Image
Miniature Model  
ของจำลองจิ๋ว 
คนจริงเล่นใหญ่
scoop
เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ที่มนุษย์รู้จักประดิษฐ์ของจำลองจิ๋ว หลักฐานเก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งมีอายุ ๓๕,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ ปี เป็นรูปแกะสลักผู้หญิงขนาดถือในมือได้ สูงแค่ ๖ เซนติเมตร พบในถ้ำแห่งหนึ่งที่ประเทศเยอรมนี ได้รับการตั้งชื่อว่า Venus of Hohle Fels

รูปลักษณ์หญิงเปลือยมีเต้านมและ
ท้องกลมใหญ่คล้าย ๆ กันนี้ต่อมาพบในที่อีกหลายแห่ง เรียกกันสั้น ๆ ว่า Venus (ซึ่งไม่เกี่ยวกับเทพวีนัสของโรมัน) เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเจริญพันธุ์ หรือความอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นสิ่งนำโชคก็ว่าได้

เก่าแก่ใกล้เคียงกันคือรูปแกะสลัก
มนุษย์หัวสิงโต Lion-man of the Hohlenstein-Stdel สูง ๓๑ เซนติเมตร ถือเป็นรูปจำลองสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่ง

ยิ่งต่อมาอารยธรรมปรากฏขึ้นที่ไหน อียิปต์ กรีก โรมัน จีน อินเดีย เราก็พบรูปจำลองขนาดเล็กไปถึงจิ๋วที่สร้างแทนเทพเจ้า รูปลักษณ์อย่างมนุษย์ หรือสัตว์ในจินตนาการ หรือเลียนแบบคน สัตว์ สิ่งของต่าง ๆ ในชีวิตจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ

อียิปต์โบราณราว ๔,๐๐๐ ปีก่อน แกะเรือไม้จำลองที่มีคนนั่งคนพาย 
Image
Image
Image
จีนราว ๒,๐๐๐ ปีก่อนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ทำเครื่องปั้นดินเผาจำลองเก๋งกลางเมือง ๓-๔ ชั้น สูงราว ๑ เมตร

ข้ามเวลามาถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ยุโรป สถาปนิกเริ่มสร้างรูปจำลองขนาดเล็กของอาคารที่มีรายละเอียดคล้ายจริงเพื่อแสดงแบบแปลนก่อนการก่อสร้าง ซึ่งยังคงเป็นแนวปฏิบัติของสถาปนิกมาถึงทุกวันนี้ ทั้งเพื่อแสดงสถาปัตยกรรมของอาคารไปจนถึงการจัดสรรพื้นที่โดยรอบ

miniature model หรือของจำลองจิ๋วในสถานะนี้ ต่างจากของเล่นหรือตุ๊กตาทั่วไป ในแง่ที่ว่าผู้สร้างตั้งใจทำเลียนแบบของจริง ทั้งรายละเอียดและโดยเฉพาะสัดส่วนที่เรียกว่าสเกล (scale) จนดูเหมือนของจริงที่ย่อส่วนลงมา  บางครั้งจึงเรียกว่า scale model  ขณะที่ของเล่นใส่จินตนาการของผู้สร้าง ลดทอนรายละเอียดที่เหมือนจริง และบิดสัดส่วนรูปร่างให้ดูสนุกแปลกตา

ความนิยมเล่นของจำลองจิ๋วประเภทหนึ่งที่เริ่มในยุโรปช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ คือบ้านตุ๊กตา (dollhouse)

เรียกบ้านตุ๊กตาก็จริง แต่ทำย่อส่วนสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านอย่างละเอียด ตั้งแต่รูปทรงบ้านทั้งหลัง หรือบางครั้งก็ทำเป็นตู้ มีบานเปิดให้เห็นการแบ่งห้องต่าง ๆ ในบ้าน พื้นและผนังตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยชาม ฯลฯ และคนแต่งชุดตามยุคสมัยและสถานะ มีมาตรฐานการย่อส่วน ที่นิยมเล่นกันคือ ๑ : ๑๒ หมายถึงวัตถุของจริงยาว ๑ ฟุตหรือ ๓๐ เซนติเมตร จะถูกย่อลงเหลือ ๑ นิ้ว หรือ ๒.๕ เซนติเมตร  

