ปรีดา เทียนส่งรัศมี
ชีวิตนี้เพื่อนกเงือก
เรื่อง : บุษกร รุ่งสว่าง
ภาพ : ลภนพร สกุลเก่งศึกษา
ปรีดามีรอยยิ้มที่เป็นมิตร สุภาพและยังเต็มที่ในหน้าที่ที่กำลังทำ
๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๒
หน้าทางเข้าน้ำตกปาโจ 
อำเภอบาเจาะ 
จังหวัดนราธิวาส

“สมัยนี้แล้วไม่ใช่สมัยก่อน ปรกติดีไม่มีอะไร คนไทยกับมุสลิมก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทะเลาะอะไรกัน ถ้าแบ่งแยกกันพวกเราก็ไม่คุยกับพี่ปรีดาแล้ว มันดูโหดใช่ไหมเวลาดูข่าว”

ซอฟารียะ มะดีซู หรือยะ วัย ๓๗ แม่ค้าร้านอาหารหน้าน้ำตกปาโจ คุยกับเราอย่างเปิดใจ ภายใต้ชุดสวยสีส้มสดใส ดวงหน้ากลมนวลอวลรอยยิ้ม แววตา ท่าทาง น้ำเสียงของเธอเจือความเอมอิ่มแห่งมิตรภาพ อาจเพราะวันนี้เป็นวัน “ฮารีรายอ” วันเฉลิมฉลองทางศาสนาของชาวมุสลิม มีขึ้นสองครั้งในแต่ละปี เป็นวันที่คนในครอบครัวจะเดินทางมารวมตัวกัน คล้ายกับวันขึ้นปีใหม่หรือสงกรานต์ของไทย

หรืออาจเพราะเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นเสื่อมคลายไปตามกาลเวลาแล้วจริง ๆ

“พี่ปรีดา” ที่ยะพูดถึงไม่ใช่ใครอื่นสำหรับชาวบ้านแถบเทือกเขาบูโด บางครอบครัวเขาคือลูกชาย พี่ชาย น้องชายคนหนึ่ง และสำหรับเยาวชนที่นี่เขาคือครูศิลปะฝีมือดี ที่ไม่ได้มีแค่วิชาวาดภาพเพื่อสรรค์สร้างนกเงือกสวย ๆ แต่ครูคนนี้ยังเป็นมนุษย์คนแรกที่ปลูกฝังความรักนกเงือกลงไปในหัวใจของพวกเขาด้วย

ผมอยากเป็นนักอนุรักษ์ เพราะผมอยากจะดูแลนกเงือกให้ดีที่สุด ผมรักนกเงือกมาก เพราะว่านกเงือกมันสวย วันนั้นผมขึ้นเขากับนักอนุรักษ์ ผมเห็นนกเงือกป้อนอาหารให้ลูกกิน
ด.ช. อัมรัน มาหามัด 
โรงเรียนบ้านดือแยหะยี อำเภอรือเสาะ 
จังหวัดนราธิวาส
(หนึ่งในข้อความบันทึกความรู้สึกหลังจบค่ายเยาวชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด)

ปรีดา เทียนส่งรัศมี วัย ๔๘ หรือ “พี่ดา” นักวิจัยในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาประจำการ ณ เทือกเขาบูโด อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี ๒๕๔๑ ขณะนี้เขากำลังเดินทางอยู่ในปีที่ ๒๘ หากนับตั้งแต่วันแรกเริ่มของชีวิตการงาน
ปรีดา เทียนส่งรัศมี วัย ๔๘ หรือ “พี่ดา” นักวิจัยในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาประจำการ ณ เทือกเขาบูโด อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี ๒๕๔๑ ขณะนี้เขากำลังเดินทางอยู่ในปีที่ ๒๘ หากนับตั้งแต่วันแรกเริ่มของชีวิตการงาน
คนที่นี่เรียกเขาว่า “พี่ปรีดา” หรือ “ปรีดา” แบบเต็มยศ ไม่เรียก “พี่ดา” หรือ “ดา” เฉย ๆ เพราะในภาษายาวีชื่อนี้สงวนไว้สำหรับหญิงสาวเท่านั้น

ถือเป็นโมงยามที่งดงามที่สุดของชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง ในวัย ๒๐ ต้น ๆ ใครหลายคนเลือกเดินทางตามหาความฝัน ลองผิดลองถูก ใช้ชีวิตหนุ่มสาวอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ชายหนุ่มนามว่า “ปรีดา” เลือกทำในวัยวันอันหอมหวานกลับเป็นการเดินทางเข้าป่า ติดตามอาหญิง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ หรือ “อาแมว” หัวหน้าโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกในขณะนั้น เพื่อเป็นผู้ช่วยนักวิจัยนก จนเขาเติบโตเป็นนักวิจัยอย่างเต็มตัวในเพียงชั่วพริบตาและจนถึงปัจจุบัน

เส้นทางสายอาชีพของเขาเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๕ ขณะเป็นนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาลัยครูสวนดุสิต (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยสวนดุสิต)  หน้าที่หลักของปรีดาคือออกแบบงานศิลป์และสื่อทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ และตามทีมนักวิจัยไปเก็บข้อมูลในป่าบ้างเป็นครั้งคราว

ต่อมาหลังจบการศึกษา ในปี ๒๕๓๘ ปรีดาจึงลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยภาคสนามอย่างจริงจังบนผืนป่ามรดกโลก “ห้วยขาแข้ง” ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย “ศักยภาพของนกหัวขวาน (Woodpeckers) ในการก่อให้เกิดโพรงรังแก่นกเงือก” และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนกเงือกทุกชนิดพันธุ์ที่พบเจอระหว่างนั้นด้วย
Image
โพรงเทียมสำหรับให้นกเงือกทำรังทดแทนรังธรรมชาติบนต้นไม้ขนาดใหญ่ที่นับวันจะเหลือน้อยลง โพรงนี้ทดลองติดตั้งที่นี่ช่วงหนึ่งก่อนนำไปติดตั้งในป่าบริเวณที่มีนกเงือก
อาจารย์พิไลเล่าให้ฟังว่า ตอนปรีดายังเป็นนักศึกษาเขาเข้ามาขอทำโครงการฯ ด้วย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ใช่คู่อาหลานที่สนิทกันมากอย่างตอนนี้ เพราะความที่อาจารย์เป็นคนดุ หลานคนอื่น ๆ จะพากันกลัว แต่ปรีดาเข้ามาหาแล้วขอทำโครงการฯ ด้วยตัวเอง อาจารย์บอกว่า

“อย่าคิดว่าเป็นหลานแล้วจะได้คะแนนไปง่าย ๆ นะ ยิ่งเป็นหลานก็ยิ่งต้องโดนเคี่ยวหนักกว่าคนอื่น”

ไม่ว่าอาจารย์จะส่งปรีดาไปอยู่ที่ไหนเขาก็ไป ไม่เคยท้วงเลยว่ายาก ทำให้รู้ว่าเขาพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดจริง ๆ นับตั้งแต่มาอยู่ใหม่ ๆ จนถึงตอนนี้  อาจารย์จึงเห็นแล้วว่าหลานชายคนนี้มีความมุ่งมั่น มีน้ำใจ และอุทิศตนอย่างมากในการทำงาน ก่อนอาจารย์จะทิ้งท้ายสั้น ๆ กับเราว่า

“ภูมิใจในตัวเขา ที่เขาทำ ที่เขาทุ่มเท”
เขตรักษา
พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 
จังหวัดอุทัยธานี
ปี ๒๕๓๘

ในเวลาย่ำค่ำดึกดื่นเมื่อชั่วโมงแห่งการงานสิ้นสุดลง ในบ้านไม้หลังน้อยนามว่า “หัวขวาน” หนึ่งในบ้านพักคณะวิจัยนกหัวขวานที่ปรีดาอาศัย ซึ่งกอปรด้วย บ้านเหมือนฝัน บ้านขนุน บ้านใจเหงา และห้างนอนบนต้นไทรที่ไม่ระบุนาม เพื่อนนักวิจัยคนอื่น ๆ มักเห็นแสงวามวาวของเปลวเทียนจากโคมไม้ไผ่ลอดผ่านช่องฝาผนังไม้จากบ้านพักของปรีดาอยู่เป็นประจำ นิสัยส่วนตัวของเขาได้รับการบ่มเพาะมาตั้งแต่นั้น นั่นคือ “การเป็นนักเขียนบันทึกที่ดี”

