Image
LENARAI ฟิกเกอร์ 
ของ “เล่นอะไร”
สู่ของสะสม
scoop
เรื่อง : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ฟิกเกอร์ ปรีชา ชนะภัย หรือ “เล็ก คาราบาว” หนึ่งในฟิกเกอร์ จาก LENARAI บริษัทออกแบบฟิกเกอร์ของคนไทย
ฟิกเกอร์ (figure toy) คือคำเรียกของเล่นที่ผลิตมาในรูปแบบหุ่นจำลองคน สัตว์ สิ่งของ ส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุประเภทพลาสติก เช่น เรซิน พีวีซี ไวนิล ฯลฯ มีขนาดต่างกันไป หากสามารถขยับส่วนต่าง ๆ ได้จะนับเป็นประเภทแอ็กชันฟิกเกอร์ (action figure) ซึ่งเป็นคำที่คิดในเชิงการตลาดสำหรับของเล่นเด็กผู้ชาย ใช้ครั้งแรกโดยบริษัทแฮสโบร เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๕ กับของเล่นชุด G.I. Joe  ส่วนใหญ่ฟิกเกอร์มักผลิตตามตัวการ์ตูนหรือคาแรกเตอร์ดัง ๆ จากสื่อบันเทิงต่าง ๆ รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง

หากเห็นของเล่นประเภทนี้วางขายตามตู้โชว์หรือประกาศขายในโลกออนไลน์ อาจตกใจกับราคาที่สูงถึงหลักหลายพันไปจนหลายหมื่นบาท ด้วยคนไทยคุ้นชินกับของเล่นลักษณะนี้แบบเดียวกับตัวตุ๊กตุ่นตุ๊กตาราคาไม่กี่บาท บ้างก็เป็นของแถมในห่อขนมขบเคี้ยวที่เอาไว้เล่นต่อสู้กับเพื่อน ๆ ต่อเติมจินตนาการในวัยเยาว์เท่านั้น

ตัวฟิกเกอร์ที่คุ้นเคยกับคนไทยส่วนใหญ่มากที่สุดคงไม่พ้นฟิกเกอร์ขนาดเล็กส่วนหนึ่งในตัวต่อเลโก้ ของเล่นยอดนิยมจากประเทศเดนมาร์ก ที่มีตั้งแต่อาชีพต่าง ๆ ไปจนแอบอิงจากตัวละครในภาพยนตร์ แต่ก็ล้วนคงเอกลักษณ์เรียบง่ายของหน้าตาหุ่นและลักษณะรูปร่างที่รู้ได้ทันทีว่าเป็นเลโก้

ในประเทศไทยก็มีผู้ผลิตฟิกเกอร์ที่พยายามสร้างเอกลักษณ์ขึ้นมา ดังเช่นผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า LENARAI (เล่นอะไร)

อิสรา อิศราวุธกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง LENARAI บริษัทซึ่งออกแบบและจำหน่ายฟิกเกอร์สไตล์ไทยมากว่า ๑๕ ปี เล่าความพยายามผลักดันฟิกเกอร์สไตล์ไทยร่วมสมัย ที่ทำให้เห็นถึงภาพรวมของการตื่นตัวฟิกเกอร์ในบ้านเรา และเพื่อจะบอกว่าเรื่องของเล่นนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อย่างที่หลายคนคิด แท้จริงมีมูลค่าทั้งแง่คุณค่าทางใจและในแง่ธุรกิจ แต่ขาดการสนับสนุนอย่างที่ควรจะเป็น ดังที่เขาย้ำตลอดว่า
“มันไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นของสะสม”
Role Model – บันดาลใจของนักสะสม
“ไอ้มดเอ็กซ์ ไอ้มดแดง ผมชอบสะสมมาก” อิสราเท้าความถึงจุดเริ่มต้นการทำฟิกเกอร์หลังเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะทำงานเป็นสถาปนิกที่นั่น  ความเป็นนักสะสมของเล่นหลายแบบตั้งแต่เด็ก ทั้งเลโก้ ฟิกเกอร์ของบริษัทเมดิคอม ของเล่นพลาสติกแบบซอฟต์ไวนิลจากประเทศญี่ปุ่น ก็ยังไม่เลือนหายไปไหน ยังซื้อเก็บมาตลอด

