ทะเล

รุก

แผ่นดิน

เมื่อคลื่นกลืนถิ่น

แผ่นดินจะหาย

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
สกล เกษมพันธุ์, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

Image
Image
Image

บ้านขุนสมุทรจีน

ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

“คุณรู้มั้ย ในอดีตบริเวณนี้มีแผ่นดินเต็มไปหมด สมัยฉันยังสาวๆ หมู่บ้านอยู่ห่างชายฝั่งตั้ง ๒ กิโลเมตร แต่ตอนนี้พื้นที่หมู่ ๘ หายไปจากแผนที่ประเทศไทย ชุมชนพังหมดเหลือแต่วัดหลังหมู่บ้านกลายเป็นเกาะกลางทะเล จากแผ่นดินมหาศาลเหลือแค่น้ำกับฟ้า”
       ปลายปี ๒๕๖๐ สมร เข่งสมุทร อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๙ ตำบลแหลมฟ้าผ่า แนะนำให้ผมรู้จักชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทยใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา
       มองออกไปสุดสายตา ผมเห็นแนวเสาไฟฟ้าหลายสิบต้นกลางทะเลยืนยันว่าพื้นที่แถบนั้นเคยมีคนอยู่อาศัย วัดขุนสมุทราวาสซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจถูกน้ำทะเลล้อมทุกด้าน ถึงขนาดมีคนเรียกว่า “วัดทะเล” มีเพียงสะพานปูนทอดยาวเชื่อมชุมชนกับวัดให้ชาวบ้านได้มาทำบุญและนั่งพักผ่อนหย่อนใจอ คนที่เหลืออยู่ยังยืดหยัดและหาทางปรับตัวเพื่ออาศัยบนแผ่นดินเกิด

      บ้านขุนสมุทรจีน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง แผ่นดินถูกทำลาย ในช่วงเวลาประมาณ ๔๐ ปีชาวบ้านต้องอพยพโยกย้ายไม่ต่ำกว่า ๗-๘ ครั้ง อาณาเขตของหมู่บ้านนับหมื่นไร่จมหาย
     ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้หมู่บ้านขุนสมุทรจีนคงจะถูกลบชื่อออกจากประเทศไทยในไม่ช้า
Image
แผนที่แสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ ทั้งพื้นที่ถูกกัดเซาะและทับถม วิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมข้อมูลเส้นแนวชายชายฝั่ง (Shore line) ระหว่างปี ๒๕๔๘-๒๕๕๙ จะเห็นว่าการหักเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นทั้งอ่าวไทยตอนบน อ่าวไทยตอนล่าง และชายฝั่งอันดามัน (ภาพ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน))

ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน

ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง และชายฝั่งอันดามัน

ประเทศไทยมี ๒๓ จังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล แบ่งเป็นชายฝั่งอ่าวไทย ๑๗ จังหวัด ชายฝั่งอันดามัน ๖ จังหวัด นับระยะรวมกัน ๓,๑๕๑.๑๓ กิโลเมตร มีลักษณะทางธรณีสันฐานแตกต่างกันสามลักษณะ คือ หาดทราย (sandy coast) หาดโคลน (tidal flat) และหาดหิน (rocky coast) บางพื้นที่แบ่งเป็นหาดทรายหยาบ หาดทรายละเอียด หาดทรายปนเปลือกหอย บางแห่งเป็นหาดโคลนปนทราย แต่ละพื้นที่มีปัญหาถูกกัดเซาะชายฝั่งต่างกันไป มหันตภัยเงียบนี้เกิดขึ้นแทบทุกจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล
       ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน มีตัวอย่างตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ชาวบ้านประมาณ ๔๐ ครอบครัวต้องสูญเสียบ้านและที่ทำดินตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ ทอน สุขเกษม เป็นคนหนึ่งที่จำใจต้องทิ้งบ้านและปล่อยให้ที่ดินนับร้อยไร่จมหาย ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์กลายเป็น “โฉนดตกน้ำ” มีมูลค่าเหลือเพียงศูนย์

      สมมุติว่าวันหนึ่งบ้านเรือนหรือที่ดินของเราถูกเวนคืน เราอาจเสียใจ แต่อย่างน้อยๆ หน่วยงานรัฐจะจ่ายค่าชดเชยหรือค่าเวนคืนให้ ถึงจะไม่คุ้มค่าก็ยังพอบรรเทาความเดือดร้อน
      แต่ถ้าบ้านต้องจมบาดาลถาวรเพราะน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง สิ่งที่ทำได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นคืออพยพหนีไปหาที่อยู่ใหม่ โดยไม่ได้รับเงินชดเชยจากหน่วยงานใด
      เมื่อปี ๒๕๕๕ ทอนเคยให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดจันทบุรีว่า “ก็คลื่นลมมันมาแรง มันตีจนบ้านพัง เราก็อยู่ไม่ได้ ก็รู้สึกว่าเสียดาย แต่ทีนี้จะทำยังไงได้ มันพังไปแล้ว”
      ทุกครั้งที่ชายชราวัย ๗๐ ปีเดินมายังชายฝั่งทะเลบ้านคลอง ๖ เขาสะเทือนใจเมื่อมองไปยังบ้านหลังเก่าที่วันนี้เหลือเพียงผนังห้องน้ำและเสาปูนโผล่พ้นผิวน้ำ นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ เป็นต้นมา มีรายงานว่าน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งบ้านคลอง ๖ ลึกกว่า ๑ กิโลเมตร
      ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ที่ชายฝั่งหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา น้ำทะเลกัดเซาะชายหาดลุกลามถึงถนนลาดยางจนเป็นเวิ้ง ไม่สามารถสัญจรได้ ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตเพราะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

“ตอนเด็กๆ วิ่งจากหมู่บ้านลงทะเล... หาดกว้างเป็นกิโลฯ กว่าจะถึงน้ำ..."

      ส่วนที่อำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเรือนตามแนวชายฝั่งกลายเป็นบ้านร้าง เหลือเพียงซากปรักหักพัง ชาวบ้านที่บ้านเกาะฝ้าย ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง เล่าว่าเฝ้ามองการพังทลายของบ้านเพื่อนทีละหลัง ซากปูนแตกหักกระจัดกระจาย แม้หลายหลังนำวัสดุก่อสร้างมาถมชายฝั่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะ
       “แต่ก็ไม่ช่วยอะไร” ชาวบ้านคนเดิมบอก
       ตลอดทางหลวงสาย ๔๐๑๓ มีบ้านเรือนร้างเต็มไปหมด ถนนสายนี้เคยอยู่ห่างจากทะเลนับร้อยเมตร แต่วันนี้กลายเป็นถนนเลียบทะเล
       ที่บ้านหน้าศาล ตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช การกัดเซาะชายฝั่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างสิ้นเชิง
      รุสดี นิยมเดชา ชาวบ้านหน้าศาล อายุราว ๓๐ ปีเล่าว่า “ตอนเด็กๆ วิ่งจากหมู่บ้านลงทะเลมันเหนื่อยนะครับ หาดกว้างเป็นกิโลฯ กว่าจะถึงน้ำ เดี๋ยวนี้เหลือ ๑๐๐ เมตรบ้าง ๕๐ เมตรบ้าง บางช่วงไม่มีหาดเลย”

Image

ถึงฤดูมรสุม ชาวบ้านหน้าศาลต้องเผชิญคลื่นแรงโถมซัดเข้าฝั่ง เกลียวคลื่นระลอกแล้วระลอกเล่าพุ่งอัดกำแพงตลิ่งแผดเสียงกัมปนาท

