Image
ลุงติ๊กสเกล
โมเดลสานฝันวัยเกษียณ
scoop
เรื่องและภาพ : วิศรุต วีระโสภณ
“แก่แล้ว เกษียณแล้ว อยู่บ้านเฉย ๆ ให้ลูกหลานเลี้ยงเถอะ อย่าทำอะไรนักเลย เดี๋ยวเป็นนู่นนั่นนี่มันจะลำบาก”

สารพัดคำห้ามสร้างความกังวลและหวาดกลัวให้ผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

แต่ความเชื่อ ทัศนคติ หรือภาพจำคำพูดเหล่านี้คงตรงกันข้ามกับสิ่งที่ พงศ์กาณฑ์ โกมลกนก หรือ ลุงติ๊ก ชายวัยเกษียณ อายุ ๖๑ ปี กำลังทำอยู่ และประสบความสำเร็จอย่างมากในอาชีพทำโมเดลเสมือนจริง จนเป็นที่รู้จักในสื่อโซเชียลมีเดียและผู้คนจำนวนมาก

แรงผลักดันที่ทำให้ลุงติ๊กเป็นคนไม่กี่คนที่ได้ทำตามความฝันทำในสิ่งที่ตัวเองรักจนประสบความสำเร็จอย่างมากในวัยหลังเกษียณคือคำนิยามในใจที่ว่า “สำหรับผมความฝันไม่มีวันหมดอายุ”
“ทิ้งงานศิลปะมาเกือบ ๔๐ ปีเลยนะ ตั้งแต่สมัยเรียนจบจากเพาะช่าง สาขาประติมากรรมสากล ก็แทบไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับศิลปะ จบเพาะช่างปีแรกลุงทำเสื้อเพนต์ขายอยู่เกือบ ๒ ปี แต่สู้ค่าเช่าที่ไม่ไหวเพราะขายในห้าง บวกกับจังหวะชีวิตตอนนั้นโดนเกณฑ์ทหาร ยังไม่ทันใช้ความรู้หรือสร้างงานศิลปะที่ตัวเองชอบก็ต้องไปรับใช้ชาติก่อน”

ลุงติ๊กพูดพร้อมยิ้มและหัวเราะให้เหตุการณ์ในชีวิตครั้งอดีต

หลังเป็นทหารเกณฑ์ครบ ๒ ปี ลุงติ๊กตัดสินใจสมัครเป็นทหารต่อ รวมแล้วเป็นทหารอยู่ประมาณ ๙ ปี และออกไปเป็นยามอยู่ที่แบงก์ชาติเมื่อปี ๒๕๓๔ ทำงานจนเออร์ลีรีไทร์ตอนอายุ ๕๘ ปี จากนั้นก็นำเงินก้อนที่ได้จากการเกษียณปิดหนี้สินต่าง ๆ จนหมด

แล้วจึงเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะนักทำโมเดล

“ตอนนั้นแทบไม่มีเงินเลย ลงทุนเลี้ยงสัตว์ขายจนหมดตัว แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไร เหลือเงินทั้งตัวอยู่ไม่มาก ยังมีภาระครอบครัวและค่าใช้จ่ายในบ้านเยอะอีก คิดหนักอยู่เหมือนกันว่าจะทำอะไรต่อ”

จนลูกชายของลุงที่ชอบสะสมรถเหล็กทักขึ้นว่า “พ่อลองทำฉากไปขายให้กลุ่มที่เล่นสะสมรถเหล็กโมเดลมั้ย พ่อจบทางศิลปะมา”

