Image

Model Railway
ภารกิจชีวิต
ในโลกย่อสเกล

scoop

เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์  สุจินต์ เกยสุวรรณ

เมืองจำลองรถไฟสร้างขึ้นกินพื้นที่เกือบเต็มห้อง ด้วยมาตราส่วน ๑ : ๘๗ อันเป็นมาตรฐานสากลของรถไฟจำลองที่เรียกว่า HO scale 

“อุบัติเหตุ” เช้านี้

ขบวน ๗๓๙๐ รถขนถ่านหิน ๒๑ หลัง ขณะถอยเข้าย่านรางที่ ๗ ทางทิศใต้ของสถานี ตู้ที่ ๕ จากหัว
รถจักรเกิดหลุดจากราง ดึงรถอีก ๔ หลังพลิกควํ่าลงข้างทางไปด้วย...

เหตุน่าจะเพราะตู้ต่อจากหัวรถจักรที่เบากว่า ๑๖
ตู้หลังที่บรรทุกมาเต็มพิกัด ตอนลงจากเนินแคร่ล้อเกิดยกตัวหลุดออกจากราง (ตู้ที่พลิกคว่ำ) เลยขวางอีกรางไปด้วย

เจ้าหน้าที่พร้อมฝรั่งมุงเข้าที่เกิดเหตุแล้ว ยังไม่ได้ยกหรือทำไรครับ ตอนนี้ “เซ็ง” ...

...
หลังจากเห็นข่าว ผู้ติดตามการรายงานและภาพเหตุการณ์ในเฟซบุ๊กเพจต่างพากันเข้ามาคอมเมนต์ต่อท้ายว่า

น่ากลัวจริง ๆ ครับ

เป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงมากครับ
โชคดีไม่ใช่รถน้ำมัน...
ดีนะไม่มีใครบาดเจ็บ
CNN ลงข่าวเมื่อกี้
ฯลฯ

ภาพถ่ายขบวนตู้รถไฟพลิกคว่ำออกนอกราง ทำเอาไม้หมอนรถไฟที่กองข้างทางระเนระนาดไปด้วย มีเจ้าหน้าที่หลายคนเข้ามายืนดูสำรวจความเสียหาย พร้อมกับรถยนต์ รถเครน พากันมาจอดข้างถนนริมโค้งทางรถไฟนั้นดูสมจริงราวกับอุบัติเหตุจริง ๆ

แม้ทุกคนก็รู้ดีว่าไม่ใช่ แต่อดสนุกไม่ได้ที่จะร่วมจินตนาการไปกับเรื่องราวในโพสต์ของชายคนนี้ ผู้กำลังยืนกอดอก “เซ็ง” มองเหตุการณ์ในภาพคนจริง ๆ ซึ่งดูกลายเป็นยักษ์เมื่อเทียบขนาดกับรถไฟโมเดลและตุ๊กตาเจ้าหน้าที่


น่าสนุกแค่ไหนถ้าได้หนีจากโลกใบใหญ่เข้าไปอยู่ในโลกจำลองใบจิ๋ว


โดยเฉพาะถ้าเป็นเมืองในฝันของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีขบวนรถไฟวิ่งวนไปวนมาฉึกฉัก ๆ เปิดหวูดปู๊น ๆ
ตลอดทั้งวัน

แต่กว่าจะสามารถสร้างสรรค์เมืองรถไฟจำลอง
ย่อส่วนให้สมจริงจนน่าหลงใหล...

อาจต้องหลงรถไฟให้หนักหนาเข้าเส้นเช่นเดียว
กับเขา

Image

๑ : ๘๗ 

ถ้ามีห้องขนาดกว้าง ๕ เมตร ลึกสัก ๑๒ เมตรว่าง ๆ คุณคิดจะใช้ห้องทำอะไร

สำหรับห้องนี้ บนพื้นที่กว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ตรงหน้าคือเมืองจำลองและเส้นทางรถไฟหลายเส้นวิ่งผ่านพื้นที่รูปตัวยูซึ่งแบ่งเป็นสองฝั่ง

หากหันหน้าเข้าห้อง ฝั่งซ้ายเส้นทางรถไฟจะลอดอุโมงค์เข้าถ้ำใต้ภูเขาสูงที่มีแนวต้นสนขึ้นปกคลุมยอดผ่านสถานีรถไฟเลียบหน้าผาชันหลังโรงกลั่น เข้าโค้งกลับมาข้ามสะพานเหนือลำธาร ผ่านหมู่บ้านปศุสัตว์ เข้าโค้งอ้อมไปทางพื้นที่ฝั่งขวาเส้นทางจะผ่านชุมทางรถไฟที่มีรางรถไฟวางคู่ขนานกันจำนวนมาก สับรางแยกสายไปได้มากมาย เป็นที่ตั้งของโรงซ่อมบำรุงหัวรถจักร โรงเติมเชื้อเพลิงถ่านหิน ผ่านเมืองเล็ก ๆ กับสถานีรถไฟ โรงปูน ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เข้าโค้ง ก่อนจะวนกลับฝั่งซ้ายวิ่งขึ้นทางชันเล็กน้อย ผ่านเหมืองถ่านหิน  ระหว่างทางมีแยกเข้าอุโมงค์ถ้ำใต้ภูเขาและสะพานไม้