        กำแพงและพื้นหลังแนวกำแพงแตกหักเสียหาย ไอน้ำเค็มฟุ้งกระจายกัดกร่อนทำลายสิ่งปลูกสร้าง ชาวบ้านบางคนรับสภาพว่า “ดินแดนแห่งนี้อาจไม่เหมาะเป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไปแล้ว”
        สุบิน นิยมเดชา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ามะพร้าว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนบ้านหน้าศาล บรรยายถึงความสุขในอดีตของชาวชุมชนเมื่อครั้งที่ยังมีหาดทรายว่า
        “ชายหาดหลากหลายด้วยกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานมัสยิด มีร้านอาหาร ‘เหมือนฝัน’ ที่เนรมิตชายหาดให้เป็นเมืองชั่วคราวที่ใช้ความสามัคคีกันอย่างมาก การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ฟุตบอล การดำน้ำจับเป็ด การเดินพาเหรด เรืออวนลอยนับร้อยๆ ลำจากชุมพร-นราธิวาส มารวมกันสังสรรค์ที่บ้านหน้าศาลเพื่อฟังวงดนตรี ดูหนังกลางแปลง และชื่นชมศิลปะมโนราห์บนหาดทราย ภาพการออกเรือหากุ้งปลาตอนกลางคืน สามีภรรยาและลูกๆ ช่วยกันถือเข่งใส่เสบียงมาลงเรือ เด็กๆ วิ่งเล่นที่ชายหาด เล่นว่าว เล่นน้ำ บ้างฝึกว่ายน้ำ บ้างแข่งทำล้อใบมะพร้าวให้ลอยตามลมว่าล้อใครจะถึงกุโบร์ก่อนกัน เด็กโตก็เล่นฟุตบอล วอลเลย์บอล และเตะตะกร้อ หน้ามรสุมเล่นกระดานโต้คลื่น ใครเล่นได้จากสันดอนถึงหาดถือว่าสุดยอด ใครไม่เคยเล่นไม่รู้หรอกว่าสนุกอย่างไร
     “นานมาแล้วมีเต่ามาไข่ เดี๋ยวนี้หาไม่ได้แล้ว กลางคืนนอนดูพระจันทร์เต็มดวง บางคืนดูเดือนและดาว พูดคุยกันจนหลับไม่รู้ตัว ตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นเริ่มวันใหม่อย่างสดใสและมีความสุข ชาวประมงช่วยกันเข็นเรือเล็กเพื่อส่งเด็กๆ ไปเรือใหญ่ ช่วยส่งของขึ้นเรือได้ค่าขนม หน้าลมสงบชาวบ้านที่อยู่ห่างจากชายหาดหรือที่เรียกว่า ‘จากตลาด’ จะนำเด็กตลาดมาเล่นน้ำกับเด็กเล สร้างความคุ้นเคยกัน ผู้ใหญ่ก็ได้พบปะพูดคุยกัน วันนี้หาดทรายบ้านหน้าศาลสูญสิ้นแล้ว เด็กๆ บ้านหน้าศาลว่ายน้ำไม่เป็น รู้สึกเสียดาย เสียดายหาดทราย ความสุข ความทรงจำดีๆ ที่ยากจะหวนคืนมา”
     ด้านชายฝั่งอันดามันก็มีปัญหากัดเซาะแต่นับว่าน้อยกว่าฝั่งอ่าวไทยด้วยธรณีสัณฐานที่แตกต่าง กล่าวคือฝั่งอ่าวไทยเป็นหาดที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนทราย ยิ่งช่วงภาคใต้ตอนล่างมีหาดทรายยาวต่อเนื่องนับร้อยกิโลเมตร
      ส่วนฝั่งอันดามันเป็นเกาะแก่งและโขดหิน หาดทรายจึงเป็น “อ่าวกระเปาะ” เป็นรูปโค้งเชื่อมระหว่างภูเขาหรือโขดหินสองข้าง ภาษาวิชาการเรียกว่าอ่าวสมดุลสถิต (pocket beach) การกัดเซาะส่วนใหญ่เกิดในหน้ามรสุมที่มีคลื่นลมแรงจัด

“วันนี้หาดทรายบ้านหน้าศาลสูญสิ้นแล้ว...เสียดายหาดทราย ความสุข ความทรงจำดีๆ ที่ยากจะหวนคืนมา”

      อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ระบุว่า ชายฝั่งอันดามันมีปัญหาถูกกัดเซาะมากกว่า ๔๐ จุด ทั้ง ๖ จังหวัด และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
      ปี ๒๕๕๕ จังหวัดภูเก็ตต้องเผชิญช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมอันดามัน บริเวณหาดสุรินทร์ ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง ทะเลมีคลื่นสูงมาก น้ำซัดกัดเซาะชายฝั่งจนกำแพงกั้นคลื่นยาวประมาณ ๓๐๐ เมตรพังครืนลงมาทั้งแถบ มีทรายกองถมบนถนน ที่หาดกะตะ ตำบลกะรน อำเภอเมือง ชายหาดถูกคลื่นมรสุมซัดจนรากต้นไม้ใหญ่โผล่ คลื่นลากเตียงผ้าใบลงทะเล หอคอยของเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวหรือบีชการ์ดถูกคลื่นซัดจนเกือบล้ม

Image
คลื่นและการพัดพาทรายบนหาดและชายฝั่ง
Image
(๑) การพัดพากรวดทรายดินบนหาด (beach drift) 
คลื่นซัดหาด (swash)ตามแนวเฉียง เมื่อสลายตัวและเคลื่อนจากหาดลงสู่ทะเล เรียกว่า คลื่นถอยกลับ (backwash) เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและค่อยๆ พาทรายเคลื่อนไปตามแนวหาด
Image
(๒) กระแสน้ำชายฝั่ง (longshore current)
คลื่นวิ่งเข้าหาฝั่งและสะท้อนกลับทำให้เกิดกระแสน้ำไหลเกือบขนานกับแนวขอบฝั่ง และพัดพาทรายที่อยู่ใต้น้ำเคลื่อนที่ไปด้วย
Image
(๓) การพัดพาตามชายฝั่ง (littoral drift)
เกิดจากผลรวมของ beach drift และการพัดพาของ longshore current ทรายจะถูกพัดพาไปจนสุดแนวชายฝั่ง ถ้ามีเวิ้งอ่าว ทรายจะทับถมยื่นเป็นสันดอนออกไปในทะเล ตอนปลายสันดอนจะงอโค้ง เรียกว่า สันดอนจะงอย (spit)
Image
(๔)
เมื่อการพัดพาตามชายฝั่งมาพบกับสิ่งก่อสร้างกีดขวางตั้งฉากกับทิศทางการเคลื่อนที่กรวดทรายจะทับถมพอกพูนทางด้านหน้า (accretion) ขณะที่ด้านหลังสิ่งกีดขวางจะเกิดการกร่อน (erosion) ลึกเข้าไปในชายฝั่ง
วัฏจักรการทับถมของหาดทราย
Image
ช่วงฤดูคลื่นลมแรง หน้าหาดหดสั้น ทรายถูกพัดไปเป็นสันดอนใต้น้ำห่างจากชายหาด
ช่วงฤดูคลื่นลมสงบ หน้าหาดทอดยาวจากทรายที่ถูกพากลับมาทับถม
Image
การทับถมของหาดทรายเมื่อมีกำแพงกันคลื่น
(๑) ชายหาดที่ไม่มีกำแพงกันคลื่น หน้าหาดจะยาวและหดสั้นตามธรรมชาติของแต่ละฤดู
(๒) กำแพงกันคลื่นช่วยลดแรงปะทะของคลื่น แต่ทำลายวัฏจักรการทับถมของหาดทราย
(๓) ในระยะยาว คลื่นจะทำให้หาดทรายหายไปจนหมด

๒๕๔๖

๒๕๕๒

บริเวณ ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างปี ๒๕๔๖ และ ๒๕๕๒ มีทั้งชายฝั่งถูกกัดเซาะและทับถมระหว่างโครงสร้างแข็ง เช่น ท่าเรือ เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง คันดักทรายหรือรอ จากภาพคู่ขวาระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตรมีพื้นที่ทับถมประมาณ ๕ ไร่ กัดเซาะ ๘ ไร่ (ภาพ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน))

ชายหาดชลาทัศน์

อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

“ภูมิใจที่บ้านเรามีหาดทราย มีชายทะเลอยู่ใจกลางเมือง ทำให้มีอากาศดี มีพื้นที่แห่งความสุขฟรีๆ เป็นพื้นที่สาธารณะให้ใช้ประโยชน์ทุกวัน ผมชอบมองหาดจากโรงเรียน เมื่อมีปัญหาทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องหัวใจก็จะแวะมาเที่ยว”
       ประโยคข้างต้นคือความรักความผูกพันที่ อภิศักดิ์ ทัศนี มีต่อชายหาดสงขลา เขาเป็นคนอำเภอสิงหนครแต่มาเรียนต่อในตัวจังหวัดตั้งแต่ชั้นมัธยมฯ อภิศักดิ์เป็นสมาชิกกลุ่ม Beach for life กลุ่มเยาวชนท้องถิ่นที่รวมตัวกันเพื่อเรียนรู้ระบบนิเวศของชายหาด ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา สงขลาฟอรั่ม
       ชายหาดกลางเมืองสงขลามักถูกเรียกว่า “หาดสมิหลา” ทั้งหมด แต่สำหรับคนท้องถิ่นแล้วชายหาดยาว ๗.๘ กิโลเมตรที่เปรียบดั่งสัญลักษณ์ประจำเมืองแบ่งออกเป็นหาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ มีจุดสำคัญจากเหนือลงใต้ คือ แหลมสนอ่อน หาดสมิหลา รูปปั้นนางเงือกทอง หาดชลาทัศน์ และโขดหินหัวนายแรงอันเป็นที่ตั้งของชุมชนเก้าเส้ง

