Image
Boxburi
ประกอบความเป็นไทย
ใส่ โมเดลกระดาษ
scoop
เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
โมเดลกระดาษทศกัณฐ์เต็มตัว ขนาดสูงประมาณหนึ่งไม้บรรทัด ในลักษณะยืนย่อเหลี่ยมแบบเดียวกับนาฏศิลปิน
หากใครยังพอจำได้ สมัยก่อนจะมีขนมข้าวโพดอบกรอบรสหวานเค็ม เห็นทีไรเป็นต้องอ้อนแม่ให้ซื้อ แรงจูงใจไม่ได้อยู่ที่รสชาติ (ความจริงแทบไม่เคยกินด้วยซ้ำ) แต่คือของแถมในห่อ เป็นโมเดลกระดาษย่อส่วนบ้านและร้านค้า มีหลายแบบให้สะสม เมื่อก่อนที่ยังหาง่ายตามท้องตลาดก็ดูเป็นของธรรมดา แต่เมื่อวันดีคืนดีเจ้าขนมนี้หายไปจากแผงร้านค้าของแถมในห่อก็ดูเป็นของล้ำค่าขึ้นมา ขนาดที่ว่ามีตลาดเฉพาะ (niche market) เพื่อซื้อขายโมเดลกระดาษจากขนมชนิดนี้กันเลยทีเดียว นี่คงเป็นความทรงจำแรก ๆ ที่ฉันมีต่อโมเดลกระดาษ
Image
Image
ชิ้นส่วนพร้อมคู่มือการประกอบโมเดลกระดาษหนุมาน
จนเมื่อมาถึงตอนนี้ ณ หน้าโรงมหรสพโขนแห่งหนึ่งท่ามกลางกองพะเนินเทินทึกของสิ่งของที่ระลึก ทั้งเสื้อยืด ร่ม กระเป๋า แก้ว ล้วนพิมพ์ลายรูปตัวละครใน รามเกียรติ์ ยกทัพมาครบทั้งพระ นาง ยักษ์ ลิง ให้ผู้ที่ชื่นชอบได้เก็บสะสม แต่ใครจะคิดว่าหนึ่งในนั้นที่วางปะปนคือโมเดลกระดาษ ของเล่นในวัยเด็ก ซึ่งตอนนี้พัฒนามาอยู่ในจุดที่กลายเป็นสินค้าที่ระลึกสายวัฒนธรรมแล้ว

“พอได้ยินว่าหัวโขน เราจะคิดว่าจับต้องได้ยาก ต้องเอาขึ้นหิ้งอย่างเดียวเท่านั้น”

ของสูง มีครู งานประณีตศิลป์ นี่คือภาพจำของหัวโขนที่ทำให้ เปรม หะทัยธรรม หนุ่มกราฟิกไฟแรง อดีตนักสร้างตัวการ์ตูนในเกมออนไลน์ ตั้งคำถามว่าจะดีแค่ไหนหากหัวโขนทำได้มากกว่าตั้งโชว์ เขาเก็บงำความคิดนี้ยาวนาน จวบจนโอกาสและเวลาประจวบเหมาะจึงคิดค้น โมเดลกระดาษหัวโขนจิ๋ว ให้นักต่อโมเดลและผู้ชื่นชอบได้เล่นกับความเป็นไทยแบบจับต้องได้ในนาม “Boxburi” (บ็อกซ์บุรี)
เวลาคนต่างชาติมาบ้านเรา เขาเห็นหัวโขน อยากซื้อแต่ด้วยพกพายากและกินพื้นที่ผมจึงทำโปสต์การ์ดที่คลี่ออกมาเป็นโมเดลกระดาษหัวโขน
ประกอบร่างสร้างตัว
Boxburi เป็นคำที่เปรมคิดขึ้นใหม่ “บ็อกซ์” แปลว่ากล่องซึ่งเป็นลักษณะของการประกอบโมเดล ส่วน “บุรี” แปลว่าเมือง ความหมายโดยรวมคือโลกแห่งการต่อโมเดล เขานำคำภาษาอังกฤษและไทยมาผสมกันเพื่อบอกตัวตนของผลงานและไม่ลืมห้อยท้ายความเป็นไทยไว้ด้วย

