Image
ชีวิตในอุดมคติแบบไทยโบราณ คือการมีข้าทาสบริวารคอยรับใช้ มีพาหนะเป็นช้างม้า และมีมหรสพมาให้ดูอยู่ไม่รู้จักจบจักสิ้น
ตุ๊กตาหน้าศาล
รูปย่อของอุดมคติ
“อย่างไทย”
scoop
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“จันทร์เจ้าขา ขอข้าวขอแกง
ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า 
ขอช้างขอม้าให้น้องข้าขี่
ขอเก้าอี้ให้น้องข้านั่ง 
ขอเตียงตั่งให้น้องข้านอน
ขอละครให้น้องข้าดู...”

สมัยนี้จะยังมีใครรู้จักเพลงนี้บ้างไหม ?

“จันทร์เจ้าขา” ก็เหมือนกับเพลงกล่อมเด็กสมัยเก่าอื่น ๆ คือไม่รู้ว่าใครแต่ง แต่งเมื่อไร รู้กันแต่ว่าร้องกันมานานเป็นร้อยปีแล้ว

เมื่อฟังตามเนื้อความ เพลงนี้น่าจะเก่าจริง เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่ในเนื้อร้องกล่าวว่าอยากได้มาให้ “น้อง (ของ) ข้า” ล้วนแล้วแต่เป็น “ชีวิตในอุดมคติ” แบบโบราณ

เช่น ขอแหวนทองแดง ซึ่งคงไม่ได้หมายถึงแหวนที่ทำด้วยโลหะทองแดง แต่น่าจะเป็น “ทอง (คำ)” ซึ่งด้วยกรรมวิธีการทำทองแบบเก่า สีของเนื้อทองที่ได้จะออกแดง ๆ อย่างสำนวนโบราณเมื่อกล่าวว่าใครใส่เครื่องประดับทองคำเต็มตัว ก็จะบอกว่าใส่ทองเสียจน “แดง” ไปหมด ทำนองนั้น

หรือที่อยากมีช้างมีม้าไว้ขี่ ก็เพราะในยุคนั้นช้างม้าคือพาหนะอย่างหรูของคนมั่งมี ดีกว่าต้องเดินเองเป็นไหน ๆ

หรือที่ขอเก้าอี้ไว้นั่ง ขอเตียงไว้นอน ก็เพราะสามัญชนชาวบ้านทั่วไป นั่งพื้นนอนพื้น มีแต่เจ้านายหรือพ่อค้าคหบดีที่จะมีวาสนาได้นั่งเก้าอี้และนอนบนเตียง ยิ่งการร้องขอดูละคร ก็เพราะนั่นคืออภิมหาความบันเทิงขั้นสุดยอดของสังคมแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นหากใครถึงขนาดมีคณะละครของตัวเอง นั่นหมายความว่า คนนั้น หรือท่านผู้นั้น มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่จริง ๆ เพราะต้องมีทรัพย์สมบัติและบารมีมากพอที่จะอุปถัมภ์เลี้ยงดูผู้คนไว้ได้ทั้งคณะละคร เป็นเหมือนมีช่องทีวีส่วนตัว อยากดูต้องได้ดู

ความปรารถนาหรือ “กิเลส” ของมนุษย์เหล่านี้ ถูกนำไปสวมใส่ให้แก่ผีสางเทวดาด้วย ว่าท่านผู้ไม่มีร่างกายเหล่านั้น คงอยากมีช้างมีม้า มีข้าทาสบริวาร และอยากมีคณะละครส่วนตัวไว้ดู

ดังนั้น “ของแก้บน” เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งคงได้แก่สิ่งเหล่านั้นนั่นเอง ดังพบเห็นได้ตามศาลพระภูมิทั่วไป
Image
Image
ฟ้อนรำบำบวง
ธรรมเนียมที่ถือกันว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าโปรดปรานการดูละครฟ้อนรำ พบทั่วไปในอารยธรรมมนุษย์ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณจนถึงในอินเดีย ตามเทวาลัยที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้าจึงต้องมีนางรำอยู่ประจำเพื่อถวายการแสดงให้เทพเจ้าพอพระทัย