       ภาพทิวสน หาดทราย จะงอยสันทรายโค้งโอบรับชายหาด เขาตังกวน ทะเลสาบสงขลา เกาะหนู เกาะแมว รวบรวมเอกลักษณ์ของสงขลาไว้ครบครัน จังหวัดที่มีภูมิทัศน์งดงามเช่นนี้หาไม่ง่ายนัก
       แต่แล้วอภิศักดิ์ก็เริ่มตระหนักว่าชายหาดที่เขารักอาจไม่เหมือนเดิม
      หลายปีที่ผ่านมาชายหาดสงขลาเปลี่ยนแปลงทั้งจากกระบวนการธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ คำกล่าวของผู้หลักผู้ใหญ่ที่เล่าตรงกันว่าในอดีตกว่าจะเดินถึงชายทะเลเล่นเอาเหนื่อยหอบ ต้องผ่านแนวป่าสนผืนใหญ่ทำให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานนึกสงสัยไปตามๆ กัน เพราะสิ่งที่เห็นไม่ได้เป็นอย่างนั้น
       ริมชายหาดชลาทัศน์ อภิศักดิ์เล่าให้ผมฟังว่าถ้าเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เช่นเมื่อครั้งชายหาดบริเวณหน้าโรงแรมบีพี สมิหลาบีช ถูกคลื่นกัดเซาะเสียหาย ไม่นานก็คืนฟื้นสภาพ เขาเปิดภาพถ่ายในปี ๒๕๔๒ และ ๒๕๔๕ ให้ดูประกอบ
       การเคลื่อนย้ายของทรายชายหาดตามธรรมชาติไม่ใช่การสูญเสียถาวรอย่างที่หลายคนเข้าใจ ทรายเพียงแค่เคลื่อนย้ายชั่วคราวในหน้ามรสุม และจะกลับมาทับถมเป็นหาดกว้างตามเดิมในฤดูลมสงบ บางปีหาดกว้างมากบางปีหาดกว้างน้อยแล้วแต่รอบของธรรมชาติ
     “ช่วงคลื่นลมปรกติ คลื่นจะพัดทรายเข้าหาชายฝั่งช้าๆ เกิดการจัดเรียงตัวเป็นหาดทราย ถึงช่วงมรสุม เม็ดทรายจะถูกคลื่นกวาดออกท้องทะเลไปกองเป็นสันดอนใต้น้ำ พอคลื่นลมสงบลง คลื่นใต้น้ำหรือที่เรียกว่า ‘คลื่นเดิ่ง’ จะพัดทรายสันดอนกลับขึ้นฝั่งเรียงตัวเป็นหาดทราย หาดทรายที่ถูกกัดเซาะจึงถูกแทนที่ด้วยเม็ดทราย และด้วยเหตุนี้หาดทรายจึงไม่เหมือนกันในแต่ละช่วงเวลา เม็ดทรายที่เห็นในวันนี้จะถูกแทนที่ด้วยเม็ดทรายใหม่ในวันข้างหน้า” อภิศักดิ์อธิบายชัดถอยชัดคำ
     แต่ถ้าเป็นความเปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมของมนุษย์ เขาเห็นว่ามักนำไปสู่การกัดเซาะที่ลุกลามยากเยียวยา ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดกับหาดชลาทัศน์
     ต้นเหตุของปัญหาทะเลกัดเซาะต้องเล่าย้อนไปประมาณ ๖๐ ปี เมื่อกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านโยกย้ายจากแหลมสนอ่อนมาตั้งชุมชนตรงโขดหินหัวนายแรงซึ่งขณะนั้นยังมีชายหาดเก้าเส้ง ชาวบ้านตั้งหมู่บ้านชิดชายหาด เรียนรู้ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของชายหาดและน้ำทะเล บ้านเรือนสร้างแบบยกพื้นค้ำยันด้วยเสาต้นเล็กๆ ไม่กีดขวางกระแสน้ำและตะกอนทราย

“หาดทรายจึงไม่เหมือนกันในแต่ละช่วงเวลา เม็ดทรายที่เห็นในวันนี้จะถูกแทนที่ด้วยเม็ดทรายใหม่ในวันข้างหน้า"

       ต่อมากองทัพเรือขอคืนพื้นที่บางส่วนของชุมชนเก้าเส้งและสร้างถนนเลียบหาดสมิหลาลงมาถึงเก้าเส้ง ช่วงหัวโค้งถนนล่วงล้ำเข้าไปในเขตอิทธิพลการปรับตัวของชายหาด ทำให้ถนนถูกน้ำทะเลกัดเซาะ ต้องซ่อมแซมมากน้อยตามความรุนแรงของคลื่นลมในแต่ละปี
Image
        ในปี ๒๕๔๓ มีการสร้างอาคารสูบน้ำเสียบนหาดเก้าเส้งรุกเขตอิทธิพลการปรับตัวของชายหาด ขัดขวางการเคลื่อนย้ายของเม็ดทรายตามธรรมชาติ ทำให้คลื่นพัดผ่านหาดทรายเข้าปะทะฐานรากของอาคารจนพังเสียหาย ชายหาดเก้าเส้งถูกทำลาย คลื่นเลี้ยวเบนไปกัดเซาะถนนรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทางเทศบาลนครสงขลาจึงสร้างเขื่อนกันคลื่น (คันดักทรายหรือรอ) รูปตัว T จำนวนสามตัวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่กลับเป็นการขยายปัญหาให้ลุกลามสู่หาดชลาทัศน์ ต้องสร้างกำแพงชายฝั่งหลายรูปแบบเพื่อป้องกัน เช่น กำแพงหินทิ้ง (quarrystone revetment) หินตะแกรงหรือเกเบียน (gabion) กระสอบทรายใยสังเคราะห์ (geobag) ฯลฯ
        หน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการมีทั้งเทศบาลนครสงขลา กรมโยธาธิการและผังเมือง ฯลฯ แต่ไม่มีวิธีไหนได้ผล เกิดการพังทลายของชายหาดตำแหน่งถัดจากกำแพงตัวสุดท้ายเสมอ ต้องสร้างกำแพงเพิ่มเป็นโดมิโนระยะทางถึง ๒ กิโลเมตร ต่อมากระสอบทรายทั้งใบเล็กใบใหญ่ก็เสื่อมสภาพและขาดวิ่น หินตะแกรงถูกคลื่นลากสู่ทะเล
        ธรรมชาติของหาดทรายมีกำเนิดจากลำน้ำพัดตะกอนทรายไหลสู่ทะเล ทรายจะทับถมบริเวณปากแม่น้ำเป็นสันดอนขนานชายฝั่ง คลื่นพัดพาตะกอนทรายเคลื่อนไปจัดเรียงตัวเกิดเป็นหาดทราย มีสมดุลธรรมชาติระหว่างตะกอนทรายที่ถูกพัดมาทับถมและถูกคลื่นพัดพาไปนานนับพันๆ ปี และจะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่ไม่มีสิ่งใดมาแทรกแซง เขื่อนหรือกำแพงกันคลื่นจึงเป็นสิ่งแปลกปลอมเป็นตัวการทำให้หาดทรายและชายฝั่งพังทลายอย่างรุนแรง
      ผลการสำรวจกระแสน้ำชายฝั่งภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนราธิวาสขึ้นไปถึงนครศรีธรรมราชพบว่า การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นทำให้ชายฝั่งถูกกัดเซาะ รศ. ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมทางทะเล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาด หรือ Beach Watch Network (www.bwn.psu.ac.th) อธิบายสาเหตุการกัดเซาะชายหาดชลาทัศน์อย่างน่าสนใจว่า
       “สิ่งก่อสร้างรุกล้ำชายฝั่งจะดักตะกอนไว้ เมื่อฝั่งหนึ่งไม่ได้รับตะกอนหล่อเลี้ยงก็เกิดการกัดเซาะ และทำให้แผ่นดินอีกด้านหนึ่งงอก  สมมุติทางใต้มีตะกอนถูกดักจนทำให้แผ่นดินงอก ๑ ไร่ ทางเหนือแผ่นดินก็จะหายไป ๑ ไร่ พอๆ กัน
       “ยกตัวอย่างการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นที่เรียกว่า jetty บริเวณปากทางเข้าทะเลสาบสงขลา ทำให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ผ่านเข้าออกได้ทั้งปี หลังจากไม่มีตะกอนทรายสะสมกั้นร่องน้ำ ทำให้บริเวณแหลมสนอ่อนมีแผ่นดินงอกร่วมห้าร้อยไร่

