MARIAM

จาก “มาเรียม”
สู่พะยูน ๒๕๐ ตัวสุดท้าย
ในประเทศไทย

เรื่องและภาพ : ณภัทร เวชชศาสตร์

“พะยูน”
สิ่งมีชีวิตตัวอ้วนกลม สีผิวเทาปนชมพู หน้าตาน่ารัก ดูขี้เล่น เป็นมิตร และเคลื่อนไหวเชื่องช้า ใครเห็นเป็นต้องหลงรักหัวปักหัวปำ เฉกเช่นเดียวกันกับผม

ครั้งแรกที่ผมเห็นพะยูนตัวจริงที่ไม่ใช่ในจอ ยังคงเป็นภาพที่ประทับใจเสมอ
       เพียงไม่กี่ร้อยเมตรเหนือผิวน้ำจากมุมมองเครื่องบินสำรวจ ฝูงพะยูนกว่า ๕๐ ตัวกำลังแหวกว่ายหาอาหารในช่วงน้ำขึ้น
       พะยูนเฒ่าตัวใหญ่แผ่นหลังสีขาวบ่งบอกถึงประสบการณ์ที่ยาวนานตามอายุขัย   
       พะยูนคู่แม่ลูกว่ายคลอเคลียกันดูแล้วอบอุ่นใจ บ้างก็ว่ายดำดิ่งลงดุนพื้นหาหญ้าทะเล
       ภาพพะยูนในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ สวยงามจนยากจะบรรยาย แต่เบื้องหลังความน่ารักของพวกมัน กลับเป็นเรื่องราวที่ยากจะหายใจได้ทั่วท้อง
       ชีวิตของพะยูนกว่า ๒๕๐ ตัวในท้องทะเลไทยยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้าย รอคอยการต่อลมหายใจไม่ให้พวกมันสูญพันธุ์ไป จึงเป็นหน้าที่ของเหล่านักอนุรักษ์ที่ต้องช่วยกันดูแล ไม่ให้พวกมันเหลือไว้แต่เพียงภายถ่ายและความทรงจำ
       ตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา ผมติดตามและถ่ายทอดสถานการณ์ของพะยูนและการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจอนุรักษ์พะยูนด้วยความสนใจส่วนตัว จุดเริ่มต้นของผมย้อนไปตั้งแต่ตอนทำโครงงานในฐานะนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ชั้นปีที่ ๔ โดยจัดทำนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับพะยูนเป็นงานก่อนจบการศึกษา เนื่องจากสถานการณ์พะยูน ณ ปัจจุบันค่อนข้างน่าเป็นห่วง และยังไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก ผมจึงเลือกจับประเด็นนี้ และทำต่อเนื่องมาหลังเรียนจบ
       ไม่เคยคิดเลยว่า “พะยูน” จะทำให้โลกของผมเปลี่ยนไปตลอดกาล
ภาพถ่ายจากการบินสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561 
 
พบฝูงพะยูนกําลังออกแหวกว่าย
 
และหากินในช่วงนํ้าขึ้น บริเวณแหลมจูโหย จังหวัดตรัง
 

ทีมสำรวจประชากรพะยูน

เช้าวันหนึ่งในช่วงเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๑ แสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าสาดเข้ามาในโรงเก็บเครื่องบินจังหวัดตรัง กลิ่นน้ำมันฟุ้งไปทั่ว สลับกับเสียงเครื่องยนต์ของเครื่องบินโดยสารลำใหญ่ เสียงดังหึ่งๆ ของใบพัด
        เครื่องยนต์ของเครื่องบินสำรวจลำสีเหลือง นามเรียกขานว่า HS-EAL เป็นเครื่องบินขนาดสองที่นั่ง บริเวณห้องโดยสารและห้องบังคับผ่านการดัดแปลงเพื่อการสำรวจโดยเอาประตูออก บริเวณแพนหางทางดิ่งติดสติ๊กเกอร์อ่านว่า The Flying Scouts พร้อมกับภาพโลโภ้ “พะยูนขับเครื่องบิน”

       เช้าวันหนึ่งในช่วงเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๑ แสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าสาดเข้ามาในโรงเก็บเครื่องบินจังหวัดตรัง กลิ่นน้ำมันฟุ้งไปทั่ว สลับกับเสียงเครื่องยนต์ของเครื่องบินโดยสารลำใหญ่ เสียงดังหึ่งๆ ของใบพัด
        เครื่องยนต์ของเครื่องบินสำรวจลำสีเหลือง นามเรียกขานว่า HS-EAL เป็นเครื่องบินขนาดสองที่นั่ง บริเวณห้องโดยสารและห้องบังคับผ่านการดัดแปลงเพื่อการสำรวจโดยเอาประตูออก บริเวณแพนหางทางดิ่งติดสติ๊กเกอร์อ่านว่า The Flying Scouts พร้อมกับภาพโลโภ้ “พะยูนขับเครื่องบิน”
       ทุกปีในช่วงฤดูร้อน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะร่วมกับทีม The Flying Scouts สำรวจประชากรสัตว์ทะเลหายากที่กำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ เช่น โลมา วาฬ พะยูน แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาบันทึกเป็นสถิติ เพื่อหาแนวทางการป้องกันและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์เหล่านั้น จากข้อมูลที่พบชี้ให้เห็นว่า มนุษย์คือตัวการใหญ่ในการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลหายากนี้ทั้งสิ้น ทั้งปัญหาการจัดการขยะ เครื่องมือประมง การพัฒนาแนวชายฝั่ง และผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสีย
       ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติภารกิจสำรวจ คือช่วงเวลาน้ำขึ้น สภาพอากาศแจ่มใส ไม่มีลมแรง เพราะเป็นช่วงเวลาที่พะยูนจะออกหากินในเขตน้ำตื้น
       ก่อนที่เครื่องบินจะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเริ่มภารกิจที่ได้รับมอบหมาย กัปตันชาวอังกฤษนาม “เอ็ด” ผู้ดูแลเครื่องบิน เริ่มสาธิตวิธีปฏิบัติตัวเพื่อเอาตัวรอดยามเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างละเอียด จากนั้นกัปตันเอ็ดและทีมสำรวจจะนำอุปกรณ์ทุกชิ้นมาตรวจสอบความพร้อม รวมทั้งซ้อมใช้จริงเพื่อความคล่องตัวและป้องกันเหตุขัดข้องระหว่างการทำงานให้มากที่สุด เนื่องจากเครื่องบินลำนี้ไม่มีประตูที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันลม ดังนั้นอุปกรณ์ทุกชิ้นจะคล้องคอไว้ไม่ให้ลมพัดปลิวไป หรือหากไม่สามารถคล้องคอก็จะวางอุปกรณ์ไว้หลังพนักเก้าอี้ โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพ

Image
        ทุกๆ ขั้นตอนการปฏิบัติงานจะถูกซ้อมจนคล่องแคล่ว จำลองสถานการณ์ว่าหากบินเจอวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือประมง เรือ หรือสัตว์ทะเล เจ้าหน้าที่จะต้องหยิบเครื่องมือบันทึกข้อมูลขนาดเท่ากำปั้น มีหน้าจอใหญ่แสดงแผนที่ และหมายเลขพิกัด ขึ้นมาบันทึกพิกัดตำแหน่งที่พบวัตถุไว้ แล้วจึงต่อด้วยการบันทึกเสียงในเครื่องบันทึกขนาดเล็กเท่าโทรศัพท์ ระบุหมายเลขพิกัด เวลา และรายละเอียดว่าเจออะไร
       ขั้นตอนถัดมาถึงจะหยิบกล่องถ่ายภาพจากหลังพนักเก้าอี้ขึ้นมาถ่ายภาพ เจ้าหน้าที่ต้องทดสอบการเคลื่อนไหวของร่างกายว่าหยิบอุปกรณ์ต่างๆ ถนัดหรือไม่ เพื่อให้บันทึกข้อมูลและถ่ายภาพสัตว์ทะเลหายากได้ทันเมื่อพบเจอ
        เมื่อการฝึกซ้อมสำเร็จเป็นที่น่าพอใจแล้ว ก็จะมีการตรวจเช็คน้ำมันและเครื่องยนต์ของเครื่องบิน ไม่นานเครื่องยนต์ก็ถูกจุดติด เสียงใบพัดดังหึ่มๆ กลบเสียงรอบข้างไปโดยปริยาย นักบินและเจ้าหน้าที่ต่างสวมหูฟังพร้อมไมค์สื่อสาร
        “Cleared for take off” กัปตันเอ็ดทวนคำพูดของหอบังกับการบิน เป็นสัญญาณว่าพร้อมจะขึ้นบินแล้ว คันเร่งถูกโยกไปข้างหน้า พร้อมกับความเร็วที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทั้งนักบินและเจ้าหน้าที่หลังติดเบาะ 


เจ้าหน้าที่ต้องทดสอบการเคลื่อนไหวของร่างกายว่าหยิบอุปกรณ์ต่างๆ ถนัดหรือไม่...


        เครื่องบินแล่นไปตามรันเวย์จนถึงความเร็วที่เหมาะสม หัวเครื่องบินค่อยๆ เชิดขึ้น เครื่องบินไล่ระดับไต่เพดานการบินขึ้นสูง และเลี้ยวมุ่งหน้าสู่บริเวณท้องทะเลแห่งจังหวัดตรัง บ้านของพะยูนรวมฝูงที่ใหญ่ที่สุดฝูงสุดท้ายของประเทศไทย
        ระหว่างบินเหนือแนวชายหาด กัปตันจะคอยสอดส่องสายตาสู้แดดยามเที่ยงที่สะท้อนผิวน้ำทะเล ผมก็คอยมองอีกฝั่งหนึ่ง ด้วยใจที่หวังจะพบพะยูน
        “เจอแล้ว” กัปตันพูดผ่านไมค์ พร้อมโยกคันบังคับเครื่องบินไปทางขวาเพื่อให้ฝั่งผมได้เห็นและบันทึกภาพ
        ภาพของพะยูนตัวที่หนึ่งค่อยๆ โผล่ขึ้นมา จากหนึ่งตัว เป็นสองตัว ห้าตัว สิบตัว จนเห็นพฤติกรรมของทั้งพะยูนฝูงใหญ่
        กัปตันบินรอบเหนือฝูงพะยูนที่ระดับความสูงไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ เมตร เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนพวกมัน ภาพที่เห็นทำให้เราต่างอิ่มเอมใจ หวังว่าในอนาคตพะยูนฝูงนี้จะสามารถอยู่รอดในอนาคตท่ามกลางการพัฒนาแนวชายฝั่งที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง
       ไม่ใช่เพียงแค่จังหวัดตรัง เกาะลิบง แต่เป็นพะยูนทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย

ตำนานพะยูน
จากเจ้าโทนถึงมาเรียม

วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๒ ชาวบ้านบริเวณแหล่งหญ้าอ่าวทึง-ปอดะ จังหวัดกระบี่ พบลูกพะยูนเพศเมีย ผิวนวลชมพู ขึ้นมาเกยตื้น ภายนอกไม่พบบาดแผลเท่าไรนัก จึงช่วยกันอุ้มลูกพะยูนไปปล่อยบริเวณน้ำลึกเพื่อให้มันกลับแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ
        ผ่านไปเพียงข้ามคืน ชาวบ้านก็พบเห็นลูกพะยูนตัวเดิมกลับมาว่ายวนเวียนอยู่บริเวณเดิมอีก มันยังว่ายมาเลียบเคียงเรือหางยาว ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าพะยูนน้อยจะได้รับบาดเจ็บ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ให้ดำเนินการหาทางแก้ไข เจ้าหน้าที่จึงนำลูกพะยูนไปปล่อยบริเวณน้ำลึกอีกครั้ง ทว่าวันรุ่งขึ้นมันก็ว่ายกลับมาบริเวณชายฝั่งอีกเป็นครั้งที่สาม เจ้าหน้าที่สรุปความเห็นว่าลูกพะยูนผิวนวลชมพูตัวนี้คงพลัดหลงกับแม่เสียแล้ว และตัดสินใจนำมันไปยังบ่ออนุบาลที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการชั่วคราวก่อนที่จะดำเนินการดูแลในลำดับต่อไป
        .....................

        ในอดีตเคยมีลูกพะยูนหลายตัวที่ได้รับการช่วยเหลือและอนุบาลไว้ในบ่อช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก
        ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๒ ที่จังหวัดภูเก็ต “ก๊อง” พะยูนเพศเมีย ขนาด ๑๖๕ ซม. ว่ายน้ำเข้ามาติดเครื่องมืออวนลอยของชาวประมง
        ด้วยลักษณะที่เหมือนเงือก ทำให้ชาวบ้านต่างลือว่าศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ตจับเงือกตัวเป็นๆ ได้ ผู้คนต่างให้ความสนใจอย่างมากและอยากมาดูให้เห็นกับตา แต่สิ่งที่เห็นเบื้องหน้ากลับเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตคล้ายหมูในท่อนบน และท่อนล่างมีหางสองแฉกคล้ายโลมา
        พะยูนเปรียบเสมือนเทพธิดาแห่งท้องทะเล ตั้งแต่สมัยโบราณมีเรื่องเล่าปรากฏในนิทานและตำนานพื้นบ้าน ดังตำนานโด่งดังของเกาะลิบงที่สะท้อนถึงความผูกพันของชาวบ้านและพะยูนที่มีมายาวนาน ซึ่งผมมีโอกาสได้รับฟังจากผู้เฒ่านาม ชายโหด จิเหลา ที่อาศัยอยู่ในบ้านเล็กๆ บนเกาะลิบง จังหวัดตรัง