ในเมืองไทยเราเองก็คงเคยเห็นว่าศาลและวัดหลายแห่งมักมีคณะละครชาตรีไปตั้งประจำสำหรับเล่นแก้บน หลายวัดก็จับตอนเล่นเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังต่อเนื่อง บางแห่งก็เน้นเพียงชุดรำสั้น ๆ อย่างที่เรียกกันว่า “รำถวายมือ” เช่น ที่ศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ

แต่อย่างที่คงพอนึกออก การแก้บนด้วยการว่าจ้างคณะละครมาแสดงกันจริง ๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินทองมาก ซึ่งไม่ใช่ว่าจะมีกันได้ทุกคน

ขึ้นชื่อว่าคนเรานั้น มักหาวิธี “หลอก” ผีสางเทวดาอยู่เสมอ เคยได้ยินว่ามีผู้ไปบนบานเจ้าพ่อหลักเมืองด้วย “ละครกรมศิลป์” (คงเห็นว่าเจ้าพ่ออาจเบื่อหน่ายละครชาตรีที่ดูประจำอยู่ทุกวัน) ครั้นพอได้สำเร็จตามความต้องการ ถึงเวลาจะแก้บน ก็เรียกแท็กซี่ไปยังศาลหลักเมืองแล้วให้ติดเครื่องจอดรออยู่ก่อน เข้าไปถึงในศาลก็จุดธูปอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมา เปิดประตูเชิญให้ขึ้นรถ แล้วให้แท็กซี่ขับอ้อมรอบสนามหลวงไปโรงละครแห่งชาติ ซื้อตั๋วละครกรมศิลป์สองใบ ให้ตัวเองใบหนึ่ง ให้เจ้าพ่อหลักเมืองใบหนึ่ง เป็นต้น ดูจบแล้วก็เรียกแท็กซี่พาท่านมาส่งที่ศาลหลักเมืองตามเดิม

ทำนองเดียวกัน ตั้งแต่โบราณคนที่ไม่ค่อยมีเงินอย่างที่ภาษาเก่าเขาเรียกว่า “เบี้ยน้อยหอยน้อย” ซึ่งไปบนละครไว้ พอถึงตอนจะแก้บน ก็มักมุบมิบโมเมเอา “ละครยก” ไปถวายแทน เพราะราคาถูกกว่ากันหลายสิบหลายร้อยเท่า
“ละครคน” สู่ “ละครยก”
ข้อเขียนในนิตยสารสมัยรัชกาลที่ ๕ ชื่อ วชิรญาณวิเศษ เมื่อปี ๒๔๓๔ บรรยายสิ่งของแก้บนที่เห็นอยู่ตามหน้าศาลเจ้าว่าได้แก่

“ตุ๊กตาพิมพ์อย่างหนึ่ง สี่ตัวหรือห้าตัวรวมที่เดียวเรียกกันว่าลครยก ๑ รูปช้างรูปม้ารูปเสือซึ่งทำด้วยดินหรือกระดาษ ๑ รูปตุ๊กตาต่าง ๆ นั่งหรือยืน ๑ สิ่งของเหล่านี้สงเคราะห์เข้าในหมู่ตุ๊กตาทั้งสิ้น ผ้าสีชมภูหรือสีแดงผืนน้อย ๆ ห้อยน่าศาล ๑ รวมสิ่งของสี่ห้าอย่าง มักพอใจจะเอามาถวายเจ้าเปนของแก้สินบนชุมกว่าสิ่งของอย่างอื่น ด้วยราคานั้นไม่สู้จะแพงนัก”

“ลครยก” (ละครยก) ที่กล่าวถึงนี้ คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักแล้ว