จากจุดเริ่มต้นที่เด็กชายคนหนึ่งมักใช้เวลาว่างต่อโมเดลกระดาษญี่ปุ่น คลุกคลีกับโมเดลรูปไดโนเสาร์จนซึมซับเป็นความชอบ เมื่อโตขึ้นเขาทำงานด้านกราฟิกดีไซน์ในบริษัทเกมออนไลน์ข้ามชาติ ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักออกแบบโมเดลกระดาษอิสระเต็มตัว ประสบการณ์การสร้างสัตว์ประหลาดในเกมกว่า ๔ ปี นำมาต่อยอดได้ไม่ยาก เพราะใช้ทักษะเดียวกัน

ชายหนุ่มคิดค้นโมเดลกระดาษตัวละครในวรรณคดีไทยรามเกียรติ์ สะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมไม่ซ้ำใคร เพราะเห็นว่าโมเดลกระดาษที่มีอยู่ตามท้องตลาดในขณะนั้นมักเป็นตัวการ์ตูนต่างประเทศ สัตว์ และสิ่งของทั่วไป ยังไม่มีตัวละครไทยที่สามารถให้เด็กได้เล่น ได้สัมผัส และรู้จักผ่านการลงมือทำ

“หนุมานคือตัวเอกตัวแรกที่ผมนำมาสร้างโมเดลกระดาษแบบไทย เพราะเป็นฮีโร่ในวรรณคดีที่เข้าถึงเด็กได้ง่ายไม่แพ้ซูเปอร์แมน แบตแมน หรือสไปเดอร์แมน”

เขาขยับเมาส์อย่างคล่องแคล่วและเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนต่าง ๆ ในโปรแกรมสามมิติประกอบเข้าด้วยกันแบบพอเหมาะราวจับวาง แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าเส้นโครงยึกยือบนหน้าจอจะกลายเป็นหนุมานชาญสมรตรงหน้า

...ลิงเผือกสีขาวผ่องยืนในลักษณะแม่ท่าลิง ในมือถือตรีเพชร...

ถอดแบบ “หนุมาน” ให้อวตารสู่โมเดลกระดาษ แทบไม่มีอะไรผิดเพี้ยนจากภาพจำที่เคยเห็นตามจิตรกรรมฝาผนังหรือการแสดงโขน จะต่างกันก็ตรงที่เป็นการย่อส่วนให้เล็กลงเหลือขนาดเท่าหนึ่งไม้บรรทัด พอเหมาะพอเจาะที่จะตั้งไว้บนโต๊ะทำงานหรือวางเป็นเพื่อนกับหนังสือบนชั้น และแม้จะเป็นโมเดลกระดาษที่ลดทอนรายละเอียดยิบย่อยเพื่อให้ประกอบง่าย แต่ก็ยังคงลักษณะทางกายภาพที่สำคัญของหนุมานไว้ทุกประการ ทั้งกุณฑล ขนเพชร หรือแม้แต่เขี้ยวแก้วที่อยู่กลางเพดานปาก

เปรมใช้เวลา ๒ เดือนเต็มออกแบบและพัฒนาตัวหนุมานโดยเฉพาะลวดลายเครื่องประดับ และพัสตราภรณ์หรือเครื่องแต่งกายเป็นส่วนยากที่สุด เนื่องจากโมเดลกระดาษทั่วไปจะนิยมทำสีเรียบ ๆ ไม่ลงลวดลาย หากมีก็จะเป็นลายที่ต่อกันไม่เนียน เขาเรียนรู้และทดลองทำให้ลายต่าง ๆ ต่อกันได้อย่างลงตัว โดยเกิดจากการลองผิดลองถูก แยกส่วนต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๑๐ รอบเพื่อให้ได้รูปแบบที่ต่อง่ายและกลายเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้
เปรม นักกราฟิกเจ้าของผลงาน Boxburi กำลังลงรายละเอียดตัวทศกัณฐ์ในโปรแกรมสามมิติ (3D Max) 
หนุมานชุดแรกเป็นรูปแบบของโมเดลประกอบทั้งตัวสำหรับผู้ชื่นชอบการต่อโมเดลกระดาษเป็นทุนเดิม ให้ได้ท้าทายไหวพริบ ฝึกสมอง และประลองความอดทน แต่หากใครที่ไม่เชี่ยวชาญอาจต้องใช้เวลา ๑-๒ วันในการต่อโมเดลให้สมบูรณ์ เพราะแค่ขั้นตอนแรกในการตัดชิ้นส่วนก็เป็นเรื่องยากแล้ว