Image
        ผู้เฒ่าเล่าตำนานด้วยสำเนียงใต้ว่า ณ บริเวณชุมชนชายฝั่งทะเลห่างไกลจากผู้คน มีชายหญิงแต่งงานอาศัยอยู่ร่วมกันมานาน แต่ไม่มีทายาทสืบสกุล จนวันหนึ่งฝ่ายหญิงก็เกิดตั้งครรภ์ ทำให้สามีดีใจอย่างมาก ตั้งใจดูแลภรรยาอย่างดีที่สุด เวลาผ่านไป ๔ เดือนกว่า นางเริ่มเกิดอาการแพ้ท้องทำให้พฤติกรรมต่างๆ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการกิน “นางเปลี่ยนจากอาหารข้าวปลาทั่วไป เป็นผลหญ้าชะเงาแทน” (หญ้าชะเงาเป็นหญ้าทะเลชนิดหนึ่ง)
        ยิ่งท้องแก่ขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการผลหญ้าชะเงาก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จนสามีเก็บไม่ทันตามความต้องการของนาง วันหนึ่งหญิงท้องแก่ทนรอสามีไม่ไหวจึงเดินออกจากเรือนมาลงทะเล กินผลหญ้าชะเงาไปเรื่อย ๆ จนไม่ทันสังเกตกระแสน้ำที่เอ่อท่วมขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนมิดหญ้าและตัวนาง ทำให้นางจมหายไปใต้น้ำ
        เมื่อสามีที่ออกไปจับปลากลับมาบ้านถึงพบว่าภรรยาไม่อยู่เสียแล้ว จึงรีบออกตามหาด้วยความเป็นห่วง แต่โชคร้าย เขาไม่พบแม้แต่วี่แววของนาง มีเพียงคำบอกใบ้ที่ปรากฏขึ้นในความฝันของเขาว่าให้ออกตามหานางในคืนพระจันทร์เต็มดวง “เมื่อถึงคืนพระจันทร์เต็มดวง เขาก็จะเจอนางผู้นั้น”
        ชายหนุ่มออกเรือในคืนพระจันทร์เต็ม ลอยลำไปตามนิมิตที่ตนเห็น ทันใดนั้น เงาตะคุ่มๆ ก็ค่อยๆ เข้ามายังเรือ ชายหนุ่มดีใจสุดขีดเมื่อพบว่าร่างเงาดำนั้นคือภรรยาสุดที่รัก
        ชายหนุ่มกระโจนลงน้ำทะเลหวังจะพาเธอขึ้นเรือกลับบ้าน แต่ฝ่ายภรรยาร้องห้ามว่า ตนไม่อาจกลับขึ้นฝั่งเฉกเช่นมนุษย์ เนื่องจากร่างกายส่วนล่างได้เปลี่ยนเป็นปลาไปเสียแล้ว


“ตำนานเรื่องนี้ถูกเล่ามานานแสนนาน ถึงความรักความผูกพันของมนุษย์กับพะยูน”


        นางขอให้ชายหนุ่มอย่าได้โศกเศร้า เพราะถึงแม้นางจะไม่อาจกลับไปเป็นมนุษย์ แต่นางก็จะยังรักชายหนุ่มเสมอไป
        “ตำนานเรื่องนี้ถูกเล่ามานานแสนนาน ถึงความรักความผูกพันของมนุษย์กับพะยูน” ชายเฒ่าผิวตัวกล้าแดดจบเรื่องเล่าของแกก่อนจะเดินกลับเข้ากระท่อม
        ในสมัยก่อน ชาวประมงบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง มีความผูกพันกับพะยูนมาก เพราะในช่วงออกย่ำเลหาปลา มักเจอพะยูนขึ้นมาหายใจบ่อยครั้ง
        ลองนึกภาพว่าเราเป็นชาวประมงเมื่อ ๒๐ ปีก่อนที่ทุกครั้งเวลาออกหาปลาท่ามกลางคลื่นลมทะเลและไอเกลือ เราจะได้ยินเสียงที่คุ้นเคย คือเสียงหายใจเข้าเฮือกใหญ่ เสียงนี้จะเป็นสิ่งมีชีวิตไหนไปไม่ได้นอกจากพะยูน
        ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป บรรดาเครื่องมือประมงได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อเอื้อให้เราจับปลาจำนวนมากขึ้นในเวลาที่น้อยลง ทำให้ระยะเวลาออกทะเลลดลง และช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวประมง แต่ในอีกด้านกลับกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะเครื่องมือและเทคนิคการทำประมงสมัยใหม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อพะยูน ไม่ว่าการระเบิดปลาตามแนวปะการัง หรือการใช้อวนล้อม
        จุดจบของพวกมันไม่พ้นความบาดเจ็บ หรือความตาย นานปีเข้าจำนวนของเจ้าพะยูนก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ

Image
        ความผูกพันระหว่างมนุษย์และพะยูนกลับมาแน่นแฟ้นขึ้นอีกครั้งเมื่อปี ๒๕๓๖ ด้วยการมาของ “เจ้าโทน” พะยูนน้อยเพศเมียวัย ๖ เดือน ณ หาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง
        เดิมทีนั้นพะยูนตัวนี้เคยถูกเรียกว่า “เจ้าอาย” ถูกพบพลัดหลงจากฝูงมาว่ายวนเวียนแถวกระชังปลาเก๋าที่อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง และต่อมาได้รับการดูแลโดยนักวิชาการผู้บุกเบิกเรื่องราวการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก คือ ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล (๒๕๐๕-๒๕๕๘) หรือที่ในวงการสัตว์ทะเลหายากรู้จักเธอในนาม “พี่ตึก”
        เจ้าอายได้รับการเลี้ยงดูอย่างแข็งแรงในบ่อพักฟื้นที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนนำมาปล่อยที่บริเวณหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง ด้วยเหตุผลว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีพะยูนอยู่เยอะ เป็นแหล่งอาศัยที่มีความอุดมสมบูรณ์ของหญ้าทะเลอันเป็นอาหารโปรดของพวกมัน จึงเหมาะสมในการปล่อยลูกพะยูนให้เติบโตตามธรรมชาติ
       เจ้าหน้าที่ย้ายเจ้าอายมาอยู่จังหวัดตรังอย่างเงียบๆ ทำให้เรื่องนี้ไม่เป็นที่รับรู้ของชาวบ้าน แต่ไม่นานก็เกิดเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านแปลกใจ เมื่อมักพบพะยูนตัวหนึ่งที่ค่อนข้างคุ้นเคยกับมนุษย์ ว่ายเข้าหาเรือเป็นประจำ ด้วยความคุ้นเคยกันมากขึ้น ชาวบ้านจึงตั้งชื่อให้ว่า “เจ้าโทน” ภายหลังเมื่อเจ้าหน้าที่มาพบและได้ศึกษารอยตำหนิตามตัวเจ้าอาย จึงสรุปได้ว่า “เจ้าโทน” ก็คือเจ้าอายที่เคยอยู่ที่บ่อเลี้ยงในจังหวัดภูเก็ตนั่นเอง
        ด้วยความน่ารักและความเชื่องของเจ้าโทน เพียงแค่ใช้มือแตะผิวน้ำบริเวณแหล่งหญ้าทะเลในเขตน้ำตื้น มันจะก็ว่ายเข้ามาหาทันที ผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ต่างสนใจพะยูนตัวนี้มากขึ้น บ้างแวะเวียนมาเยี่ยมชมและถ่ายรูปพะยูนน้อยอย่างใกล้ชิด เจ้าโทนได้รับการยอมรับว่าเป็นพะยูนที่เชื่องที่สุด ผิดกับพะยูนตัวอื่นๆ ที่จะมีอาการตื่นกลัวคน แต่ท้ายที่สุด เพียง ๙ เดือนหลังจากเจ้าโทนมาอยู่ที่หาดเจ้าไหม เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๗ ในช่วงหน้ามรสุม ชาวตรังก็ต้องสูญเสียเจ้าโทนไป เนื่องจากมันว่ายไปติดอวนลอย...จนตาย
        กระดูกเจ้าโทนนำมาเก็บไว้ที่โรงเรียนบ้านน้ำราบ ซึ่งปัจจุบันกระดูกบางส่วนได้ผุพังไป ส่วนที่เหลือยังเก็บไว้กับนายหย่าเหตุ หะหวา ผู้เคยเลี้ยงดูเจ้าโทนตอนย้ายมาที่จังหวัดตรัง
        เหลือเพียงความทรงจำ ความผูกพัน และความน่ารักของเจ้าพะยูนน้อยที่นำมาเล่าสืบต่อไป