ละครยกทำเป็นเหมือนโรงละคร หรือเวทีเล็ก ๆ ขนาดกว้างยาวไม่กี่นิ้ว วางตุ๊กตาดินปั้นเป็นตัว ๆ ไม่เป็นรูปเป็นทรงอะไร แล้วระบายสีอย่างหยาบ ๆ สมมุติเอาว่าเป็นตัวละคร จำนวนราวสามถึงห้าตัว  ผู้เขียนเคยเห็นของจริงครั้งสุดท้ายในร้านสังฆภัณฑ์ที่ตลาดเก่าริมน้ำเมืองจันทบุรีเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มานึกทีหลังยังเสียดายที่ไม่ได้ขอเขาถ่ายรูปเอาไว้ แต่ใครที่สนใจอาจพอหาดูรูปได้ในหนังสือ พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง ของอาจารย์โชติ กัลยาณมิตร ผู้ล่วงลับ อาจารย์อธิบายว่า “นอกจากจะใช้นำไปแก้บนตามวัดหรือตามศาลเจ้าแล้ว ยังใช้ถวายศาลพระภูมิอีกด้วย” ดังปรากฏในตำราตั้งศาลพระภูมิสำนวนของขุนจิตรอักษร (สมบูรณ์ โกกิลกนิษฐ ๒๔๓๒-๒๕๐๗) ที่ท่านขุนอธิบายไว้ในหมวด “เครื่องประดับศาลพระภูมิ” ว่า
“เครื่องประดับศาล คือ แจกันประดับดอกไม้พร้อม ๑ คู่ เชิงเทียน ๑ คู่ กระถางธูป ๑ กระถาง ผ้าสีเหลือง หรือชมพู หรือแดง กว้าง ๓ นิ้ว ยาว ๓ คืบ สำหรับผูกรัดอกเจว็ต ๑ ผืน ผ้าห้อยหน้าศาลสีเหลือง หรือแดง ชมพู ขนาดกว้างยาว ๕ นิ้ว ๑ ผืน ม่านแหวกประดับประตูศาลสีเหลือง ชมพู หรือแดง พอเหมาะกับศาล ตุ๊กตาชาย ๑ คู่ หญิง ๑ คู่ ช้างม้า ๑ คู่ ละครยก ๒ โรง...”
ขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีไปยังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๖ ว่าตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ (คงเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ ต่อต้นรัชกาลที่ ๕) เมื่อเสด็จไปวัดบวรนิเวศวิหารครั้งใด

“ก็เคยเห็นละครยก กับทั้งตุ๊กตาและช้างม้าผ้าแดงที่หน้าประตูวัดมีอยู่ไม่ขาด คือเป็นเครื่องแก้สินบนพระชินสีห์”

“พระชินสีห์” ที่ทรงกล่าวถึงนี้ คือพระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัยที่อัญเชิญมาเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น “เจ้า” เป็น “ศาล” หรือเป็น “พระ” ก็มีสิทธิ์ถูกหลอกได้พอ ๆ กัน
Image
กองทัพตุ๊กตาละครรำ ช้างม้า และบริวารหญิงชายที่เหมือนเป็นประจักษ์พยานของความศักดิ์สิทธิ์
โลกที่เปลี่ยนไป
เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น “ละครยก” ค่อย ๆ หายสาบสูญไป แล้วกลายรูปเปลี่ยนร่างเป็นตุ๊กตาละครรำพลาสติก สีสันฉูดฉาด โรยกากเพชร อย่างที่เห็นกันทั่วไป

ถึงจะมีผู้คิดประดิษฐ์ศาลพระภูมิแบบใหม่ ๆ ที่วิลิศมาหราเป็นทรงโมเดิร์น ทรงจตุรมุขโรมัน และทรงรีสอร์ตกันมากมาย แต่คนก็ยังเชื่อว่าพระภูมิเทวดาท่านก็ยังคงสวมชฎา ถือพระขรรค์ นุ่งผ้าโจงกระเบน และพึงใจกับเครื่องประดับบารมีรุ่นดึกดำบรรพ์อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เราจึงพบเห็นตุ๊กตาช้างม้า ข้าทาสบริวาร และละครรำ ตั้งถวายไว้เกลื่อนกลาดตามหน้าศาลพระภูมิ รวมไปถึงศาลตายาย ศาลพระพรหม และศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่สารพัด

จำนวนของตุ๊กตาช้างม้านางรำยังอาจนับเนื่องเป็นดัชนีชี้วัดความศักดิ์สิทธิ์ของศาลแห่งนั้น ๆ ได้อีกด้วย ดังจะเห็นว่าถ้าที่ไหนที่คนนับถือกันมาก มาบนบานแล้วได้ตามต้องการมากเท่าไร กองทัพตุ๊กตาที่เรียงแถวล้อมรอบศาลก็จะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

จากการลองสำรวจตลาด พบว่าเดี๋ยวนี้ตุ๊กตาศาลพระภูมิมีวางขายทั่วไป นอกจากตามร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง เช่นตามร้านสังฆภัณฑ์แล้ว ยังมีตั้งเรียงแถวอยู่ในห้างสรรพสินค้า บางเจ้ามีฉลากอธิบายไว้ว่าเป็น “สินค้าเพื่อโชคลาภและสิริมงคล” ขณะที่อีกเจ้าหนึ่งมีสติกเกอร์บ่งบอกวิธีใช้ว่า “ใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์” อาจด้วยเหตุนั้น แม้แต่ราคาจำหน่ายจึงเป็นพวกจำนวนมงคลที่ลงท้ายด้วยเลข ๙ อย่างที่พบเห็นในห้างใหญ่แห่งหนึ่งวางขายตุ๊กตาศาลพระภูมิเป็นชุดคือ มีชุดช้างม้า ชุดบริวารชายหญิง และชุดละครรำชายหญิง ทุกชุดตั้งราคาเดียวกันคือ ๑๙๙ บาท

จาก “ละครยก” ที่เป็นตุ๊กตาดินปั้นหยาบ ๆ ทุกวันนี้ ตุ๊กตาศาลพระภูมิที่มีขายกันมีพัฒนาการไปในแง่วัสดุและฝีมือช่างอย่างยิ่ง อย่างราคาถูกที่สุดคือตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์ระบายสีฉูดฉาด กับอีกพวกหนึ่งคือที่ทำด้วยพลาสติกปั๊ม ประดับกากเพชรวูบวาบ

ส่วนที่ราคาสูงขึ้นไปอีกคือตุ๊กตาศาลพระภูมิเนื้อกระเบื้องเคลือบ เขียนลายเบญจรงค์ ว่ากันว่าเกือบทั้งหมดที่มีวางขายกันในท้องตลาด ล้วนมีต้นทางมาจากโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
Image
ลักษณะเฉพาะของตุ๊กตาจากโรงงานสิรินไทยฯ คือ ผิวเนื้อสีธรรมชาติ ผ้านุ่งลวดลายเบญจรงค์ และปิดทองด้วยทองคำเปลวแท้
ผู้สร้างเทวดาและตายาย
ปลายปีเก่าต่อต้นปีใหม่แบบนี้ถือเป็น “ช่วงพีก” ของวงจรการผลิตตุ๊กตาประดับศาลในรอบปี กล่องกระดาษแนบป้ายระบุปลายทางต่าง ๆ กันทั่วประเทศ วางเรียงเข้าแถวเต็มพื้นโชว์รูม ถัดเข้าไปสองข้างทางเดินในห้องสำนักงานก็มีลังพลาสติกบรรจุชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วพร้อมแพ็กส่งลูกค้าซ้อนกันอยู่สูงถึงระดับอกระดับเอว  เมื่อมองลงไปในแต่ละลังเห็นแถวแนวของยอดชฎาเรียวแหลมอันน้อย ๆ สีทองอร่ามโผล่มาจากวัสดุกันกระแทกที่ห่อหุ้มไว้อย่างแน่นหนา ด้านหลังคือห้องกระจกที่เป็นเวิร์กช็อป มีช่างเขียนนับสิบซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง ง่วนอยู่กับการเนรมิตเสื้อผ้าหน้าผมให้ตุ๊กตาดินเผาตัวน้อยด้วยฝีมือแม่นยำเชี่ยวชาญ

เรวดี พูลเกษม หรือ “คุณนก” ฝ่ายบัญชีของบริษัทสิรินไทยเซรามิค จำกัด อธิบายให้ฟังระหว่างที่เราไปยืนดูช่างเขียนลายว่า ช่วงต้นปีคือตั้งแต่ปีใหม่ เดือนมกราคมถึงตรุษจีน ต่อเนื่องไปถึงสงกรานต์ปีใหม่ไทย จะเป็นระยะเวลาที่มีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามามากที่สุด เพราะเป็นเวลาที่คนนิยมเปลี่ยนตุ๊กตาประดับศาล