ด้วยผลตอบรับที่ค่อนข้างดีทั้งจากผู้ชื่นชอบการต่อโมเดลกระดาษและโรงเรียนที่สนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปเป็นสื่อการสอนในรายวิชาวรรณคดีให้เด็ก ๆ ได้รู้จักตัวละคร รามเกียรติ์ ผ่านการลงมือทำ เขาจึงขยายรูปแบบสร้างโมเดลเพิ่มเป็นตัว “หงส์” ที่มักคุ้นตาตามวัดวาอาราม สื่อความหมายถึงความเป็นไทยและทำให้นึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวในไทยไปในตัว ตามมาด้วยพญายักษ์ “ทศกัณฐ์” คู่ปรับฝ่ายลงกา ที่ถึงแม้จะประกอบยากกว่าใครเพราะมีถึง ๑๐ หน้าแต่กลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะความวิจิตรสวยงามของตัวโมเดล การแต่งองค์ทรงเครื่องที่ครบถ้วนและความกำยำน่าเกรงขาม
เปลี่ยนของขึ้นหิ้ง 
มาเป็นของเล่น 

“ผมเคยไปขายโมเดลข้าง ๆ ร้านหัวโขนจิ๋ว เลยได้ไอเดียจากร้านข้าง ๆ ว่า ถ้าเราทำขนาดได้เท่านี้ แต่ดีเทลเยอะกว่าก็น่าสนใจ” เปรมเล่าให้ฟังถึงแนวคิดในการต่อยอดจากโมเดลเต็มตัวเป็นโมเดลหัวโขน

ศิลปะส่องทางให้แก่กัน จากหัวโขนจริงสู่หัวโขนจิ๋ว แตกกอต่อยอดสู่โมเดลกระดาษหัวโขนจิ๋ว  เขาไม่รอช้าเร่งศึกษารูปแบบ สีสัน ลักษณะ หน้าตา รายละเอียดยิบย่อย ลดทอนความจริงจังลงเพื่อให้ดูเป็นตัวการ์ตูนที่เข้าถึงง่ายและย่อส่วนหัวโขนในขนาดพอเหมาะ ซึ่งหากลองนำมาขยายห้าเท่าก็จะเท่าหัวโขนที่นาฏศิลปินใช้แสดงจริง

ในที่สุดก็ได้หัวโขนของตัวละคร รามเกียรติ์ ห้าตัวที่คิดว่าเป็นที่รู้จักมากที่สุด นั่นคือ พระราม พระลักษมณ์ ทศกัณฐ์ หนุมาน และสุครีพ โดยตั้งโจทย์ว่าต้องพกพาง่ายและเป็นของฝากสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติผู้ใฝ่รู้ในศิลปวัฒนธรรม ขยายตลาดจากการต่อโมเดลกระดาษจริงจังให้เป็นของฝากและกิจกรรมนันทนาการยามว่างไปในตัว

เสน่ห์ของงานกระดาษอยู่ที่ต้องใช้จินตนาการ จากกระดาษแบน ๆ สองมิติผ่านช่วงเวลาของความอดทน แปลงโฉมเป็นงานสามมิติ นี่จึงเป็นที่มาให้เปรมออกแบบโมเดลหัวโขนเป็นโปสต์-การ์ดแผ่นสี่เหลี่ยมบนกระดาษอาร์ตธรรมดา ที่เมื่อคลี่ออกมาจะมีประวัติตัวละครและเรื่องราว รามเกียรติ์ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ รวมทั้งชิ้นส่วนของโมเดลกระดาษกึ่งสำเร็จรูปซึ่งมีขั้นตอนการประกอบง่ายและรวดเร็วกว่าโมเดลตัวเต็ม จำไว้ให้ขึ้นใจเพียงสามขั้นตอนง่าย ๆ นั่นคือ แกะ ชิ้นกระดาษออกจากตัวแบบ พับ ตามรอยประที่ผ่านการทดลองประกอบครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างแม่นยำ และ สอด ชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าหากันตามรหัสที่ระบุไว้ในแต่ละส่วน จนได้เป็นหัวโขนตัวละคร รามเกียรติ์ ขนาดเท่ากำปั้น  ทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ ตอบโจทย์สำหรับมือใหม่หัดต่อ รับประกันด้วยฝีมือของฉัน ผู้ที่ไม่ได้รับพรสวรรค์ด้านงานประดิษฐ์ใด ๆ เลยว่า สามารถทำให้เสร็จได้ภายใน ๒๐ นาที...เปลี่ยนหัวโขนที่ดูจริงจังและไกลตัวให้ขยับเข้ามาใกล้ตัวแถมยังเล่นได้ด้วยอีกต่างหาก
Image
Image
Image
ต้นทุนทางวัฒนธรรม
ต่อยอดต้นทุนทางความคิด