Image
       เวลาผ่านไป ๒๖ ปีก็เกิดเหตุการณ์ให้เราหวนนึกถึงเจ้าโทนอีกครั้ง เมื่อลูกพะยูนน้อยเพศเมียพลัดหลงแม่ วัยใกล้เคียงเจ้าโทน ได้รับการเคลื่อนย้ายจากบ่อพักฟื้นจังหวัดภูเก็ตมาที่จังหวัดตรัง ด้วยเหตุผลเดียวกันว่าบริเวณจังหวัดตรังมีแหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารหลักที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด
       ครั้งนี้พะยูนน้อยขนาดตัวยาว ๑.๒๐ เมตร ถูกปล่อยลงทะเลในกลางดึกคืนวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๒ บริเวณหน้าแหลมจูโหยของเกาะลิบง ด้วยความหวังว่ามันจะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติดังที่ควรจะเป็นในฐานะสัตว์ทะเลตัวหนึ่ง


“มาเรียม” หมายถึงผู้หญิงที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล


       ทว่าเหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น พะยูนน้อยกลับมาว่ายคลอเคลียกับเรือหางยาว ณ ชายฝั่งบริเวณชุมชนเกาะลิบง ซึ่งหลายคนต่างสันนิษฐานว่ามันคงเชื่อว่าบริเวณนี้คือสถานที่ปลอดภัยสำหรับมัน และด้วยความน่ารักของพะยูนน้อย ชาวบ้านจึงร่วมกันตั้งชื่อให้มันว่า “มาเรียม” หมายถึงผู้หญิงที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล
        มาเรียมชอบว่ายอยู่บริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชันติดทะเล เปรียบเสมือนเกราะป้องกันลมและคลื่นในช่วงมรสุมให้พะยูนน้อยได้อาศัย ทั้งบริเวณหน้าเขายังมีแหล่งหญ้าทะเลของโปรดอีกด้วย
       ทว่าด้วยความที่มาเรียมไม่ได้รับการเลี้ยงดูและเติบโตตามธรรมชาติ ไม่ได้คลุกคลีกับแม่พะยูนและการดำรงชีวิตด้วยหญ้าทะเลเป็นอาหาร รวมถึงยังขาดประสบการณ์การว่ายตามกระแสน้ำช่วงน้ำลง ทำให้ชาวบ้านมักพบมาเรียมมาเกยตื้นบ่อยครั้ง ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) จึงตัดสินใจส่งทีมสัตว์แพทย์ของทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมเจ้าหน้าที่ชำนาญการ และร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ รวมทั้งทีมอาสาสมัครชาวบ้าน ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจอนุบาลลูกพะยูนในธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นมา

Image

เกาะลิบง
พื้นที่ต้นแบบ
การคุ้มครองพะยูน

เมื่อครั้งอดีต การพบเจอพะยูนอาจไม่ใช่เรื่องพิเศษ แต่เมื่อกิจกรรมของมนุษย์เป็นภัยคุกคาม จำนวนของพวกมันก็ลดลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งหายไปจากบางพื้นที่ เช่น จังหวัดปัตตานี รายงานการสำรวจในปี ๒๕๖๒ ไม่พบพะยูนอาศัยอยู่แล้ว หรือจังหวัดจันทบุรีและตราด แหล่งซึ่งเคยมีพะยูนอาศัยชุกชุมก็มีจำนวนพะยูนลดลงอย่างมาก
        คนเมืองจันท์เรียกพะยูนว่า “หมูดุด” ด้วยลักษณะอ้วนกลมที่คล้ายหมู และท่าทางการดุนพื้นกินหญ้าทะเล เมืองจันทบุรียังสร้างรูปปั้นพะยูนเล่นน้ำไว้ตรงบริเวณวงเวียนจ้าวหลาว และจากที่เคยพบพะยูนได้อย่างง่ายดายโดยเฉพาะบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน แต่ด้วยการพัฒนาชายฝั่ง การสัญจรของเรือที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการทำลายของแหล่งหญ้าทะเล ส่งผลให้ประชากรของพะยูนบริเวณพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ลดจำนวนน้อยลงไป
        จนวันนี้อาจพบได้แต่เพียงร่องรอยการกินหญ้าทะเล และรูปปั้นหมูดุดเพียงเท่านั้น

       เกาะลิบงตั้งอยู่ ๒ กิโลเมตรห่างจากปากแม่น้ำตรังและแม่น้ำปะเหลียน ใช้เวลาเดินทางด้วยเรือหางยาวเพียง ๒๐ นาทีจากท่าเรือหาดยาว อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ผู้คนบนเกาะส่วนใหญ่มีอาชีพประมงและทำสวนยางพารา พวกเขาฝากชีวิตไว้กับท้องทะเลที่เปรียบเสมือนบ้านและสถานที่ทำมาหากิน
        ทุกเช้าในช่วงน้ำขึ้นเรามักพบเรือหางยาวบรรทุกเครื่องมือประมงแล่นออกไปเพื่อล่าสัตว์ทะเลกลับมาเป็นสินค้า ทั้งปลาหรือปูเต็มลำ แม้ช่วงไหนไม่สามารถนำเรือออกอย่างช่วงน้ำตาย ราววันขึ้นหรือแรม ๓ ค่ำถึง ๑๒ ค่ำที่ระดับการขึ้นลงของน้ำค่อนข้างต่ำ ชาวบ้านก็จะเดินออกหาหอยชักตีนและปลิงทะเลนำมาประกอบอาหาร ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้พบได้มากบริเวณแหล่งหญ้าทะเล
       ความพิเศษของเกาะแห่งนี้ คือเป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของหญ้าทะเลถึงกว่า ๑๑ ชนิด จากทั้งหมด ๑๓ ชนิดที่พบในทะเลไทย ที่นี่จึงเป็นบ้านของสัตว์เลี้ยงทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างพะยูนซึ่งรวมฝูงใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Image
        เมื่อครั้งสมัยก่อนที่ยังไม่มีการควบคุมเครื่องมือประมงและวิธีการจับปลา พะยูนหลายตัวต้องตกเป็นเหยื่อของการทำประมงสมัยใหม่ ไม่ว่าจะติดอวน หรือการระเบิดปลา ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ ชาวบ้านจึงนำมาเป็นอาหารและเลี้ยงกันอิ่มได้ทั่วชุมชน
        แต่หลังจากจำนวนประชากรของพะยูนลดจำนวนอย่างรวดเร็ว จากปกติพบได้บ่อยทุกครั้งที่ออกเรือ ก็พบเป็นครั้งคราว จึงเกิดการรณรงค์และการสำรวจอย่างจริงจัง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันพบว่าพะยูนได้เปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุเสียแล้ว
        ถึงปี ๒๕๓๕ พะยูนได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์สงวนตามพระราชบัญญติคุ้มครองสัตว์ป่าและทะเล ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงหนึ่งเดียวในกฎหมายนั้น ชาวบ้านที่เคยรับประทานเนื้อพะยูนก็เริ่มเปลี่ยนความคิด จากผู้บริโภคมาเป็นผู้อนุรักษ์ หลายคนรู้สึกผิดที่ตนเคยเป็นหนึ่งในผู้คนที่บริโภคเนื้อพะยูน
        “บังจ้อน” สุวิท สารสิทธิ์ ชายหนุ่มมุสลิมหน้าคมเข้ม ผิวกล้าแดด สำเนียงใต้ ยอมรับกับผมว่าสมัยเด็กเวลาครอบครัวจับปลาก็จะได้พะยูนติดมาบ้าง เขาก็กินตามปกติ แต่เมื่อโตขึ้นและได้รับรู้ถึงสถาณการณ์ที่น่าเป็นห่วงของพะยูน ก็รู้สึกผิดที่เคยเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มันใกล้จะสูญพันธุ์ แต่บังจ้อนไม่ปล่อยให้ความรู้สึกผิดกัดกินหัวใจ เขาผันตัวเองเข้าร่วมกลุ่มกับชาวบ้านบนเกาะจัดตั้ง “กลุ่มอาสาพิทักษ์ดุหยง” (ดุหยงเป็นภาษามลายูที่คนภาคใต้ใช้เรียกพะยูน มีความหมายว่าหญิงสาวแห่งท้องทะเล) เพื่อช่วยกันอนุรักษ์พะยูนไทย