หนึ่งในฟิกเกอร์ที่เขาหลงใหลชื่นชอบคือฟิกเกอร์ของ 
Kubrick (คูบริก) ซึ่งมีเสน่ห์เฉพาะตัว คาแรกเตอร์ ตัวการ์ตูนดัง ๆ ก็ล้วนถูกผลิตขึ้นมาให้นักสะสม ซึ่งเขาชื่นชอบทุกตัว

“ที่ผมชอบมากคือเขาทำคาแรกเตอร์ดัง ๆ สมัยก่อนมาหมดเลย มีโดราเอมอน ฮาโตริ  พวกจากหนังดัง ๆ อย่างแบตแมนก็มี พอเป็นแพลตฟอร์มพวกนี้เรียงในตู้แล้วสวย แล้วมันก็มีวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่เขามีงาน
Toys Show ในงานมันยิ่งใหญ่มากนะ ตระการตาไปหมด  มันมีแพลตฟอร์มต่าง ๆ แบบที่เราสะสม แล้วก็เลยชอบแพลตฟอร์ม Kubrick” อิสราอธิบายเสน่ห์ของฟิกเกอร์จากญี่ปุ่นตัวนี้ว่า

“ถ้าใช้ภาษาแบบผมอธิบาย Kubrick คืองานกราฟิกที่ตัดทอน  ฟิกเกอร์ของตะวันตกจะเป็นรูปแบบสมจริง อย่าง Star Wars ที่เป็นตัวเหมือนจริงแล้วย่อส่วนลงมา แต่ Kubrick หรือ LEGO มันจะดึงคาแรกเตอร์ออกมาให้ชัด ๆ แล้วตัดทอนบางส่วนให้อยู่ในรูปแบบกราฟิก ในรูปแบบที่ดีเหมาะสม

“ตอนนั้นมันยังไม่มีคาแรกเตอร์ของไทยไง เราก็เลยดีไซน์เองซะเลยวะ” (หัวเราะ)

นั่นคือจุดเริ่มเปลี่ยนตัวเองจากเพียงนักสะสมมาตั้งบริษัท LENARAI กับเพื่อน ๆ ในปี ๒๕๔๖ หลังจากมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนสมัยเรียน ธนชัย อุชชิน นักร้องนำวงโมเดิร์นด็อก ก่อนขอให้เพื่อนนักออกแบบคาแรกเตอร์จากญี่ปุ่นออกแบบฟิกเกอร์ที่ได้แรงบันดาลใจจาก Kubrick

ฟิกเกอร์ชุดแรกเป็นสมาชิกทั้งสามของวงโมเดิร์นด็อก เริ่มจำหน่ายในงาน “ตาสว่าง WAKE UP AT TEN” คอนเสิร์ตครบรอบ ๑๐ ปีของวงที่จัดขึ้นเมื่อพฤษภาคม ๒๕๔๘ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคอเดียวกัน ครั้งแรกเขาวางจำหน่ายฟิกเกอร์คาแรกเตอร์นี้หนึ่งตัวในราคา ๑๐๐ กว่าบาทเท่านั้น