แทบทุกวันปรีดาจะเขียนเล่าเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด ความรู้ใหม่ อุปสรรคการทำงาน และความฝันใฝ่ลงในสมุดบันทึกคู่ใจเล่มแล้วเล่มเล่า  ปรีดาบอกเราว่าต้องเขียนจะได้ไม่ฟุ้งซ่านเวลาอยู่คนเดียว ไม่ว่าจะก่อนนอน หรือนั่งดูนกอยู่ในซุ้มบังไพร ที่สำคัญเป็นการบันทึกองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่องานอนุรักษ์นกเงือก และวันหนึ่งบันทึกพวกนี้จะมีคุณค่าในตัวมันเอง

นอกจากงานเขียนบันทึกอย่างต่อเนื่องแล้ว ในสมุดทุกเล่มของเขายังเต็มไปด้วยภาพวาดนกนานาพรรณ ยิ่งเฉพาะนกเงือกพูดได้เต็มปากว่ามีทุกอากัปกิริยาของนกเงือกทุกชนิดพันธุ์ในไทย และข้อความด้านล่างนี้คือสิ่งที่เขาเขียนในสมุดบันทึกเล่มแรกในวัย ๒๐ ต้น ๆ

สั้น ๆ...

ดีใจที่มีโอกาสได้มาสัมผัสกับธรรมชาติด้วยตัวเอง มีคนไม่มากนักที่เข้าใจสีสัน ความงาม ประโยชน์จาก
สิ่งเหล่านี้  อยากขอบคุณหลาย ๆ ครั้งที่ธรรมชาติไม่เคยให้โทษใครซักนิดเดียว สิ่งดีงามเหล่านี้เกิดขึ้น และดำเนินวิธีการมาอย่างถูกต้องแล้ว

ดาร์ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๙ 
หนองม้า, ห้วยขาแข้ง อุทัยธานี
“ผมรักนกเงือกมาก 
เพราะว่านกเงือกสวย 
วันนั้นผมขึ้นเขากับ
นักอนุรักษ์ ผมเห็น
นกเงือกป้อนอาหาร
ให้ลูกกิน”

ด.ช. อัมรัน มาหามัด
เรื่องราวเกี่ยวกับการวิจัยและการอนุรักษ์บันทึกไว้ในสมุดบันทึกจำนวนมากของปรีดา
ขณะอยู่ห้วยขาแข้ง สิ่งหลัก ๆ ที่ปรีดาต้องทำคือ สังเกตพฤติกรรมนกหัวขวาน ตั้งแต่อาหารการกิน ท่าทางขณะเจาะโพรงรัง ปริมาณไม้ที่เจาะออกมา ขนาดโพรงรังที่อาศัยอุณหภูมิทั้งในและนอกโพรงรัง ฯลฯ แล้ววาดภาพประกอบและบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ลงไปในตารางวิจัยครั้งหนึ่งขณะปีนขึ้นวัดอุณหภูมิโพรงรังของเจ้าหัวขวานที่อยู่สูงราว ๑๐ เมตร โดยปราศจากเครื่องปีนต้นไม้ ใช้เพียงพะองไม้ไผ่เป็นบันไดไต่สู่โพรง ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

เสียงไม้ดังลั่น ปุ..ปุ๊...! สองสามที ก้มดูข้างล่างคิดว่าใครเอามีดมาเคาะที่ต้น เพียงเสี้ยววินาที เสียงโคนไม้ดัง โพล๊ะ ได้ยินปัญญาตะโกนขึ้นมา ‘ดาระวัง !’ ต้นไม้ผุกำลังค่อย ๆ ล้มลง ตอนนั้นไม่มีเวลาคิดอะไรอีกแล้ว ตัดสินใจโดดออกจากต้นไม้นั้น พอตกถึงพื้น เสียงต้นไม้ฟาดพื้นดังโครมใหญ่ ฟันหน้ากระแทกหัวเข่าเลือดกบปากคล้ายถูกหมัด รู้สึกมึน ๆ ซักพักก็หมดสติ ระหว่างที่หมดสติ เอกที่ไปด้วยกันบอกว่าผมตาค้างน้ำตาไหลพราก พอชักรู้สึกตัวผมเห็นหน้าเอกราง ๆ รู้สึกเจ็บบริเวณใบหน้าและใต้จมูก นึกถึงหลวงพ่อท้วมวัดเขาโบสถ์ทันที คิดว่าตัวเองแย่เสียแล้ว ‘หลวงพ่อท้วมช่วยลูกด้วย’ ผมนึกในใจตลอดเวลา หากเกาะติดไปกับต้นไม้คงไม่มีโอกาสมานั่งเล่านั่งเขียนอยู่นี่หรอก...

วรรคหนึ่งจากบันทึกเรื่องราวของสังคมป่ามรดกโลก เล่ม ๑ “นก – สัตว์ – และฅน ในป่าขาแข้ง” ของปรีดา

ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๙

ประสบการณ์เสี่ยงตายแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของเขา

สำหรับที่ห้วยขาแข้งความเสี่ยงขณะทำงานอาจขึ้นอยู่กับฝนฟ้า ป่าเขา และเงื้อมเงาของสัตว์ป่า แต่เมื่อย้ายไปอยู่ที่บูโด ความเสี่ยงตายที่เกิดจากธรรมชาติดูจะมีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าความตั้งใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
จาก “สวัสดี” 
สู่ “อัสซาลามูอาลัยกุม”
๗ สิงหาคม ๒๕๖๒
อำเภอบางสะพานใหญ่ 
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

เราเจอปรีดาครั้งแรกที่บ้านเกิดเขา บ้านท่ามะนาว อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  พ่อเราขับรถเลี้ยวซ้ายมุ่งสู่หมู่บ้านชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เพื่อส่งลูกสาวไปเก็บข้อมูลเขียนงานสารคดีในเขตอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ที่เพิ่งมีข่าวระเบิดไปเมื่อสองอาทิตย์ก่อน เรารู้ว่าพ่อห่วงเรามากเลยต้องขับรถมาส่ง

ขวามือเราตอนนี้คือผืนป่ายางนาธรรมชาติจำนวนกว่า ๘,๐๐๐ ต้น ซึ่งตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานป่ากลางอ่าว มองดูแล้วร่มรื่น ชื่นตาชื่นใจมาก ต้นยางนาบางต้นมีอายุมากกว่า ๒๐๐ ปี

ระหว่างทางผ่านป่าชายเลน มองเห็นต้นโกงกางทอดตัวเป็นแนวยาวครองพื้นที่สองฝั่งคลอง นกทะเลสองตัวบินร่อนลมคู่ขนานรถของเรา ก่อนรถข้ามสะพานคลองแม่รำพึงมาไม่กี่ร้อยเมตร ขณะเรายังเคลิบเคลิ้มกับทิวทัศน์อันสงบงามของหมู่บ้านแห่งนี้ก็ถึงบ้านปรีดาเสียแล้ว  เช้านี้เรานัดหมายกับเขาขอติดรถมุ่งหน้าลงใต้สู่เทือกเขาบูโด จังหวัดนราธิวาสเพื่อเรียนรู้การทำงานวิจัยศึกษานกเงือก

พ่อขับรถผ่านรั้วบ้านเข้ามาไม่ไกล เงาไม้มะขามก็ถูกคลี่ออกเห็นชายวัยกลางคนผิวสีกาแฟเข้ม สวมเสื้อยืดสีกรมท่า นุ่งกางเกงยีนสีฟ้าโปร่ง ยืนคอยอยู่หน้าบ้านไม้สองชั้น ซึ่งตั้งอยู่กลางสวนไม้ผสมที่มีทั้งมะม่วง มะขาม มะพร้าว ยางนา ตะเคียน ไม้ยืนต้นที่เก็บกินผลได้และไม่ได้หลากหลายชนิด

