แด่กล้องฟิล์ม
ด้วยรักและคิดถึง
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ณัชชามนต์ ธุระหาญ
รชฏ วิสราญกุล
ร้านโปรเซ็นเตอร์
บริการให้เช่าอุปกรณ์ถ่ายรูป
“กล้องฟิล์มแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นที่ออกแบบมา ต่างก็มีเสน่ห์แตกต่างกันตามจุดมุ่งหมายเพื่อใช้งาน ค่ายเยอรมนีก็แบบหนึ่ง ค่ายญี่ปุ่นก็แบบหนึ่ง ค่ายอเมริกา สวีเดน อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ก็มีความโดดเด่นเป็นของตัวเอง
“อย่างกล้องยี่ห้อไลก้า (Leica) มุ่งด้านความเที่ยงตรง แม่นยำ ความไว้วางใจในกลไกทำงาน คือไม่เสียง่าย ๆ ช่างภาพสงครามสมัยก่อนมักจะใช้ไลก้า โดนฝุ่นทราย โคลน การกระแทกกระทั้น กล้องก็ยังปฏิบัติงานได้ดี เสน่ห์อีกอย่างของไลก้าคือความนุ่มนวลของชัตเตอร์หลังกดปุ่มถ่ายภาพ สามารถใช้สปีดต่ำ ๆ แล้วบังคับกล้องในช่วงที่ใช้ชัตเตอร์สปีดต่ำ ๆ ได้นิ่ง
“ส่วนใหญ่แล้วกล้องฟิล์มจะเป็นเมคานิก เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการทำงาน เป็นกลไกการปฏิบัติงานที่ไม่ต้องอาศัยไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่มากนัก ถึงจะมีระบบวัดแสง มีระบบออโต้ แต่ก็ไม่ได้กินไฟ เพราะส่วนประกอบอื่น ๆ ยังเป็นระบบกลไก แบตเตอรี่หมดก็สามารถถ่ายภาพได้
“กล้องฟิล์มอย่างพวกไลก้าหรือนิคอนตระกูล F นั้นผลิตมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๕ ถึงตอนนี้ก็ ค.ศ. ๒๐๑๐ กว่า ผ่านมาแล้วมากกว่า ๔๐ ปี ก็ยังใช้งานได้ดี นี่เป็นเสน่ห์ของกล้องฟิล์ม ที่ถ้าเรามีฟิล์มก็ยังใช้ได้ กล้องฟิล์มยังรับใช้เรา”
ณัฏฐกิตติ์ อุดมเวศย์
อดีตประธานชุมนุมเทคโนโลยีการถ่ายภาพ
คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“โตมากับกล้องฟิล์มก็นึกถึงสิ่งหนึ่งที่ได้คือความระมัดระวังในการถ่ายรูป เพราะคุณไม่มีทางแก้ไข ยังไงก็ไม่สามารถ delete ได้ ภาพนี้ต้องเป็นอย่างนี้นะจะคิดไว้ในใจ แตกต่างจากที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัล กดรัว ๆ มันต้องดีสักภาพ
“เสน่ห์ของภาพเมื่อเรานำมาดู เราจะนึกว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น ตอนปี ๑ มีคนมาถ่ายรูปเรากำลังเต้นอยู่ กลับมาดูจะรู้สึกว่า เฮ้ย ! ตอนนั้นเราบ้าบอคอแตกมากเลยนะ แล้วก็จะอมยิ้มอยู่ตลอดเวลา”
อนุสรณ์ กล้าณรงค์
ร้าน Camera Classic
ชั้น ๕ เมก้าพลาซ่า (เมอร์รี่คิงส์ วังบูรพา)
“สโลแกนของผมคือกล้องฟิล์มเป็นเครื่องหยุดกาลเวลาที่ถูกต้องและไม่บิดเบือนประวัติศาสตร์ ฟิล์มที่ถ่ายออกมาคือสำเนาถูกต้อง เรื่องราคาของกล้องฟิล์มก็ไม่ค่อยตก อย่างกล้องไลก้ารุ่น M6 หรือ M7 ราคาตอนออกใหม่ ๆ ประมาณ ๖ หมื่นบาท ถึงตอนนี้ผ่านมานานแล้วก็ยังเท่าเดิมหรือแพงขึ้น