“คนที่ชอบส่วนใหญ่ก็จะเป็นสายกราฟิก ดีไซเนอร์ และแฟนเพลง เขาก็ซื้อไปสะสม” อิสราเล่าว่าตั้งแต่เริ่มเปิดเว็บไซต์ lenarai.com (ปัจจุบันปิดแล้ว) ก็มีคนเข้ามาให้ความสนใจอยู่ตลอดโดยไม่ได้ใช้งบประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด
Kubrick : 
ฟิกเกอร์ที่ผลิตโดยบริษัทจากญี่ปุ่น Medicom Toy ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้กำกับฯ ชาวอังกฤษ สแตนลีย์ คูบริก ตัวฟิกเกอร์ประกอบจากพลาสติกเก้าส่วน โดยมีส่วนของหัว เอว แขน ข้อมือ และขาที่ข้อต่อสามารถหมุนได้  ทัตสึฮิโกะ อาคาชิ ผู้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาต้นแบบของฟิกเกอร์นี้ร่วมกับอดีตพนักงานบริษัท LEGO โดยวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๐ ด้วยผลงานที่ออกแบบจากแอนิเมชันเรื่องดัง Neon Genesis Evangelion นับจนถึงวันนี้มีคูบริกแบบใหม่ ๆ ออกวางขายนับร้อยแบบ 
(ที่มา : grailed.com)
Toy Show : 
งานของเล่นนานาชาติแห่งโตเกียว International Tokyo Toy Show เป็นงานแสดงของเล่นซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ Tokyo International Exhibition Center (Tokyo Big Sight) ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นงานยิ่งใหญ่ที่สุดของที่นี่ มีการแสดงของเล่นทั่วโลก โดยเริ่มจัดมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๒ จนถึงปัจจุบัน
(ที่มา : jpninfo.com)
Image
อิสรา อิศราวุธกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง LENARAI กับฟิกเกอร์จากการ์ตูนไทย นักสืบโจ หัวปลาหมึก ‏(JOE the SEA-CRET agent)
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
Design – คาแรกเตอร์ไทย
ในวัฒนธรรมฟิกเกอร์

อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ LENARAI สร้างสรรค์ขึ้นไม่ใช่แค่ฟิกเกอร์ แต่แท้จริงคือการออกแบบและผลักดันคาแรกเตอร์ต่าง ๆ ให้ขายได้ เพราะงานของที่นี่ไม่ได้ลงแรงปั้นหุ่นเป็นการออกแบบผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเดียว (ในอดีตจะมีการใช้มือปั้นหุ่นโมเดลของฟิกเกอร์) ก่อนจะส่งไปยังโรงงานที่รับผลิตอีกทีหนึ่ง

นับตั้งแต่เริ่มออกแบบคาแรกเตอร์ก็เกิดฟิกเกอร์หลายร้อยแบบ ตั้งแต่ศิลปินอย่างวงคาราบาว หรือ ปาล์มมี่ เริ่มต้นโดยดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น ก่อนจะขยายแนวทางให้ดีไซเนอร์คนไทยเป็นคนออกแบบ ผลงานหลายชิ้นนั้นออกแบบโดยแมน-ธนรัตน์ ร่วมวัง แห่ง ByManStudio ขณะเดียวกันก็พัฒนาคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นตามมา เช่น BINOBOT หุ่นยนต์ตัวจิ๋วที่อยู่ภายใต้ NEXT 20 หุ่นยักษ์ตาเดียวสีเขียวสด, ฟิกเกอร์ที่ทำงานร่วมกับศิลปินอื่น เช่น Korn Doll, พญาวัชรครุฑ คาแรกเตอร์จากภาพยนตร์แอนิเมชัน ครุฑ มหายุทธหิมพานต์ ฯลฯ

แม้จะเป็นชิ้นงานขนาดเล็ก แต่สินค้าของ LENARAI แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคาแรกเตอร์นั้น ๆ เช่น ฟิกเกอร์วงโมเดิร์นด็อกซึ่งสามารถถ่ายทอดบุคลิกและสีหน้าได้ครบถ้วนพร้อม ๆ กับสร้างเอกลักษณ์ของบริษัท บางคาแรกเตอร์ก็เห็นถึงอารมณ์ขันชวนยิ้มตั้งแต่แรกเห็น รวมถึงการคุยเรื่องลิขสิทธิ์กับผู้ออกแบบและศิลปินที่ถูกดัดแปลงเป็นฟิกเกอร์อย่างถูกต้อง