ปรีดาบอกเราว่าต้นไม้ที่เห็นนี้นอกจากมะพร้าวที่แม่ปลูกไว้ขายแล้วพ่อของเขาเป็นคนปลูกเองทั้งหมด และสั่งห้ามไม่ให้ใครหน้าไหนตัดเด็ดขาด  หากเดินเข้าไปทางหลังบ้านจะเห็นว่ามีเยอะกว่านี้มาก
Image
ซุ้มบังไพรสำหรับสอดส่องชีวิตของเหล่านกนานาพรรณ
โดยไม่รบกวนวิถีชีวิตของพวกมัน

เราเดินทางออกจากบางสะพาน ๑๑ โมงกว่า ตอนนี้เป็นเวลาบ่าย ๔ โมงเย็น รถกระบะสีดำมีตราสัญลักษณ์นกเงือกเขียนว่า Thailand Hornbill Project อยู่ด้านข้าง กำลังมุ่งหน้าสู่อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อแวะพักค้างคืนเยี่ยมเยือนมิตรสหาย และตรวจดูผืนป่ายางนา

ผืนป่ายางนาที่ว่านี้เป็นจุดแวะพักสำคัญของนกเงือกกรามช้างปากเรียบหลายสิบตัวที่บินแตกฝูงมาจากการอพยพออกจากป่าห้วยขาแข้ง ลงใต้ไปตามแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี โดยจะสิ้นสุดและรวมฝูงที่ประเทศมาเลเซียเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม แล้วบินกลับป่าห้วยขาแข้งราวเดือนมกราคมเพื่อทำรังและผลิตสมาชิกใหม่ในครอบครัว

อื๊น ๆ ๆ ๆ โครม อื๊น ๆ ๆ ๆ โครม ๆ

เวลาประมาณ ๙ โมงเช้ากลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ณัฐวุฒิ อิ่มจันทร์ หรือต้อ วัย ๓๒ แนวร่วมหลักในโครงการศูนย์เรียนรู้วิจัยศึกษานกเงือก ตำบลกะเปา อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๕๙ เล่าให้ฟังว่า ได้ยินเสียงเลื่อยไม้ดังสนั่นมาจากป่ายางนาผืนใกล้บ้านที่ดูแลอยู่ จึงรู้ทันทีว่าเจ้าของที่ดินนั้นกลับคำ ไม่เก็บป่ายางนาไว้ตามสัญญาใจที่เคยตกลงกับโครงการฯ ไม่เพียงเท่านั้นเงินมัดจำ ๕ หมื่นบาท เพื่อขอให้เก็บป่ายางนาผืนนี้ไว้ก็หายจ้อย
“ได้ยินเสียงเขาตัดโครม ๆ มันเจ็บใจ เราทำอะไรไม่ได้เพราะไม่ใช่เจ้าของ ไม่ได้ทำเอกสารสัญญาไว้ จากวันนั้นก็ไม่ไปดูเลย ทำใจไม่ได้” 
ต้อพูดกับเราด้วยสำเนียงโผงผางของคนใต้ แต่นัยน์ตาฉายแววเศร้า

ขณะที่ปรีดา หยอย และอาร์ม กำลังสนุก นึกคึกปีนป่ายต้นไม้อยู่ในสวน เพื่อเก็บมังคุด เงาะ ลองกอง และทุเรียนมาต้อนรับแขกหน้าใหม่อย่างเรา เห็นแล้วประทับใจอย่างบอกไม่ถูก  ว่าก็ว่าเถอะถ้าต้อไม่ประสบอุบัติเหตุจนขาทั้งสองข้างลีบลงใช้การไม่ได้อย่างตอนนี้ วันนั้นการตัดต้นยางนาคงไม่ราบรื่นแน่

“ศูนย์เรียนรู้วิจัยศึกษานกเงือกที่ร่วมแรงกันมากลายเป็นสูญไปเสียแล้ว” เป็นประโยคติดตลกที่ชายทั้งสี่คนพูดชวนหัวกันบ่อย ๆ เรารู้ว่าทุกคนคงลำบากใจพอสมควร

ปลายทางของเรื่องนี้จึงจบด้วยการหาเงินมาใช้คืนผู้ที่บริจาคผ่านโครงการฯ เข้ามาช่วยมัดจำป่ายางนาผืนนี้ไว้ หลังจากพวกเขาลงความเห็นว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดใคร เพราะไม่ว่าเจ้าของที่ดินจะมีเหตุผลอะไร แต่อย่างน้อยพวกเขาได้เรียนรู้น้ำใจคน
Image
๘ สิงหาคม ๒๕๖๒
อำเภอคีรีรัฐนิคม 
จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เราเริ่มต้นวันด้วยกาแฟร้อนที่ต้มโดยปรีดาตั้งแต่
เช้าตรู่ ก่อนจัดแจงเก็บข้าวของออกเดินทางต่อ แต่ก่อนออกจากคีรีรัฐนิคม จุดหมายสำคัญของเราคือผืนดิน
ว่างเปล่าเนื้อที่กว้างกว่า ๖ ไร่

หยอย หนึ่งในแนวร่วมอนุรักษ์นกเงือกและเพื่อนซี้
รุ่นพี่ของปรีดาเดินมาหยุดข้าง ๆ เรา ขณะปรีดาเดินเข้า
ไปในพื้นที่ที่เคยเป็นป่า ทว่าตอนนี้ถูกยึดครองด้วยเหล่าวัชพืชที่กระจายตัวแต่งแต้มสีเขียวสดตาเป็นหย่อม ๆ

“ใช่ ที่เห็นอยู่นี่เคยเป็นป่ายางนาที่สวยที่สุดใน
แถบนี้” หยอยหมายถึงพื้นที่รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน  แกพูดแค่นั้นแล้วเดินไปสมทบกับต้อที่ขับ
ATV ตามมาดูอดีตศูนย์ฯ ที่ตั้งใจทำมาเป็นครั้งแรกนับแต่
ได้ยินเสียงเลื่อยยนต์

ทั้งหมดนี้คือผลพวงจากการปรับปรุง พ.ร.บ. ป่าไม้มาตรา ๗ ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถตัดไม้หวงห้ามประเภท ก. ซึ่งขึ้นอยู่ในที่ดินมีกรรมสิทธิ์ได้ และมีผลบังคับใช้เมื่อกลางเดือนเมษายน ปี ๒๕๖๒ ภาพที่ปรากฏเป็นภาพที่ดินโล่งกว้าง ก่อให้เกิดความรู้สึก
เวิ้งว้าง

“หากนกเงือกพูดได้ มันคงถามมนุษย์ว่าทำไมต้องโค่นบ้านมันทิ้งแน่ ๆ” เรานิ่งคิด พร้อมหันไปมองมนุษย์อีกกลุ่มที่ออกแรงกายและใจช่วยพวกมันอย่างเต็มกำลังแล้ว
“หากนกเงือก
พูดได้ มันคงถาม
มนุษย์ว่าทำไม
ต้องโค่นบ้านมัน
ทิ้งแน่ ๆ”

Image
การประชุมปรึกษาการอนุรักษ์นกเงือกร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ภายใต้โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก
Image
ปรีดาปลูกฝังเรื่องราวการอนุรักษ์นกเงือกให้เด็กรุ่นใหม่ ผ่านการวาดภาพ
บนถนนหมายเลข ๔๐๑ 
ขาออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก

ความเงียบ เพื่อนแท้หนึ่งเดียวของเราทุกคนที่ต้องการอยู่กับป่าโดยสันติทำงานอีกครั้ง...คราวนี้ไม่ใช่ท่ามกลางป่าเขา แต่เป็นในยานพาหนะสีดำที่กำลังเคลื่อนตัวสู่พื้นที่ใต้สุดแดนสยาม ก่อนจะถูกไล่ไปอย่างนุ่มนวลจากคลังเพลงในอัลบัมคู่ใจประจำรถ

