะแล้ว”

คำกล่าวของอาจารย์อภิศักดิ์ ทองอินทร์ ประติมากรปฏิบัติการและอาจารย์สอนศิลปะผู้มีรอยยิ้มอบอุ่น เจ้าของงานประติมากรรมอันยิ่งใหญ่อย่างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า-จุฬาโลกมหาราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่อุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“อนุสาวรีย์บ่งบอกความเป็นไทยและความรักชาติ การสร้างอนุสาวรีย์จะต้องศึกษาประวัติศาสตร์อย่างละเอียด”

อาจารย์อภิศักดิ์หลงใหลทั้งประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศ ถ้าสนใจงานศิลปะชิ้นใดอาจารย์จะศึกษาเรื่องราวนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน กระทั่งอ่านคัมภีร์ไบเบิลเพื่อเข้าใจรูปปั้นที่เกี่ยวข้องกับศาสนา

เขากล่าวว่า งานศิลปะแต่ละชิ้นที่เรียนรู้ ไม่ว่างานของเขาหรืองานของคนอื่น เขาอยู่กับมันด้วยความรัก รูปปั้นสำหรับเขาสวยงามยิ่งกว่าต้นแบบของจริง เพราะศิลปินมักใส่ความสุขลงไปในงานด้วย

นอกจากจะใช้ต้นแบบที่เป็นรูปปั้นขนาดย่อส่วนแล้ว บางครั้งก็ใช้คนจริงเพื่อเป็นแบบในการวางท่าทาง หรือดูความถูกต้องของมัดกล้ามเนื้อ

Image

Image

“ศิลปะเป็นความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา ตัวเราเองเห็นงานหัตถกรรมชิ้นหนึ่ง อย่างถ้วยหนึ่งใบ ความจริงไม่จำเป็นต้องมีอะไรมากมายนอกจากกะลา แต่ไม่ใช่อย่างนั้น มันมีการออกแบบ คนทำใส่สิ่งที่เขารู้สึกสุขใจลงไปด้วย เรารับรู้ได้”

ขณะฟังเรามองเห็นความรักและจิตวิญญาณแท้จริงของศิลปินผ่านแววตานั้น ซึ่งลึกซึ้งกว่าคำพูดเขาเสียอีก

เมื่ออยู่กับศิลปินผู้มีแรงศรัทธา เราจะมองเห็นงานศิลปะชัดเจนขึ้น

ทุก ๆ จุด ทุก ๆ เส้นสายบนงานประติมากรรมอ่อนช้อย มีชีวิตชีวา ทว่าคมชัดและหนักแน่น เช่นเดียวกับบรรยากาศท่ามกลางงานประติมากรรมที่เราสัมผัสได้ถึงความสงบเงียบ ทรงพลัง เต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราว

นอกจากศาสตร์ทางด้านประติมากรรมอันเป็นหัวใจหลักของการสร้างอนุสาวรีย์แล้ว ยังมีอีกศาสตร์อันทำให้อนุสาวรีย์เสร็จสมบูรณ์พร้อมนำไปตั้งยังสถานที่ใดก็ตามให้ผู้คนเคารพกราบไหว้ ศาสตร์นั้นคือ “การหล่อ”

หลังจากประติมากรปั้นงานขึ้นจากดินเรียบร้อย ช่างหล่อจะเป็นผู้หล่อโลหะที่โรงประติมากรรม ณ สำนักช่างสิบหมู่แห่งนี้ เพื่อให้อนุสาวรีย์แข็งแรงมั่นคง ดังที่ สง่า จันทร์ตา นายช่างหล่อชำนาญงาน บอกเราด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

“หน้าที่พวกผมอยู่ในส่วนเผยแพร่ เปลี่ยนดินเป็นโลหะ เป้าหมายคือทำยังไงก็ได้ให้โลหะมีรายละเอียดใกล้เคียงดินที่ช่างปั้นปั้นมามากที่สุด โจทย์คือทำอย่างไรให้คนเดินเข้ามากราบไหว้”

Image

ไม่ว่างานปั้นพระพุทธรูปหรืออนุสาวรีย์ต่าง ๆ จะต้องสร้างต้นแบบขนาดย่อส่วนก่อนเริ่มปั้นขนาดจริงทุกครั้งเพื่อความถูกต้องของสัดส่วน

ความรู้สึกของผู้คนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องใส่ใจทุกขั้นตอนเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาออกมาให้ดีที่สุด