กว่าจะได้โมเดลกระดาษตัวละคร รามเกียรติ์ แต่ละตัว เปรมจะเริ่มจากการศึกษาข้อมูลทางวรรณคดี เดินดูจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้ว รวมทั้งดูโขนร่วมด้วย เพื่อให้เข้าใจองค์ประกอบของเครื่องแต่งกาย ลวดลายผ้า สีกาย ลักษณะท่าทาง และสีหน้าแววตา ก่อนจะมาเขียนแบบในคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรมหลากหลาย ทั้งโฟโต้ช็อป (Photoshop) อิลลัสเตรเตอร์ (Illustrator) โปรแกรมสามมิติ (3D Max) และโปรแกรมสำหรับโมเดลกระดาษโดยเฉพาะ

“สิ่งที่ต้องลงทุนกับงานโมเดลกระดาษคือเวลา นอกเหนือจากนั้นต้นทุนที่มีคือความรู้” นักออกแบบโมเดลกระดาษบอกถึงข้อดีของงานกระดาษที่ไม่ต้องลงทุนมาก เพียงแค่สมองกับสองมือและต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ และแม้จะเป็นงานประยุกต์ร่วมสมัย แต่เขาก็ใส่ใจในเรื่องความเชื่อ  โมเดลกระดาษที่ทำทั้งตัวเต็มและหัวโขนจะไม่มีเทพเจ้า เช่น พ่อแก่ พระพิราพ พระนารายณ์ เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นครูที่คนในวงการนาฏศิลป์เคารพนับถือ

นอกจากงานแบบไทย ๆ เปรมยังคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ รวมเข้าไว้กับงานกระดาษอย่างลงตัว เช่น โมเดลกระดาษกับเครื่องโยกพลังแสงอาทิตย์ หรือโมเดลกระดาษที่มีกลไกเปลี่ยนหน้าตามอารมณ์ (เจ้าของ) และขยับแขนได้ โดยนำหนังยางซ่อนไว้ข้างใน ให้เด็กที่นำไปต่อได้เรียนรู้กลไกทางวิทยาศาสตร์โมเดลกระดาษที่สมบูรณ์และสวยงามต้องแลกมาด้วย ๑๐ นิ้วที่เหนียวเหนอะไปด้วยกาวลาเท็กซ์ ตาล้าพร่ามัวจากการเพ่งมองชิ้นส่วนเล็กจิ๋ว หลังที่ปวดร้าวเพราะนั่งหลังขดหลังแข็งหลายชั่วโมง ทั้งตัด พับ สอด ประกอบ ติดกาว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหล่านี้คือความสนุกของงานโมเดลกระดาษที่ทำให้แผ่นกระดาษธรรมดากลายเป็นของที่มีคุณค่าทางจิตใจ

ชิ้นส่วนกระดาษขนาดจิ๋วหลายสิบชิ้นสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชาวต่างชาติ โดยไม่มีกำแพงทางอายุ ความคิด สังคม ภาษา หรือวัฒนธรรมมาปิดกั้น  แม้จะมีของเล่นพลาสติกเข้ามาแทนที่ แต่เสน่ห์ของโมเดลกระดาษยังทำให้ย้อนนึกถึงเมื่อครั้งมีดคัตเตอร์ตัดกระดาษบาดนิ้วระคนความภูมิใจเมื่อต่อชิ้นส่วนที่คู่กันได้อย่างลงตัว
เพราะโมเดลกระดาษทุกชิ้นที่ทำด้วยมือล้วนสร้างแรงสูบฉีดที่หัวใจ