Image
ณ วันวาน บ้านโมเดล
แฮนด์เมดเซอร์ๆ
ของคนโหยหาอดีต
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ชายที่มีใจรักทางศิลปะคนหนึ่ง เร่ร่อนจากบ้านเกิดในเมืองหลวงไปเล่นดนตรีอยู่ตามไนต์คลับแถวปักษ์ใต้กว่า ๓๐ ปี ก่อนกลับมาเปิดร้านขายต้นไม้จิ๋วอยู่ในห้าง จัดสวนถาดขายอยู่อีกหลายปี จนวันหนึ่งไปทำบุญที่สุพรรณบุรี แวะเที่ยวสามชุก ตลาดร้อยปี เห็นร้านกาแฟโบราณแล้วชอบใจ จึงจำลองแบบมาเป็นงานโมเดลจิ๋ววางโชว์หน้าร้าน แล้วมีคนถามขอซื้อ
ใจที่รักงานศิลป์
“เอ๊ะ นี่มันขายได้ด้วยหรือ ก็ขายไป ทำใหม่อีกตัว ขายได้อีก ก็เลยทำอีกเรื่อย ๆ”

ความบังเอิญเล็ก ๆ ที่ไม่ได้วางแผนและจงใจจะทำขายตั้งแต่ต้น จุดประกายความหวังให้ คชภัค แก้ววิเชียร เริ่มทำในสิ่งรักชอบที่ซุกซ่อนอยู่ในใจมาแต่วัยเยาว์ “ใจชอบงานศิลป์มาแต่เด็ก ไม่เคยเรียน หัดเอง อาศัยลักจำ ภาพวาดในบ้านเขียนเองหมด เขียนแบบเซอร์ ๆ งานโมเดลของเราก็ไม่เอาเนี้ยบ ไม่ต้องพิถีพิถัน งานไม่ละเอียด แต่ให้ดูเป็นศิลป์ งานเนี้ยบเราทำได้ แต่คนทำเยอะแล้ว และราคาจะสูงเพราะทำช้า ขายยาก เราฉีกแนวออกมา ขายในราคาคนทั่วไปจับต้องได้ มีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ ฝรั่ง ญี่ปุ่นก็มาซื้อ เราก็ภูมิใจ เขาชอบงานเซอร์ ๆ บางคนซื้อไปขายต่อ”

แต่แน่นอนว่าบนหนทางผ่านไม่ได้มีด้านดีที่ราบรื่น

“โดนด่าบ้างเหมือนกันว่าปั้นเละเทะ พวกนี้ผมถือเป็นครู ถ้าไม่โดนด่าคงปั้นเละกว่านี้ คนเราต้องมีครูบาอาจารย์ นอกจากที่ผมได้ลักจำมา คำติพวกนั้นก็ถือเป็นครู”
"บางทีลูกค้าอยากได้บ้านเก่า ๆ เดิม ๆ ของเขาสมัยเป็นเด็ก เอารูปถ่ายมาให้เราจำลองแบบเก็บรายละเอียดให้บางคนน้ำตาไหลบอกว่าในอดีตเคยอยู่บ้านแบบนี้ แต่ตอนนี้รื้อหายไปแล้ว"
Image
๓/ วัฒนธรรมอํานาจ 
เข้าซอยเมตตา ๒ แยก ๑๕ ย่านสายไหม จนเกือบสุดซอยจะมองเห็น “บ้านโบราณ ณ วันวาน” ได้ไม่ยาก ด้วยการตกแต่งที่ดูแตกต่างจากทาวน์เฮาส์รายรอบ ทั้งแผ่นป้าย ไม้เก่า โมเดลจำลองขนาดจิ๋ว ภาพเขียน หุ่นจำลอง อุปกรณ์การทำงาน ชิ้นงานที่ทำเสร็จแล้ว ฯลฯ สิ่งทั้งหลายนี้เกาะเกี่ยวกระจัดกระจายรายเรียงแน่นขนัดตั้งแต่รอบนอกหน้าบ้าน ในบ้าน ข้างบ้าน ไปจนถึงหลังบ้าน

เป็นพื้นที่ทำงาน ที่แสดงงาน ที่เก็บงานรอส่งและรอนำไปออกร้านเมื่อมีงานต่าง ๆ ตามวิถีในอาชีพใหม่ที่คชภัคทำมา ๘ ปีแล้ว

“ตอนนั้นห้างเปลี่ยนเจ้า เขาขึ้นค่าเช่า อยู่ไม่ไหว เลยออกมาลองเปิดท้ายขายดู ไปถึงบางแสน ตลาดกลางคืน ทำโมเดลจำลองย้อนยุคไปวางขาย ไปทำธุระหรือไปเที่ยวที่ไหนเราก็เอาใส่ท้ายรถไปด้วย วันนั้นขายได้เงินหมื่น กำลังใจก็มา ไม่ต้องพึ่งห้างแล้ว”