อีกหนึ่งในคาแรกเตอร์โดดเด่นของ LENARAI คือการ์ตูนไทยอย่าง JOE the SEA-CRET agent (นักสืบโจ หัวปลาหมึก) ผลงานการ์ตูนของชาติ-สุทธิชาติ ศราภัยวานิช ซึ่งแม้จะเป็นการ์ตูนไทยที่มีผู้อ่านไม่มากเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นหรือตะวันตก แต่อิสราก็เลือกทำเพราะความชอบในคาแรกเตอร์ของคนไทย

“ผมไม่ได้เกลียดคาแรกเตอร์ต่างประเทศ แต่แพลตฟอร์มที่อยากได้มันไม่มีใครเอาคาแรกเตอร์ไทยมาทำ ก็เลยต้องทำเอง”

เขาอธิบายถึงการ์ตูนไทยเหล่านี้ว่าหลายตัวก็ไม่จำเป็นต้องเป็นงานตีพิมพ์มาก่อน แท้จริงสิ่งที่ทำให้คนติดตามและชื่นชอบคือคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนนั้น ๆ บางตัวก็พัฒนาขึ้นมาโดยไม่มีเรื่องตีพิมพ์เผยแพร่ แต่ส่วนใหญ่มักจะมีเนื้อเรื่องหรือรายละเอียดบุคลิกของตัวการ์ตูนเหล่านั้นอยู่แล้ว

“เป็นความชอบส่วนตัวล้วน ๆ ไม่ได้คิดเรื่องมาร์เกตติง ชอบอันไหนก็เอามาทำ” จำนวนผลิตในชุด limited ไม่เกินครั้งละ ๕๐๐ ตัว ซึ่งด้วยต้นทุนการทำแม่พิมพ์เหล็กสำหรับผลิตฟิกเกอร์ที่สูง ไม่ได้ผลิตจำนวนมากเหมือนของเล่นยอดนิยม ทำให้ฟิกเกอร์มีราคาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ บาทเลยทีเดียว

แน่นอนว่าด้วยราคาที่สูงกว่าของเล่นทั่วไปมันจึงกลายเป็นของสะสมสำหรับผู้ใหญ่มากกว่าของเล่นเด็กไปโดยปริยาย ทว่าผู้สะสมเหล่านี้ก็ไม่ได้มีฐานะเสมอไป หากใครชอบ เป็นคอฟิกเกอร์ รักที่จะสะสม ก็หาทางเก็บหอมรอมริบจนได้

“ตอนเด็กเราไม่มีเงินซื้อเลโก้ก็ต้องไปบอกพ่อแม่ พ่อแม่ก็ลำบาก พอโตขึ้นมาเราก็หาวิธีขวนขวาย ทำยังไงถึงจะซื้อเลโก้มาได้

“บางคนก็เทียบกับงานศิลปะ เวลาซื้อรูปวาดเราไม่ได้ประเมินจากผ้าใบกับสี เพราะถ้าประเมินแค่นั้นก็ไม่กี่ร้อยไม่กี่พัน แต่มันขึ้นถึงหลักแสนหลักล้านได้เพราะมีมูลค่าบางอย่างที่มองไม่เห็น อาจจะเป็นที่ตัวศิลปินที่เราชื่นชอบมากเขาต้องทำงานนานขนาดไหนถึงจะขายรูปราคาเป็นล้านได้แล้วมีคนซื้อ ก็คล้าย ๆ กัน คนที่จะซื้อฟิกเกอร์ตัวละ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ ศิลปินคนนั้นก็ต้องมีชื่อเสียง มีคุณค่าประมาณหนึ่งเขาถึงยอมซื้อ”
โมเดิร์นด็อก ฟิกเกอร์ตัวแรกของบริษัท LENARAI
Image
Image
Image
Modify – เติมแต่งฟิกเกอร์
ใช่เป็นแค่เพียงการสร้างฟิกเกอร์ตัวละครใหม่ ๆ ออกมาวางขายเท่านั้น แต่ LENARAI ต่อยอดฟิกเกอร์ไปอีกไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการคาแรคเตอร์ไทยตามใจฉัน ที่เผยแพร่คาแรกเตอร์การ์ตูนไทยร่วมสมัย โดยจัดต่อเนื่องทุกปีถึงห้าครั้ง