“การแก้ปัญหาด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่นยิ่งเร่งให้ชายฝั่งพังทลาย"

        “การแก้ปัญหาด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่นยิ่งเร่งให้ชายฝั่งพังทลาย เกิดผลกระทบต่อเนื่องเรียกว่า end effect ที่กำแพงกันคลื่นตัวสุดท้าย ตามหลักฟิสิกส์ง่ายๆ คือคลื่นจะหักเหแล้วเลี้ยวเบนไปกัดเซาะทรายด้านข้างที่ไม่ได้รับการป้องกัน การสร้างกำแพงยังแยกทรายด้านหน้ากับด้านหลังกำแพงออกจากกัน ถึงช่วงมรสุมหาดทรายหน้ากำแพงจะถูกกัดเซาะ คลื่นจะตะกุยกวาดจนไม่เหลือทรายคอยดูดซับความรุนแรง คลื่นก็ยิ่งโถมเข้าหากำแพงจนพังลงมา”
หนังสือ หาดทราย มรดกทางธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์ จำแนกสิ่งก่อสร้างที่เป็นต้นเหตุของการเสียสมดุลชายฝั่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ

ตั้งฉากกับ
แนวชายฝั่ง

กลุ่มแรก ตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง มักใช้กับท่าเรือและปากแม่น้ำเพื่อป้องกันการตกตะกอนในท่าเรือ ได้แก่ เขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty) คันดักทรายหรือรอ (groin) ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งถูกกัดเซาะ

ขนานกับ
แนวชายฝั่ง

กลุ่มที่สอง ขนานกับแนวชายฝั่ง เพื่อกันคลื่นโดยตรง ได้แก่ เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง (breakwater) ทำให้คลื่นที่เข้ามาปะทะกับเขื่อนเลี้ยวเบน และทำให้พื้นที่ด้านหลังของเขื่อนปลอดจากคลื่นลมจึงเกิดการสะสมของทรายเป็นรูปโค้งเว้า และจะเกิดการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรงที่เขื่อนกันคลื่นตัวสุดท้ายเสมอ

ตั้งอยู่บน
หาดทราย

กลุ่มที่สาม ตั้งอยู่บนหาดทราย เพื่อป้องกันแผ่นดินจากพายุใหญ่ ได้แก่ กำแพงกันคลื่น (seawall) ทำให้เกิดการสะท้อนของคลื่นด้านหน้ากำแพง กวาดทรายหน้ากำแพงออกสู่ทะเลจึงทำให้กำแพงพังทลาย คลื่นที่โถมปะทะกำแพงทำให้เกิดไอน้ำเค็มฟุ้งกระจายในอากาศ กัดกร่อนสิ่งปลูกสร้าง และทำให้พืชพันธุ์ตามแนวชายฝั่งแห้งตายไป
        อย่างไรก็ตาม แม้ทางกลุ่มอนุรักษ์หรือผู้ที่ต้องการรักษาระบบนิเวศของหาดทรายให้คงสภาพตามธรรมชาติ จะจัดให้โครงสร้างต่างๆ เป็นต้นเหตุของการเสียสมดุลชายฝั่ง แต่หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานใช้โครงสร้างดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางชายฝั่ง โดยแบ่งออกเป็น “มาตรการแบบอ่อน” ได้แก่ การเติมทรายชายหาด การปลูกป่าชายเลน การวางถุงใยสังเคราะห์บรรจุทราย การปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น และ “มาตรการแบบแข็ง” คือ กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด เขื่อนหินทิ้ง เขื่อนป้องกันคลื่นนอกชายฝั่ง ไส้กรอกทราย รอดักทราย กล่องกระชุหินหรือกล่องเกเบียน
        มุมมองหรือแนวทางการป้องกันรักษาชายฝั่งของสองฝ่ายจึงไม่ตรงกัน
        ที่ชายหาดชลาทัศน์ หลังจากที่มีการทดลองใช้มาตรการแบบแข็ง คือ เขื่อนกันคลื่น หินตะแกรง (กระสอบทรายยังมีข้อถกเถียงว่าเป็นมาตรการแบบแข็งหรือแบบอ่อน) ผลคือทำให้เกิดการพังทลายของชายหาดเพิ่ม อีกทั้งทัศนียภาพไม่งามตา ไม่เหมาะกับที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เทศบาลนครสงขลาจึงพลิกเทคนิคทั้งหมดที่เคยทำมาด้วยวิธีเติมทรายชายหาด (beach nourishment) นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ใช้วิธีนี้ แต่ก็เป็นการดำเนินงานระยะสั้นและจำกัดระยะทางเพียง ๔๕๐ เมตร วิธีการและทรายที่ใช้ก็ไม่ถูกต้องนักตามหลักวิชาการ ทำให้ประสิทธิภาพการฟื้นฟูต่ำ
        การป้องกันและแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด ในกรณีหาดชลาทัศน์ กรมเจ้าท่า ช่วยฟื้นฟูหาดช่วงปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘ มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ผลคือคนสงขลาเห็นด้วยกับวิธีรื้อถอนโครงสร้างชายฝั่งบางส่วนร่วมกับวิธีเติมทราย
        ในปี ๒๕๕๘ จังหวัดสงขลาโดยผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จังหวัดสงขลา ดำเนินมาตรการเติมทรายชายหาดร่วมกับการหล่อและวางแท่งคอนกรีตตั้งฉากกับชายฝั่ง
      อภิศักดิ์เดินนำผมสำรวจหาดชลาทัศน์ เขาชี้ให้ดูเรือดูดทรายกำลังลอยลำไม่ไกลจากชายฝั่ง มีท่อลำเลียงทรายจากใต้ทะเลเข้ามาถมหาดอย่างต่อเนื่อง บนหาดยังมีรถแมคโครกำลังขุดทราย มีเครื่องจักรกลหนัก มีเหล็กเส้นก่อสร้างขึ้นรูปเป็นแท่ง เขาตั้งข้อสังเกตว่าวัสดุที่นำมาเติมบนหาดมีคุณสมบัติเหมาะสมเพียงใด เพราะทรายที่ถูกดูดขึ้นมาดูจะแตกต่างจากทรายบนหาดมากทั้งสีและขนาด

ผลคือทำให้เกิดการพังทลายของชายหาด ไม่เหมาะกับที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ

        โดยหลักการของการฟื้นฟูชายหาดด้วยการเติมทราย วัสดุ แหล่งที่มาของทราย ตลอดจนพื้นที่หน้าตัดของหาด ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ หากปฏิบัติถูกต้องตามหลักวิชาการจะเป็นการแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบด้านลบน้อย ไม่รบกวนทัศนียภาพ แต่โครงการของจังหวัดสงขลาไม่ได้เติมทรายเพียงอย่างเดียว ในสัญญาจ้างระบุถึงการวางแท่งคอนกรีตตั้งฉากกับชายฝั่งเป็นช่วงๆ ตลอดระยะประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร โดยขุดหลุมวางแท่งคอนกรีตแล้วใช้ทรายกลบฝัง
       ในทางวิศวกรรมโครงสร้างที่ยื่นตั้งฉากกับชายฝั่งคือคันดักทราย ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นว่าชายหาดทางทิศเหนือถูกกัดเซาะ

Image
        ภาคประชาสังคมนำโดยกลุ่ม Beach for life, กลุ่มประมงพื้นบ้าน จึงรวมตัวกันยื่นฟ้องศาลปกครองสงขลา ผู้ถูกฟ้องประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จังหวัดสงขลา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า และเทศบาลนครสงขลา ศาลปกครองสงขลามีคำวินิจฉัยออกมาว่า ให้ผู้ฟ้องชนะคดี แต่ไม่มีผลทางอาญา สั่งให้ทางจังหวัดสงขลาและ ทส. พูดคุยกันถึงแนวทางใหม่ในการฟื้นฟูชายหาด
        ในฐานะตัวแทนกลุ่ม Beach for life ซึ่งติดตามปัญหากัดเซาะชายหาดชลาทัศน์มานาน อภิศักดิ์ให้ความเห็นว่า ความสำคัญของคดีนี้คือการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งเพิ่งจะประกาศใช้ มีเนื้อหาระบุว่า ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง
        “สมัยนี้ชายหาดที่สวยงามเหลือน้อยลงทุกที เราควรรักษาไว้ จะก่อสร้างอะไรต้องให้กระทบธรรมชาติน้อยที่สุด อย่างหาดสมิหลา หาดชลาทัศน์สภาพแวดล้อมยังสมบูรณ์ ผู้คนจากหลายภาคส่วนเข้ามาใช้ประโยชน์ทุกวัน เราทุกคนควรเห็นคุณค่า ไม่ใช่เร่งแต่จะสร้างโครงสร้างแข็งเพราะกลัวว่าจะเกิดผลกระทบจากคลื่น”
        เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้บทเรียนหนึ่งคือระบบนิเวศหาดทรายมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนสูง ทุกวันนี้มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่และเปลี่ยนแปลงของหาดทราย ปัจจัยเลวร้ายที่สุดมาจากมนุษย์
       ขณะเดียวกันปัจจัยที่จะทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงด้านบวกก็น่าจะมาจากมนุษย์เช่นกัน

ปากคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง

อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และชายฝั่งอ่าวไทยภาคใต้ตอนล่าง

จากหาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา ผมเดินทางมายังปากคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๙ ตรงกับช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงหนือ แต่วันที่ผมเดินทางมาถึงคลื่นลมสงบ ภายหลังจากท้องทะเลและชายฝั่งรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้
       ลมประจำถิ่นที่พัดผ่านประเทศไทยและมีผลต่อการกัดเซาะชายฝั่งมีสองชนิด ได้แก่ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ นำความหนาวเย็นมาให้ และพัดผ่านอ่าวไทยลงไปตอนล่าง ทำให้เกิดการกัดเซาะฝั่งอ่าวไทย
       ชนิดที่สองคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากทะเลอันดามันเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม นำความชุ่มชื้นมาให้ และทำให้เกิดฝนตกชุกในภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ฝั่งตะวันตก
       นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อน ทั้งไต้ฝุ่นที่มีจุดกำเนิดในทะเลจีนใต้และไซโคลนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย พายุเหล่านี้มักก่อความเสียหายรุนแรงและส่งผลต่อการกัดเซาะชายฝั่ง

        ที่ปากคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง ผมมองเห็นเขื่อนกันทรายและคลื่นแบบคอนกรีตเสริมเหล็กยื่นออกไปกลางทะเล ตั้งฉากกับชายฝั่ง เมื่อเดินตามสันเขื่อนแล้วมองกลับเข้าหาฝั่งก็เห็นชัดเจนว่าชายหาดด้านใต้เกิดหาดทราย “งอก” ขณะที่ชายหาดด้านเหนือถูกกัดเซาะ มองเห็นเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งหรือ breakwater ทอดยาวสุดสายตา ไล่เลียงตามแนวหาดที่เกิดการสะสมของทรายเป็นรูปโค้งเว้าเหมือนฟันเลื่อย
       ชาวบ้านเล่าว่าเมื่อปี ๒๕๔๗ กรมชลประทานสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นแห่งนี้เพื่อป้องกันตะกอนทรายทับถมตรงปากคลอง แต่ทันทีที่สร้างเขื่อนชายหาดทางใต้ก็เริ่มงอก ขณะที่ชายหาดทางเหนือถูกกัดเซาะ
       “นี่ละตัวการทำให้ชายหาดพัง” ชาวบ้านคนดังกล่าวยืนยัน
       กรมเจ้าท่าก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มักสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นตามปากแม่น้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ตะกอนทรายเกิดการทับถม และช่วยให้เรือสินค้ารวมทั้งเรือประมงแล่นเข้าออกได้ทั้งปี จากที่เคยใช้วิธีขุดลอกปากแม่น้ำตามฤดูกาล เหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นหลายแห่งในนครศรีธรรมราช เช่น บ้านบ่อคณที อำเภอปากพนัง การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นที่ปากคลองผักกาดทำให้ชายหาดด้านทิศเหนือของเขื่อนพังทลายเป็นระยะทางกว่า ๕ กิโลเมตร บ้านเรือนหลายหลังถูกคลื่นพัดหายไปในทะเล
      ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต้องแลกมาด้วยชายหาดพังทลาย อีกทั้งยังทำให้วิถีชีวิตของคนชายฝั่งเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง
Image

หลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง ต้องสูญเสียบ้านและที่ทำกิน ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์กลายเป็น "โฉนดตกน้ำ" มูลค่าเหลือเพียงศูนย์

     อภิศักดิ์เดินนำผมสำรวจหาดชลาทัศน์ เขาชี้ให้ดูเรือดูดทรายกำลังลอยลำไม่ไกลจากชายฝั่ง มีท่อลำเลียงทรายจากใต้ทะเลเข้ามาถมหาดอย่างต่อเนื่อง บนหาดยังมีรถแมคโครกำลังขุดทราย มีเครื่องจักรกลหนัก มีเหล็กเส้นก่อสร้างขึ้นรูปเป็นแท่ง เขาตั้งข้อสังเกตว่าวัสดุที่นำมาเติมบนหาดมีคุณสมบัติเหมาะสมเพียงใด เพราะทรายที่ถูกดูดขึ้นมาดูจะแตกต่างจากทรายบนหาดมากทั้งสีและขนาด
       โดยหลักการของการฟื้นฟูชายหาดด้วยการเติมทราย วัสดุ แหล่งที่มาของทราย ตลอดจนพื้นที่หน้าตัดของหาด ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ หากปฏิบัติถูกต้องตามหลักวิชาการจะเป็นการแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบด้านลบน้อย ไม่รบกวนทัศนียภาพ แต่โครงการของจังหวัดสงขลาไม่ได้เติมทรายเพียงอย่างเดียว ในสัญญาจ้างระบุถึงการวางแท่งคอนกรีตตั้งฉากกับชายฝั่งเป็นช่วงๆ ตลอดระยะประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร โดยขุดหลุมวางแท่งคอนกรีตแล้วใช้ทรายกลบฝัง
       ในทางวิศวกรรมโครงสร้างที่ยื่นตั้งฉากกับชายฝั่งคือคันดักทราย ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นว่าชายหาดทางทิศเหนือถูกกัดเซาะ
       ชาวบ้านคนเดิมเล่าว่าเมื่อก่อนหาดทรายแห่งนี้คือบ้าน ผู้คนในชุมชนแวะเวียนทำกิจกรรมบนชายหาด ครอบครัวใช้เป็นแหล่งนันทนาการ ชาวประมงใช้เป็นจุดจอดเรือและซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องใช้ โดยทั่วไปพื้นที่ในทะเลตรงบริเวณที่จะจอดเรือจะต้องไม่ตื้นเขินและมีสันดอนขนาดเล็กด้านนอกชายฝั่งเพื่อช่วยลดแรงกระแทกจากคลื่น ทำให้เรือนิ่ง เข็นขึ้นง่าย นอกจากนี้บริเวณชายหาดต้องเป็นที่ราบ ไม่สูงชันเกินไป จุดจอดเรือมักมีเรือจอดเรียงต่อๆ กันเพราะการนำเรือขึ้นฝั่งต้องอาศัยแรงหลายคนช่วยเข็น เจ้าของเรือลำไหนกลับบ้านก่อนถือว่าไม่ช่วยเหลือกัน ก็จะถูกผู้อาวุโสในชุมชนตักเตือน
      การกัดเซาะชายฝั่งจึงไม่ได้ทำลายเฉพาะหาดทราย ผืนแผ่นดิน ต้นไม้ สิ่งปลูกสร้าง แต่ยังทำลายวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่ดำรงมาช้านาน

Image

หนังสือ หาดทราย มรดกทางธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น (๒๕๕๔) ระบุว่าตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมาชายฝั่งด้านอ่าวไทยถูกกัดเซาะถึงร้อยละ ๒๙.๓ ของทั้งหมด

18%
485 กม.
เสียหายรุนแรง
เพราะเขื่อนกันทราย เขื่อนกันคลื่น กำแพงชายฝั่ง
49%
ชายหาดภาคใต้ตอนล่างสี่จังหวัด
เสียหายเพราะการแทรกแซงสมดุลธรรมชาติของหาดทราย
202 ก้อน
2,020 ล้านบาท
สร้างเขื่อนกันคลื่น
เฉพาะช่วยฝั่งอำเภอหัวไทรถึงอำเภอปากผนัง
        ที่เสียหายรุนแรงคิดเป็นร้อยละ ๑๘.๒ หรือประมาณ ๔๘๕ กิโลเมตร ล้วนเกิดจากสิ่งก่อสร้างรุกล้ำหาดทรายที่ดำเนินการโดยภาครัฐ เช่น เขื่อนกันทราย เขื่อนกันคลื่น กำแพงชายฝั่ง
        เฉพาะภาคใต้ตอนล่างสี่จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราช มีปัญหาการกัดเซาะร้อยละ ๓๗ ตามผลการสำรวจเมื่อปี ๒๕๕๐ และเสียหายเพิ่มเป็นร้อยละ ๔๙ เมื่อปี ๒๕๕๔ แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะดำเนินมาตรการแก้ไข แต่อัตรากัดเซาะกลับขยายตัวรุนแรง สาเหตุหลักเกิดจากการแก้ปัญหาด้วยมาตรการที่แทรกแซงสมดุลตามธรรมชาติของหาดทราย
       เฉพาะชายฝั่งอำเภอหัวไทรถึงอำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งแล้วจำนวน ๒๐๒ ก้อน แต่ละก้อนยาวประมาณ ๓๐-๖๐ เมตร
       ถ้าประเมินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างตามหนังสือแนวทางการจัดทำแผนงาน/โคงงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความยาว ๑ เมตรราคา ๑๐๐,๐๐๐-๑๙๕,๐๐๐ บาท เขื่อนก้อนหนึ่งยาว ๓๐-๖๐ เมตร จะมีราคาก้อนละประมาณ ๖-๑๑.๗ ล้านบาท สองอำเภอมี ๒๐๒ ก้อน ก็ใช้งบประมาณราว ๒,๐๒๐ ล้านบาท
        ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตั้งคำถามว่าการนำงบประมาณขนาดนี้มาแก้ปัญหาถือเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ เนื่องจากยิ่งสร้างมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้ชายฝั่งพัง เขายกตัวอย่างการแก้ปัญหาที่หาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยวิธีสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแบบแนวเขื่อนหินทิ้ง
        “แนวหินทิ้งริมหาดแบบนี้กิโลเมตรละ ๖๐ ล้านบาท สร้างจากภาษีเราทุกคน หาดนี้ยาวเป็นสิบกิโลเมตร ก็เตรียมเงินไว้ ๖๐๐-๑,๐๐๐ ล้านบาท เพราะเดี๋ยวคลื่นก็เลี้ยวเบน ค่อยๆ เซาะต่อไป จริงๆ แล้วการกัดเซาะเกิดจากไปสร้างถนนล้ำมาในพื้นที่คลื่นซัดถึงในช่วงมรสุม คือคุณไม่วางแผนให้ดีก่อนสร้าง
        “บางหน่วยงานคิดแต่จะป้องกันรักษาทรัพย์สินของตัวเอง ไม่คิดบ้างว่าต้องทำลายชายหาด แล้วก็ต้องทำลายภูเขาเพื่อเอาหินมาถมแก้ปัญหา ถึงตอนนี้หน่วยงานรัฐรู้ถึงผลกระทบของโครงสร้างแข็งอยู่แล้ว แต่ไม่ยอมรับ หาดทรายที่เสียหายในขั้นวิกฤตต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ต้องระงับการก่อสร้างสิ่งรุกล้ำชายฝั่งทุกขนาด เพราะมีส่วนทำลายความสมดุลของตะกอนทรายชายฝั่ง และต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำทะเลออกให้หมด เพื่อเริ่มมาตรการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างถูกต้อง
        “ผมเคยเสนอให้รื้อเขื่อนต่างๆ กำแพงกันคลื่นต่างๆ ออกให้หมด แต่ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะจะเกิดการพิพาทกันระหว่างคนที่ได้รับผลประโยชน์กับคนที่เสียประโยชน์ เมื่อชายฝั่งพังมันกระทบหลายหน่วยงาน อีกอย่างตัวต้นเหตุก็ไม่ยอมรับว่ามีการก่อสร้างที่ทำให้เกิดผลกระทบ มันเสียเชิง อัตตาสูง เมื่อต่างคนต่างแก้มันก็ไม่จบ ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ทำได้แค่แก้ไขป้องกันงานตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปกัดเซาะที่อื่นแทน”
       ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายงานข่าวพาดหัวว่า
      “วอน ‘กรมเจ้าท่า’ ช่วยเพิ่มงบฯ เร่งทำแนวกั้นคลื่นยักษ์กลืนที่”
      เนื้อข่าวกล่าวถึงผลการประชุมแบบมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ ๓ (ปัจฉิมนิเทศ) ระบุว่ากรมเจ้าท่าเตรียมสร้างแนวคันกั้นคลื่น ๘๙ ตัว และโครงสร้างอื่นๆ ที่อำเภอปากพนัง รวมงบประมาณ ๑,๐๘๐,๒๖๒,๐๐๐ บาท ระบุว่าถ้าไม่ดำเนินการก่อสร้างจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งตั้งแต่หลัก กม.๑-๑๘ และจะทำให้สูญเสียแผ่นดิน ๑,๑๒๖.๗๕ ไร่ โดยมีอัตราการกัดเซาะมากที่สุดที่ ๑๑.๗๑ เมตรต่อปี การทำเช่นนี้เพื่อหยุดปัญหาโฉนดตกน้ำ ชาวบ้านต่างลงมติเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

Image
    สำหรับหน่วยงานรัฐคิดว่าการสร้างเขื่อนมีความจำเป็น ตัวแทนนักวิชาการของบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ความเห็นว่า การกัดเซาะชายฝั่งแก้ไขได้หลากหลายวิธี ทั้งโครงสร้างอ่อน (Soft Solution) เช่น เสริมทราย และโครงสร้างแข็ง (Hard Solution) เช่น เขื่อนหินทิ้ง เขื่อนคอนกรีตขั้นบันได แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การเลือกใช้วิธีใดต้องถูกต้องตามหลักวิชาการ และต้องนำปัจจัยด้านวิศวกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์มาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก
      “โครงสร้างแข็งเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นปัญหาวิกฤตซึ่งต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันด้วยข้อจำกัดของมาตรการแก้ไขปัญหาด้วยโครงสร้างอ่อนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
       “และแม้ว่าโครงสร้างแข็งเหล่านี้ อาจถูกมองว่าทำลายทัศนียภาพบนชายหาด ทำให้หาดทรายหายไป หรือแม้แต่ก่อให้เกิดการกัดเซาะในพื้นที่ข้างเคียง แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งของประชาชนที่อาศัยและได้รับความเดือดร้อนอยู่บริเวณชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ การมีเขื่อนกันคลื่นที่แข็งแรง มีอายุการใช้งานยาวนาน ป้องกันคลื่นได้แม้ในช่วงมรสุมแรง ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจได้ว่าที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินของตนยังคงปลอดภัยจากการกัดเซาะ  
       “คนที่ให้ความสำคัญเรื่องความสวยงามชายหาด ไม่ได้มีบ้านเรือนอยู่ติดชายฝั่ง พวกเขามาชายฝั่งปีละไม่กี่ครั้ง ดังนั้นหากเทียบความสวยงามของชายหาดกับความเดือดร้อนของชุมชนหรือประชาชนที่มีทรัพย์สินอยู่บริเวณชายฝั่งแล้วเทียบกันไม่ได้เลย

“เสียงคลื่นทุกลูกที่กัดเซาะชายฝั่งสร้างความเจ็บปวดให้ผู้มีทรัพย์สินหรือบ้านที่กำลังจะถูกกัดเซาะ"

      “เสียงคลื่นทุกลูกที่กัดเซาะชายฝั่งสร้างความเจ็บปวดให้ผู้มีทรัพย์สินหรือบ้านที่กำลังจะถูกกัดเซาะ เราดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ เพื่อปกป้องรักษาพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย ไม่ให้ถูกกัดเซาะเสียหายไปแม้เพียง ๑ ตารางเมตร ถ้ามองในประเด็นที่ใกล้เคียงกัน เช่น กรณีเขาพระวิหาร พื้นที่เพียงแค่พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรเรายังห่วงแหนและอยากรักษาไว้ ถ้าไม่ดำเนินมาตรการป้องกันชายฝั่งที่แข็งแรงแล้วในอนาคตอันใกล้ เราจะเสียพื้นที่ของประเทศไทยในปีละหลายพันตารางเมตร”
Image