ความจริงงานโมเดลมีมานานแล้ว โดยทั่วไปเป็นงานแบบเนี้ยบ คนดูเห็นแล้วทึ่ง แต่คชภัคบอกว่างานเขาได้รับความสนใจเพราะความเซอร์ที่แหวกกระแส

จากเริ่มต้นที่ร้านกาแฟโบราณ ร้านโชห่วยย้อนยุค ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหาร เวทีดนตรีในไนต์คลับ ฯลฯ ที่เขาจำลองจากประสบการณ์และภาพประทับใจจากงานโมเดลห้องเดียวเป็นสองห้อง สองชั้น ขยายออกไปเรื่อย ๆ

“โมเดลบ้านเพียงอย่างเดียว หน้างานไม่กว้าง เลยขยายเป็นแนวฝรั่ง รถ เรือ บาร์เบอร์ โฮเต็ล อู่ซ่อมรถต่างประเทศ ให้หน้างานกว้างขึ้น  ต่อมาเพื่อนแนะนำให้ขึ้นโอทอป ตอนแรกได้สองดาวของ กทม. ต่อมาได้ สามดาว ตอนนี้เป็นสี่ดาวแล้ว”

มีสื่อมาสัมภาษณ์ลงหนังสือ มีรายการมาถ่ายทำ ร้านโมเดลบ้านโบราณ ณ วันวาน เป็นที่รู้จักกว้างขึ้น เริ่มมีคนนำภาพสถานที่ประทับใจมาให้คชภัคช่วยสร้างบ้านโมเดลให้ด้วย

“บางทีลูกค้าอยากได้บ้านเก่า ๆ เดิม ๆ ของเขาสมัยเป็นเด็กเอารูปถ่ายมาให้เราจำลองแบบเก็บรายละเอียดให้ บางคนน้ำตาไหลบอกว่าในอดีตเคยอยู่บ้านแบบนี้ แต่ตอนนี้รื้อหายไปแล้ว”
อดีตย้อนได้ใน ๒ วัน
โมเดลบ้านโบราณของคชภัคเริ่มต้นที่ขนาดกว้างยาวราวฟุตจากภาพถ่ายหรือภาพจำที่อยู่ในใจถอดแบบให้ออกมาเป็นโมเดลจำลองที่จับต้องได้ ด้วยวัสดุ ไม้ กระดาษ พลาสติก สีเศษสิ่งเหลือใช้ รวมทั้งของเล่นจิ๋วที่เลือกหยิบเข้ามาเสริมบ้าง

โดยงานทุกชิ้นมักเริ่มต้นจากโครงไม้

“แผ่นไม้ฉำฉา บางทีเก็บมาจากข้างทางที่เขาทิ้ง ถ้างานเยอะก็ซื้อมาบ้าง เลื่อยตัดเป็นแผ่นฐาน จากนั้นก็ใช้ชิ้นไม้ตอกยึดขึ้นโครงร่าง”

เขาบรรยายพลางทำให้ดู ภายในห้องทำงานที่ระเกะระกะด้วยวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ ชิ้นงานอื่น ๆ ที่วางประดับ

งานโมเดลของเขาเรียบง่าย ไม่ได้ประณีตนักตั้งแต่เริ่มขึ้นโครงสร้าง ตะปูคดงอบ้างก็ตอกจมไปในเนื้อไม้เลย เขาบอกว่าตอนทำสีจะช่วยเก็บรายละเอียดทั้งหมด

ขึ้นโครงแล้วปิดฝาด้านข้างด้วยแผ่นไม้ หลังคาใช้กระดาษลังลูกฟูกเป็นลอน ๆ เลียนแบบกระเบื้อง คชภัคเล่าว่าเขาเคยใช้สังกะสีเป็นหลังคา แต่ว่ามันคมและเป็นสนิม จึงหันมาใช้กระดาษพ่นสีดำคล้ำแดง ให้ดูเก่า ๆ เลียนสีสนิม

ส่วนรายละเอียดการตกแต่งก็ใช้ไม้ตามขนาด กับวัสดุเหลือใช้ที่เห็นเหมาะสม อย่างชุดโต๊ะ เก้าอี้ ใช้ไม้ ชุดเครื่องครัว อุปกรณ์ในร้านก๋วยเตี๋ยวปั้นด้วยดิน ตู้เย็นทำจากกล่องนมพ่นแต่งสี หม้อต้มน้ำชงกาแฟโบราณทำจากกระป๋องกาแฟ เหยือก กระบวย ทำจากท่อพีวีซีและหลอดตามขนาด พ่นสีเงินวาวให้ดูเป็นโลหะ