มองผ่านกระจกรถออกไปเห็นทิวทัศน์ภูเขาเขียวชอุ่มสลับซ้อนกันตลอดสองข้างทาง แดดยามสายสะท้อนถนนเกิดแสงระยิบระยับจับตา  เรากับปรีดาเริ่มถกถึงชะตากรรมที่ต้องรับใช้ทุนนิยมของธรรมชาติในแถบนี้อีกครั้ง เมื่อสายตาปะทะภูเขาหินปูนหลายลูกตามรายทางที่ถูกระเบิดจนแทบไม่เหลือเค้าความเป็นภูเขา

เราหวนนึกถึงคำพูดของปรีดาเมื่อเย็นวาน ขณะรถแล่นผ่านภูเขาเขียวชอุ่มสลับเขาหินปูนเว้าแหว่งเทือกเดียวกันนี้ในเลนขาเข้า

“ทีนี้เขาก็ระเบิดเขาไปเรื่อย ถ้าเราไม่มีอะไรมาต้าน จริง ๆ มันเกี่ยวกันหมดแหละระบบนิเวศพวกนี้ ต้องเอาพวกพันธุ์สัตว์ พันธุ์ไม้หายาก หรือประกาศให้เป็นแหล่งโบราณคดี ถึงจะต่อต้านการทำลายธรรมชาติรูปแบบนี้ได้ กล้วยไม้หายากสักชนิดอย่างนี้ แม่ง ! นายทุนก็หนาวแล้ว”

ปรีดาเล่าว่าตอนนั้นบนเขาหินปูนแถบเขาสกมีปาล์มไทยพันธุ์เฉพาะถิ่นชื่อ “หมากพระราหู”  เราถามต่อว่ามันทำหน้าที่อะไรในระบบนิเวศของที่นี่  ปรีดาตอบว่ารู้เพียงเป็นปาล์มขนาดเล็ก สวย ประโยชน์อย่างอื่นก็คงมีตามธรรมชาติ อย่างผลอาจเป็นอาหารของสัตว์ป่าหรืออะไรก็ว่าไป

แต่สิ่งที่ปรีดามั่นใจมากคือ การค้นพบพันธุ์พืชหรือสัตว์เฉพาะถิ่นจะกลายเป็นอาวุธสำคัญของฝ่ายอนุรักษ์ ในการต่อสู้กับเหล่านายทุนที่ไร้สิ้นซึ่งความเคารพยำเกรงต่อธรรมชาติอย่างแน่นอน
Image
สมาชิกครอบครัว (วิจัย)
ท่วงทำนองเพลง “Rock the Boat” ของ The Hues Corporation ศิลปินที่โด่งดังมากในยุค 70s ทำให้บรรยากาศระหว่างบทสนทนานี้เบาสบายลงไป ขัดกับเนื้อหาที่มีแต่เรื่องระยำตำบอนของฝ่ายฝักที่เป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ

...So I'd like to know where, you got the notion
Said I'd like to know where, you got the notion
(To rock the boat), don't rock the boat baby…

เราขับผ่านทางเส้นหลัก ถนนเพชรเกษม มุ่งลงใต้ไปเรื่อย ๆ แวะทักทายมิตรสหายของปรีดาเป็นระยะ เลี้ยวตัดผ่านช่องทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เห็นควันจากไฟป่าพรุควนเคร็งพวยพุ่งเป็นแนวยาวขนาดมหึมา ผ่านทุ่งนา ป่าเขา ตัดเข้าถนนสายหลักอีกครั้ง

ตอนนี้เป็นเวลา ๕ โมงเย็นกว่า ๆ แล้ว ขณะรถเคลื่อนผ่านจังหวัดปัตตานี

เราเริ่มเห็นด่านตรวจที่เปลี่ยนจากป้อมตำรวจเป็นป้อมทหารถี่ขึ้น

“ทำไมต้องเป็นนกเงือกล่ะพี่ ถ้าไม่นับว่าอาจารย์พิไลทำมา พี่จะยังอยากศึกษานกเงือกไหม ?” เราถามด้วยความอยากรู้ ตายังจับจ้องแผงกั้นจราจรเสริมลวดหนามของด่านทหารข้างหน้า
“พี่ว่ามันสำคัญ ถ้าเราได้ไปเห็นจะรู้สึกเลยว่าประทับใจ แล้วเราจะให้มันสูญพันธุ์เหรอ”
ปรีดาตอบกลับหนักแน่น  เราหันมองเขาจากด้านข้างเห็นประกายในตาแจ่มชัดกว่าทุกครั้งที่คุยกัน  รถเราเคลื่อนผ่านด่านมาแล้ว และปรีดาพูดต่อโดยไม่รอให้เราเอ่ย

“แล้วพอศึกษาก็รู้ว่า เฮ้ย เราไม่ต้องปลูกป่า ไม่ต้องปลูกต้นไม้เลย ถ้ามีนกเงือกมันจัดการให้เรียบร้อย ระบบนิเวศนี่ยิ่งไม่ต้องห่วง สังเกตดูถ้าตรงไหนนกเงือกหายไป ไม้ใหญ่บางชนิดก็หายไปด้วย อย่างเช่น พวกวงศ์ตาเสือ พวกจันทน์กำลังลดจำนวนลง เพราะไม่มีตัวแพร่กระจาย ความที่เมล็ดมันใหญ่ สัตว์อื่นเอาไปไม่ได้ มีแต่นกเงือกอย่างเดียว เพราะมันมีกระเพาะพัก ปากใหญ่ ปีกกว้าง บินได้ไกล” ปรีดาพูดไปผายมือไป แววตาจริงจังกว่าเดิม

“แล้วไปเห็นมันเราจะประทับใจ ลองดูตามันสิ ขนตางอนมาก น่ารักจะตาย คนไปยิง ไปฆ่ามัน โธ่เอ๊ย ! พวกคนไม่มีรสนิยม ไร้ความสุนทรีมาก !” เราหลุดขำอย่างไม่ตั้งใจ ไม่คิดว่าเขาจะใช้คำนี้  ปรีดายังคงพูดต่ออย่างเอาจริง
“พอศึกษาก็รู้ว่า เราไม่ต้องปลูกป่า ไม่ต้องปลูกต้นไม้ ถ้ามีนกเงือกมันจัดการให้เรียบร้อย”
“ท่าบินมันสง่ามาก แล้วมันก็มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราต้องศึกษาเพื่อเอาข้อมูลตรงนี้ไปเล่า ไปบอกให้คนรู้ อย่างพี่ไปพูดลอย ๆ ใครจะเชื่อถ้าไม่ทำวิจัย แล้วเราต้องรู้จริง รู้ไม่จริงจะไปพูดได้ไง  อีกอย่างถ้าเราจะอนุรักษ์เขาแล้วเราไม่รู้ เราจะอนุรักษ์ได้ไง” ปรีดาออกท่าเหมือนตบพวงมาลัยเบา ๆ หนึ่งทีก่อนพูดว่า

“เฮ้ย นี่พี่ซีเรียสไปเปล่า” ปรีดาหันมายิ้มให้ ก่อนเราสองคนปล่อยเสียงฮาลั่น แม้เขาจะพยายามทำให้บรรยากาศดูไม่จริงจังจนเกินไป แต่ทุกอย่างบอกออกมาแล้วในแววตา

คุยกันเพลิน ๆ ไม่ทันไรก็ถึงอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส จุดหมายปลายทางของเรา

ตลอดระยะทางกว่า ๙๐๐ กิโลเมตรที่นั่งคุยกัน ทำให้เรารู้ว่านักวิจัยก็คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง และมนุษย์ทุกคนก็ล้วนมีหัวใจของนักอนุรักษ์ทั้งนั้น หากเมื่อใดที่เราต่างค้นพบสิ่งมีค่า เราจะรู้สึกว่าอยากรักษามันเอาไว้
๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ 
เทือกเขาบูโด 
จังหวัดนราธิวาส

