Image
ให้ธรรมชาติเป็นธรรมชาติ
ดร. ดนัย ทายตะคุ
INTERVIEW
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ถอดเสียงสัมภาษณ์ : วรรณิดา มหากาฬ
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ
เคยรู้จักสถาปนิกที่ไม่ออกแบบอาคารบ้างไหม
บางคนอาจตอบว่าก็สถาปนิกที่จัดสวนไง

เมื่อถาม ดร. ดนัย ทายตะคุ อาจารย์อธิบายว่า แท้จริงแล้วสถาปนิกจัดสวนคือภูมิสถาปนิก หรือภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งหลายคนในวิชาชีพนี้ก็ยังสับสนเรียกตัวเองว่าสถาปนิก เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย ๆ แต่ก็ทำให้เข้าใจผิดกันมาตลอด

ดร. ดนัยน่าจะเป็นภูมิสถาปนิกที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อ

ภูมินิเวศคือการออกแบบพื้นที่ด้วยความเคารพต่อธรรมชาติและระบบนิเวศ โครงการที่เขาเคยร่วมวางผังและออกแบบ เช่น การฟื้นฟูที่ดินเหมืองแร่เก่าให้เป็นสวนสาธารณะ  งานออกแบบปรับเปลี่ยนพื้นที่เล็ก ๆ อย่างลานจอดรถ ลานคอนกรีต ตามคณะต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่หน่วงน้ำ ช่วยชะลอน้ำตอนฝนตกหนักไม่ให้ไหลออกไปในระบบระบายน้ำของ กทม. ที่ปริมาณน้ำอาจล้นแล้ว โดยอาศัยหลัก nature based solution และ “small is beautiful” ที่อาจารย์สะท้อนว่า “เรามักจะมองอะไรใหญ่ ๆ โต ๆ แต่ไม่มองว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ช่วยได้ ถ้าคิดให้กว้าง ลึก ละเอียด ถี่ถ้วน และครอบคลุม”
Image
พืชพันธุ์ท้องถิ่นกลับมาให้เห็น เช่น หญ้าลอยลม ที่มีใบเป็นรูปทรงกลมดาวกระจายปลิวไปตามลม
อาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวันได้อย่างไร
ตอนนั้นมีนิสิตปี ๕ ในภาควิชาภูมิสถาปัตย์ ต้องทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบ เขาเลือกตรงนี้ คิดว่าจะทำภูมิสถาปัตย์ (landscape architecture) ของอุทยานเรียนรู้ที่นี่

ผมบอกเขาว่าก่อนที่จะไปแตะต้องอะไรต้องดูว่ามันเป็นอะไรมาก่อน  เรามีเครื่องมือคือภาพถ่ายทางอากาศ เก่าสุดที่มีคือปี ๒๔๙๐ ของกรมแผนที่ทหาร เอามาดูก็เห็นเลยว่าบริเวณนี้เคยเป็นแนวสันทรายชายหาดขึ้นไปชนถึงบริเวณที่เป็นนาข้าว  เราศึกษาโครงสร้างแนวพื้นที่สันทรายชายหาดตั้งแต่ทะเลเข้ามา ก็พบว่ามันใช้เวลาหลายพันปีในการวิวัฒนาการมาจนถึงทุกวันนี้
Image