“บรอคคุ” (Broku) แพลตฟอร์มฟิกเกอร์ของบริษัทที่เป็นรูปคนสีขาวล้วนคล้ายผ้าใบสีขาวให้คนเติมแต่งได้ตามใจ ที่เพื่อนของอิสรานำไปใช้ทำร่วมกับกิจกรรม หรือสินค้าต่าง ๆ ราวปี ๒๕๕๙

“แมวบริค” (Maewbrick) ตัวฟิกเกอร์ที่ทำสนุก ๆ คาแรกเตอร์ล้อเลียนฟิกเกอร์ดังอย่าง 
Bearbrick (แบร์บริก) เมื่อปี ๒๕๖๑ แต่เปลี่ยนจากหมีมาเป็นแมว บางแบบถูกนำไปโปรโมตร่วมกับแบรนด์สินค้า บางแบบถูกนำไปใช้ทำกิจกรรมการกุศล อย่าง “แมวบริคบาดเจ็บ” เพื่อช่วยเหลือพี่น้องหมาแมวบ้านกัญญาภัทร

กิจกรรม “แมวบริคมานครพนม” ให้ผู้ที่เข้าร่วมระบายสีแต่งแต้มคาแรกเตอร์ในฟิกเกอร์รูปแมวนี้ได้ตามจินตนาการ ไม่ต่างกับการเพนต์เสื้อยืด แต่เปลี่ยนเป็นการเพนต์ฟิกเกอร์ ก่อนจะนำเงินที่ได้จากการขายแมวบริคไปช่วยเหลือสนับสนุนในหลายรูปแบบ

ก่อนหน้านั้น ปี ๒๕๖๐ ก็ได้ร่วมจัดงาน Free Craft Area : เขตการคราฟท์เสรี งานเวิร์กช็อปการสร้างโมเดล 3D ด้วยโปรแกรม ZBrush และ 3D print กับทางหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และบริษัท Octoprint เพื่อเปิดให้นำงาน 3D มาจัดเวิร์กช็อปให้ศิลปินและนักออกแบบคาแรกเตอร์หน้าใหม่มาอบรมและนำคาแรกเตอร์ที่แต่ละคนออกแบบมาผลิตตัวพรินต์สามมิติได้ในราคาย่อมเยา สร้างฝันให้หลายคนที่อยากเข้าถึงงานผลิตฟิกเกอร์ได้ในยุคที่การพิมพ์แบบสามมิติยังไม่ตื่นตัวและตัวเครื่องพิมพ์ยังมีราคาแพง

เหตุผลสำคัญในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เจตนาก็คือส่งเสริมคาแรกเตอร์โดยคนไทยให้แพร่หลายเป็นที่รู้จักและเพิ่มมูลค่าให้ดีไซน์เหล่านั้น

“ผมอยากเห็นเมืองไทยเป็นเหมือนญี่ปุ่นในแง่ที่สามารถใส่มูลค่าเพิ่มเข้าไปในคาแรกเตอร์ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาและกลายเป็นธุรกิจที่ดีได้  คำว่า ‘ที่ดี’ มันอาจไม่ได้ดูธุรกิจที่มูลค่าการขาย งานคาแรกเตอร์ดีไซน์หลาย ๆ งานก็เป็นงานที่ดีได้โดยไม่ต้องเอาไปขาย เช่นพวกงานการกุศล อย่างในญี่ปุ่นทุกอย่างเป็นคาแรกเตอร์หมด  ในทุกจังหวัดของญี่ปุ่นจะมีคาแรกเตอร์ประจำจังหวัด อย่างหมีคุมะมงทำให้คนรู้จักจังหวัดคูมาโมโตะ แต่เมืองไทยมีไหม ไม่มีนะ เวลาเราพูดถึงกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่เรานึกถึงคาแรกเตอร์อะไร ก็นึกไม่ออก แล้วเวลาญี่ปุ่นจะจัดงานโอลิมปิก ทุกอย่างเป็นคาแรกเตอร์ มีมูลค่าเยอะมาก เวลาเราไปงานเกมโชว์ หรืองานคาแรกเตอร์ของญี่ปุ่น มันเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่มาก