ช่วงนั้นลุงติ๊กลังเลว่าตนทิ้งวิชาศิลปะมาเกือบ ๔๐ ปีแล้วจะทำได้หรือ แต่ก็ลองทำดูเพราะต้องการหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว
Image
เทคนิคพิเศษของลุงติ๊กที่ใช้ในการสร้างสรรค์โมเดลคือการนำไม้ชอร์ตยุงมาประยุกต์ดัดแปลงให้เป็นอุปกรณ์ ที่ไว้ใช้สำหรับการชอร์ตไฟฟ้าที่งานระหว่างโปรยหญ้าเทียมหรือการทำนาลงบนงาน เพื่อทำให้หญ้ามีความฟูและละเอียดติดเนื้องาน ให้สมจริงมากยิ่งขึ้น
“งานชิ้นแรกใช้เวลาทำอยู่ประมาณ ๒-๓ วัน พอนั่งทำเหมือนวิชาศิลปะมันค่อย ๆ ฟื้นตัว ทำจนงานเสร็จ แต่ด้วยความที่ไม่รู้จะขายราคาไหนเลยปรึกษาลูกชาย ให้ในกลุ่มรถเหล็กประมูล ก็ขายได้ ๒๘๐ บาท...ดีใจมาก”

ความรู้สึกหลังขายงานได้ทำให้ลุง “มีกำลังใจทำต่อ ลุงทิ้งงานศิลปะซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองรักไปนาน ที่ผ่านมาเหมือนตัวตนและจิตวิญญาณหายไป ตอนนี้กลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง”

เมื่อชิ้นแรกลุล่วงก็มีคนสั่งชิ้นที่ ๒, ๓ จนถึงงานชิ้นที่ ๔ ซึ่งสร้างชื่อเสียงและเป็นงานที่ลุงภูมิใจ คืองานวงเวียนบางแสน

“ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่างานวงเวียนบางแสนมันดังขนาดคนเอาไปลงและแชร์กันในเฟซบุ๊กค่อนข้างเยอะ มีแต่คนบอกว่างานลุงเหมือนเอาสถานที่จริงมาย่อขนาดมาก ๆ”

หลังจากนั้นก็ยิ่งมีคนสั่งงานมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ภูมิใจกับงานที่ได้ทำเสมอ  ทุกชิ้นลุงใส่ใจ ใส่อารมณ์ ความรู้สึก และบรรยากาศผสมลงไปกับความตั้งใจให้งานออกมามีความเหมือนสถานที่จริงมากที่สุด”

ลุงติ๊กเล่าว่าแทบไม่ได้ใช้อุปกรณ์แพง ๆ สำหรับทำโมเดลโดยเฉพาะเลยเนื่องจากราคาค่อนข้างสูง แต่ด้วยความที่จบด้านศิลปะเลยคิดค้นลองผิดลองถูกไปเรื่อย ใช้วัสดุที่หาได้ง่าย หาได้รอบตัว

“วัสดุหลัก ๆ มีแค่ยาแนว กิ่งไม้ พลาสวูด สีสเปรย์ กระดาษลูกฟูก หญ้าเทียม พลาสติก และวัสดุรอบ ๆ ตัวต่าง ๆ เป็นต้น งานส่วนมากใช้งบวัสดุราว ๑๐๐-๒๐๐ บาท บางชิ้นไม่ถึง ๑๐๐ บาทด้วยซ้ำ”

ลุงคิดว่าการที่งานชิ้นหนึ่งจะออกมาดีนั้นอยู่ที่ความคิดและเทคนิคของผู้ทำมากกว่า

“จริง ๆ แล้วเทคนิคในการทำงานศิลปะมันไม่มีวันหมดนะ”

ทุกวันนี้ลุงติ๊กก็ยังไขว่คว้าหาโอกาสเรียนรู้เทคนิคในการทำงานและการพัฒนาความคิดตลอดเวลา จึงให้ความสำคัญระหว่างความคิดกับวัสดุเป็นสัดส่วน ๘๐ : ๒๐
ผลงานของลุงติ๊กเน้นสภาพความเป็นจริงของสถานที่นั้น ๆ เพื่อให้บรรยากาศและอารมณ์ออกมาสมจริง เสมือนย่อส่วนสถานที่นั้นมาเป็นโมเดล
“รักหรือชอบที่จะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ จงเรียนรู้มันตลอดชีวิตอย่าคิดว่าสุดทางหรือหยุดแค่นั้น ปัจจุบันลุงก็ยังคิดว่าจะพัฒนางานต่อไปเรื่อย ๆ”