โดยทั่วไปตามบริษัทห้างร้านในเมืองไทยปัจจุบันมักนิยมตั้งศาลอย่างน้อยที่สุดสองศาลคู่กัน คือศาลพระภูมิกับศาลตายาย  จุดสังเกตคือ ศาลพระภูมิจะเป็นศาลเสาเดียว ส่วนศาลตายายจะตั้งอยู่บนหลายเสา อาจจะสี่ หก หรือแปดต้นคล้ายกับเสาเรือน และมักมีบันไดเล็ก ๆ พาดไว้ให้ที่หน้าศาลตายายด้วย ตรงข้ามกับศาลพระภูมิจะไม่มีบันได อาจเพราะถือกันว่าพระภูมิท่านเป็นเทวดา เหาะลงมาที่ศาลเองได้ ส่วนศาลตายายคือศาลเจ้าที่เจ้าทาง เป็นวิญญาณที่อยู่ติดที่ดินมาแต่เดิม จึงต้องทำบันไดเผื่อไว้ให้ท่านขึ้นไปบนศาล
Image
Image
ตุ๊กตาทุกตัวคืองานฝีมือที่ต้องใช้ทักษะและความชำนาญในระดับสูง ช่างเขียนจึงได้รับค่าแรงเป็นรายชิ้น
ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ของโรงงานสิรินไทยฯ มีตั้งแต่ประติมากรรมองค์พระภูมิชัยมงคล ตุ๊กตาตายาย ไปจนถึงบริวาร  คุณนกขยายความว่า เวลาลูกค้าจะเปลี่ยนตุ๊กตาศาลพระภูมิทีหนึ่ง ส่วนใหญ่มักเก็บองค์ประธานของศาล คือรูปพระภูมิและรูปตายายไว้ แต่เปลี่ยนถวายบริวารให้ใหม่ ซึ่งโดยพื้นฐานทั้งสองศาลจะมีเหมือนกัน ได้แก่ บ่าวรับใช้ชายหญิงคู่หนึ่ง (สองตัว) ละครรำชายหญิงสองคู่ (สี่ตัว) กับช้างม้าอีกคู่ (สองตัว) ซึ่งถ้าเป็นของที่นี่แล้ว

“แค่ตุ๊กตาบริวารของสองศาล ถ้าเปลี่ยนหมดทั้งชุดก็เกือบหมื่นค่ะ” เธออธิบาย

คุณเรวดีเล่าเสริมว่า ลูกค้าบางรายอาจมีความต้องการพิเศษ เช่น บางคนบอกว่า ตายายของที่บ้านเขา (ตามที่เคยฝันเห็นหรือมีพระมีหมอดูนั่งทางในไว้) ไม่ได้นุ่งผ้าลายไทยอย่างตุ๊กตาที่ทำขายปรกติ แต่นุ่งผ้าขาวม้า เจอเข้าแบบนี้เธอว่าถ้ามีเวลาเพียงพอ ทางโรงงานก็สามารถประสานให้ช่างช่วยเขียนลายเฉพาะตัวได้
ความเชื่อคือความสบายใจ
“เราเป็นรายแรกและรายเดียวของประเทศที่ทำตุ๊กตาประดับศาลด้วยเบญจรงค์” สันธาน ชัยจินดา กรรมการผู้จัดการของสิรินไทยฯ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

จากอดีตผู้จัดการสาขาธนาคาร ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เขาตัดสินใจเข้าร่วมโปรแกรม “เออร์ลีรีไทร์” ของทางธนาคาร แล้วนำเงินก้อนที่ได้รับมาลงทุนในกิจการส่วนตัวที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่มองเห็นและเชื่อมั่นว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต คือการผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาเซรามิกในรูปแบบไทย ๆ

บริษัทสิรินไทย เซรามิค จำกัด จดทะเบียนในเดือนมกราคม ๒๕๔๒ หลังจากลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง ในที่สุดตุ๊กตาเด็กผมจุกที่ถือกำเนิดจากความคิดของคุณสันธานก็กลายเป็นสินค้าขึ้นหน้าขึ้นตา ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศในวาระสำคัญ เช่นเป็นของขวัญแก่ผู้นำมิตรประเทศ หลายครั้ง