ฟืดดด ฟาดดด ฟืดดด ฟาดดดดดดดดด

เสียงหายใจเราขณะเดินขึ้นเขามาได้ไม่ถึง ๓๐๐ เมตร ก่อนจะตาม นูรีฮัน ดะอูลี หรือฮัน วัย ๓๑ และ อัฟฟาน มะดีซู หรืออัฟฟาน วัย ๒๒ ที่นั่งพักคอยอยู่ที่โขดหินระหว่างทางได้ทัน  ส่วนปรีดาและ พาริ โต๊ะมิง หรือพาริ วัย ๔๐ อดีตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เดินนำหน้าพวกเราไปก่อนแล้ว

“กว่าจะถึงรังนี่ต้องเข้าป่าไปอีกไกลไหมพี่ฮัน” เราถาม ขณะหายใจเข้าออกไม่เป็นจังหวะ

“เรายังอยู่ในสวนของชาวบ้านอยู่เลย ยังไม่ได้เข้าป่า” ฮันตอบ ยิ้มในความไม่รู้เรื่องของเรา ส่วนเราปล่อยเสียงฮาฟังแตกพร่าคล้ายวิทยุที่สัญญาณใกล้จะขาดเต็มที

การเดินขึ้นเขาระยะทางกว่า ๒ กิโลเมตร ที่ทางบางช่วงชันกว่า ๔๕ องศา ต้องมุดลอดกิ่งไม้ ปีนป่ายโขดหิน ลุยฝ่าดงทากที่คอยรับบริจาคเลือดอยู่เกลื่อนป่า ทนกับสภาพอากาศร้อนชื้นจนถึงอบอ้าว ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาของฮันและอัฟฟาน เพราะสองคนนี้เดินตามปรีดาขึ้นเขาบูโดไปดูนกเงือกตั้งแต่อยู่ชั้นประถมฯ สมัยพวกเขาเป็นเยาวชนในค่ายเด็กรักนกเงือกเทือกเขาบูโด และยังคงเดินเรื่อยมาจนถึงวันนี้ในฐานะ “ผู้ช่วยนักวิจัย”

Image
ในเมืองไทยนกเงือกหัวหงอกเป็นนกที่หายากและอาศัยอยู่เฉพาะในป่า
ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางภาคใต้ 
ภาพ : ปรีดา เทียนส่งรัศมี

ฮันและอัฟฟานตอบตรงกันว่าเพราะ “สนุก” ตอนเป็นเด็กการได้ขึ้นเขาตามนักวิจัยเหมือนได้ออกผจญภัย ระหว่างทางเดินไปรังนกเงือกพวกเขาตื่นตาตื่นใจกับต้นไม้และสัตว์ป่าหลายชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แม้วันนี้ความรู้สึกตื่นเต้นครั้งเป็นเด็กอาจลดลง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมากมายภายในใจคือความรักและความหวงแหนธรรมชาติ

“บางทีข่าวในทีวีไม่จริงก็มี ครั้งหนึ่งมีข่าวออกว่าเด็กนักฟุตบอลเห็นโจรเดินลงจากเขาบูโด แต่สถานที่ที่ข่าวระบุเกินเขตเขาบูโดไปแล้ว แล้วจะมีโจรลงจากเขาได้ยังไง แต่ก็ไม่มีใครไปโต้แย้ง” ฮันพูดกับเรา สีหน้าเธอบ่งบอกความโมโหระคนเหนื่อยหน่าย

ภาพจำเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ทำให้คนที่สนใจงานอนุรักษ์นกเงือกจากภายนอกน้อยลงทุกที เพราะคิดว่าเทือกเขาบูโดยังเป็นที่ซ่องสุมของโจร  แต่ในความจริงแม้แต่ชาวบ้านผู้ช่วยนักวิจัยที่เดินขึ้นเขากันแทบทุกวัน ก็ไม่มีใครเจอตัวโจรบูโดที่ว่านี้สักที  สมัยนี้หากยังมีโจรอยู่จริงคงเป็นพวกตัดไม้ พวกล่าสัตว์ ที่อาศัยช่องว่างจากการทำงานของเจ้าหน้าที่เข้ามาลักขโมยทรัพยากรตรงนี้ไป

ผับ ๆ ผับ ๆ ๆ

เสียงปีกของพ่อนกกก เจ้าบ้านรังเบอร์ ๙ ในความดูแลของฮัน กระพือส่งเสียงดังก้องป่า เราเดินรั้งท้ายรีบกุลีกุจอสาวเท้าตามเสียงไป แต่โชคไม่ดี เจ้าของบ้านเห็นเราก่อนเราจะเข้าพรางตัวในซุ้มบังไพรได้ทัน จึงตกใจบินห่างโพรงไปไกลและไม่กลับมาเลยในชั่วระยะเวลา ๓ ชั่วโมงที่เรานั่งรออย่างมีความหวัง ขณะเอียงหูฟังเสียงร้อง “กก ๆ กก ๆ ๆ” ที่ผ่านสายลมมาเป็นระยะ ก่อนจะเก็บความเสียดายยัดใส่กระเป๋าแบกลงเขาไปด้วย

แต่ถึงวันนี้จะไม่ได้เห็นนกเงือก แต่เราได้เห็นหัวใจของคนที่รักนกเงือกอย่างแท้จริงตั้งสี่คน

ความเหนื่อยกายที่เกิดจากสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่เราเจอถือว่าเบาสบายมาก หากเทียบกับความเหนื่อยใจที่พบเจอตลอดการทำงานของปรีดาและชาวบ้านฝ่ายอนุรักษ์
Image
อุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด–สุไหงปาดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่เพียงธรรมชาติ แต่ยังรวมถึงวิถีชีวิตและผู้คนในพื้นที่
“พี่รู้ เวลามีอุปสรรค
แสดงว่า
งานเราใกล้จะดี”

ปรีดาเล่าว่า ตอนมาอยู่ปีแรก ๆ ขณะขึ้นไปสำรวจนกเงือกบนเขาตาเปาะกับชาวบ้าน เจอนกเหยี่ยวรุ้งระหว่างทาง ตอนนั้นดีใจกำลังตั้งกล้องถ่ายรูป เผอิญมีพวกตัดไม้ผ่านมา พวกนั้นไม่พูดอะไร ชักปืนยิงนกเหยี่ยวตัวนั้นตกลงพื้นต่อหน้าต่อตา แล้วเดินเข้าป่าตัดไม้ต่อ ชาวบ้านที่มาด้วยก็เงียบไม่พูดเพราะเขารู้จักกัน ตามสืบทีหลังเลยรู้ว่าที่เขาทำอย่างนั้นเพราะคิดว่าปรีดาเป็นพวกป่าไม้จึงยิงปืนขู่ ทีนี้ต้องขอแรงผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยอธิบายว่าปรีดาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ แต่เป็นนักวิจัยที่มาศึกษาและอนุรักษ์นกเงือกของที่นี่

แต่ถึงอย่างนั้นเหตุการณ์กระทบกระทั่งก็มีเรื่อยมา มีครั้งหนึ่งเกิดการปะทะอารมณ์อย่างไม่มีใครยอมใคร

“เฮ้ย นกเงือกเหรอ ทำลาบสิอร่อย” คนตัดไม้ตะโกนข้ามหัวทีมวิจัยด้วยน้ำเสียงเย้ยหยัน

“เฮ้ย ไอ้นี่ดิอร่อยกว่า ซุปเปอร์นกเงือก” ปรีดาตะโกนกลับทันควัน ทางนั้นเงียบไป

“ตีนนกเงือกน่ะ” ปรีดาย้ำ รู้สึกเหลืออดแล้ว

ปรีดาว่าเหมือนเราเดินคนละทาง เรามาเพื่ออนุรักษ์ เขามาเพื่อทำลาย ก็ต้องมีปะทะกันอยู่แล้ว ตราบใดที่เขายังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เราพยายามทำเป็นประโยชน์แก่คนและธรรมชาติที่นี่จริง ๆ  อีกอย่างทางเลือกการทำมาหากินของเขาไม่ได้มีมาก พูดกันตามจริงไม่มีใครอยากเดินขึ้นเขาไปตัดไม้เพราะมันเหนื่อย ถ้าสวนยางพารา สวนผลไม้ และนาข้าวที่เขามีให้รายได้เพียงพอ คนพวกนี้คงไม่ต้องดิ้นรนขึ้นเขาไปตัดไม้เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว เช่นเดียวกับการขโมยลูกนกเงือกไปขาย เพราะรายได้ดี เขาเลยไม่ได้คิดถึงว่าสักวันหนึ่งทรัพยากรตรงนี้มันจะหมดไปจริง ๆ