ด้วยเห็นว่าความเป็นมืออาชีพที่แท้จริงหรือศิลปินต้องรู้จักประยุกต์สร้างสรรค์ วัสดุอุปกรณ์รอบตัวนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด และเกิดผลเป็นชิ้นงานที่มีค่าที่สุด

ปัจจุบันลุงติ๊กทำโมเดลมา ๒ ปี ชิ้นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมามีนับพันชิ้น ชิ้นที่ขายได้ราคาสูงสุดคือ ๔ หมื่นบาท

ทุกครั้งที่ลงมือทำงานชิ้นใหม่ ลุงจะใส่ใจกับความรู้สึกในงานทุกชิ้น

“ไม่ว่าจะทำงานมากี่ชิ้น ชิ้นที่เท่าไรของลุงก็แล้วแต่ แต่มันคืองานชิ้นแรกสำหรับลูกค้าเสมอ ลุงอยากให้ลูกค้ารู้สึกว่างานที่ได้รับมีคุณค่า”

ด้วยมองว่าผลงานทุกชิ้นมีคุณค่าทางจิตใจของลูกค้า “รูปบ้านหลังเก่าของลูกค้า รูปสถานที่ที่มีความผูกพัน ลุงจึงต้องพยายามสร้างงานแต่ละชิ้นให้มีอารมณ์และถ่ายทอดเรื่องราวได้สมจริง ให้เขารู้สึกว่างานที่เขาให้เราทำ ได้รับผลงานจากมือเราไปนั้นมีคุณค่าทั้งคุณภาพของงานในด้านความรู้สึกและความทรงจำ  ลุงคิดว่าการใส่ใจในทุกรายละเอียดแบบนี้ ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรงานนั้นย่อมประสบผลสำเร็จเสมอ”

นักทำโมเดลอย่างลุงติ๊กมองว่าต่อให้เก่งแค่ไหน มีชื่อเสียงมากแค่ไหนในสายงานใดก็แล้วแต่ สิ่งที่น่ากลัวและเป็นการตั้งระเบิดเวลาให้ตัวเองมากที่สุดคือการหยุดพัฒนา ขาดการใส่อารมณ์ลงไปในงาน และไม่ซื่อสัตย์ต่องานทุกชิ้น

“ปัจจุบันลุงก็ยังคิดว่าไปไม่สุด ยังต้องศึกษาค้นหาเทคนิคและไอเดียไปเรื่อย ๆ  เชื่อไหม บางครั้งลุงได้เทคนิคหรือไอเดียดี ๆ จากการสอนลูกศิษย์ เพราะแต่ละคนก็มีเทคนิคและวิธีการแตกต่างกัน ลุงสังเกตและนำไปประยุกต์ใช้เสมอ”

เมื่อเดินเข้าไปในห้องทำงานที่มีขนาดประมาณ ๓x๔ ตารางเมตร ก็ได้เห็นโมเดลมากมายที่รังสรรค์จากฝีมือลุงติ๊ก มีทั้งขนาดเล็กจิ๋วไปจนถึงใหญ่มาก เรียกได้ว่าที่นี่เก็บสะสมอาณาจักรหรือแลนด์มาร์กขนาดย่อส่วนไว้เต็มไปหมด  เดินชมอย่างเพลิดเพลินเสมือนได้ชมนิทานในรูปแบบโมเดลที่เป็นทั้งสถานที่และความทรงจำของผู้คนมากมายที่ได้ฝากฝังไว้ใจฝีมือให้ลุงติ๊กสร้างสรรค์ประกอบชิ้นส่วนความทรงจำที่มีในภาพถ่ายให้ออกมาในรูปแบบสามมิติที่เรียกว่าโมเดล
Image
ชิ้นงานที่เห็นมีทั้งงานที่ลุงติ๊กทำไว้โชว์และก็มีคนจับจองไปแล้วไม่น้อยปนกับงานต่าง ๆ ที่ลูกค้าสั่งทำอยู่