เยาวชนทีมพิทักษ์ดุหยง หนึ่งในกําลังสําคัญ 
 
ที่คอยช่วยเหลือหากมีเหตุสัตว์ทะเลหรือพะยูนเกยตื้น
        กลุ่มอาสาพิทักษ์ดุหยงกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการสอดแนม และประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ มีการประชุมกำหนดวางแผนเส้นทางสัญจรของเรือในชุมชนเพื่อไม่ให้รบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูน การรวมกลุ่มออกลาดตระเวนในยามวิกาลร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานเขตห้ามล่าหมู่เกาะลิบง เพื่อคอยสอดส่องชาวประมงจากที่อื่นเข้ามาแอบลักลอบวางอวน ถึงแม้การเดินเรือในยามกลางคืนจะเสี่ยงอันตราย แต่ก็ได้ช่วยปกป้องพะยูนให้ปลอดภัยมาแล้วหลายครั้ง
        “ครั้งหนึ่งเคยเจอชาวประมงมาแอบวางอวนสามชั้น ซึ่งเป็นอวนผิดกฏหมายและจุดประสงค์เหมือนมาล่าพะยูน บังและทีมงานก็ได้กู้อวนของเขา ปรากฏเจอเต่าติดตายอยู่สี่ตัว”
        บังจ้อนเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังปนขุ่นเคือง แต่ก็น่าโล่งอกว่าผลจากการออกลาดตระเวนบ่อยครั้งทำให้จำนวนการมาลักลอบวางอวนเริ่มน้อยลง
        แม้พะยูนจะจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนและห้ามไม่ให้ผู้ใดล่าหรือครอบครองชิ้นส่วน แต่การแอบลักลอบและฆ่าพะยูนก็ยังพบอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะการล่าเพื่อเอาเนื้อไปเสิร์ฟเป็นเมนูตามภัตราคารหรูทั้งในและต่างประเทศ การล่าเพื่อเอาเขี้ยวพะยูนไปประกอบพิธีความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งตามวิวัฒนาการเชื่อว่าพะยูนมีช้างเป็นบรรพบุรุษ พะยูนเพศผู้จึงมีงาหรือเขี้ยวแฝงอยู่ข้างใน และหากสังเกตรูปกะโหลกและลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ก็จะพบว่ามันคล้ายคลึงกับช้างไม่น้อย
 
Image
      เขี้ยวพะยูนมีมูลค่าสูงมาก เริ่มตั้งแต่ราคาหลักแสนขึ้นไป ไม่เพียงเท่านั้นยังเคยมีบางตำนานกล่าวถึง “น้ำตาพะยูน” ที่เชื่อกันว่าเป็นยาเสน่ห์ชั้นดี หากดีดใส่ใครแล้วจะทำให้คนนั้นหลงรักผู้ที่ดีดใส่อย่างโงหัวไม่ขึ้น
      ในการประกอบพิธีกรรมจะต้องจับพะยูนคู่แม่ลูกมามัดไว้ และตีลูกพะยูนจนแม่พะยูนทนไม่ไหวร้องไห้เป็นน้ำตาออกมา หมอผีก็จะเก็บน้ำตาพะยูนใส่ขวดโหลแก้วเพื่อนำไปประกอบพิธีปลุกเสกต่อ
        ถึงแม้ว่าความโหดร้ายและการทารุณกรรมสัตว์จะไม่ค่อยมีให้พบเห็นในสมัยนี้ แต่สาเหตุการตายของพะยูนจากการติดเครื่องมือประมง และการลักลอบตัดเขี้ยวยังมีบ่อยครั้ง รวมทั้งอุบัติเหตุอย่างการชนกับใบพัดเรือ บังจ้อนและทีมกลุ่มอาสาพิทักษ์ดุหยงจึงตั้งใจทำหน้าที่เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
        อาจเพราะความรู้สึกผิดต่อสิ่งที่ทำในอดีต ทุกคนจึงพร้อมอุทิศแรงกายและแรงใจในการปกป้องดูแลพะยูนในพื้นที่เกาะลิบง รวมทั้งปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ เพื่อในวันข้างหน้าจะได้มาเป็นกำลังสำคัญในการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้อยู่คู่กับทะเลไทยนานที่สุด

ภารกิจบนเป้าหมาย
ที่เรียกว่า “ความหวัง”

เช้าวันหนึ่งของการดูแลมาเรียม ก่อนพระอาทิตย์จะโผล่พ้นขอบฟ้า เกลียวคลื่นสีขาวโพลนจากลมมรสุมที่พัดมาอย่างไม่ปรานี เสียงเสียดสีของใบมะพร้าวดังครูดคราด พร้อมเสียงสตาร์ทของรถกระบะคันสีดำดังขึ้น เหล่าเจ้าหน้าที่รวมสัตวแพทย์กว่าหกชีวิตพากันขนของและอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นท้ายรถ
        ทุกเช้าของการเดินทางจากที่พักผ่านชุมชนมุ่งหน้าไปยังบริเวณแหล่งอนุบาลมาเรียม เราจะเห็นกิจวัตรยามเช้าของคนบนเกาะ กลิ่นข้าวเหนียวที่เพิ่งหุงเสร็จ และเสียงน้ำมันเดือดจากกะทะทอดไก่ คอยเรียกให้รถแวะจอดซื้อเป็นเสบียงตุนไว้ก่อนจะมุ่งหน้าต่อ ระหว่างทางจะผ่านสวนยางพารา ซึ่งบางวันจะมีหมอกบางๆ ลอยปกคลุมในความเงียบสงบ

        รถมาจอดที่บริเวณตีนเขา เจ้าหน้าที่ทั้งหมดต้องเดินเท้าข้ามภูเขาไปถึงจุดปฏิบัติหน้าที่ ณ ศาลาซึ่งตั้งอยู่ติดทะเล
        ข้าวของที่เก็บไว้ในห้องภายในศาลาจะถูกนำออกมา เจ้าหน้าที่หนึ่งหรือสองคนจะเริ่มต้มน้ำร้อน อีกคนเริ่มตวงอัตราส่วนของนม น้ำมัน และวิตามิน ขวดนมที่มีหยดน้ำค้างเกาะจะนำมานึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจก่ออันตรายให้กับมาเรียม ส่วนคนที่เหลือจะจัดโต๊ะ เก้าอี้ และกวาดพื้นศาลา บางวันที่ช่วงน้ำขึ้นสูงถึงบริเวณหน้าศาลา เราก็จะเห็นมาเรียมแหวกว่ายอยู่บริเวณนั้นด้วยความหิวโหยหลังจากที่ไม่ได้กินอะไรมาทั้งคืน
        หัวหน้าการดูแลมาเรียมในพื้นที่คือทีมสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหลัก พวกเขาจะคอยศึกษาพฤติกรรมของมาเรียม และตัดสินใจสถานการณ์เฉพาะหน้า ถึงแม้พวกเขาจะต้องลงทะเลและแช่น้ำนานนับหลายชั่วโมง จนมีอาการอ่อนเพลียให้เห็นบ้าง แต่เมื่อได้เห็นเจ้ามาเรียม อาการอ่อนเพลียนั้นก็ดูจะหายไป เหมือนมีพลังงานกลับมาใหม่