ทางวิ่งวนไปวนมาได้ไม่รู้จบ จะสับประแจขยับรางให้รถแยกเข้าเส้นรองวิ่งลอดอุโมงค์ที่ซ่อนไว้ หรือแยกเอารถไฟเข้าจอดพักตามจุดสถานที่ต่าง ๆ ก็แล้วแต่พนักงานผู้ควบคุมรถ

ฉากตระการตาทั้งหมดนี้ย่อส่วนโดยยึดอัตราส่วนตามมาตรฐานรถไฟจำลองและรางรถไฟที่นิยมเล่นกันทั่วโลกคือ ๑ : ๘๗

๑ : ๘๗ มีชื่อเรียกสากลว่า HO สเกล ย่อจาก Half of O scale หรือครึ่งหนึ่งของ O สเกล (O สเกลคือ ๑ : ๔๘)

เมื่อโลกจริงขนาดสเกลคือ ๑ : ๑ หมายความว่าอะไรก็ตามขนาดยาว ๘๗ เซนติเมตร เมื่อย่อส่วนตาม HO สเกล ๑ : ๘๗ ก็จะเหลือ ๑ เซนติเมตร

หัวรถจักรความยาวราว ๑๕ เมตรจึงย่อส่วนเหลือหนึ่งฝ่ามือใหญ่ ๆ หรือราว ๑๗ เซนติเมตร 

คนสูงสัก ๑๗๐ เซนติเมตร ย่อส่วนตาม HO ก็เหลือไม่ถึง ๒ เซนติเมตร

คะเนจากสายตาแล้ว สุจินต์ เกยสุวรรณ ชายหนุ่มลูกอีสานชาวศรีสะเกษที่เนรมิตห้องนี้ให้เป็นเมืองรถไฟจำลองก็สูงราว ๆ นี้

แว่นสายตาและผมสีเทายาวรวบมัดเปียไว้ข้างหลัง ทำให้ใครที่ติดตามในเฟซบุ๊กเพจ The Trains คงคิดว่าเขาอายุเลยหลักหก แต่เอาเข้าจริงเขาข้ามหลักห้ามาไม่กี่ตัวเลข

เขามาอยู่ย่านตลาดนางเลิ้งที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ยังเด็ก ตอนอายุไม่ถึง ๑๐ ขวบก็หลงรักรถไฟจำลองแล้ว

“พ่อผมทำงานรถไฟก็เลยได้ติดตามพ่อไป เวลาพ่อทำงานผมก็ไปเดินเล่นดูรถไฟวิ่งเข้าวิ่งออกอยู่ที่สถานีหัวลำโพง หรือไม่ก็สถานีธนบุรี พอตอน ป. ๔ ไปห้างเซ็นทรัลชิดลมเห็นรถไฟจำลองขายครั้งแรกก็อยากได้ทันที ผมรับจ้างเข็นปลาเก็บเงินจนถึง ป. ๗ ได้เงินพอซื้อรถไฟจำลองคันแรกราคา ๑๓๐ บาท กับรางสั้น ๆ มาหนึ่งท่อนราคา ๔๐ บาท สมัยนั้น (๔๐ ปีก่อน) ถือว่าแพงนะ  กลับบ้านก็เอารถมาวางบนรางไถไปไถมา กินข้าวก็เอามาเล็งดู ก่อนจะนอนก็เอามาเล็งดู คือมันเหมือนมุมมองสายตาที่เรายืนมองรถไฟจริง ๆ อยู่ข้างทาง แต่นี่เรากำหนดให้รถถอยหน้าถอยหลังได้ตามใจ ก็ยิ่งมีความสุขใหญ่ ผมคิดว่าคนเล่นรถไฟจะมีอารมณ์นี้เหมือนกันหมด”

พอขึ้นมัธยมฯ เขาก็เก็บเงินซื้อทีละคันสองคันสะสมมาเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้

หลังเลิกเรียน เด็กน้อยยังชอบนั่งรถไฟเล่น นั่งไปเที่ยวนครปฐมแล้วก็กลับ หรือไปสถานีธนบุรีนั่งรถไฟที่ชาวบ้านเรียกว่า “รถแปดเที่ยว” มีวิ่งออกชั่วโมงละขบวนทั้งวัน บางวันก็ถึงขั้นแอบหนีโรงเรียนมาดูรถไฟบ่อย ๆ เดินเล่นตามรางจนเกือบโดนรถไฟชนตายครั้งแรกทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นยังอยู่ ป. ๔ และอีกหลายครั้งในวัยเด็ก เพราะมัวสนุกกับการเอาเหรียญวางบนรางรถไฟเล่นเพื่อดูเหรียญสั่นตกจากราง

เขาชอบไปยืนบนสะพานกษัตริย์ศึกตรงยศเสที่อยู่เหนือทางรถไฟเข้าออกสถานีหัวลำโพง

Image

ด้วยพื้นที่เมืองจำลองรถไฟขนาดใหญ่ จึงต้องออกแบบพื้นที่บางจุดให้เปิดยกได้ เพื่อเข้าไปซ่อมบำรุงหรือแก้ไขกรณีรถไฟตกรางในบริเวณรางรถไฟที่ไม่อาจเอื้อมถึงจากด้านนอก 

“ยืนดูรถไฟเป็นชั่วโมง ตากแดด ดูอย่างมีความสุข พอรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เขาจะต้องทำขบวนใหม่ ถอยรถออกมาตัดตู้โน้นออก ตัดตู้นี้เข้า ถอยกลับเข้ารางขาออก ถ้ายืนหันหน้าเข้าหาหัวลำโพง ฝั่งขวาคือรางขาออกนะ ฝั่งซ้ายคือรางขาเข้า พอมาทำฉากโมเดลรถไฟเราก็วางรางเป็น ผมรู้เรื่องระบบรถไฟจากของจริงที่เห็นตั้งแต่เด็ก รู้ว่าทำไมต้องวางรางแยกตรงนี้ แล้วจะไปไหนต่อดี”