เราถึงต้องมี “โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก” เพื่อเปลี่ยนนักล่า นักทำลาย ให้กลายเป็นนักอนุรักษ์ที่ไส้ไม่แห้ง  จริงอยู่ธรรมชาตินั้นสำคัญ แต่เราต้องมองเรื่องปากท้องของชาวบ้านด้วย เพราะนั่นคือต้นเหตุที่ว่าทำไมธรรมชาติถึงถูกทำลายมากขึ้นทุกวัน

ปัจจุบันมีชาวบ้านที่เป็นอดีตพรานล่าลูกนกเงือก อดีตคนตัดไม้ และเยาวชน รวมกันกว่า ๓๐ คน จาก ๗ หมู่บ้านรอบเทือกเขาบูโด ได้แก่ หมู่บ้านปาโจ หมู่บ้านตะโละตา อำเภอบาเจาะ  หมู่บ้านปูลา หมู่บ้านตาเปาะ หมู่บ้านตะโหนด อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส หมู่บ้านกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี  และหมู่บ้านจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ที่เข้าร่วมเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในโครงการฯ
Image
บรรดาผู้นำทางกำลังสนุกกับการเก็บเกี่ยวเหล่าผลไม้ระหว่างการเดินทางของเราสู่เทือกเขาบูโด
การร่วมมือกันของชาวบ้านและพี่ปรีดาตลอดระยะเวลา ๒๑ ปีมานี้ ช่วยให้ประชากรลูกนกเงือกที่นี่รอดตายแล้วกว่า ๖๐๐ ชีวิต

ตอนนี้โครงการฯ จ่ายเงินเดือนแก่ชาวบ้านรวมเป็นเงินทั้งหมด ๑.๕ แสนบาทต่อเดือน ขณะที่ยอดบริจาคสมทบทุนกลับน้อยลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างเดือนที่แล้วมีผู้ใจบุญบริจาคช่วยสมทบทุน ๕๐๐ บาท บวกกับเงินสะสมที่เริ่มน้อยลงของโครงการฯ

หากสถานภาพทางการเงินยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ในอนาคตโครงการฯ จำเป็นต้องปรับลดจำนวนผู้ช่วยนักวิจัยลง ซึ่งนั่นจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากผลลัพธ์ขึ้นกับจำนวนประชากรนกเงือกของที่นี่โดยตรง เพราะเมื่อโพรงรังไม่มีคนเฝ้าดูแล การลักขโมยลูกนกของพวกค้าสัตว์ป่าก็จะทำได้ง่ายขึ้นหลายเท่าตัว

“ขนาดเราทำงานหนัก ขึ้นเขาแทบทุกวัน เดือนที่แล้วมันยังหาโอกาสเข้ามาขโมยไปได้” ปรีดาพูดเสียงแข็งกร้าว
“เพราะงานวิจัยภาคสนาม 
คือหัวใจของงานวิจัย”
--
อาจารย์พิไล

สามปีก่อนมีคนโทร. แจ้งโครงการฯ ว่าพบนกเงือกฝูงใหญ่บินมาหากินอยู่แถวคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปรีดาเข้าตรวจสอบพบว่าเป็นนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ซึ่งตามข้อมูลแหล่งอาศัยและทำรังของมันต้องอยู่ที่ห้วยขาแข้ง และในตำราวิชาการยังระบุชัดเจนว่าพวกมันเป็นนกเงือกประจำถิ่น จึงไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะพบจากที่อื่นในไทย นอกจากที่ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดยะลา และประเทศมาเลเซีย เว้นแต่ว่าพวกมันจะเป็นตัวเดียวกัน และอยู่ระหว่างเดินทางไกล

จากข้อสันนิษฐานเดิมของปรีดาที่ว่านกเงือกจำนวนหลายพันตัวไม่อาจหากินประจำถิ่นได้แค่ที่เดียว เพราะแหล่งอาหารไม่เพียงพอ ได้รับการนำมาพิสูจน์อย่างจริงจังอีกครั้ง โครงการฯ รีบติดสัญญาณติดตามนกเงือกกรามช้างปากเรียบที่ห้วยขาแข้ง และพบว่าข้อสันนิษฐานของปรีดาเป็นจริง

พวกมันอพยพลงใต้ไปตามแนวเทือกเขาสันกาลาคีรีเป็นระยะทางกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร โดยจะสิ้นสุดและรวมฝูงที่ประเทศมาเลเซียเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม แล้วบินกลับป่าห้วยขาแข้งราวเดือนมกราคมเพื่อทำรังและผลิตสมาชิกใหม่ในครอบครัว
Image
นกเงือกเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า มันช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าหลากหลายชนิด และอาศัยทำรังเลี้ยงลูกในโพรงบนต้นไม้ใหญ่ โดยตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ในโพรงและปิดปากโพรงเหลือเพียงช่องแคบๆ ขณะที่นกเงือกตัวผู้จะเป็นผู้บินไปหาอาหารกลับมาป้อนในภาพคือรังของนกเงือกหัวแรด
ภาพ : ปรีดา เทียนส่งรัศมี

นอกจากนี้การเดินสำรวจนกเงือกบนเขาเป็นประจำทำให้ปรีดาพบว่า นกเงือกจับคู่ข้ามชนิดพันธุ์และสามารถมีลูกได้ซึ่งคู่แรกที่เจอคือการจับคู่ระหว่างนกเงือกหัวแรดเพศผู้และนกกกเพศเมีย

ลูกนกเงือกที่เกิดมาจะเป็นพันธุ์ผสมหรือเรียกว่า “ไฮบริด” ซึ่งขณะนี้ทางโครงการฯ กำลังตามศึกษาต่อไปว่าเจ้านกเงือกชนิดไฮบริดนี้จะสามารถมีคู่และสืบพันธุ์ได้ตามปรกติหรือไม่

ปรีดายังเป็นนักวิจัยคนแรกของโลกที่รายงานว่านกชนหินมีลักษณะการเลือกโพรงรังที่ต่างจากนกเงือกพันธุ์อื่น โดยจะทำรังที่ปุ่มไม้ซึ่งยื่นออกมาหรือ “ตะโหงก” ซึ่งส่วนมาก เป็นต้นไม้ในวงศ์ยาง เช่น ตะเคียน กาลอ สยา เป็นต้น เนื่องจากนกชนหินมีโหนกตัน และโคนหางยาวกว่านกเงือกชนิดอื่น ทำให้ทรงตัวยากขณะป้อนอาหารแก่คู่ครอง จึงต้องอาศัยเกาะบนปุ่มไม้เป็นฐานที่มั่น

สิ่งเหล่านี้คือองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการลงพื้นที่จริง
“ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้
ที่มีนกเงือก 
พี่ไปได้หมด”

ปรีดาบอกเราระหว่างคุยเรื่องความรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อต้องทำงานไกลบ้าน  เขาบอกว่าไม่เคยรู้สึกแบบนั้น เพราะคนที่ทำงานร่วมกันมีอุดมการณ์เดียวกันก็คือเพื่อน นกเงือกที่เขาตามอนุรักษ์ก็เช่นกัน พวกมันคือ “เพื่อน” ของเขา

นอกจากงานที่เขาบูโดแล้ว หน้าที่สำคัญของปรีดาคือตระเวนฝึกสอนการติดตั้งโพรงเทียมที่ออกแบบโดยอาจารย์ชาคร ผาสุวรรณ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งบรรยายแนวทางการอนุรักษ์นกเงือกตามที่โครงการฯ มอบหมาย