Image
       วันนั้นเป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์หญิง ชวัญญา เจียกวธัญญู หรือหมอแพร และทีมเจ้าหน้าที่จิตอาสา ทุกคนแต่งตัวในชุดรัดกุม ถุงมือ และรองเท้าบู้ท เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น กระเบน หรือแมงกะพรุนที่พบได้บ่อย เมื่อพร้อมก็จะเดินลงทะเลไปถึงระดับความลึกเพียงช่วงเอว หมอแพรนำมาเรียมออกห่างจาก “แม่ส้ม” เรือแคนูลำสีส้มที่มาเรียมชอบมาหลบภัย และใช้มือสัมผัสบริเวณปากเพื่อดูพฤติกรรมว่ามาเรียมอยากจะกินอะไร ถ้ามันดูดนิ้วก็แสดงว่าหิวนม หรือถ้าเอาปากดุนๆ ก็แสดงว่าหิวหญ้าทะเล แต่บางทีเราไม่ต้องเช็คก็สามารถรู้ได้ว่าเจ้าพะยูนน้อยต้องการอะไร
       “หิวนมแล้วใช่ไหม กินคลีบตัวเองอีกแล้วอ่ะ เอานมมาๆ”
       หมอแพรกล่าวกับเจ้าหน้าที่จิตอาสาที่ช่วยหยิบยื่นจุกนมซึ่งต่อสายกับขวดนมให้หมอแพรป้อนนมให้มาเรียม
       หลังจากมาเรียมกินนมเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะขึ้นศาลาไปพักรอเวลาอีก ๓๐ นาทีค่อยลงมาให้นมใหม่ หรือหากสัตวแพทย์เห็นว่ามาเรียมมีอาการเรอ ท้องอืด ก็จะให้มาเรียมออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นระบบขับถ่ายและย่อยอาหาร โดยให้เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯ หรือจิตอาสาพายเรือสัก ๒๐ นาทีซึ่งมาเรียมก็จะว่ายตามเรือไป
       ทุกๆ วันจะดำเนินการแบบนี้จนกว่ามาเรียมจะกินนมครบตามปริมาณเป้าหมาย เฉลี่ยแล้ว ๒-๓ ลิตรต่อวัน หรือจนกว่าพระอาทิตย์จะตกดิน

        การทำงานนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่อตัวเจ้าหน้าที่อยู่หลายอย่าง หนึ่งคือสัตวแพทย์และจิตอาสาต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลาที่ให้นม ยิ่งช่วงน้ำลงต้องเคลื่อนย้ายออกไปไกลจากศาลาทำให้ต้องอาศัยอยู่ในน้ำไม่ต่ำกว่า ๔ ชั่วโมง สอง อันตรายจากแมงกะพรุน โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่องที่บางชนิดมีพิษถึงเสียชีวิต และ สาม หากเดินไม่ระมัดระวังก็อาจเหยียบปลากระเบน ซึ่งมีโอกาสที่มันจะใช้หางหรือเงี่ยงของมันตำเท้าเจ้าหน้าที่ ยังไม่รวมทั้งคลื่นและลมแรงซึ่งพร้อมจะกระหน่ำได้ทุกเมื่อในช่วงกลางปี เจ้าหน้าที่ รวมถึงจิตอาสาทุกคนต้องยอมรับสภาพแวดล้อมนี้ และหาทางป้องกันตัวเองเพื่อทำหน้าที่นี้ให้สมบูรณ์ที่สุด
        ทั้งนี้ภารกิจนี้จะใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ ๖ เดือนกว่าที่มาเรียมจะหย่านมแม่ และโตพอกลับไปใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ
        ช่วงหลังพระอาทิตย์ตกเป็นเวลาที่ทีมสัตวแพทย์และจิตอาสาจะพากันกลับที่พัก สลับกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงอีกสี่ห้าชีวิตที่มาคอยอยู่เวรสอดส่องเรือประมงพื้นบ้านไม่ให้เข้ามาใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน โดยเฉพาะช่วงคืน ๑๓-๑๕ ค่ำที่คนพื้นที่เรียกช่วงน้ำใหญ่ ซึ่งอัตราส่วนน้ำขึ้นลงค่อนข้างสูง เวลาน้ำขึ้นสูงก็จะสูงกว่าโดยเฉลี่ย และเวลาน้ำลงจะลงต่ำกว่าโดยเฉลี่ย พื้นที่ซึ่งเคยชุ่มน้ำก็จะแห้ง เป็นความเสี่ยงต่อตัวมาเรียมพะยูนเด็กที่ยังไม่รู้ทิศทางกระแสน้ำ ส่งผลให้มันมักเกยตื้นบ่อยๆ ในช่วงน้ำใหญ่       


"มันก็เหนื่อยนะ เหนื่อยมาก...เป็นความเหนื่อยที่ภูมิใจ มันเหมือนลูกของเรา เหมือนครอบครัวของเรา”


       ช่วงเวลานี้เจ้าหน้าที่จะเดินส่องไฟฉายมองหาตัวมาเรียม หากพบมันเกยตื้น ก็จะนำผืนผ้าใบมาปูแล้วอุ้มมาเรียมมาวางบนผ้าใบ ก่อนจะยกผ้าใบนำมันไปปล่อยบริเวณน้ำลึก
      “มันก็เหนื่อยนะ เหนื่อยมาก ผมทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน ตั้งแต่วันที่เจ้ามาเรียมถูกปล่อยที่แหลมจูโหย แต่มันก็เป็นความเหนื่อยที่ภูมิใจ มันเหมือนลูกของเรา เหมือนครอบครัวของเรา” อับดุล รอศักดิ์ หนึ่งในเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง หันมากล่าวกับผม ด้วยสายตาจริงจังที่แฝงด้วยความอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน
       ความหวังของเจ้าหน้าที่คืออยากให้มาเรียมเรียนรู้กระแสน้ำได้ ซึ่ง ณ ขณะนี้ (ปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒) จำนวนการเกยตื้นลดน้อยลง เป็นสัญญาณที่ดีซึ่งอาจบ่งบอกว่ามาเรียมเริ่มปรับตัวกับธรรมชาติ และเรียนรู้ว่าเมื่อน้ำใกล้ลงให้ออกไปในที่ลึกด้วยตัวของมันเอง
       และด้วยความหวังของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่อยากเห็นมาเรียมกลับไปอยู่ในธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือของมนุษย์ ทุกคนจะพยายามรักษาระยะห่าง เช่น การปล่อยให้มันลองหาหญ้าทะเลเอง หรือการพามันไปยังพื้นที่น้ำลึกในช่วงน้ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้การดูแลของเจ้าหน้าที่เป็นการทำลายสัญชาติญาณของมัน
       เพื่อท้ายที่สุดแล้วมาเรียมจะกลับสู่ธรรมชาติได้จริงๆ