“ผมไม่คิดว่ากล้องฟิล์มจะสูญพันธุ์ ยกตัวอย่างการถ่ายหนังที่ใช้ฟิล์มเหมือนกันแต่เป็นภาพเคลื่อนไหว ตอนนี้มีคนในฮอลลีวูดออกมาบอกแล้วว่าต่อไปถ่ายหนังจะใช้ฟิล์ม ลองเข้าไปดูระบบฟิล์มทำไมมันอุ่น สบายตา มี depth of field มี shadow ถ้าดูดิจิทัลจะเห็นว่ามันคมมาก แต่แสบตา ออกมาน้ำตาไหล แบบเดียวกับกล้องฟิล์มและรูปถ่ายจากฟิล์มที่เก็บรักษาไว้ได้นาน มีคาแรกเตอร์คือน้ำหนักภาพ ความรู้สึกของแอนะล็อก ถ้ารูปมีอายุสูงมาก เก็บไว้นานก็จะขึ้นเกลือเงิน กลายเป็นของดี มีประวัติศาสตร์ และดูขลัง”
ผศ. สุรพงษ์ เอี่ยมพิชัยฤทธิ์
สาขาศิลปะภาพถ่าย
คณะศิลปะการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต
“ตอนอยู่ปี ๑ เทอม ๑ นักศึกษาจะได้ใช้กล้องฟิล์ม พอขึ้นเทอม ๒ ได้ใช้กล้องดิจิทัล พอขึ้นปี ๒ ก็ให้เขาทดลองว่าอยากทำงานดิจิทัลหรืออยากทำงานฟิล์มมากกว่า ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเลือกดิจิทัล ฟิล์มอย่างดีก็ไม่เกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็เปิดสอน เพราะมันเป็นพื้นฐานให้เข้าใจว่ารากมาจากอะไร ในการถ่ายภาพเราควบคุมอะไรได้บ้าง ผมบอกกับนักศึกษาบ่อย ๆ ว่าการเรียนศิลปะภาพถ่ายเหมือนสร้างตึก เราต้องตอกเสาเข็มให้ลึก ๆ ถ้าเสาเข็มแน่นลึกต่อยอดตึก ๑๐ ชั้นคุณก็ต่อได้
“เทียบกับดิจิทัลแล้วค่าใช้จ่ายของฟิล์มแพงกว่าเกือบ ๑๐ เท่า บางคนบอกว่าสารเคมีบางตัวที่ใช้ล้างฟิล์มแบบ advance นอกจากแพงแล้วเป็นพิษด้วย การลดสารเคมีพวกนี้ลงคือการลดค่าใช้จ่าย แต่เรายังยืนยันว่าพื้นฐานของศิลปะภาพถ่ายต้องมาจากฟิล์ม แล้วค่อยต่อยอดไปเป็นดิจิทัล มันง่ายกว่าเรียนดิจิทัลก่อนแล้วย้อนมาฟิล์ม
“ต่อไปฟิล์มจะเป็นงานฝีมือ จะเป็นศิลปะชั้นสูงเฉพาะคน คนที่เรียนทางขาวดำก็คือคนที่เขาอยากจะใช้เวลาละเมียดละไมกับมัน เอาจิตใจอยู่กับมัน แล้วงานมันจะเป็นคอนเซปต์เฉพาะสำหรับเขาเอง”
ผศ. ดร. ชวาล คูร์พิพัฒน์
ภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพ
และการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ไม่ได้เรียนถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มและไม่ได้เรียนล้างฟิล์มแล้วเพราะเป็นของเก่า เอาไปประกอบอาชีพไม่ได้ เด็กรุ่นใหม่เราเรียนถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัล และเรียนลึกไปถึงระบบเซนเซอร์ คุณจะได้รู้เวลาจะซื้อ จะถ่ายภาพไปใช้ทำสิ่งพิมพ์ ทำเว็บไซต์ ถ้าคุณถ่ายรูปได้ แต่ไม่รู้ว่าเวลาเอาไปใช้ resolution มันคืออะไร จะสร้างปัญหาในการทำงาน การตกแต่งภาพก็ต้องรู้ ถ่ายรูปมาเบลอ ใส่ sharpen เป็นหรือเปล่า เหล่านี้คือของใหม่ที่สมัยก่อนไม่มี เมื่อของใหม่เข้ามาแทนที่ ของเก่าก็กลายเป็นประวัติศาสตร์
“ตอนนี้การล้างฟิล์มยังมีสอนนะ แต่ไม่ใช่หลักสูตรของภาควิชาเรา เป็นวิชาในหลักสูตรของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ เขาเป็นอาร์ต เราเปิดวิชาให้ แล้วเขาส่งเด็กมาเรียน”
ขอขอบคุณ
คุณวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร
คุณรชฏ วิสราญกุล
ผศ. สุรพงษ์ เอี่ยมพิชัยฤทธิ์
ผศ. ดร. ชวาล คูร์พิพัฒน์
สมนึก อิทธิศักดิ์สกุล
สกล เกษมพันธุ์ และฝ่ายภาพนิตยสาร สารคดี
เอกสารประกอบการเขียน
สนั่น ปัทมะทิน. ตำราถ่ายรูป พิมพ์ครั้งที่ ๔ พระนคร : ไทยวัฒนา
พานิช, ๒๕๐๔.