“ผมรู้สึกว่าคนไทยดีไซน์เก่ง งานดี ๆ งานคาแรกเตอร์ของคนไทยเยอะมาก แต่เราไม่เคยมีคาแรกเตอร์อะไรที่เผยแพร่แล้วยิ่งใหญ่เหมือนโดราเอมอน”

“คาแรกเตอร์ไทยในรูปแบบสากล” กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในวงการ คนที่มีผู้อ่านติดตามเยอะก็หาทางจนประสบความสำเร็จสร้างชื่อให้ตัวเองผ่านโลกออนไลน์ แต่นักเขียนการ์ตูนไทยยุคหนึ่งที่สร้างคาแรกเตอร์น่าสนใจก็เลิกราไปอย่างน่าเสียดาย เพราะรายได้ไม่ดีพอจะเลี้ยงชีพ

อิสรามองว่าบ้านเรายังขาดโปรดิวเซอร์ที่ดีพอในการผลักดันขัดเกลาคาแรกเตอร์เหล่านี้ให้ไปไกลได้ในแบบที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นวงการนี้ก็ขาดการสนับสนุนสานต่อคาแรกเตอร์ต่าง ๆ ที่คิดขึ้นอย่างน่าเสียดาย ฟิกเกอร์ส่วนใหญ่มักสร้างขึ้นมาสำหรับงานหนึ่ง ๆ เท่านั้น
Bearbrick :
ฟิกเกอร์รูปหมีผลิตโดย Medicom Toy ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๑ เพื่อเป็นของกำนัลให้แก่ผู้เข้าชมงาน World Characters Convention 12 ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นการต่อยอดมาจาก Kubrick (ชื่อของเล่นเป็นการรวมกันระหว่าง Bear กับ Kubrick)  ความเรียบง่ายของคาแรกเตอร์หมีตัวนี้ ทำให้ทางบริษัทและศิลปินนักออกแบบพัฒนาคอลเลกชันแบบต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ตั้งแต่หนังสยองขวัญ หนังไซไฟ ลายธงชาติ รูปสัตว์ ฯลฯ

แบบดีไซน์ของฟิกเกอร์ชุด โมเดิร์นด็อก, คาราบาว, คณะตลก เด่น เด๋อ เทพ ก่อนจะนำไปผลิต
Image
Fix It – อนาคตฟิกเกอร์ไทย
“สมัยนั้นพวกดีไซเนอร์ทอยมันยังไม่มีอะไรเลย อะไรคือฟิกเกอร์ตัวละ ๓,๐๐๐ บ้าเปล่า ?” ในสายตาของอิสรา วงการฟิกเกอร์ในไทยนับว่าเปลี่ยนไปมาก มูลค่าสูงขึ้นทุกปี จากที่คนไม่รู้จักในแง่สะสม เห็นเป็นเพียงของเล่น ก็มีนักสะสมที่เกิดเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ก่อนจะได้รับความนิยม มีการซื้อขายเก็งกำไรฟิกเกอร์บางตัว การซื้อบัตรจองฟิกเกอร์ที่วางขายต่างประเทศไม่ต่างจากวงการพระเครื่อง หรือการจองคอนโดมิเนียม