ลุงติ๊กนั่งลงที่โต๊ะทำงาน พลางพูดว่าจะทำผนังปูนอิฐมอญให้ดูเป็นตัวอย่าง เริ่มจากหยิบพลาสวูดมาตัดเป็นสี่เหลี่ยมชิ้นเล็ก ๆ  การวัดสเกลขนาดของงานแต่ละชิ้นอาศัยความชำนาญโดยแทบไม่ต้องใช้ไม้บรรทัดเลย คิดเทียบสัดส่วนจากสิ่งของที่อยู่รอบตัวเสมือนมีไม้บรรทัดคอยสั่งการเรื่องวัดขนาดอยู่ในสมอง ใช้งานผ่านทางสายตาและมือ

เมื่อได้สเกลขนาดของผนังปูนที่ถูกต้องแล้วก็หยิบดินสอมาวาดเป็นลวดลายสี่เหลี่ยมเหมือนอิฐมอญที่วางซ้อนกัน หลังจากนั้นผสมสีอะคริลิกเป็นสีน้ำตาลแดงแล้วนำพู่กันมาระบายสี เอาฟองน้ำชุบวนให้สีเกิดความฟุ้งจนสมจริงเหมือนผนังบ้านที่มีรอยแตกจนเห็นอิฐแดงข้างใน

การทำผนังปูนอิฐมอญเป็นเพียงตัวอย่างเรียกน้ำย่อยให้เราได้เห็นการทำส่วนประกอบหนึ่งของชิ้นงาน

“วันนี้ลุงมีงานที่ต้องทำให้ลูกค้า รอดูลุงทำงานก็ได้” ลุงติ๊กกล่าวชวนพร้อมรอยยิ้มและตาที่เป็นประกาย พร้อมเดินไปหยิบชิ้นงานมาทำงาน

โจทย์คือลูกค้าต้องการบ้านกลางทุ่งนา ซึ่งผลงานชิ้นนี้จะนำไปออกแสดงโชว์ในรายการหนึ่งทางโทรทัศน์ ขนาดของงานประมาณ ๔๐x๖๐ เซนติเมตร  ลุงติ๊กทำหญ้าเทียมและคันนาในกระดานเป็นการปูพื้นไว้ในระดับหนึ่งแล้ว จึงนำโมเดลบ้านไม้ที่เพิ่งทำมาตกแต่งสีและต่อเติมส่วนที่ขาด ตัดส่วนที่เกิน จนโมเดลบ้านกลางทุ่งนาเสร็จสมบูรณ์  หลังจากนั้นนำน้ำโคลนเทียมสำหรับทำโมเดลมาผสมและราดลงไปให้เหมือนผืนนาจริง ๆ ที่เป็นโคลนข้นเปียกพร้อมที่จะหว่านเมล็ดปลูกข้าว แล้วต่อด้วยการปั้นควายและคนไถนาเติมให้มีเรื่องราวมากขึ้น ถัดมาก็ตกแต่งบรรยากาศด้วยสี

สีคือหัวใจหลักของการที่จะทำให้อารมณ์เหมือนอยู่ในสถานที่จริง ลุงติ๊กพูดเสมอว่าความเหมือนจริงส่วนหนึ่งคือสี จึงต้องผสมสีให้เหมือนกับสถานที่และสภาพความเป็นจริงของที่นั้น ๆ