แต่การเล่นรถไฟจำลองกับการสร้างเมืองรถไฟนั้นต่างกันไม่น้อย

คนเล่นรถไฟจำลองส่วนใหญ่มักเป็นนักสะสมตู้รถไฟ พอใจกับการเอารถมาตั้งดู ที่จะเล่นรางด้วยมีน้อยมาก บางคนจริงจังหน่อยก็อาจซื้อรางรถไฟมาต่อวนเป็นวงกลมหรือรูปวงรีเล็ก ๆ ให้รถได้วิ่งบ้างก็ชื่นใจแล้ว

คนที่อยากมีฉากเมืองรถไฟประกอบให้รถไฟวิ่งผ่านด้วยจึงยิ่งน้อยไปอีกเพราะต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำฉากเมืองรถไฟ

อาจเพราะความชอบดูรถไฟวิ่งไปวิ่งมา และนั่งรถไฟเที่ยวไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ กับพอเห็นฉากจำลองสำเร็จรูปขายในห้างแบบเป็นหญ้าพลาสติกเขียวปื๋อ ภูเขาพลาสติกไฟเบอร์แข็งกระด้าง ก็เห็นว่าไม่สวย และรู้สึกอยากทำฉากขึ้นเองบ้าง แม้ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร  จนมาเจอหนังสือมือสองเกี่ยวกับรถไฟจำลองของต่างประเทศตั้งแต่สมัยยังมีตลาดนัดที่ท้องสนามหลวง เล่มละ ๒๕ บาท ในหนังสือมีภาพสอนการทำฉากจำลองต่าง ๆ เช่น สะพาน อุโมงค์ ต้นไม้ ฯลฯ ก็เลยสะสมความรู้มาทีละนิด ถึงยุคมีวิดีโอเกี่ยวกับรถไฟจำลองก็หาซื้อมาดู

แต่หลายสิบปีผ่านก็ยังไม่เคยลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกับฉากเมืองรถไฟ

จนถึงวันที่อาชีพประจำของเขาด้านงานออกแบบสิ่งพิมพ์ให้กับโรงพิมพ์เริ่มต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์เต็มตัว แต่เขาไม่อยากไล่ตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วยอายุที่มากขึ้นและทำงานมานาน ถึงเวลาหาอาชีพอิสระสักอย่าง และมีเวลาท่องเที่ยวพักผ่อนบ้างให้ชีวิต

ในวัยราว ๔๐ เขาตัดสินใจสับประแจให้ขบวนรถไฟชีวิตเลี้ยวออกจากเส้นทางเดิมที่วิ่งวนเวียนมานาน มุ่งหน้าไปอีกทาง

Model Railway
Layout

ที่เรียกว่าฉากเมืองรถไฟจำลองนั้น ศัพท์อังกฤษใช้ว่า model railway, railway modelling หรือ model railroading บ้าง อีกคำหนึ่งสำหรับการสร้างฉากจำลองทั่วไปก็คือไดโอรามา (diorama) พอใช้กับรถไฟก็เรียกว่า train diorama

ส่วน layout ศัพท์นี้ในภาษาคนออกแบบสิ่งพิมพ์หมายถึงการออกแบบหน้าตาสิ่งพิมพ์ วางตำแหน่งองค์ประกอบข้อความ ภาพ ลายเส้น บนหน้ากระดาษ (เดี๋ยวนี้กินความถึงสื่อบนหน้าจอ)

ในวงการสร้างฉากเมืองรถไฟจำลองก็คล้ายคลึงกัน เลย์เอาต์หมายถึงฉากจำลองพื้นที่ที่เส้นทางรถไฟวิ่งผ่านนั่นเอง

model railway อันแรกของโลกสร้างขึ้นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ ๑๘๔๐ และกลายเป็นงานอดิเรกของคนมีฐานะสักหน่อยทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีมาคู่กับความนิยมเล่นรถไฟจำลองหรือ model train โดยยุคแรก ๆ นั้นยังใช้เป็นสนามฝึกหัดพนักงานรถไฟให้เข้าใจระบบรถไฟด้วย

ก่อนจะไปต่อ ต้องแยกความแตกต่างระหว่างรถไฟเด็กเล่นหรือ toy train กับรถไฟจำลองกันเสียก่อน

รถไฟเด็กเล่นนั้นออกแบบสร้างขึ้นตามจินตนาการของผู้ผลิตของเล่น มีทั้งแค่โครงคล้ายรถไฟจนถึงมีรายละเอียดเหมือนจริง บางแบบใส่ถ่านให้วิ่งได้ แต่รถไฟจำลองสร้างขึ้นเลียนแบบตามลักษณะขบวนรถไฟยี่ห้อต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นใช้งานกันบนโลกจริง และระบบไฟฟ้าจะจ่ายผ่านรางรถไฟ ไม่ได้ใช้ถ่าน

รถไฟที่ผลิตในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่นแต่ละยุคสมัยหน้าตาเป็นอย่างไร รถไฟจำลองก็สร้างเลียนแบบมาตามนั้นให้ใกล้เคียงที่สุด