“วัฒนธรรมนี้เล่นกันจริง ๆ จัง ๆ ไม่เกิน ๑๐ ปี ของที่เราเริ่มรู้จักอย่าง Bearbrick ตัวหนึ่งราคาเป็นแสน ตอนนี้มันกลายเป็นของสะสมไปแล้ว” เช่นเดียวกับคาแรกเตอร์ไทยที่มีการรวมกลุ่ม มีศิลปินหน้าใหม่แจ้งเกิดนำงานออกแบบไปต่อยอดเป็นสินค้า รวมไปถึงฟิกเกอร์หลายต่อหลายคน

อย่างไรก็ตามสำหรับ LENARAI เขายอมรับว่าบริษัทไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังนัก

“พอไม่ได้เป็นอาชีพ ทำเป็นงานอดิเรก มันก็ขึ้นอยู่กับเวลาว่างของคนทำ เราไม่ได้ทำจริงจังเลยไม่ต่อเนื่อง”

ในอดีตบริษัทเคยเปิดร้าน AREA 51 ที่ชั้น ๗ ศูนย์การค้ามาบุญครอง เพื่อให้เป็นแหล่งของนักสะสมฟิกเกอร์ในไทย แต่เพียงไม่กี่ปีก็ต้องปิดตัว

ย้ายไปออนไลน์เป็นหลักได้พักใหญ่ ปัจจุบันเขากับเพื่อนเปิดร้าน Tomorrow Close ที่ชั้น ๒ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วางขายฟิกเกอร์ หนังสือ และสินค้าที่ออกแบบคาแรกเตอร์ที่คิดโดยคนไทย ไม่ใช่แค่เพียงฟิกเกอร์จาก LENARAI แต่ยังรวมถึงสินค้าอื่น ๆ จากคาแรกเตอร์คนไทยที่ไปขายในต่างประเทศอย่างกูกู หรือมิสเตอร์พี จากบริษัท Propaganda 

“ในใจผมคิดไว้อีกหลายโปรเจกต์นะ แต่ทำงานนี้มา ๑๐ กว่าปี หลาย ๆ ปัญหามันทำให้ท้อ เบื่อ ด้วยหลายสาเหตุ...บางทีมันไปพังที่งานโปรดักชัน จ่ายมัดจำไปแล้วผลิตให้ผมไม่ได้เรียกเงินเพิ่ม ผมก็ต้องจ่ายเพิ่ม  งานออกมาช้าผมก็รับหมดในฐานะที่เป็นตัวตั้งตัวตี” อิสรากล่าวผ่านน้ำเสียงที่สะท้อนอารมณ์ทั้งจริงจัง อ่อนล้า ผิดหวัง จนเราสัมผัสได้ว่าของเล่นเหล่านี้กว่าจะสำเร็จออกมานั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ จริง ๆ

เขาทิ้งท้ายถึงวงการฟิกเกอร์ที่ยังเติบโตว่าทุกอย่างมีขึ้นมีลง หากไม่มีการผลิตงานที่สร้างความสนใจให้คนสะสมได้ต่อเนื่อง กระแสเหล่านี้ก็จะหายไปในที่สุด

“ถ้าคุณเป็นศิลปินผลิตฟิกเกอร์มาได้ราคาดี ประสบความสำเร็จ ผมเห็นคุณเป็นตัวอย่าง ผมก็คิดว่าไม่เห็นจะยากอะไรเลย เราก็ผลิตหมีโง่ ๆ ตัวหนึ่งออกมา งานก็ไม่ได้ต่างกันเยอะ แบบนี้มันก็เหมือนเห่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ในตลาดก็จะเต็มไปด้วยผลงานแย่ ๆ คนเสพก็จะแยกไม่ออก สุดท้ายคนก็จะไม่ซื้อ  
“คนทำงานดี ๆ ก็จะถูกเหมารวมไปกับงานแย่ ๆ”
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
www.geekeffect.co.uk/action-figures-article
Facebook : Lenarai Co., Ltd.

Image