โครงการที่คนในพื้นที่ซึ่งมีใจอนุรักษ์นำไปพัฒนาต่อจนเป็นรูปธรรมก็มีที่บางกะม่า จังหวัดราชบุรี เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา โพรงเทียมจากถังไวน์ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแน่นอนหนึ่งในนั้นคือผืนป่าเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

รวมถึงโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างประเทศ สอนติดตั้งโพรงเทียมที่ชายแดนรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย และโครงการร่วมศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางอนุรักษ์นกเงือกบนเกาะบอร์เนียว รัฐซาราวัก และรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย

สำหรับที่มาเลเซียปรีดาบอกว่าการอนุรักษ์นกเงือกทำได้ยากมาก แม้มาเลเซียจะรู้จักกันในชื่อ “Land of Hornbill” ก็ตาม แต่กฎหมายยังอนุญาตให้คนในพื้นที่ล่าสัตว์ป่าได้อย่างโจ่งแจ้ง
Image
นกชนหินเลือกทำรังที่ปุ่มไม้หรือ “ตะโหงก” ส่วนมากเป็นต้นไม้ในวงศ์ยาง เช่น ตะเคียน กาลอ สยา เป็นต้น นอกจากผลไม้แล้ว มันยังชอบกินสัตว์เลื้อยคลานและหนู
ภาพ : ปรีดา เทียนส่งรัศมี

นอกจากช่วยสอนวิธีติดตั้งโพรงเทียมและบรรยายตามที่ต่าง ๆ ปรีดายังพยายามสร้างศูนย์ศึกษาวิจัยนกเงือกร่วมกับคนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน แต่ดูจะไม่เป็นผลเพราะความไม่พร้อมในหลายด้าน ที่สำคัญโครงการฯ ขาดนักวิจัยที่จะไปประจำการเพื่อรายงานความเป็นไปของพื้นที่นั้นจริง ๆ

อย่างเช่น ศูนย์ศึกษาวิจัยนกเงือกที่คีรีรัฐนิคมซึ่งตอนนี้กลายเป็นสูญไปเสียแล้ว ศูนย์ศึกษาวิจัยนกเงือกที่เขาคีรีล้อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ไม่มีคนคอยเฝ้าดูแลเป็นประจำ นอกจากปรีดาจะเว้นว่างจากภาระงานที่บูโดและมีเวลาเข้าไปสำรวจเท่านั้น

“พอมีเจ้าหน้าที่มาอยู่ มันก็กินป่ากันอีก ไร้อุดม-การณ์ ยังดีที่เราไล่สัมปทานแร่ สัมปทานไม้ออกไปได้ เหนื่อย การทำงานอย่างนี้กว่าจะได้มา น้ำใสสะอาด ศาสตร์พระราชาและศูนย์นกเงือก อยากได้สหกรณ์น้ำดื่มอีกชุดหนึ่ง แต่ตอนนี้มาเป็นมะเร็งซะก่อน”

สุมล ขันธุ์สุวรรณ หรือลุงสุมล วัย ๖๔ ผู้บุกเบิกทีมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำท่าแซะ และแนวร่วมอนุรักษ์นกเงือกหัวหงอกแห่งเขาคีรีล้อม พูดน้ำเสียงดุดันก่อนผ่อนเสียงลงในประโยคสุดท้าย ลุงสุมลเล่าย้อนให้ฟังว่าสมัยก่อนป่าต้นน้ำแห่งนี้ถูกระบบทุนบุกทำลายจนแกนิ่งดูดายไม่ได้ แม้เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา แต่ลุงก็วิ่งเต้นยื่นเรื่องแก่นายชวน หลีกภัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ด้วยตัวเอง จนทำให้สัมปทานแร่และป่าไม้ถูกถอดออกจากพื้นที่ และผืนป่า ๑.๘ แสนไร่แห่งนี้ผนวกเข้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมกรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ

แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าหน้าที่บางส่วนกลับละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนลุงสุมลเริ่มถอดใจ

“ลุงอธิษฐานสมเด็จย่า ตอนนั้นคนที่อยู่ใกล้ลุงพากันไร้อุดมการณ์ไปหมด แรก ๆ มันก็ดี แต่พอมีระบบทุนอะไรเข้ามามันก็เสียหมดมนุษย์ หลังจากนั้นก็มีปรีดาที่เข้ามาช่วยพัฒนาต่อ”

ลุงสุมลเล่าย้อนเหตุผลฝังใจว่าทำไมแกถึงคิดว่าตอนปี ๒๕๕๐ ที่ปรีดาเข้าไปสำรวจและติดต่อขอทำศูนย์ศึกษาวิจัยนกเงือกที่เขาคีรีล้อม นั่นเป็นเพราะสมเด็จย่า ส่งคนเข้ามาช่วย  แกบอกว่ารู้สึกเสียดายที่ตัวเองไม่มีแรงพอจะช่วยตรงนี้ได้ และเศร้าใจที่คนมีอุดมการณ์เดียวกันลดน้อยลงทุกวัน
“พอมีเจ้าหน้าที่มาอยู่ 
มันก็กินป่ากันอีก 
ไร้อุดมการณ์ 
ยังดีที่เราไล่สัมปทานแร่ 
สัมปทานไม้ออกไปได้” 

สุมล ขันธุ์สุวรรณ
ความหลากหลายของพรรณไม้ในผืนป่าดงดิบแห่งเทือกเขาบูโด 
ภาพ : ศูนย์ข้อมูลสารคดี 

ปัญหาเจ้าหน้าที่เปิดช่องให้นายทุนเข้ามากอบโกยทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าไม่ได้มีแค่ที่นี่ ที่เขาบูโดเองก็มีปัญหาแบบนี้อยู่เหมือนกัน

หลายครั้งปรีดาถูกหน่วยงานราชการในพื้นที่กล่าวหาว่าทำเกินหน้าที่ ในกรณีที่ขึ้นเขาสำรวจนกเงือกแล้วเผอิญไปเจอพวกตัดไม้ ซึ่งทางออกที่นักวิจัยอย่างเขาทำได้คือรายงานสถานการณ์ไม่สู้ดีนี้แก่นักข่าวเพื่อบอกกล่าวต่อสาธารณชนในฐานะที่เขาเป็นพลเมืองคนหนึ่ง ซึ่งทุกครั้งหวยมักไปออกกับเจ้าหน้าที่ว่าทำไมถึงไม่รู้ว่าบนเขามีคนกำลังตัดไม้อยู่ ทั้ง ๆ ที่เสียงเลื่อยดังสนั่นป่าขนาดนั้น

ครั้งหนึ่งหลังจากหัวหน้าอุทยานฯ ท่านหนึ่งกำชับเสียดิบดีว่าถ้ารู้ตัวคนตัดไม้ให้มาบอกได้เลย เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปจัดการ ปรีดาก็ทำตามนั้น แต่หลังบอกชื่อไปปรีดากลับได้รับสายตรงจากคู่กรณีทันที

“ปรีดา ไปแจ้งหัวหน้าใช่ไหมว่าผมทำไม้”

“ใช่ ผมบอกหัวหน้าว่าผู้ใหญ่ทำไม้”

“ใช่ จริงอยู่ผมเคยทำไม้มาเมื่อก่อนนี้ แต่ตอนนี้ผมเลิกแล้ว”

“ผมก็พูดความจริงอย่างนี้ ผมก็ทำหน้าที่ของผม ถูกไหมผู้ใหญ่ แต่ถ้าผู้ใหญ่เลิกแล้วจริงผมยินดีมากเลย”

“โอเคปรีดา ผมไม่ทำแล้ว ผมเลิก”

บทสนทนาจบลงด้วยดี แต่ที่ยังคาใจปรีดาเรื่อยมาคือหากจบไม่ดี ผลของเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์แก่ใคร 
“สลามัตฮารีรายอ”
๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๒
บ้านพักของปรีดา 
หน้าทางขึ้นน้ำตกปาโจ