หนุ่มใหญ่ผู้ก่อตั้งสิรินไทยฯ เล่าว่า ตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา ในฐานะนักการตลาด เขาต้องคอยมองหาช่องทางนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ที่จะเป็นที่ต้องการของลูกค้า  ราวปี ๒๕๔๕ เขาเริ่มทดลองนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่วงการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “เรามองสิ่งที่คนไม่มอง คือของตั้งศาล เราผลิตตุ๊กตาอยู่แล้ว เลยหาช่างปั้นมาลองทำดู”
สันธาน ชัยจินดา ผู้ริเริ่มธุรกิจผลิตตุ๊กตาหน้าศาลเนื้อกระเบื้องพอร์ซเลน เขียนลายเบญจรงค์
เริ่มต้นจากการผลิตตุ๊กตาตายาย ซึ่งเขาขนานนามเองว่า “คุณยายเงินมา คุณตาทองมี” จนถึงปัจจุบัน ตุ๊กตาศาลพระภูมิของสิรินไทยฯ ซึ่งเป็นเซรามิกเนื้อพอร์ซเลน เขียนลายด้วยเทคนิคแบบเดียวกับเครื่องถ้วยเบญจรงค์ กลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทถึงร้อยละ ๗๐ แซงหน้ากลุ่มตุ๊กตาเด็กหัวจุกที่เป็น “ของที่ระลึก” อย่างเด็กเล่นโขน หรือเด็กเชิดหนังใหญ่ อันเป็นสินค้าขายดีแต่เดิมไปเรียบร้อยแล้ว

“ของเราไม่ถูก แต่ก็ไม่ได้แพงมาก...ของถูกแล้วดีไม่มีในโลก” คุณสันธาน หรือที่คนในโรงงานเรียกกันว่า “พี่หมู” กล่าวกลั้วเสียงหัวเราะ สิ่งที่เขานำเสนอมาตลอดคือชี้ชวนให้ลูกค้าเปลี่ยนความคิดใหม่ ว่าหากแต่ละแห่งตัดสินใจลงทุนไปกับตัวศาลเป็นหลักแสนได้ แต่แล้วกลับเอาตุ๊กตาพลาสติกราคาถูกไปตั้งประดับก็ย่อมไม่เข้ากัน ตรงกันข้ามหากเลือกตุ๊กตาประดับศาลที่เป็นเบญจรงค์ฝีมือดีก็ย่อมเป็นศรีสง่าแก่ สถานที่นั้น ๆ รวมถึงเป็นสิ่งที่ผู้พบเห็นมักต้องออกปากถามไถ่กันเลยทีเดียว

“เวลาไปตามโรงแรมสวย ๆ โรงงานใหญ่ ๆ แล้วเห็นว่านั่น (ตุ๊กตาประดับศาล) ของเรานี่ เห็นแล้วก็ภูมิใจ”

เมื่อลองถามว่า ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นยุคนี้ มีผลกระทบกับสินค้ากลุ่มตุ๊กตาประดับศาลของสิรินไทยฯ บ้างหรือไม่ คำตอบของคุณสันธานคือ

“เศรษฐกิจจะร่วงจะรุ่งผมขายได้ตลอด  เศรษฐกิจตก คนก็ต้องหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ยิ่งเศรษฐกิจดีก็ยิ่งดี คนก็ซื้อตุ๊กตาถวายใส่เข้าไปอีก...
“ความเชื่อคือความสบายใจ” 
อ้างอิง
แก้ปัญหาพยากรณ์ ที่ ๑๒ ตอนที่ ๑. วชิรญาณวิเศษ.ปีที่ ๑๖ เล่ม ๓ (มกราคม ร.ศ. ๑๐๙).

จิตรอักษร, ขุน. จิตรอักษรานุสรณ์ เจ้าบ้านกับศาล
พระภูมิ ตำราทำนายฝัน และปฏิสนธิกฤตลักษณ์. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนจิตรอักษร (สมบูรณ์ โกกิลกนิษฐ) พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งนคร, ๒๕๐๘. 

โชติ กัลยาณมิตร. พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและ
ศิลปเกี่ยวเนื่อง. กรุงเทพฯ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ๒๕๑๘.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๖. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๕.