ผ่านขั้นตอนการตกแต่งด้วยสีแล้วลุงติ๊กก็นำพลาสวูดมาตัดเป็นชิ้นเล็กจิ๋วประกอบเป็นศาลพระภูมิและลงสี  ส่วนคอกควายก็ใช้ตัดกิ่งไม้จริง ๆ มาประกอบล้อมเป็นคอก พร้อมกับนำคนและควายที่ปั้นและสิ่งต่าง ๆ ที่ประดิษฐ์เติมลงไป จัดวางจัดองค์ประกอบให้งานโมเดลไม่ใช่แค่งานตั้งโชว์นิ่ง ๆ แต่ใส่เรื่องราวมีชีวิตในชิ้นงาน
การเรียนการสอนในคอร์สของลุงติ๊กเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายวัย สอนแบบเน้นบรรยากาศเป็นกันเองโดยลุงติ๊กจะทำงานให้ดูเป็นตัวอย่าง และให้นักเรียนทำตามทีละขั้นตอนปัจจุบันคอร์สที่ลุงติ๊กเปิดสอนได้รับความนิยมจากทุกเพศทุกวัย มีผู้เข้าคอร์สแล้วกว่า ๓๐๐ คน
Image
Image
Image
ดูแล้วรู้สึกได้กลิ่นโคลนสาบควายโชยออกมาจากงานเลยทีเดียว เหมือนเราได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวนาที่มีขนาดย่อส่วน

นอกจากการทำโมเดลขาย ลุงติ๊กยังเริ่มเปิดคอร์สสอนในปี ๒๕๖๒ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ที่บ้านของตัวเอง ผู้มาเรียนมีตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงคนชรา ต่างตั้งใจเดินทางมาเรียนกับลุงติ๊กโดยตรง มาจากหลายสถานที่ ไกลสุดมาจากประเทศลาวก็มี  ปัจจุบันลุงมีลูกศิษย์ทั้งคนไทยและต่างชาติที่จบไปแล้วประมาณ ๓๐๐ คน

“สมัยก่อนลุงไม่เคยได้รับโอกาสจากใคร เลยคิดว่าเมื่อมีโอกาสก็จะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้คนที่สนใจหรือเด็กรุ่นใหม่ ๆ ได้เรียนรู้และนำวิชาความรู้ไปเลี้ยงชีพ เมื่อเราสอนคนให้ทำเป็นได้เยอะ ๆ ในอนาคตงานโมเดลก็จะพัฒนาต่อยอดไปเรื่อย ๆ”

“ลุงไม่เคยกลัวว่าในอนาคตลูกศิษย์จะมาแย่งงานเลยนะ เพราะคิดว่าถ้าเขานำวิชาความรู้ตรงนี้ไปต่อยอดจนเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้ หรือประสบความสำเร็จ นั่นเป็นสิ่งที่เราภูมิใจและสุขใจมากกว่า ความรู้ของเราที่สอนนั้นได้ให้โอกาสคนอีกมากมาย ที่ผ่านมาลุงไม่ค่อยได้รับโอกาส เลยอยากจะเป็นผู้ให้ และสิ่งเหล่านี้คือความสุขใจที่จะอยู่กับเราไปได้นาน”

ปัจจุบันลุงมีคิวงานยาวแทบไม่มีเวลาว่าง ทั้งงานสั่งทำโมเดลทางออนไลน์ในเฟซบุ๊กเพจ “ลุงติ๊กสเกล & Diorama” งานสอน งานออกรายการต่าง ๆ

“ลุงดีใจ มันเป็นอะไรที่มีความสุขมาก เราได้ทำอาชีพที่รักมาจนถึงจุดนี้ เรียกได้ว่าเกินความคาดหมายไปมากสำหรับคนวัยเกษียณแบบลุง”

แต่เมื่อถูกถามว่าทุกวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จที่พอใจที่สุดหรือยัง ลุงติ๊กตอบว่า
“ลุงจะไปต่อ ไปให้สุด จะไม่เอาคำว่า ‘ที่สุด’ มากั้นเป็นเพดาน  ลุงจะทำโมเดลไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหว จะทำให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้”  
Image