เสียงละหมาดดังแว่วมาตั้งแต่ตี ๔ ครึ่ง “มาเร็วกว่าทุกเช้า” เราคิดขณะเดินไปเข้าห้องน้ำรอบแรกของวัน ก่อนกลับมานอนคุดคู้ในถุงนอน ฟังเสียงจิ้งหรีดเรไรหวีดกล่อมเคล้าบทละหมาดในเช้าวันฮารีรายอ สมทบด้วยเสียงไอ้แจ้บ้านพาริขันเป็นระยะ รวม ๆ แล้วก็เพราะแปลกหูดี

ลืมตาขึ้นอีกทีตอน ๖ โมงกว่า ๆ จึงวิ่งโร่เข้าครัวจัดแจงหุงข้าวก่อนปรีดาตื่น เพราะเมื่อ ๒ วันก่อนเขาตื่นเช้ามาหุงหาให้กินทุกที เสร็จงานในครัวก็ล้างหน้าล้างตาจัดแจงยกถุงมังคุดใบใหญ่มานั่งเช็ดน้ำฝนแบ่งไว้ส่งไปฝากแม่ที่บ้าน แล้วเดินลงไปขอเด็ดใบไม้สีทองเถาหน้าบ้านพาริเพื่อแนบโปสต์การ์ดส่งหาเพื่อนที่เชียงใหม่

ขากลับเจอยะ จึงคุยกันอยู่นาน ได้ความว่าวันนี้ในหมู่บ้านสังสรรค์กันทั้งวัน มีการฆ่าวัวเพื่อแจกจ่ายแก่ครอบครัวให้ทำกิน หรือเรียกว่า “กุรบาน” พร้อมทั้งทำขนมที่จะมีเฉพาะในเทศกาล ได้แก่ ตูป๊ะ เป็นข้าวเหนียวห่อด้วยใบกะพ้อ และตาแปหรือข้าวหมากที่เรารู้จักกัน แต่ของที่นี่จะใช้ใบยางพาราห่อแทนใบตอง ทำขนาดพอดีคำน่ากินมาก

ก่อนเราเดินกลับ ยะอาสาพาเราซ้อนท้ายไปดูบรรยากาศการสังสรรค์ในหมู่บ้าน แต่วันนี้ปรีดาสัญญากับแบมุว่าจะไปกินข้าวที่บ้านของแบ เราเลยขอติดยะไว้คราวหน้า
Image
“แบ” เป็นภาษายาวีใช้เรียกนำหน้าชื่อผู้ชายที่สูงวัยกว่าด้วยความเคารพ หรือในความหมายแปลว่า “พี่ชาย”

ปรีดาขับรถออกจากบ้านปาโจ ใช้เวลาไม่นานก็เข้าเขตบ้านตะโละตา ตำบลปะลุกาสาเมาะ ถิ่นของ นิมุ รายอคารี หรือแบมุ วัย ๗๓ อดีตนายพรานล่านกผู้กลับใจเข้าเป็นแนวร่วมอนุรักษ์นกเงือกแห่งเทือกเขาบูโด และด้วยความที่แบมุเป็นคนกว้างขวาง เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านแถบนี้ ทำให้นายพรานรุ่นหลัง ๆ พากันกลับใจตามแก

แม้ปัจจุบันยังมีโจรวัยรุ่นที่ลักลอบขโมยลูกนกไปขาย แต่ก็ไม่เคยมีใครหน้าไหนมายุ่งกับรังนกที่แบมุเป็นเจ้าของ

“อัสซาลามูอาลัยกุม...สลามัตฮารีรายอ” เราทักทายก๊ะ คู่ชีวิตของแบมุ ก๊ะยิ้มกว้าง ผายมือชวนเราและปรีดาเข้าไปกินข้าวในบ้าน

“อัสซาลามูอาลัยกุม” ความหมายคือ ขอสันติสุข จงมีแด่ท่าน เป็นคำทักทายของชาวมุสลิม ส่วน “สลามัตฮารีรายอ” เป็นคำทักทายเฉพาะในวันฮารีรายอ ความหมายคือ สุขสันต์วันอีด ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน

บรรยากาศตอนนี้คึกคักพร้อมหน้าพร้อมตากันมาก แม้ในวงกินข้าวจะมีแขกแค่เราและปรีดา แต่วงสนทนาที่ล้อมเราอยู่ ประกอบด้วยครอบครัวใหญ่ของแบมุ ก๊ะ ลูกสาว ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลาน ๆ อีกสามคน รวมถึงญาติสนิทที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนแบมุไม่ขาดสาย

แบมุเล่าย้อนอดีตตั้งแต่สมัยที่อาจารย์พิไลเข้ามาสำรวจพื้นที่ใหม่ ๆ และโน้มน้าวให้แกกลับใจไม่ขโมยลูกนกไปขาย
Image
“อาจารย์ว่าถ้าเอาไปขาย นาน ๆ เข้าจะหมด ลูกหลานเราก็จะไม่ได้เห็นไม่ได้รู้จักนกเงือก”
 แบมุก็คิดว่าจริงอย่างอาจารย์ว่าจึงเข้าร่วมโครงการฯ  แต่ก่อนแบมุจะเข้าใจและเห็นความตั้งใจจริงของอาจารย์พิไลแกก็ห้าวเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ถึงขนาดขู่อาจารย์พิไลว่าถ้ามายุ่งอีกจะโค่นต้นไม้ที่มีรังของนกเงือกในที่ของแกทิ้งให้หมด

ขณะเล่าแบมุยิ้มกริ่ม แววตาครุ่นคิดถึงความหลังอย่างมีความสุข แล้วพูดโผงขึ้นว่า “ก็พูดไปอย่างนั้นแหละ”

แบมุยังเล่าความประทับใจต่อปรีดาด้วยว่า เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้วแบมุโดนงูเห่ากัดในทุ่งนา ตอนนั้นคิดว่าต้องตัดขาทิ้ง แต่ได้ปรีดาพาขับรถไปตระเวนหาหมอดียันวัดพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช รักษาจนหายมีขาครบทั้งสองข้างเดินขึ้นเขามาจนถึงทุกวันนี้

ขณะนั่งอยู่ท่ามกลางวงคุยของปรีดาและชาวบ้าน ตั้งแต่เมื่อวานที่มาประชุมประจำเดือนกับชาวบ้านกว่า ๓๐ คน รวมถึงตอนนี้ที่นั่งกินข้าวอยู่ เราสัมผัสได้ถึงความจริงใจที่ส่งผ่านมาจากแววตา ความรักความห่วงใยที่แฝงอยู่ในการกระทำที่คนที่นี่มอบให้ปรีดารวมถึงเราเองที่มาอยู่ให้พวกเขาเห็นหน้าแค่ไม่กี่วัน

ทั้งหมดนี้เราคิดว่าเป็นผลที่งอกเงยจากความจริงใจที่อาจารย์พิไล ปรีดา และทีมวิจัยนกเงือกในโครงการฯ ทุกคนมีให้แก่ชาวบ้าน จนทำให้พวกเขาต้อนรับเราเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว
๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๒
สถานีรถไฟตันหยง

เวลา ๑๒.๒๐ น. เสียงรถไฟเคลื่อนออกจากตันหยงมัส ตอนนั้นเรานั่งทบทวนเรื่องราวที่พบเจอระหว่าง ๕-๖ วันที่ผ่านมา ชีวิตคนอนุรักษ์ของปรีดาและชาวบ้าน ได้ยินเสียงแบโอ๊ะถามย้ำ

“แล้วเมื่อไหร่จะกลับมาอีกล่ะ มาอีกนะมาอยู่นาน ๆ” ตอนนั้นเราตอบว่าไม่รู้จะได้มาอีกเมื่อไหร่ แต่เราจะมาอีกแน่ ๆ

ส่วนตอนนี้เราอยากบอกแบโอ๊ะ ก๊ะ แบมุ ต้อ หยอย พาริ ยะ ฮัน อัฟฟาน ทุก ๆ คนที่พบเจอในการเดินทางครั้งนี้ โดยเฉพาะปรีดาว่า
“จะกลับมาช่วยกันให้เร็วที่สุด”  
Image