จากปากแม่น้ำบางปะกง

ถึงปากแม่น้ำแม่กลอง และชายฝั่งหาดโคลนหาดเลน

อ่าวไทยตอนล่างมีลักษณะเป็นหาดทราย การสร้างเขื่อนหรือกำแพงกันคลื่นเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหากัดเซาะชายฝั่ง แต่สำหรับหาดโคลนแล้วปัญหาเกิดจากการทำลายป่าชายเลน
      ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนหรือ อ่าว ก.ไก่ ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ในอดีตเคยมีป่าชายเลนหนาแน่น บางพื้นที่ยาวต่อเนื่องนับสิบกิโลเมตร ถือเป็นแนวป้องกันทางธรรมชาติ
      แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนลดลงมาก เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหากัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากตามปรกติบริเวณป่าชายเลนจะประกอบด้วยชั้นโคลนหนาแผ่กระจายเป็นบริเวณกว้าง ชายหาดมีความลาดชันของพื้นที่ท้องทะเลต่ำ จึงช่วยลดความสูงของคลื่นที่เคลื่อนตัวเข้ามา และถึงแม้จะมีคลื่นเข้ามาถึงแนวชายฝั่งระบบรากของพืชป่าชายเลนจะช่วยยึดโคลนที่ฟุ้งกระจายให้คงอยู่และตกตะกอน ไม่ถูกน้ำทะเลพัดพาออกไป

        เหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายเดือนธันวาคมปี ๒๕๔๗ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า ๒ แสนคน เป็นตัวอย่างที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าชายฝั่งที่มีป่าชายเลนสามารถบรรเทาความรุนแรงของคลื่นได้
       อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ความรุนแรงของปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งโดยเฉพาะอ่าวไทยตอนบนเริ่มปรากฏชัดมากขึ้น อันเป็นช่วงที่รัฐบาลหันมาสนับสนุนให้กลุ่มทุนการเกษตรและเกษตรกรทำนากุ้ง
       อะไรเป็นสาเหตุทำให้การทำนากุ้งเกี่ยวข้องกับการกัดเซาะชายฝั่ง ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ซึ่งลงพื้นที่ศึกษาเหตุการณ์น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทั่วทั้งภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔-๒๕๔๕ อธิบายว่า
       “ชายฝั่งบ้านเราตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มาถึงปากแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ระยะทางประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตรเป็นหาดโคลนหาดเลนทั้งหมด แต่ตอนนี้ถ้าเราเปิดกูเกิลเอิร์ธดูภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นว่าป่าชายเลนหายไป สิ่งที่เข้ามาแทนคือบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า” ผศ.ดร.สมปรารถนา อธิบายต่อว่าบ่อสี่เหลี่ยมที่เห็นคือนากุ้ง
       “ส่วนปลายสุดของบ่อเลี้ยงกุ้งต้องติดตั้งประตูน้ำเพื่อเปิดให้น้ำและสารอาหารเข้ามา หลังทำนากุ้งเสร็จก็ถ่ายน้ำกลับทะเล นากุ้งต้องอยู่ชิดชายฝั่งให้มากที่สุด ป่าชายเลนก็เลยค่อยๆ หายไปเป็นกระหย่อม”
        “เห็นชัดเลยถ้าดูภาพถ่ายทางอากาศ มันจะเป็นการกัดเซาะที่แปลกประหลาดคือเหมือนกับฟันหลอ คันตรงไหนกั้นไม่อยู่ก็ไปก่อน เหมือนฟันถูกถอนออกทีละซี่ หรือเป็นรูปทรงเรขาคณิตยึกๆ ยักๆ”
        ยังมีสาเหตุอีกประการที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งแต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงคือการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ ทำให้ตะกอนถูกกั้นไว้ ส่วนที่ไหลมาถึงปากแม่น้ำมีปริมาณลดลง
       ยกตัวอย่างเมื่อปี ๒๕๕๓-๒๕๕๖ กลุ่มงานตะกอนและคุณภาพน้ำ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ทำโครงการศึกษาปริมาณการสะสมตะกอนที่ส่งผลกระทบต่อความจุอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีปริมาณตะกอนตกทับถมในอ่างเก็บน้ำมากถึง ๗.๔๔ ล้านตัน หรือกรณีเขื่อนฮูเวอร์ในสหรัฐอเมริกา ประมาณการว่าในแต่ละปีมีตะกอนไหลมาตามแม่น้ำโคโลราโดมากถึง ๔๔ ล้านตัน จนต้องสร้างเขื่อนรองอีกหลายเขื่อนเพื่อดักตะกอนมิให้ทับถมเขื่อนหลัก

Image

กรณีเขื่อนฮูเวอร์ ประมาณการว่าในแต่ละปีมีตะกอนไหลมาตามแม่น้ำโคโลราโดมากถึง ๔๔ ล้านตัน

     ปัญหากัดเซาะชายฝั่งหาดโคลนจึงเป็นผลกระทบโดยตรงจากปัญหาตะกอนชายฝั่งลดลงจากการทำลายป่าชายเลนและสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ
      ทุกวันนี้ชุมชนตามแนวชายฝั่งตระหนักถึงปัญหา หันมาอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลนเพิ่ม นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคปักไม้ไผ่ดักตะกอน อันมีที่มาจากภูมิปัญหาท้องถิ่นคือชาวประมงพื้นบ้านปักไม้ไผ่ล่อหอยแมลงภู่แล้วสังเกตว่าด้านหลังแนวไม้ไผ่เกิดการสะสมตัวของตะกอน เมื่อคลื่นผ่านแนวไม้ไผ่ก็มีความรุนแรงน้อยลง
       อย่างไรก็ตาม การปักไม้ไผ่จะต้องศึกษารูปแบบ วิธีการที่เหมาะสม วิสูตร นวมศิริ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๐ บ้านบางบ่อล่าง ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้นำชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการปักไม้ไผ่ อธิบายความเป็นมาว่า

Image

“เมื่อก่อนหมู่บ้านเราเคยมีแหลมยื่นออกไปในทะเล มีป่าชายเลนอยู่ห่างจากบ้านหลังแรกสัก ๒๐๐ เมตร ต่อมาเกิดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ ต้องรื้อบ้านหนีน้ำเป็นสิบๆ หลัง

       “เมื่อผมขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็เลยชวนชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยการปักไม้ไผ่ ตอนนั้นงบประมาณก็ไม่มี อาศัยไปศึกษาที่โคกขามเอามาต่อยอดที่นี่ ไม่ใช่ว่าต้องมีงบประมาณก่อนค่อยทำ”
       ผู้ใหญ่ฯ วิสูตรอธิบายวิธีการปักไม้ไผ่ว่าไม่ควรห่างจากชายฝั่งเกิน ๕๐ เมตร ปักลึกอย่างน้อย ๒ เมตร ให้โผล่เหนือดิน ๓ เมตร รูปแบบการปักมี ๒ แบบหลัก คือแบบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ใช้ไม้ไผ่ ๔๕ ต้นต่อระยะทาง ๒ เมตร ปักให้เป็นแนว ๕ แถว อีกแบบหนึ่งคือแบบของกรมโยธาธิการและผังเมืองซึ่งผู้ใหญ่ฯ วิสูตรบอกว่าชาวบ้านออกแบบให้กรมโยธาฯ จะปักเป็นสามเหลี่ยมคล้ายฟันเลื่อน หันด้านแหลมเข้าหาทะเล
       “มีบางคนอยากได้เขื่อนหินที่ถาวรกว่า ผมก็พยายามอธิบายว่าเขื่อนหินมันรักษาได้เฉพาะบ้านคุณ แต่บ้านคนอื่นเสียหาย แล้วมันก็ต้องตามแก้ไขไม่หยุดหย่อน” ผู้ใหญ่ฯ วิสูตรอธิบาย
       สิบสองปีหลังปักไม้ไผ่และรณรงค์ปลูกป่าชายเลน ชายฝั่งบ้านบางบ่อล่างมีแผ่นดินเพิ่มขึ้นประมาณ ๔๐๐ ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเลนด้านในที่เคยเป็นนากุ้งเก่าที่ชาวชุมชนต้องการให้กลับมาเป็นผืนป่าอย่างเดิม ๒๐๐-๓๐๐ ไร่ และพื้นที่จากปากคลองถึงปากคลองริมทะเลอีกประมาณ ๑๐๐ ไร่ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมายังไม่มีใครต้องย้ายบ้าน และมีปลูกบ้านเพิ่ม ถึงวันนี้ชาวชุมชนยังคงปลูกป่าชายเลน ปลูกรุกชายฝั่งออกไปในทะเล
       ผู้ใหญ่ฯ วิสูตรเล่าว่า “สิ่งที่ชุมชนต้องทำและไม่หยุดก็คือปลูกป่า จนเราได้ป่ากลับมาทั้งป่าด้านในและด้านนอกฝั่ง สิ่งที่ได้มาอีกอย่างคือแนวร่วมปลูกป่าหลังแนวไม้ไผ่ การปลูกป่าชายเลนไม่ใช่ว่าปลูกครั้งเดียว ต้องใช้เวลา สะสมไป จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ๑๒ ปีก็ยังไม่หยุดปลูก ถ้าสิ้นสุดแล้วหยุดมันก็จะขาดองค์ความรู้ เราพยายามสร้างให้มันเป็นโรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลนที่ใครๆ ก็มาเรียนรู้ได้ อยากให้เป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้คนรุ่นใหม่รู้คุณค่าของป่าชายเลน”