Image
Image
Image
Image
Image
Image
      “การอนุรักษ์พะยูนหรือทรัพยากรธรรมชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดการร่วมมือระหว่างคนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน” ทิพย์อุสา จันทกุล กล่าวด้วยสายตาจริงจัง เธอคือผู้ที่ทุกคนในทีมอนุบาลมาเรียมเรียกติดปากว่า “คุณแม่” หรือคุณยายของมาเรียม เพราะเธอเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและอำนวยความสะดวกทุกอย่างตั้งแต่วันที่มาเรียมมาถึง ไม่ว่าจะคอยส่งข้าวส่งน้ำ ตระเตรียมอาหารไว้ในยามดึกก่อนที่จิตอาสาจะกลับมา หรือช่วยประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และชุมชน
      “จริงๆ มาเรียมก็คือพะยูนทั่วไปนะ ไม่ได้พิเศษกว่าพะยูนตัวอื่นๆ ถ้าตัวอื่นๆ มาเห็นมันคงจะนึกอิจฉาเจ้ามาเรียม” เธอพูดพร้อมยิ้มมุมปาก
      “แต่สิ่งที่ทำให้มาเรียมพิเศษคือการทำให้คนทำงานด้านอนุรักษ์พะยูนเกิดความตื่นตัวมากยิ่งขึ้น มาเรียมทำให้ทุกคนยินดีที่จะมาดูแล และทำให้จิตสำนึกด้านการอนุรักษ์กลับคืนมาอีกครั้ง”


“มาเรียมเป็นเสมือนทูตของคนทั้งประเทศและคนทั้งโลก...สร้างความตระหนักและผลักดันประเด็นการอนุรักษ์พะยูน"


       มาเรียมนับเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่ทำให้เราได้เห็นทุกๆ หน่วยงานสนใจ และแสดงถึงความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการเข้ามาช่วยอนุบาลเจ้ามาเรียม ด้วยการบริหารการจัดการที่เข้มแข็ง เช่น การจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ ป้องกันไม่ให้มาเรียมติดคนมากเกินไป เพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยซึ่งเคยเกิดกับเจ้าโทนที่ติดมนุษย์จนไม่สามารถดำรงชีวิตได้เองในธรรมชาติ
Image
        “มาเรียมเป็นเสมือนทูตของคนทั้งประเทศและคนทั้งโลกที่ทำให้เราได้เห็นถึงความน่ารัก ช่วยสร้างความตระหนักและผลักดันประเด็นการอนุรักษ์พะยูนต่อไป” ดร. ก้องเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวต่อหน้ากล้องผู้สื่อข่าวที่มาสัมภาษณ์บริเวณแหล่งอนุบาลมาเรียม
       มาเรียมไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่เพียงในประเทศไทย แต่ได้รับการพูดถึงจากคนทั่วโลก มีการเผยแพร่เรื่องราวของมันผ่านสำนักข่าวต่างๆ เช่น The Washington Post ทำให้ประเด็นและแผนการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างเข้มข้น

การพิสูจน์ซากพะยูนแม่ลูกอ่อนที่ตายและเกยตื้น
 
เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๒ 
 
พบว่าตายเพราะสาเหตุทางธรรมชาติ
 

งานที่ไม่มีวันหยุดพัก
เพราะสัตว์ไม่เคยหยุดตาย

ถึงแม้จะไม่มีเหตุการณ์ของมาเรียมเกิดขึ้น สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่อาสามัครก็ยังคงทำงานหนักทุกวัน ไม่ว่าจะลงพื้นที่หรือคอยประจำอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต
       เพราะทุกนาที มีโอกาสที่สัตว์ทะเลจะเกยตื้น หรือเสียชีวิต พวกเขาจึงคอยเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
       ในช่วงก่อนวันสงกรานต์ ปี ๒๕๖๑ ซึ่งควรจะเป็นวันหยุดพักผ่อน “หมอฟ้า” สัตวแพทย์หญิงพัชราภรณ์ แก้วโม่ง ได้รับรายงานพบร่างพะยูนเพศเมีย ขนาดใหญ่ตัวเต็มวัย เสียชีวิตและเกยตื้นที่บริเวณจังหวัดตรัง หลังจากนั้นซากพะยูนได้ถูกขนย้ายมาที่ศูนย์วิจัยฯ เพื่อผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย
       ยามดึกเกือบเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่ช่วยกันยกร่างของพะยูนแม่ลูกอ่อนไร้วิญญาณลงจากรถกระบะ พร้อมนำผ้าใบมาคลุมปิด เพื่อรอเตรียมชันสูตรในเช้าวันต่อมา
      ไฟอาคารทั้งหมดปิดลง ทิ้งไว้แต่เพียงเสียงคลื่นและลมอยู่เบื้องหลัง

Image
       เช้าวันถัดมา แสงอาทิตย์อ่อนๆ ส่องกระทบผืนผ้าใบที่บดบังร่างอันไร้วิญญาณของพะยูน เจ้าหน้าที่กว่าห้าชีวิตเริ่มเตรียมอุปกรณ์ชันสูตรศพ ตั้งแต่ลับมีดให้คม เตรียมใบจดบันทึก และระบุเพศของพะยูนลงกระดาษ นำสายวัดมาวัดสัดส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความยาว ความกว้าง รอบอก ระยะห่างดวงตา และอื่นๆ อย่างละเอียด
      เมื่อผ้าใบเปิดออกเจ้าหน้าที่จะฉีดน้ำล้างคราบสกปรก ทุกคนพร้อมในชุดรัดกุม ผ้าปิดปากจมูก และรองเท้าบูท กระบวนการผ่าพิสูจน์ศพ เริ่มจากการตรวจรายละเอียดภายนอก บาดแผลต่างๆ พร้อมถ่ายรูปไว้ หลังจากนั้นผิวหนังของพะยูนจะค่อยๆ ถูกเลาะออกอย่างประณีต เนื่องจากตัวมันเต็มไปด้วยก๊าซสะสมอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ยิ่งหากศพพะยูนตายมานานแล้ว ก็มีโอกาสที่ร่างพะยูนจะระเบิดได้
      เมื่อทุกอย่างผ่านไปด้วยดี เจ้าหน้าที่จะเริ่มเลาะอวัยวะส่วนต่างๆ ผ่าดูภายในว่าพบสิ่งแปลกปลอมหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้เราสามารถสืบไปถึงว่า พะยูนกินหญ้าทะเลล่าสุดตอนไหน เสียชีวิตมาแล้วกี่วัน เมื่อการผ่าตัดชันสูตรร่างพะยูนเสร็จ ชิ้นส่วนเศษเนื้อจะถูกนำไปฝังดิน กระดูกจะถูกแช่รักษาสภาพเพื่อเก็บไว้ศึกษาต่อในศูนย์วิจัยฯ
      การได้เห็นการผ่าพิสูจน์ซาก ทำให้ผมเข้าใจเรื่องราวก่อนและหลังความตาย และความทารุณที่พะยูนต้องเผชิญ
      ตัวอย่างในเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๖๒ การผ่าชันสูตรพะยูนตัวหนึ่งพบว่าเขี้ยวของมันถูกคนตัดออกไปอย่างเรียบร้อย บ่งบอกว่านี่คือสิ่งเรายังต้องพบเจอแม้ในยุคที่มีการอนุรักษ์พะยูนอย่างจริงจัง


"จากข้อมูลการเสียชีวิตของพะยูนในรอบ ๓๐ ปี เราพบว่าเกือบ ๙๐% เกิดจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ”