ถ้าแบ่งตามเทคโนโลยีรถไฟอย่างคร่าว ๆ ก็มีตั้งแต่รถจักรไอน้ำ รถจักรดีเซล รถจักรไฟฟ้า ลักษณะหัวรถจักรจึงแตกต่างกันไป

สำหรับพัฒนาการของรถไฟจำลองที่สร้างเลียนแบบ สุจินต์ให้ความรู้ว่า

“รถยุคก่อนจะรับไฟจากล้อที่สัมผัสกับรางแค่สองจุด เวลาเปิดสวิตช์ออกตัวรถก็พุ่งกระชากวิ่งไปเลย ส่วนรถรุ่นใหม่รับไฟทุกล้อ ระบบมอเตอร์จะดีกว่า ควบคุมความเร็วเป็นระดับจากช้าถึงเร็วได้ รถจะวิ่งเรียบขึ้น เวลาออกตัวเราควบคุมให้มันค่อย ๆ เคลื่อนออกได้เหมือนรถไฟจริง หรือจะหยุดรถก็ค่อย ๆ ลดความเร็วให้ชะลอลงจนจอดสนิท

“ในแง่ตัวรถก็มีรายละเอียดมากขึ้น มีราวจับ หน้าต่าง ประตู แคร่ล้อ ห้ามล้อ คล้ายรถไฟรุ่นนั้นยี่ห้อนั้นจริง ๆ ยิ่งพอเป็นระบบดิจิทัลก็มีเสียงรถไฟมาให้ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ตรงกับรุ่นนั้นจริง ๆ เสียงเบรก เสียงหวูด เสียงระฆัง คนเล่นรถไฟยุคใหม่นี้จะมีความสุขมากกว่ารถยุคก่อน แต่ก็แลกด้วยราคาที่สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะ”

Image

การสร้างเมืองจำลองช่วงแรกเริ่มจากการวางเส้นทางรางรถไฟตามที่ออกแบบไว้ ทั้งความโค้งและระดับความชันของเส้นทางได้รับการคำนวณมาก่อนแล้วอย่างดีว่าขบวนรถไฟจำลองรุ่นที่จะใช้เล่นสามารถวิ่งได้

Image
Image

สุจินต์จะสเกตช์ภาพขาวดำก่อนแล้วลงสีอย่างสวยงาม เพื่อสร้างจินตนาการให้เป็นภาพที่จับต้องได้  ในภาพนี้คือบริเวณโรงหัวรถจักร ซึ่งสะพานกลางฐานวงกลมสามารถบังคับให้หมุนได้เพื่อนำหัวรถจักรเข้าออกจากอู่ซ่อมในแต่ละช่อง 

เมื่อรถไฟจำลองสร้างตามของจริงที่มีใช้ในแต่ละประเทศ คนเล่นก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับรถไฟรุ่นต่าง ๆ ของประเทศนั้น บางคนชอบเล่นสะสมรถไฟยุโรป บางคนชอบเล่นสะสมรถไฟอเมริกา หรืออาจสะสมคละกัน แต่เพื่อให้สมจริงการสร้างฉากจำลองก็ต้องพยายามเลียนแบบภูมิทัศน์ของแต่ละประเทศที่รถไฟวิ่งด้วย จะเอารถจักรดีเซลของสหรัฐอเมริกามาวิ่งกลางภูเขาแอลป์แถบสวิตเซอร์แลนด์ก็คงผิดที่ผิดทาง

อย่างฉากเมืองรถไฟจำลองในห้องนี้ก็สร้างตาม
ภูมิทัศน์ของสหรัฐอเมริกา เพราะเจ้าของห้องต้องการนำขบวนรถไฟของอเมริกาที่สะสมไว้จำนวนมากมาวิ่งเป็นหลัก เช่น รถ Union Pacific, Southern Pacific

องค์ประกอบที่เหมือนเป็นกระดูกสันหลังของฉากจำลองก็คือรางรถไฟ ในเลย์เอาต์จะมีกี่ราง จะวางรางอย่างไรให้รถไฟวิ่งไปไหน ไปทำอะไร ต้องวางแผนเป็นอย่างแรก


หนุ่มใหญ่ซึ่งถึงตอนนี้มีรายได้จากการรับจ้างทำฉากเมืองรถไฟจำลองให้คนเล่นรถไฟมาแล้วหลายราย ผ่านงานมาทั้งแบบรถไฟยุโรปและสหรัฐอเมริกา บอกว่าองค์ประกอบพื้นฐานอื่น ๆ ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ 


“ภูเขา สะพานข้ามลำธาร สถานี อุโมงค์ นี่คือครบถ้วนของฉากรถไฟจำลอง ถึงเลย์เอาต์จะเล็กก็ต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้  ถ้ามีพื้นที่เพิ่มก็อาจเพิ่มบ้านเรือน ลานจอดรถสินค้า อาคารอื่น ๆ  ถ้าระบบรางไม่ซับซ้อนก็จะมีพื้นที่ให้องค์ประกอบเหล่านี้มากขึ้น แต่ถ้าออกแบบให้มีรางเยอะพื้นที่สำหรับองค์ประกอบอื่น ๆ
ก็น้อยลง”