ส่วนที่เป็นตัวคนใช้ตุ๊กตาของเล่นเด็กเป็นโครง แล้วพอกด้วยดินเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ ใส่เส้นผมด้วยวัสดุที่เป็นเส้นใยเขียนหน้าด้วยสีให้เป็นตัวละครที่ต้องการ

นอกจากโมเดลบ้านโบราณที่เป็นกลุ่มงานหลัก คชภัคยังสร้างโมเดลเชิงวัฒนธรรมด้วย อย่างเรือสุพรรณหงส์ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ติดมอเตอร์ให้ลำเรือเคลื่อนไหวได้และมีเสียงเพลงเห่เรือด้วย  เช่นเดียวกับโรงฉายภาพยนตร์ที่มีจอและสามารถฉายหนังได้จริง รวมทั้งไนต์คลับและเวทีคอนเสิร์ตที่มีศิลปินกำลังขับร้องและบรรเลงดนตรี มีเพลงคลอ ไฟหมุน ไฟกะพริบ แสงสีเสียงพร้อมสรรพ  โดยเฉพาะโมเดลเวทีคอนเสิร์ตคาราบาว คนปั้นถอดแบบหน้าตาสมาชิกในวงได้อย่างละม้ายคล้ายคลึงตรงตามบุคลิก เป็นงานชิ้นหนึ่งที่ขายดีจนเขาต้องทำชิ้นใหม่ออกมาเรื่อย ๆ

“ทำมาโชว์ ใครซื้อก็ขาย” คชภัคพูดถึงชิ้นงานคาราบาว และเล่าถึงงานแนวอื่น ๆ ว่า

“เมื่อก่อนงานตลาดน้ำขายดีมาก เพราะเราทำงานเซอร์ออกมาก็แปลกใหม่ จนมีคนก๊อบปี้สไตล์ของเรา บางคนซื้องานเราไปแต่งเพิ่มแล้วเพิ่มราคา ก็ไม่ว่ากัน”
Image
Image
ราคาจากใจ
ตอนนี้งานทำโมเดลบ้านโบราณกลายเป็นอาชีพหลักในชีวิตใกล้วัยเกษียณของคชภัค เขาบอกว่าชอบตรงที่เป็นงานอิสระ อยากทำเมื่อไรก็ทำ เจอสถานที่สวย ๆ ตึกเก่า ๆ ก็เก็บมาถ่ายทอดเป็นชิ้นงาน

มีงานขายสินค้าแฮนด์เมดที่ไหนก็ไปออกบูท ซึ่งมีทั้งงานที่ได้รับเชิญให้ไปออกร้านฟรี และที่ต้องจ่ายค่าบูท

“ที่สำคัญขอให้ได้อยู่ที่ดี ถ้าที่ไม่ดีขายไม่ได้ ไปอยู่ในมุมที่ไม่มีคนเดินผ่านก็จบ  หรือบางทีเสียเงินไปแล้ว ตั้งของเสร็จฝนตกก็จบเหมือนกัน”

โมเดลบ้านโบราณสองชั้นแต่ละหลังคชภัคใช้เวลาทำ ๑-๒ วัน เขาทำงานคนเดียว ไม่มีทีม ไม่มีลูกมือ เดือนหนึ่งทำได้เต็มที่ ๑๐ กว่าชิ้น  ช่วงหลังมานี้เศรษฐกิจตกต่ำ ตลาดงานโมเดลเงียบเหงา ออร์เดอร์ไม่ค่อยมี เขาก็ทำงานเก็บไว้รอขาย

“เมื่อก่อนหลังหนึ่งราคาเริ่มต้นที่ ๑,๕๐๐ บาท พวกร้านกาแฟโบราณ ตอนนี้ลดลงมาเหลือ ๙๐๐-๒,๐๐๐ บาท งานคาราบาว ๑๕,๐๐๐ บาท  เรือสุพรรณหงส์ราคาสูงสุด ๓๙,๐๐๐ บาท เพราะเป็นงานขนาดใหญ่ ๑๒๐x๙๐x๑๐ เซนติเมตร  บางคนว่าถูก แต่การตั้งราคาอยู่ที่ใจเรา”

โมเดลบ้านโบราณตั้งราคาจากใจ คนซื้อก็จับซื้อด้วยความต้องใจ ไม่ใช่การคำนวณต้นทุนหรือเก็งกำไรขาดทุน

“คนเล่นงานโมเดลรู้และเข้าใจร่วมกันว่างานเหล่านี้เป็นงานแฮนด์เมด ไม่ใช่งานปั๊ม ทุกชิ้นมีชิ้นเดียวในโลก”

เช่นเดียวกับบ้านโบราณบางหลังที่เป็นต้นแบบ ก็มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ทั้งยังลับหายไปแล้ว คนหวนหาอดีตจึงต้องพึ่งนักทำโมเดลให้ช่วยเนรมิตบ้านในความทรงจำขึ้นใหม่ในรูปธรรม