สง่าอธิบายว่านอกจากรายละเอียดยิบย่อย ความตื้นลึกหนาบาง และลายเส้นของช่างปั้นแล้ว งานสำคัญของช่างหล่อคือเรื่องสีของโลหะ ส่วนมากอนุสาวรีย์จะ
ทำสีน้ำตาลอมแดง ซึ่งเป็นสีที่มองแล้วให้ความรู้สึกน่าเคารพที่สุด

ปัจจุบันการหล่อจะใช้ “ปูนปลาสเตอร์” ขึ้นโครงสร้าง
ตามงานปั้นก่อนจะหล่อโลหะ หรือที่เรียกว่า “การหล่อทอง” ต่างจากในอดีตซึ่งใช้วิธีการหล่อแบบ “ดินไทย”
คือใช้ขี้วัว-วัตถุดิบพื้นบ้าน เป็นวัตถุดิบหลักผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ ก่อนขึ้นโครงรูปปั้นแทนปูนปลาสเตอร์

การหล่อแบบดินไทยทำให้เส้นสายบนงานประติมา-กรรมละเอียดและประณีต แต่ใช้เวลานานกว่าใช้ปูน
ปลาสเตอร์มาก ช่างหล่อที่หล่อแบบโบราณนี้จึงค่อย ๆ หายไป แต่สง่ายังใช้วิธีดั้งเดิมเช่นนี้บ้าง เพื่ออนุรักษ์วิถีเก่าแก่ของไทยให้คงอยู่

“งานหนึ่งที่ผมทำคือ พระรูปคู่ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ซึ่งผมทำด้วยกระบวนการดินไทยแทบทั้งสิ้น ใช้เวลานานมากคือ ๖ เดือน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศขณะนั้น) ทรงเป็นประธานในการหล่อทอง ผมโชคดีที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปรับเบ้าหล่อเองต่อหน้าพระองค์ ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต

“งานของผมเป็นงานเสี่ยงภัย ภัยโดยตรงคือความร้อนซึ่งใช้หลอมโลหะ ภัยทางอ้อมคือโรคที่เกิดจากการปฏิบัติงานมะเร็ง วัณโรค  แต่เราเกิดมาแล้ว ผมถือว่าได้มีโอกาสทำงานตอบแทนชาติ ตอบแทนแผ่นดิน สิ่งที่ได้จากการทำงานคือความภาคภูมิใจ เราเป็นผู้ให้ อุทิศแรงกายแรงใจเต็มที่

“ผมไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่อย่างน้อยร้อยคน พันคน หรือหมื่นคนอาจจะกราบไหว้ก็ได้ และเราสามารถบอกเขาได้ว่าเราเป็นคนทำ” เขากล่าวด้วยรอยยิ้ม

ช่างหล่อคนสำคัญแห่งกรมศิลปากรเล่าให้ฟังด้วยว่า งานประติมากรรมแรกของสยามประเทศคือพระบรม-ราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมรูปทรงม้า สร้างเมื่อปี ๒๔๕๐ ในรัชสมัยของพระองค์ เป็นผลงานของศิลปินชาวฝรั่งเศสยุคนั้น ซึ่งข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อนำงานประติมากรรมที่แล้วเสร็จมามอบให้คนไทย

Image

ความเก่าแก่ของงานศิลปะชิ้นนี้ชวนให้เรารำลึกถึงประวัติศาสตร์ของงานประติมากรรมซึ่งมีความเป็นมายาวนานนับแต่สมัยสุโขทัย กษัตริย์ในแต่ละยุคสมัยคือผู้พัฒนาและนักอนุรักษ์ งานศิลปะจึงแฝงไว้ด้วยความเป็นพระราชนิยม

สมัยก่อนหน่วยงานของกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ทำงานหลวงรับใช้ประเทศชาติ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เป็นศิลปินนับว่าเป็นครูผู้สร้าง

ในเวลาต่อมาเปลี่ยนมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขัดเกลาเส้นทางสำหรับงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ให้เติบโตอย่างดี โดยเฉพาะช่วงเวลาสำคัญที่สุดของเส้นทางประวัติศาสตร์

งานศิลปะแขนงประติมากรรมมีจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปี ๒๔๖๖ พุทธศักราชแห่งการมาเยือนสยามประเทศของศิลปินชาวอิตาลีนาม คอร์ราโด เฟโรชี หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์ประติมากร กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้ามารับราชการครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะตะวันตกเข้ามารับราชการ เป็นทั้งช่างปั้นและครูสอนงานศิลปะให้คนไทย

ต่อมาชาวอิตาลีผู้ย้ายสัญชาติมาเป็นชาวสยามคนนี้ก่อตั้งสำนักช่างสิบหมู่แห่งกรมศิลปากร และโรงเรียนประณีตศิลปกรรม หรือปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศิลปากร

ท่านมีผลงานมอบให้คนไทยมากมาย เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือย่าโม จังหวัดนครราชสีมา, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดสุพรรณบุรี, พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นต้น

ภาพทรงจำของอาจารย์ศิลป์สำหรับเหล่าศิษย์มีครู คือชายผู้มีแววตาเอื้ออารีซึ่งมีคุณูปการและความเป็นครูอย่างแท้จริง ดุจดังแสงสว่างส่องทางให้แก่ลูกศิษย์

“อาจารย์ศิลป์เสมือนเม็ดทรายเล็ก ๆ ที่ส่องแสงออกมา แล้วแผ่ขยายเป็นคุณค่าของงานศิลปะ”

น้ำคำนุ่มนวลกอปรแววตาเปี่ยมศรัทธาของหัวหน้าหอประติมากรรมต้นแบบ อาจารย์จิตกร วงษ์มาตร์ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงานแห่งกรมศิลปากร ผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะและเคารพรักอาจารย์ศิลป์มากจนกระทั่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ซึ่งอยู่ใกล้หอประติมากรรมต้นแบบของกรมศิลปากร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

Image

งานหล่อต้องใช้ความอดทนไม่แพ้งานปั้น และยังเสี่ยงต่อสุขภาพคนทําโดยตรง เพราะงานประเภทนี้ต้องเจอทั้งสารเคมีและความร้อนสูง ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทําให้คนที่ทํางานเหนื่อยหรือท้อ ด้วยใจที่ทําเพื่อคนอื่น ใจที่ทํางานนี้เพื่อชาตินั่นเอง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้และเครื่องมือทำงานศิลปะของอาจารย์ศิลป์  สถานที่ที่เป็นขุมพลังและแรงบันดาลใจของลูกศิษย์อย่างเขา

หอประติมากรรมต้นแบบของกรมศิลปากร คืออาคารสูงโปร่งสองชั้นซึ่งรวบรวมและจัดแสดงผลงานประติมากรรมของศิลปินชั้นครู  เมื่อย่างเท้าเข้าไปอย่างแรกที่ดวงตาได้สัมผัสและหัวใจได้ซึมซับคือความงาม อย่างต่อมาคือเรื่องราวที่ได้รับการกล่าวขานอย่างไพเราะ คล้ายมีบทเพลงแห่งตำนานหลายร้อยบทเพลงดังเป็นทำนองซุกซ่อนอยู่ในหอประติมากรรมนี้ รอให้ผู้คนก้าวเข้ามาเพื่อบันทึกความทรงจำเก่า ๆ ไว้

นอกจากงานปั้นของศิลปินชั้นครูท่านต่าง ๆ พื้นที่นี้ยังเก็บรักษางานประติมากรรมชิ้นเอกของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ทั้งงานประติมากรรม ภาพนูนต่ำนูนสูง งานวาดแบบ และรูปปั้นสเกตช์ขนาดย่อส่วน ทำจำลองก่อนสร้างรูปปั้นขนาดจริงเพื่อเทียบสัดส่วนที่ถูกต้องสำหรับลงมือทำประติมากรรมชิ้นจริง

“งานปั้นให้ความรู้สึกจับต้องได้ เป็นงานวิเศษนะ คล้ายกับหนังสือที่นักเขียนจะสัมผัสและเข้าถึงตัวอักษรอย่างลึกซึ้ง ส่วนช่างปั้นต้องเป็นนักสังเกต ใส่ใจ มอบอารมณ์ความรู้สึกให้งานปั้นในทุก ๆ รายละเอียด”

สำหรับอาจารย์จิตกรนั้น ไม่เพียงแค่งานประติมา-กรรม ไม่ว่าศิลปะแขนงใด จิตรกรรม หัตถกรรม สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี หรือหนังสือ ล้วนเป็นสิ่งสวยงามของชีวิตมนุษย์ ทำให้นัยน์ตาของผู้คนมองเห็นมุมมองงดงามของโลกใบนี้
...
ประวัติศาสตร์ของเราเริ่มต้นมานานนับศตวรรษ เรื่องราวเดินทางอยู่ในความทรงจำของผู้คน บันทึกอยู่ในพงศาวดาร บรรเลงในบทเพลงเก่าแก่ และซ่อนตัวไว้ในงานศิลปะ

ยุคสมัยเก่า ๆ ผ่านพ้นไป วันเวลาในปัจจุบันทำหน้าที่ดำเนินเรื่องราวเหล่านั้นต่อ 

เพื่อสร้างประวัติศาสตร์
ไว้อีกครั้งแด่คนรุ่นหลัง  

Image
0