สำหรับขั้นตอนการสร้างฉาก เขาเริ่มต้นจากการวาดภาพเลย์เอาต์ให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่เท่าที่มีให้เจ้าของดู ซึ่งเขาเคยทำมาแล้วทั้งงานเล็กงานใหญ่
อย่างงานแรกเป็นเลย์เอาต์ขนาด ๔x๘ ฟุต หรือเท่ากับกระดานไม้อัดหนึ่งแผ่น จากนั้นถ้าตกลงพอใจแบบกันเรียบร้อยเขาจะเริ่มทำโครงสร้างเพื่อวางรางรถไฟก่อน หากเลย์เอาต์ใหญ่เต็มห้องก็ต้องต่อโครงไม้ขึ้นมารองรับคล้ายโครงสร้างโต๊ะด้วย ส่วนพื้นรับรางรถไฟทั้งหมดเป็นกระดานไม้อัดซึ่งตัดตามแบบ ติดตั้งรางแล้วพื้นต้องได้ระดับเสมอกันและต่อเนื่องเพื่อไม่ให้รถวิ่งสะดุดทดลองวิ่งรถไฟและปรับแก้จนมั่นใจว่าระบบรางไม่มีปัญหารถตกราง โดยเฉพาะส่วนยุ่งยากที่สุดคือการเข้าโค้ง

“รถไฟจำลองแต่ละรุ่นเขาจะกำหนดมาเลยว่าเข้าโค้งได้ที่รัศมีความโค้งต่ำสุดเท่าไร ซึ่งมันมีมาตรฐานเป็นกี่นิ้ว ๆ เราต้องรู้ก่อนว่าเจ้าของเขาจะเอารถไฟรุ่นไหนมาเล่น ก็พยายามออกแบบให้รองรับ แต่บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่จำกัดทำโค้งใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องคุยกันก่อนว่ารถไฟบางรุ่นอาจจะวิ่งไม่ได้”

เมื่อระบบรางเรียบร้อยก็เริ่มประกอบฉากภูมิทัศน์และลงอาคารจำลองต่าง ๆ ตามตำแหน่งที่วางไว้จนเสร็จ

ส่วนใหญ่แล้วรถไฟจำลอง ต้นไม้ ต้นหญ้า รถยนต์ คน อาคารจำลองต่าง ๆ ฯลฯ ถ้ามีเงินก็ซื้อมาประกอบฉากได้เลย เพราะมีขายเป็นของสำเร็จรูป บางครั้งก็เป็นแบบมีชิ้นส่วนย่อยให้มาประกอบเองเพิ่มเติมเล็กน้อย หรือแบบแยกชิ้นส่วนย่อย ๆ ให้ประกอบเองทั้งหมดก็มี

ของสำเร็จรูปมีรายละเอียดดีก็ราคาสูงหน่อยมักเป็นยี่ห้อจากยุโรป แม้เดี๋ยวนี้จะผลิตในจีน

แต่ของสำเร็จรูปที่ซื้อมาเหล่านี้จะดูใหม่เอี่ยมอ่อง ดูหลอก ๆ ปลอม ๆ เมื่ออยู่ในฉาก รวมทั้งภูมิทัศน์อย่างภูเขาก็ไม่มีขายเป็นชิ้นสำเร็จ

ความสมจริงว่าเหมือนธรรมชาติแค่ไหนจึงขึ้นอยู่กับทักษะและฝีมือของคนสร้างฉากที่จะต้องลงมือทำด้วยตนเองเท่านั้น

Weathering

เขาเรียนไม่จบเพาะช่าง เพราะขาดชั่วโมงเรียนด้วยความที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีวิตควบคู่ไปด้วย แม้จะขยันส่งงานวาดภาพตามครูสั่งไม่เคยขาด แต่สุดท้ายเขาก็ต้องลงจากรถไฟขบวนเพาะช่างก่อนถึงสถานีปลายทาง

แต่ศิลปะไม่เคยห่างหายจากใจ เส้นทางชีวิตจึงยังวนเวียนอยู่กับงานศิลปะ

วันนี้กับทางแยกที่เลือกเดิน จึงกลายเป็นจุดบรรจบลงตัวของทั้งความรักรถไฟและความรักงานศิลปะ

แววตาเป็นประกายเมื่อเขาเล่าความหลังถึงการทำฉากเมืองรถไฟจำลองครั้งแรกซึ่งเริ่มแบบงู ๆ ปลา ๆ

“โชคดีที่เราเรียนมาทางศิลปะ ทำให้รู้เรื่องการผสมสี การทำสีให้เหมือนจริง เราปั้นได้ รู้ texture ว่าควรจะแค่ไหน”

weathering สำหรับคนทำฉากจำลอง ความหมายคือการแต่งให้ของจำลองต่าง ๆ ดูสมจริงเหมือนธรรมชาติ เพราะ weathering เป็นกระบวนการตามธรรมชาติคือการกัดกร่อนจากลมฝนชะพังทลาย แดดเผาลามเลีย สีสันในธรรมชาติยังไม่ใช่สีเดียวด้าน ๆ แต่ผสมผสานหลากสีหลายเฉด มีแสงเงา มีร่องรอยผิวสัมผัส คราบสนิม

การแต่งแต้มสีสันและตกแต่งผิวให้ของจำลองต่าง ๆ มีอายุขัย มีชีวิตชีวา ไม่แข็งกระด้าง เหมือนผ่านกาลเวลามาตามสภาพ ที่เรียกว่า weathering จึงเป็นขั้นตอนสำคัญ

แม้เขาจะมีพื้นฐานศิลปะ สามารถแต่งสีผนังหลังคาอาคารจำลองให้ดูเก่าเหมือนมีคราบไคลเกาะซอกมุมต่าง ๆ แต่ก็มีรายละเอียดอีกหลายอย่างซึ่งต้องลองผิดลองถูก

อย่างการสร้างภูเขาจำลอง

“ตอนแรกคิดว่าต้องใช้ปูนปลาสเตอร์ แต่จริง ๆ ใช้ไม่ได้เพราะแห้งไวมาก ต้องเปลี่ยนมาใช้ซีเมนต์ขาว มันแห้งช้า มีเวลาให้ปั้นหรือปาดแต่งผิวให้ดูเป็นหินในธรรมชาติ”

เขาต่อโครงไม้ขึ้นก่อนตามรูปร่างภูเขา คลุมด้วยมุ้งลวดกันยุง รองพื้นด้วยผ้าก๊อซ แล้วค่อยใช้ซีเมนต์ขาวที่ผสมสีให้คล้ายหินแล้วป้ายแต่งเป็นพื้นผิวก้อนภูเขา ก่อนลงสีเขียวรองพื้นและต้นไม้ต้นหญ้าจำลอง

ต้นไม้และโขดหินที่ได้รับการตกแต่งให้มีรายละเอียดดูมีชีวิต

Image

สะพานไม้เลียบหน้าผาหินที่ดูคล้ายสะพานไม้บนเส้นทางรถไฟแถวเมืองกาญจน์นี้ สุจินต์สร้างขึ้นเองด้วยความชอบในงานช่างไม้ เขายังมีฝีมือในการทำบ้านจำลองด้วยไม้บัลซาร์จำหน่ายมาก่อน

“แถบอเมริกาต้นไม้ใบหญ้าจะเขียวแบบแห้ง ๆ หรือเข้ม ๆ แถบยุโรปสีเขียวจะสดอิ่มกว่า ชนิดต้นไม้จำลองที่นำมาติดก็ต้องเลือกให้เข้ากับดินแดน  ต้นไม้จำลองของแท้เหมือนจริงมาก แต่ราคาสูง ต้นหนึ่งหลายร้อยถึงเป็นพัน  ของจีนทำขายเหมาราคาถูกกว่า แต่งานหยาบกว่ากันมาก ผมลองใช้วิธีโรยเศษผงเป็นเส้น ๆ ตามใบไม้ให้เกิดเทกซ์เจอร์ของใบ ลดความกระด้างของต้นจำลองให้ดูเหมือนจริง บางจุดก็เอากิ่งต้นไม้จริงมาแต่งเสริมบ้าง ส่วนหญ้าจำลองมีขายเป็นเส้น ๆ และแบ่งเป็นหลายเฉดสี ผมประหยัดก็ผสมสีมาย้อมเองให้ได้หญ้าสีต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ บางแห่งก็เป็นสีหญ้าแห้ง บางแห่งก็ให้ดูเขียวชอุ่ม”

องค์ประกอบสำคัญของรางรถไฟอีกอย่างที่หลายคนนึกไม่ถึงคือหินรางรถไฟ

เคยสังเกตไหมว่าตามรางรถไฟจะต้องมีกรวดหินโรยสองข้างทางและระหว่างไม้หมอนในราง รางรถไฟจำลองที่เหมือนจริงก็ต้องมีหินรางรถไฟโรยตลอดเส้นทาง

“กรวดหินที่นำมาโรยต้องได้ขนาดกับสเกล HO ๑ : ๘๗ ใหญ่หรือเล็กไปก็จะดูไม่สมจริง แบบสำเร็จที่มีขายก็ราคาค่อนข้างสูง ผมไปเห็นกรวดหินตู้ปลาใกล้เคียงกับสเกลของเราก็ซื้อมาใช้ ราคาถูกกว่าเยอะ เอามาย้อมสีดำ น้ำตาลเข้ม น้ำตาลอ่อน เทาเข้ม เทาอ่อน แต่ต้องเสียเวลาย้อมสีพอสมควรเพราะแม้ตามรางเส้นทางหลัก ๆ จะใช้หินสีเทา แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ อย่างหินตามโรงหัวรถจักรเป็นจุดที่รถจอดก็ต้องถูกคราบน้ำมันหยด หินก็จะเป็นสีดำ เวลาเราโรยหินตรงจุดนั้นก็จะใช้หินสีดำ กรวดหินโรยรางของยุโรปกับสหรัฐอเมริกายังใช้สีต่างกันด้วย”

แม้แต่การติดกาวยึดกรวดหินก้อนเล็กก้อนน้อยกับรางรถไฟไม่ให้หลุดก็ยังต้องเรียนรู้เทคนิคเฉพาะ

“ตอนแรกผมคิดว่าทากาวบนพื้นก่อนแล้วก็เอาหินโรยให้ติดซึ่งไม่ใช่  รุ่นพี่เจ้าของงานชิ้นแรกซึ่งผมทำให้ เขาช่วยสอนผมว่าต้องโรยหินก่อน เอาน้ำฟองสบู่หยด ๆ แล้วค่อยหยอดกาว เพราะถ้าไม่มีน้ำฟองสบู่ กาวจะไม่ซึมลงข้างล่าง ตอนหลังผมพัฒนามาใช้แอลกอฮอล์แทนน้ำสบู่ มันซึมดีกว่า”

ขั้นตอนนี้สำคัญต้องเก็บงานอย่างประณีต เพราะถ้ามีเศษหินหลุดมาสักชิ้นอยู่บนราง รถไฟที่วิ่งมาอาจสะดุดหินจนตกรางเสียหาย หรืออาจเข้าไปติดกับมอเตอร์ ทำให้สกปรก มีผลกับการรับกระแสไฟ