       ศัตรูของพะยูนที่คอยคร่าชีวิตพวกมัน ไม่ใช่ศัตรูในธรรมชาติ แต่กลับเป็นกิจกรรมของมนุษย์
       กระแสภัยคุกคามพะยูนปรากฏขึ้นมาอีกในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา (๒๕๖๒) มีรายงานบันทึกการเสียชีวิตของพะยูนทั้งหมดถึง ๕ ตัวที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งผิดจากค่าเฉลี่ยของปีก่อนๆ ที่พบพะยูนเสียชีวิตเฉลี่ย ๓-๔ ตัวต่อปีในพื้นที่นี้ และ ๑๓ ตัวต่อปีทั่วประเทศ และมากกว่านั้นยังมีลูกพะยูนเกยตื้นที่ได้รับช่วยเหลือเพิ่มอีกหนึ่งตัวนอกจากมาเรียม คือ “ยามีล” พะยูนเพศผู้ตัวล่าสุด
       ความผิดปรกติของสถิติต่างๆ ในปีนี้ ดร. ก้องเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ให้ความเห็นผ่านข้อความบนเฟซบุ๊กว่า
      “มีข้อสังเกตว่าระยะนี้ชาวบ้านทำประมงพื้นบ้านมากขึ้น เพราะสัตว์น้ำเยอะขึ้นผิดกับปีที่แล้ว อย่างช่วงนี้ปรกติอวนสามชั้นจะไม่ทำแล้ว แต่ปีนี้กุ้งเยอะ อวนสามชั้นก็ยังทำอยู่ กุ้งก็ตัวโตๆ เรือจับสัตว์น้ำได้ เรือหนักจนบางลำแทบจะจม ซึ่งจากข้อมูลการเสียชีวิตของพะยูนในรอบ ๓๐ ปี เราพบว่าเกือบ ๙๐% เกิดจากการติดเครื่องมือประมง ‘โดยบังเอิญ’”
      ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ การติดเครื่องมือประมงกว่า ๙๐% ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในวงผู้อนุรักษ์ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพที่สุด รวมทั้งการควบคุมการสัญจรไปมาของเรือชาวประมงที่ยังต้องผลักดันต่อ

รอยไถของพะยูนที่มากินหญ้าทะเลตลอดทั่วบริเวณกว้าง 
 
บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเลในช่วงนํ้าลง 
 
ที่หาดตูบ เกาะลิบง จังหวัดตรัง
 

จากมาเรียมสู่พะยูน ๒๕๐ ตัวสุดท้าย

ต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ปรากฏข่าวอันน่าปิติยินดียิ่ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุดว่า “ยามีล” และทรงรับพะยูนทั้งสองตัว คือมาเรียมและยามีล ไว้ในโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์”
       จากรายงานการสำรวจประชากรพะยูนประจำปี ๒๕๖๒ พบจำนวนประชากรพะยูนจากการบินสำรวจในพื้นที่จังหวัดตรัง คือ ๑๘๕ ตัว เพิ่มมา ๘ ตัวจากปีที่แล้ว และ ๒๕๐ ตัวทั่วประเทศ
      แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประชากรของพะยูนเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่านี่คือจำนวนประชากรพะยูนที่เหลืออยู่แค่ ๒๕๐ ตัวสุดท้าย และยังคงรอวันต่อลมหายใจ ด้วยแรงจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และนักอนุรักษ์ทุกคน

Image
        ตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา จากการที่ผมได้สัมผัสการอนุบาลมาเรียม และการปฏิบัติงานหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่า เจ้าหน้าที่กลุ่มอาสาพิทักษ์ดุหยงของชาวบ้าน และจิตอาสาคนอื่นๆ ทำให้เห็นว่าการจะอนุรักษ์สัตว์สักตัวหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องยาก หากทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือกันก็จะก่อเกิดผลสำเร็จ
        แม้การทำงานอาจต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวังนับครั้งไม่ถ้วน แต่ลมหายใจของทุกคนยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะต้องการเห็นสัตว์ป่ามีชีวิตรอด นี่เป็นเชื้อไฟให้เหล่าเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครพยายามผลักดันเรื่องราวการอนุรักษ์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่พะยูน สัตว์ทะเลหายาก หรือแค่หญ้าทะเล แต่รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติทุกสิ่ง
       มาเรียมก็คือพะยูนตัวหนึ่งที่ผมรู้สึกขอบคุณในความน่ารักน่าเอ็นดูของมันที่เป็นตัวจุดชนวนกระแสเรื่องราวการอนุรักษ์พะยูนขึ้นมาในสังคม และทำให้เรามองเห็นปัญหาในมุมที่กว้างขึ้น
      แต่เบื้องหลังของความน่ารักนั้นยังมีความมืดที่คอยปกคลุม ความหวังและการลงมือทำคือแสงสว่างที่จะเป็นอาวุธ และพลังขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ให้ดำเนินต่อไป
       ท้ายสุดแล้วความคาดหวังของผมต่อตัวมาเรียมก็เป็นเช่นเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ทุกๆ คน คือการได้เห็นมันกลับสู่ธรรมชาติและอยู่รอด และหวังว่าเกาะลิบงจะเป็นพื้นที่ต้นแบบของการจัดการอนุรักษ์และการหาความสมดุลระหว่างวิถีชีวิตของมนุษย์และสัตว์ เพื่อให้ต่างอยู่รอดและยั่งยืน
      “งานอนุรักษ์ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนทุกคน” ผมเชื่อเช่นนั้น
      ถึงแม้จะไม่มีเหตุการณ์ของมาเรียมเกิดขึ้น สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่อาสามัครก็ยังคงทำงานหนักทุกวัน ไม่ว่าจะลงพื้นที่หรือคอยประจำอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต
       เพราะทุกนาที มีโอกาสที่สัตว์ทะเลจะเกยตื้น หรือเสียชีวิต พวกเขาจึงคอยเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
       ในช่วงก่อนวันสงกรานต์ ปี ๒๕๖๑ ซึ่งควรจะเป็นวันหยุดพักผ่อน “หมอฟ้า” สัตวแพทย์หญิงพัชราภรณ์ แก้วโม่ง ได้รับรายงานพบร่างพะยูนเพศเมีย ขนาดใหญ่ตัวเต็มวัย เสียชีวิตและเกยตื้นที่บริเวณจังหวัดตรัง หลังจากนั้นซากพะยูนได้ถูกขนย้ายมาที่ศูนย์วิจัยฯ เพื่อผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย
       ยามดึกเกือบเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่ช่วยกันยกร่างของพะยูนแม่ลูกอ่อนไร้วิญญาณลงจากรถกระบะ พร้อมนำผ้าใบมาคลุมปิด เพื่อรอเตรียมชันสูตรในเช้าวันต่อมา
      ไฟอาคารทั้งหมดปิดลง ทิ้งไว้แต่เพียงเสียงคลื่นและลมอยู่เบื้องหลัง

Image
ณภัทร เวชชศาสตร์
ช่างภาพสารคดีที่เน้นประเด็นเชิงอนุรักษ์เป็นหลัก ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังของคนทำงานอนุรักษ์ เพื่อส่งกำลังใจ และผลักประเด็นอนุรักษ์ขึ้นมาในสังคม

เอกสารประกอบการเขียน

  • รายงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
  • เกร็ดชีวิตพะยูนในบ่อเลี้ยงที่ภูเก็ต โดย ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล
  • พะยูนและการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทย Dugong and conservation of Dugong in Thailand โดย ดร. กาญจนา อดุลยานุโกศล
  • หญ้าทะเลในน่านน้ำไทย Seagrasses in Thai waters โดย สมบัติ ภู่วชิรานนท์ และคณะ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเล