Image
“เด็กหลอดแก้ว”
Take Baby Home
FOTO ESSAY
เรื่อง : วนิดา ทูลภิรมย์
ภาพ : ศรัญญา เว็ตโตเร
น้องเควิน เด็กหลอดแก้วเพศชายเกิดจากคุณแม่วัย ๔๒ ปี ที่ผ่านการทำเด็กหลอดแก้วมาแล้วถึง ๗ ครั้งในช่วง ๔ ปี
“หนูขอขอบคุณคุณหมอ
ที่ทำให้หนูได้เกิดมาอยู่กับ
พ่อแม่ค่ะ” 

เสียงหวานแหววมาจากหนูน้อยวัย ๙ ขวบ บนเวทีในงานรวมตัวครอบครัวเด็กหลอดแก้วซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดชลบุรี สร้างรอยยิ้มบนใบหน้าผู้มาร่วมงานกว่า ๑๐๐ ครอบครัว

ภายในงานอบอวลด้วยเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ หลากหลายวัย และรอยยิ้มแห่งความสุขของพ่อแม่ที่วันนี้คำว่าครอบครัวได้รับการเติมเต็มสมบูรณ์

เด็กหลอดแก้วไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย กว่า ๔ ทศวรรษที่ผ่านมาคำว่า “เด็กหลอดแก้ว” เป็นที่รับรู้ในฐานะเทคนิควิธีทางวิทยาศาสตร์ซึ่งช่วยให้ผู้ไม่อาจมีลูกได้ตามธรรมชาติมีลูกได้สมใจ

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ทารกเพศหญิงนาม หลุยส์ จอย บราวน์ (Louise Joy Brown) เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลกถือกำเนิดขึ้น ณ โรงพยาบาล Royal Oldham Hospital เมืองโอลด์แฮม ประเทศอังกฤษ
การส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อคัดแยกอสุจิออกจากน้ำอสุจิภายในตู้ควบคุมอุณหภูมิและความเป็นกรดด่าง
Image
Image
ภาพจอคอมพิวเตอร์แสดงการเลี้ยงตัวอ่อนในตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ตัวอ่อนเกิดการแบ่งเซลล์จากหนึ่งเซลล์เป็นสอง สี่แปด หลังจากนั้นจะคัดเลือกตัวอ่อนเพื่อย้ายกลับเข้ามดลูก ใช้เวลา ๓-๕ วัน หรือเลี้ยงต่อไปอีก ๕-๘ วัน เพื่อรอเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์
เก้าปีต่อมา เด็กชายปวรวิทย์ ศรีสหบุรี เด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทย ก็ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๐ โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประมวล วีรุตมเสน ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นผู้ทำเด็กหลอดแก้วสำเร็จเป็นคนแรกของประเทศไทย

กำเนิดของ หลุยส์ บราวน์ ถูกตั้งคำถามและมองด้วยสายตาหวาดระแวง ทั้งความคิดว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการของธรรมชาติ ศีลธรรม และความกังวลถึงความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก จนถึงขั้นกลัวว่าเด็กจะเกิดเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ แต่จนถึงวันนี้ทั้งคู่ต่างเติบโตมาอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจเหมือนเด็กปรกติ ได้ศึกษาประกอบอาชีพ มีครอบครัวเหมือนคนธรรมดาทั่วไป

ปัจจุบันมีเด็กหลอดแก้วกว่า ๘ ล้านคน ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความสำเร็จและการยอมรับในเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วแล้ว อีกนัยหนึ่งยังสะท้อนปัญหาภาวะการมีบุตรยากของคู่สมรสยุคนี้ด้วยเช่นกัน
Image
 ขั้นตอนการตัดเซลล์บางส่วนจากตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์มาวินิจฉัยทางพันธุกรรม เช่น การตรวจโครโมโซม การตรวจยีน เป็นต้น
แรงกาย แรงใจ และแรงทรัพย์ 
คือส่วนสำคัญ

“พี่ทำมาหลายที่แล้วค่ะ ครั้งนี้ก็ครั้งที่ ๗ แล้ว ตอนไม่ติดก็เสียใจนะ แต่ถ้าถามว่าท้อไหม ถอดใจไหม ไม่หรอกค่ะ เรามีแรงเราก็ยังสู้ต่อ ก็เราอยากมีลูกนี่คะ” บทสนทนาในบ่ายวันหนึ่งที่เราแวะไปเยี่ยมคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกจากการทำเด็กหลอดแก้วได้เพียง ๒ วัน

ต้นทุนของการสร้างความสมบูรณ์ให้คำว่า “ครอบครัว” ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว ต้องอาศัยทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงทรัพย์ เพราะมีขั้นตอนละเอียดซับซ้อน ต้องใช้เวลา ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือกำลังใจเพราะนอกจากต้องอดทนต่อกระบวนการต่าง ๆ ที่อาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายแล้ว ยังต้องเตรียมใจกรณีตัวอ่อนไม่ฝังตัวเป็นทารกอีกด้วย

เด็กหลอดแก้วเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการปฏิสนธินอกร่างกาย (In Vitro Fertilization : IVF) โดยเก็บไข่ฝ่ายหญิงและอสุจิฝ่ายชายออกมา คัดเลือกไข่และอสุจิที่สมบูรณ์นำมาปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ได้ตัวอ่อน เพาะเลี้ยงในตู้ควบคุม แล้วค่อยย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้ฝังตัวและเจริญต่อไปเป็นทารกในครรภ์แม่
การแช่แข็งตัวอ่อนในถังบรรจุไนโตรเจนเหลวอุณหภูมิ -๑๙๖ องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาตัวอ่อนไว้ใช้งานได้นานถึง ๑๐ ปี
Image
แพทย์หญิงสุชาดา มงคลชัยภักดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากแห่งโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา กับตู้ควบคุมอุณหภูมิและความเป็นกรดด่าง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้แพทย์มีเวลามากพอในการคัดเลือกอสุจิที่ดี หรือการผสมไข่ให้ได้คุณภาพดี เพราะไม่ต้องเร่งทำแบบการผสมบนกล้องทั่วไป  ตู้ควบคุมนี้ยังติดตั้งระบบการกรองอากาศและคาร์บอน ลดปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่ม VOC เช่น น้ำหอม ครีมโลชั่น ฯลฯ ที่อาจเล็ดลอดเข้ามากับบุคคลต่าง ๆ
ในขั้นตอนนำไข่และอสุจิมาปฏิสนธิในหลุมจานเลี้ยงแบบธรรมชาติคือปล่อยให้อสุจิเจาะไข่เอง แต่กรณีที่อสุจิมีจำนวนน้อย ไม่สมบูรณ์ จะใช้วิธีคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดโดยใช้เข็มดูดและบังคับฉีดเข้าไปในไข่ เป็นการผสมแบบ ๑ : ๑ เรียกวิธีนี้ว่าการทำอิ๊กซี่ (ICSI : Intracytoplasmic Sperm Injection)

เมื่อปฏิสนธิจนได้ตัวอ่อน จะเลี้ยงตัวอ่อนในตู้เลี้ยงที่ออกแบบให้มีสภาวะเหมือนมดลูกเป็นระยะเวลา ๓-๖ วัน ก่อนคัดเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์เพื่อย้ายเข้าโพรงมดลูก  ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์คิดค้นน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนที่มีประสิทธิภาพทำให้เลี้ยงตัวอ่อนได้ถึงระยะบลาสโตซิสต์ (blastocyst) ซึ่งมีแนวโน้มฝังตัวดีกว่าระยะอื่นและช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้

การทำเด็กหลอดแก้วไม่อาจรับประกันได้ว่าทำครั้งแรกแล้วจะมีลูกได้สมใจ บางรายต้องทำหลายรอบ ย้ายตัวอ่อนแล้วตัวอ่อนไม่ฝังตัว เกิดภาวะแท้ง เริ่มต้นใหม่นับสิบครั้ง เปลี่ยนทั้งโรงพยาบาลทั้งหมอ ใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้โซ่ทองคล้องใจมาสักคน
ลูกคือปาฏิหาริย์
“เหมือนเราได้เกิดใหม่อีกครั้ง มันหมดหวังแล้ว มีเขามาเหมือนปาฏิหาริย์ของครอบครัวเรา”

คุณแม่จำลอง สุวรรณนาวิน วัย ๕๒ พร้อมบุตรชายวัยขวบเศษที่อยู่ในอ้อมกอด ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้เราฟัง

หลังจากสูญเสียบุตรสาวคนเดียววัย ๒๓ ปีจากอุบัติเหตุ โลก ทั้งใบของพ่อแม่จึงราวกับล่มสลาย ด้วยวัยที่มากแล้วทำให้ความหวังของการมีลูกอีกครั้งแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยความก้าวหน้าของการทำเด็กหลอดแก้วทำให้กลับมาตั้งครรภ์และมีลูกน้อยได้อีก
วินาทีแรกที่กานต์ได้พบกับน้องเควิน บุตรชายคนแรก หลังจากผ่านการทำเด็กหลอดแก้วมาแล้วถึงเจ็ดครั้ง
Image
น้องเควินในตู้ปรับอุณหภูมิ เพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำหลังคลอด
สำหรับผู้หญิงอายุมากนั้นทำได้ทั้งแบบใช้ไข่ของผู้หญิงเองหรือไข่บริจาค ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์แข็งแรงและความพร้อมของร่างกายเป็นหลัก

การทำเด็กหลอดแก้วแม่จะได้รับฮอร์โมนทั้งโดยการกินและฉีดกระตุ้นการเติบโตของไข่หลาย ๆ ใบ  ตามสถิตินั้นต้องการไข่อย่างน้อย ๑๐-๑๕ ใบ ปรกติคนมีอายุน้อยไข่จะมีคุณภาพดีกว่าคนอายุมาก เมื่อขนาดไข่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจะฉีดยากระตุ้นไข่ให้สุก  หลังจากนั้นอีก ๓๖ ชั่วโมงถัดมาก็จะเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด  แต่บางรายเมื่อได้รับฮอร์โมนกระตุ้นไข่อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะบวมน้ำได้
ฝากหมอไว้ก่อน 
พร้อมตั้งครรภ์เมื่อไรค่อยมารับไป

การแช่แข็งตัวอ่อนเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการทำเด็กหลอดแก้ว กรณีที่ร่างกายยังไม่พร้อมหรือยังเหลือตัวอ่อนที่สมบูรณ์หลายตัวก็สามารถนำไปแช่แข็งเก็บไว้ เมื่อต้องการตั้งครรภ์ก็เพียงนำตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้มาละลายแล้วเข้าสู่กระบวนการฝังตัวอ่อนในมดลูกโดยไม่ต้องเก็บไข่กับอสุจิมาปฏิสนธิใหม่

ตัวอ่อนที่สามารถแช่แข็งได้เป็นตัวอ่อนที่มีระยะตั้งแต่การผสมวันแรกจนถึงระยะบลาสโตซิสต์ นอกจากนี้ยังสามารถแช่แข็งไข่และอสุจิเก็บในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -๑๙๖ องศาเซลเซียสเป็นเวลา ๕ ปีขึ้นไปจนถึง ๑๐ ปี ช่วยให้วางแผนการมีบุตรในอนาคตได้
การเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะมีสามวิธี PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration)  TESA (Testicular Sperm Aspiration) TESE (Testicular Sperm Extraction) ภาพนี้คือการทำ TESE ซึ่งจะผ่าเอาชิ้นเนื้อจากลูกอัณฑะมาหาเชื้ออสุจิในเนื้อเยื่อ กรณีที่ไม่มีอสุจิในน้ำอสุจิเลย
Image
สามีกำลังฉีดยากระตุ้นไข่ให้กับภรรยา ซึ่งยานี้จะทำให้มีการตกไข่หลาย ๆ ใบ และให้ไข่สุกพร้อม ๆ กัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเก็บไข่
Image
พ่ออยากได้ลูกชาย 
แม่อยากได้ลูกสาว 
เราเลือกเพศลูกได้ไหม ?

แน่นอนว่าข้อสงสัยลำดับต้น ๆ ของการทำเด็กหลอดแก้ว คือเราสามารถเลือกเพศลูกได้หรือไม่

ปัจจุบันการทำเด็กหลอดแก้วสามารถตรวจโครโมโซมตัวอ่อนเพื่อหาความผิดปรกติก่อนนำไปฝังตัว เพราะผู้หญิงอายุมากกว่า ๓๕ ปี
มีความเสี่ยงที่จะให้ตัวอ่อนที่โครโมโซมผิดปรกติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะ
ไม่ฝังตัว ฝังแล้วแท้ง หรือฝังตัวได้ แต่เด็กเกิดมามีภาวะปัญญาอ่อน
เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม

การตรวจโครโมโซมจะทำให้รู้เพศของตัวอ่อน แต่โดยจรรยาบรรณแพทย์แล้วจะไม่เลือกเพศให้ตามที่พ่อแม่ต้องการ
Image
วัลวิสา สิงห์โตทอง อายุ ๓๒ ปี ตั้งครรภ์ลูกแฝดชายหญิงได้ ๒๐ สัปดาห์ จากการทำเด็กหลอดแก้ว  หลายคู่อาจจะเลือกฝังตัวอ่อนในมดลูกมากกว่าหนึ่ง เพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ ถ้าตัวอ่อนในมดลูกแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งหมด โอกาสตั้งครรภ์แฝดก็มีมากขึ้นเช่นกัน  ปัจจุบันสถิติผู้มีภาวะมีบุตรยาก มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ สาเหตุจากสภาพสังคมที่มีความเครียด และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลง
Image
น้องไข่มุก (๙ ขวบ) น้องพลอย (๖ ขวบ) และน้องเพชร (๔ ขวบ) สามพี่น้องครอบครัว “หาชิต” ที่ปฏิสนธิในรอบเดียวกัน แต่เกิดในปีต่างกัน เพราะใช้วิธีการแช่แข็งตัวอ่อนที่สามารถเก็บไว้ได้นานนับสิบปี
นอกจากนี้ยังมีการตรวจตัวอ่อนเพื่อหาโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดแบบยีนเดี่ยวจากพ่อแม่สู่ลูก เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ฯลฯ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่พ่อแม่ยอมจ่ายเพื่อเลือกตัวอ่อนที่ปรกติให้เกิดมาเป็นเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรงและไม่ได้รับความผิดปรกติทางพันธุกรรมจากพ่อแม่

เทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วพัฒนาไปมากแล้วจากอดีต ทั้งเทคนิค วิธีการ อุปกรณ์  ผลสัมฤทธิ์มีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น ทำให้สามีภรรยามีโอกาสอุ้มลูกกลับบ้านโดยไม่แท้งระหว่างตั้งครรภ์สูง

แต่ไม่ว่าเด็กจะเกิดมาด้วยวิธีใดก็ตาม เขาคือหนึ่งชีวิตที่เป็นอนาคตของโลกใบนี้เช่นเดียวกับเด็กคนอื่น ๆ  
Image
จำลอง สุวรรณนาวิน อายุ ๕๒ (ซ้าย) เชษฐา สุวรรณนาวิน อายุ ๕๓ (ขวา) และน้องแชมป์อายุ ๑ ขวบ ๕ เดือน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วทำให้พวกเขามีลูกได้อีกครั้งหลังจากสูญเสีย บุตรสาวเพียงคนเดียวในวัย ๒๓ ปีจากอุบัติเหตุ
ขอขอบคุณ
แพทย์หญิงสุชาดา มลคงชัยภักดิ์ 
ผู้อำนวยการศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา
และทุก ๆ ครอบครัวที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์