รถไฟจำลองแต่ละคันนั้นสนนราคาตั้งแต่หลายพันจนถึงหลายหมื่น หากชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของรถหักหรือหลุด ไม่เพียงเสียหายมูลค่า ยังเสียหายด้านจิตใจกับเจ้าของรถ ทั้งการซ่อมแซมบางครั้งก็ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้

หากใครส่องดูรายละเอียดในฉากเมืองจำลองรถไฟฝีมือของสุจินต์ก็จะเห็นความประณีตใส่ใจในแทบทุกจุด เรียกว่า “เอากล้องมาซูมถ่ายได้เลย”

ตามทางรกเรื้อ เราจะพบหย่อมหญ้าแห้งขึ้นกระจายเป็นจุด ๆ  ไม้หมอนรถไฟถูกทิ้งกองไว้ข้างทาง คราบสีดำตรงประแจสับรางราวกับคราบน้ำมันหยอดประแจให้ลื่นในโลกจริง

งานแรกของเขาใช้เวลาเดือนกว่า ๆ จึงเสร็จ

งานล่าสุดกับเลย์เอาต์ในห้องขนาด ๕x๑๒ เมตร จากแบบร่างแรกมีการปรับแต่งขยายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเมื่อลงมือทำจริง  ใส่ใจทำมานาน ๒ ปี ยังเหลืองานให้เก็บอีกเล็กน้อยก่อนจะเสร็จสมบูรณ์ มีช่วงพักช่วงหยุดบ้างกับการรอของหรืออุปกรณ์ที่สั่งซื้อ ส่วนตัวเขามีรายได้เป็นรายเดือนจากเจ้าของผู้จ้างให้สร้างฉาก

“บางคนเคยพูดกับผมเหยียด ๆ ว่าเล่นรถไฟอะไรเป็นเด็ก ๆ แต่ผมก็ภูมิใจว่าเราเล่นจนเป็นอาชีพ”

เมื่อย้อนคิด ชีวิตคงคล้ายแบบจำลองซึ่งต้องผ่านการ weathering จึงจะมีสีสัน มีชีวิตมีชีวา มีร่องรอยให้ระลึกถึงอย่างมีความสุขเมื่อเวลาผ่านไป

Image

ชุมทางรถไฟที่มีรางจำนวนมาก มีประแจสับรางแยกซ้ายขวาต่อเชื่อมกับรางอื่นๆ แยกสายเส้นทางไปได้มากมาย พร้อมกับอาคารเติมถ่านหินให้หัวรถจักรเข้ามาจอด ควบคุมการสับรางด้วยแป้นวงจรไฟฟ้า (มุมซ้ายล่าง) หินโรยรางรถไฟบริเวณนี้จะแต่งให้ดูขะมุกขะมอมตามสภาพความเป็นจริง

Mission

ขบวนรถไฟที่นำด้วยหัวรถจักรและตู้ขบวนยาวเหยียดกำลังวิ่งไปตามราง ล้อหมุนขับเคลื่อนตามคันชักพร้อมกับเสียงล้อบดราง เสียงลูกสูบเครื่องยนต์ เสียงท่อลมดังราวขบวนรถไฟจริง ๆ

แค่ดูก็เพลินแล้ว แต่นักเล่นรถไฟคนนี้แนะนำว่า

“ใครเล่นแบบปล่อยรถไฟวิ่งไปเองเฉย ๆ เล่นพักเดียวก็จะเบื่อ ต้องเล่นแบบมีจินตนาการ ตั้งแต่ตอนวาดแบบผมก็จินตนาการไว้แล้วว่าจะให้รถไฟวิ่งไปไหนอย่างไร เวลาเล่นต้องสร้างเป็นภารกิจขึ้นมา สมมุติตั้งรถไฟไว้สามขบวน จะให้รถแต่ละขบวนออกเวลากี่โมง พอถึงเวลาก็ปล่อยขบวน วิ่งสวนกันสามสี่รอบ อยากให้ขบวนนี้จอดที่สถานี เราก็จอด จินตนาการว่าผู้โดยสารลงจากรถ จอดสัก ๓ นาทีแล้วก็วิ่งต่อ

“วิ่งไป ๑๐ รอบสมมุติว่าถึงจุดหมายปลายทาง พอจอดสถานีแล้วก็ต้องถอดหัวรถจักรออกเหมือนตามจริงที่พนักงานจะถอดหัวรถจักรออกไปเติมน้ำมัน เราก็วิ่งหัวรถจักรไปเติมน้ำมันที่โรงรถจักร เสร็จแล้วปล่อยรถอีกคันมาลากตู้โดยสารเพื่อกลับด้านเตรียมขบวนให้เป็นขาออก สมมุติว่าเติมน้ำมันเสร็จก็วิ่งหัวรถจักรมาต่อนำขบวนใหม่  หรือจะเอาทั้งขบวนเข้าโรงซ่อม ถอยอีกขบวนมาวิ่งใหม่เลยก็ได้  ทำแบบนี้เราก็จะเล่นแบบมีภารกิจมีเรื่องราว”

การเล่นตลอดภารกิจ คนเล่นต้องพยายามใช้ทักษะควบคุมความเร็วรถผ่านแป้นควบคุม หากจะจอดก็ต้องค่อย ๆ ลดความเร็ว เพราะหากหยุดหัวรถจักรกะทันหัน ตู้ขบวนที่ตามมาก็จะชนต่อ ๆ กันเป็นพรวนจนรถตกรางได้ รวมทั้งต้องคอยสับรางให้รถเข้าเส้นทางที่ต้องการ บางครั้งอาจเจอขบวนจอดทับรางที่จะผ่าน ก็ต้องหาทางแก้ไข ถอยขบวนเข้าออก โดยพยายามไม่เอามือยกขบวนรถออกจากรางตามใจเสียดื้อ ๆ

สิ่งที่คนเล่นมองไม่เห็นคือแผงวงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากใต้ฉากที่เขาเดินสายควบคุมไว้ ทั้งไฟฟ้าของราง ไฟฟ้าควบคุมประแจสับราง ไฟสัญญาณตรงทางข้ามรถไฟ ไฟแสงสว่างตามถนนและอาคารต่าง ๆ ฯลฯ

ตัวอย่างในเพจ The Train ของสุจินต์ เขาถ่ายภาพเล่าเรื่องทำสตอรีไว้หลากหลาย บางครั้งติดกล้องถ่ายวิดีโอขนาดเล็กไว้บนหัวรถจักร พาผู้ชมวิ่งไปตามรางเหมือนได้นั่งชมบนหลังคารถไฟ

ประโยชน์ของการถ่ายภาพวิดีโอไม่ใช่แค่เพื่อดูเพลิดเพลิน แต่ยังไว้เพื่อตรวจสอบระบบรางว่ามีสะดุดมีจุดบกพร่องตรงไหนหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อวิ่งลอดเข้าอุโมงค์ซึ่งมองจากข้างนอกไม่เห็น

การทดสอบความปลอดภัยของรางดูจะเป็นภารกิจที่เป็นข้อกังวลที่สุดของนายช่างผู้สร้างเมืองจำลอง

ที่ผ่านมาเขาทดสอบแล้วทดสอบอีก ทั้งวิ่งไปวิ่งกลับ รถไฟทุกขบวนซึ่งจะนำมาเล่นในเมืองจำลองก็ต้องผ่านการวิ่งทดสอบว่าวิ่งราบรื่นไม่มีล้อกระดกตกราง เพราะต้องการส่งมอบงานให้เจ้าของในสภาพสมบูรณ์ที่สุด

ทุกงานสารพัดช่าง ช่างไม้ ช่างปูน ช่างทาสี ช่างไฟ ช่าง weathering ช่างต่อโมเดล กับความทุ่มเท ความประณีต และเวลาทั้งหมดที่ใช้ไปกับการสร้างฉากเมืองรถไฟจำลองแต่ละชิ้น มันคุ้มกับสิ่งที่ได้คืนมาหรือไม่

สุจินต์ตอบว่าเขาไม่ได้ทำงานตามราคาค่าจ้าง เมื่อรับงานแล้วต้องทำเต็มที่ ให้งานมีคุณภาพดีที่สุด “ถ้าออกมาแล้วงานดูไม่ดี ผมรับไม่ได้”

เสร็จจากงานนี้แล้ว มีงานจ้างต่อแล้วหรือยัง

เขาบอกว่ามีคุยกันไว้แล้วสองสามราย แต่จะได้ลงมือทำจริงหรือไม่ยังไม่มีกำหนดชัดเจน เพราะงานสร้างฉากจำลองไม่ใช่สิ่งจำเป็นเร่งด่วนเหมือนงานซ่อมแซมบ้าน  หากเศรษฐกิจไม่ดี คนอยากได้ก็อาจเปลี่ยนใจ เก็บเงินไว้ก่อน หรือเมื่อเทียบกับการซื้อรถไฟจำลองได้อีกหลายคันหลายตู้ขบวนก็อาจดูคุ้มกว่าการเสียเงินจ้างคนทำฉากจำลอง

เมืองไทยมีคนรับจ้างทำฉากจำลองรถไฟไม่กี่คน ต่างจากในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปที่มีทั้งคนเล่นรถไฟจำลองและสร้างฉากรถไฟจำลองเป็นงานอดิเรกกันคึกคักพอสมควร บางแห่งสร้างใหญ่โตจนกลายเป็นจุดท่องเที่ยว

ภารกิจต่อจากนี้

เขากำลังคิดจัดเวิร์กช็อปสำหรับผู้สนใจ เพราะที่ผ่านมามีคนสอบถามวิธีการทำฉากจำลองต่าง ๆ มาทาง
อินบ็อกซ์เพจไม่น้อย  แม้เขาจะคอยให้คำแนะนำแบบไม่มีกั๊ก แต่บางคนก็ยังทำตามไม่สำเร็จ การได้มาเจอกัน
ทดลองทำต่อหน้าน่าจะช่วยให้คนที่ติดปัญหาผ่านไปได้

ไม่กลัวมีคู่แข่งมาแย่งงานหรือ

สุจินต์ตอบว่าเราแข่งกันที่ผลงาน แต่ละคนก็มีวิธีและสไตล์ที่อาจจะไม่เหมือนกัน

สำหรับเขา ภารกิจสร้างฉากจำลองเมืองรถไฟ เป็นงานที่ทำด้วยความรัก

“ผมถือเป็นงานศิลปะ”

ขอขอบคุณ
เจ้าของบ้านเรือนพระวรสุนทโรสถ  
คุณอมรพัชร สังคมกำแหง
ผู้อนุญาตให้ทีมงานนิตยสาร สารคดี เข้าไปถ่ายภาพ