วัสดุหลักทำของจำลองในสมัยก่อนมักเป็นไม้ โลหะ กระดาษ และวัสดุอื่น ๆ 
Image
Image
Image
Image
ล่วงเข้าคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อยุควัสดุพลาสติกมาถึง ของจำลองจิ๋วของสิ่งต่าง ๆ เริ่มสายการผลิตแบบอุตสาหกรรมจำหน่ายในราคาถูกลง เป็นทั้งของเล่นและของสะสม เช่น รถยนต์ รถแข่ง รถไฟ รถถัง เรือรบ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ จรวด ยานอวกาศ ไดโนเสาร์ หุ่นทหาร หุ่นฮีโร่หรือหุ่นยนต์ในภาพยนตร์ เกม การ์ตูน ฯลฯ พัฒนาต่อมาเป็นชุดคิตแยกชิ้นส่วนให้ผู้เล่นไปประกอบเป็นตัวและระบายสีตกแต่งด้วยฝีมือทางศิลปะของตนเอง กลายเป็นงานอดิเรก “เล่นต่อโมเดล” ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวทศวรรษ ๑๙๕๐-๑๙๖๐ จนเป็นที่นิยมสูงสุดในยุคหนึ่ง และยังมีคนเล่นมาถึงปัจจุบัน พร้อมกับการพัฒนาโมเดลให้ละเอียดสมจริงขึ้นเรื่อย ๆ เคลื่อนไหวได้ หรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาประกอบ  นอกจากนี้ยังขยายการเล่นไปสู่การทำฉากจำลองที่เรียกว่าไดโอรามา (diorama) ประกอบด้วย เช่น ทำฉากซากปรักหักพังให้กับโมเดลรถถังสงคราม

เข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นี้เช่นกันที่ภาพยนตร์หลายเรื่องเริ่มอาศัยการสร้างฉากและหุ่นจำลอง โดยเฉพาะแนวแฟนตาซี เช่น King Kong หรือแนวอวกาศ โลกอนาคต เช่น Star Trek, Star Wars, Blade Runner ฯลฯ ทำให้สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างยานอวกาศ กลายเป็นของที่เสมือนมีอยู่จริง  แม้เข้ายุคเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิก ภาพยนตร์ดัง ๆ จำนวนมากก็ยังนิยมสร้างฉากและหุ่นจำลองเพื่อประกอบการถ่ายทำ เช่น Inception, Titanic, The Lord of the Rings, Interstellar ฯลฯ

Miniature Park หรือเมืองจำลองกลางแจ้งก็เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ 
Bekonscot Model Village & Railway ในประเทศอังกฤษ
เมืองจำลองแห่งแรกคือ Bekonscot สร้างขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ประเทศอังกฤษ ในพื้นที่เกือบ ๔ ไร่ มีภูมิสถาปัตย์สวยงาม ประกอบด้วยบ้านเรือน ปราสาทโบราณ ทางรถไฟ แม่น้ำ ท่าเรือ ฯลฯ  ปัจจุบันยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่ง ไม่แพ้เมืองจำลองอันโด่งดัง Madurodam ของเนเธอร์แลนด์ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๒ ด้วยสัดส่วน ๑ : ๒๕

ถึงปัจจุบันเมืองจำลองได้รับความนิยมสร้างขึ้นในหลายประเทศเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดรายได้จากเด็กและผู้ใหญ่ที่เดินทางมาจากทุกมุมโลก ซึ่งทุกคนพร้อมจะมีรอยยิ้มและความสุขเมื่อได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกย่อส่วน 


มาถึงยุคโซเชียลมีเดียที่ใคร ๆ ก็อยากสร้าง
คอนเทนต์ ของจำลองจิ๋วกลายมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารถ่ายทอดความคิดที่สร้างความแปลกใหม่ได้อีกครั้ง ผ่านการถ่ายภาพถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ และโพสต์เรื่องราวเผยแพร่
………………
ไม่ว่าของจำลองจิ๋วจะมีมานานแค่ไหน ผู้สร้างสรรค์ของจำลองจิ๋วเหล่านี้ก็มักเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก 

ลำดับต่อไปเชิญพบกับหน้าตาของนักทำของจำลองจิ๋วคนไทยจำนวนหนึ่งกับหลากหลายมิติผลงานที่แต่ละคนสร้างสรรค์

บทสรุปของเรื่องที่รู้ซึ้งขึ้นคือ กว่าจะเป็นของจิ๋วที่ดูแล้วเรียกรอยยิ้ม ไม่ใช่เรื่องจิ๋ว ๆ เพราะคนทำต้องเล่นใหญ่...ถึงใหญ่มาก