ทหารไทย ใน
“สมรภูมิเวียดนาม”
ภาค ๑
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
“...สถานการณ์ในไซ่ง่อนเข้าสู่ภาวะคับขันระดับที่ ๒ ฉะนั้นข้าราชการผู้ใดที่มีครอบครัวอยู่ในไซ่ง่อนขณะนี้ ขอให้จัดการส่งครอบครัวกลับให้หมด โดยสายการบินไทยเที่ยวแรกภายในสัปดาห์นี้... จะต้องมีการลดจำนวนข้าราชการ (ผู้ชาย) ให้เหลือจำนวนน้อยที่สุด เพื่อสะดวกในการอพยพขั้นสุดท้าย...”
คำสั่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงไซ่ง่อน
๗ เมษายน ค.ศ.๑๙๗๕
นาทีที่คำสั่งนี้ออกมา ไซ่ง่อน (Saigon) เมืองหลวงของสาธารณรัฐเวียดนาม หรือ “เวียดนามใต้” ตกอยู่ในวงล้อมกองทัพเวียดนามเหนือ เหลือทหารไม่กี่กรมทำหน้าที่ป้องกันเมืองและภาวะจลาจลใกล้เข้ามาเต็มที
คำสั่งด่วนนี้ถูกส่งถึงเจ้าหน้าที่ไทยทุกคนในเวียดนามใต้ ในขณะที่สถานทูตไทยเข้าสู่สภาวะพร้อมอพยพ แต่ยังไม่มีกำหนดแน่นอน ส่วนสถานทูตชาติอื่นเริ่มกระบวนการอพยพแล้ว
อีกซีกโลกหนึ่ง ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด (Jerald D. Ford) เตรียมปฏิบัติการ “ลมกระโชก” (operation frequent wind)
อพยพคนอเมริกันออกจากเวียดนามใต้ หลังสภาคองเกรส (สภาผู้แทนราษฎร) ไม่อนุมัติงบประมาณช่วยรัฐบาลเวียดนามใต้ทำสงครามอีกต่อไป
ภาพนี้ตัดกันอย่างสิ้นเชิง ด้วยเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า ประเทศนี้เคยคึกคักด้วยกำลังทหารชาติพันธมิตรนับแสนที่ถูกส่งมาช่วยรบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยส่งทหารมารบในเวียดนามใต้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๔ เป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง ๓๘,๑๘๘ คน มากเป็นอันดับ ๓ รองจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เท่านั้น
แต่ใครเลยจะคาดคิดว่า ค.ศ. ๑๙๖๕ สหรัฐฯ จะปล่อยให้ไซ่ง่อนตกอยู่ในกำมือเวียดนามเหนือ
สำหรับสังคมไทย ความทรงจำชุดนี้ไม่ปรากฏในแบบเรียน มีเพียงประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ค.ศ. ๑๙๖๔ ในหมู่ทหารผ่านศึก หรือหากจะมีเอกสารราชการกล่าวถึง ก็ให้ข้อมูลน้อยนิดจนไม่ได้รายละเอียด
นักวิชาการตะวันตกบางคนถึงกับใช้คำว่า “ไทยหายไปจากประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม”
ทั้งที่ถือเป็น “ผู้เล่น” สำคัญชาติหนึ่งใน “สงครามเวียดนาม” ที่คนเวียดนามปัจจุบันเรียกว่า “สงครามต่อต้านสหรัฐฯ” (Kha’ng Chie^’n Cho^’ng My~) เสียด้วยซ้ำ