บ้านขุนสมุทรจีน

ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และสามพันกว่ากิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่ง

ปลายปี ๒๕๖๑ ผมเดินทางมาบ้านขุนสมุทรจีนอีกครั้ง วัดขุนสมุทราวาสกำลังเตรียมงานทอดกฐินสามัคคี มีการติดป้ายเชื้อเชิญให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน
      พิษณุ เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๙ ที่สืบต่อจาก สมร เข่งสมุทร แม่ของตนเองเล่าว่า ในทุกๆ ปีทางวัดจะจัดทอดกฐินเพื่อนำปัจจัยส่วนหนึ่งมาบูรณะวัด ซ่อมแซมและต่อเติม “พระอุโบสถกลางน้ำ” รวมทั้งเสริมสร้างแนวกำแพงหินป้องกันคลื่นรอบวัด
      นับตั้งแต่ประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งเมื่อราว ๔๐ ปีก่อน ทำให้บ้านขุนสมุทรจีนกลายเป็นหมู่บ้านที่มีการพังทลายของพื้นดินชายฝั่งมากที่สุดแห่งหนึ่ง มีความพยายามแก้ไขปัญหาโดยชาวชุมชน หน่วยงานรัฐ และเอกชนหลายวิธี บ้านขุนสมุทรจีนยังเป็นสถานที่ที่หน่วยงานต่างๆ มักขอเข้ามาศึกษาดูงาน

       เมื่อมองไปยังทะเลรอบวัดขุนสมุทราวาสผมพบว่ามีการปักเสาไม้ไผ่ดักตะกอน ปลูกป่าชายเลน ทำแนวกำแพงหิน ด้านหน้าวัดซึ่งหันออกทะเลมีแนวเขื่อนป้องกันแรงกระแทกของคลื่นทำจากเสาคอนกรีตรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าเรียงซ้อนกันเป็นฟันปลา ช่วยสลายความแรงของคลื่น แต่เท่าที่ทราบยังไม่มีวิธีการใดมีประสิทธิภาพทำลายคลื่นได้อย่างถาวร พี่น้องขุนสมุทรจีนยังคงหายใจไม่ทั่วท้องเพราะไม่รู้ว่าน้ำทะเลจะรุกถึงหน้าบ้านเมื่อไร
       ผู้ใหญ่ฯ พิษณุเน้นย้ำว่าถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป แผ่นดินของบ้านขุนสมุทรจีนคงจะถูกน้ำทะเลกลืนหายทั้งหมดในไม่ช้า และจะลุกลามกระทบผืนดินของจังหวัดสมุทรปราการที่อยู่ลึกเข้าไปจากชายฝั่ง แม้แต่ผืนดินของกรุงเทพมหานครรวมทั้งจังหวัดต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน เวลานี้หลักเขตกรุงเทพมหานคร หลักเขตที่ ๒๘ กั้นเขตบางขุนเทียนกับอ่าวไทยตั้งเด่นกลางทะเลห่างฝั่งร่วมหนึ่งกิโลเมตร ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยตั้งอยู่บนดิน สะท้อนว่าปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
       “ถ้าขุนสมุทรฯ อยู่ได้ กรุงเทพฯ ก็อยู่ได้ ถึงแม้ว่าธรรมชาติจะไม่เคยปรานี” ผู้ใหญ่ฯ พิษณุรำพันอย่างมีความหวัง
       ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จีสด้า (Gistda) ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งว่า
      “ถ้าปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งมีทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สาเหตุจากมนุษย์คือการทำลายป่าชายเลน การขุดตักทรายบริเวณชายหาดเอาไปขาย การสร้างเขื่อนหรือฝายกั้นแม่น้ำ การสร้างสิ่งก่อสร้างในทะเลและยื่นออกจากชายฝั่ง น่าจะประมาณ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น น้ำขึ้นน้ำลง กระแสน้ำ ลมมรสุม รวมถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวอย่างสึนามิ
      “นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อน ก่อนเกิดน้ำท่วมจะเกิดการกัดเซาะก่อน ในอนาคตสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งจะมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ปัญหาจากกิจกรรมของมนุษย์มากกว่า sea level rise ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเท่า เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะแก้ปัญหาก็ต้องแก้ให้ตรงจุด ต้องจับตัวปัญหาใหญ่คือมนุษย์”

ทุกวันนี้ปัญหาจากกิจกรรมของมนุษย์มากกว่า sea level rise ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเท่า

         พื้นที่ชายฝั่งเป็นรอยต่อของแผ่นดินที่เป็นของแข็งกับทะเลที่เป็นของเหลว ประกอบด้วยระบบนิเวศเฉพาะระหว่างบกกับน้ำ แต่ความรู้เรื่องธรรมชาติของชายฝั่งของสังคมไทยยังน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องป่าเขาหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น
        สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจต้นเหตุของปัญหา เข้าใจว่าระบบนิเวศธรรมชาติซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกัน การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำจึงส่งผลต่อปริมาณตะกอนที่ไหลสู่ทะเล การสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่หนึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่หนึ่งที่อยู่ห่างออกไป ความไม่รู้ไม่สนใจศึกษายิ่งจะทำให้ปัญหาบานปลาย

Image
      ไกลออกไปสุดสายตาก่อนถึงเส้นขอบฟ้า จากสะพานปูนทอดเชื่อมชุมชนกับวัด ผมเห็นแนวเสาไฟฟ้าเก่าตั้งเรียงเป็นแถวยาวกลางทะเลหลายสิบต้น หลักฐานนี้ยืนยันได้ว่าบริเวณนั้นเคยเป็นถนนและมีผู้คนอยู่อาศัย
      หลายทศวรรษหลังผู้คนในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยยืนหยัดต่อสู้กับปัญหา ถึงวันนี้การคุกคามยังคงเดินหน้า
      คนส่วนใหญ่อาจมองว่าปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องไกลตัว เพราะไม่ได้มีบ้านอยู่ใกล้ทะเล แต่มหัตภัยเงียบนี้นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมทะเลเป็นเพียงด่านแรกที่ต้องเผชิญผลกระทบ ถ้าเรายังมองข้าม ไม่มีส่วนร่วม อีกไม่นานชายฝั่งก็จะขยับเข้ามาใกล้ วันหนึ่งน้ำทะเลอาจรุกเข้ามาเคาะประตูหน้าบ้าน
     เหมือนกับเหตุการณ์ที่ชาวบ้านขุนสมุทรจีนประสบ
Image

ขอขอบคุณ

  • คุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์, ผศ. ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง, คุณรุสดี นิยมเดชา, คุณไพโรจน์ เทศอ่ำ, คุณศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล, คุณศศิน เฉลิมลาภ, อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง, ผู้ใหญ่ฯ สมร เข่งสมุทร
  • สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
  • สำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
  • กองบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เอกสารประกอบการเขียน

  • โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยสงขลาฟอรั่ม. พลังพลเมืองสงขลากับการศึกษาติดตามหาดสมิหลาทั้งระบบ. ๘ สิงหาคม ๒๕๕๘
  • โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ กรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. หาดทราย...คุณค่า...ชีวิตที่ถูกลืม. ๒๕๕๔
  • โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ กรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. หาดทราย มรดกทางธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น. ๒๕๕๔
  • กองบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. การประมวลข้อมูลสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง ปี ๒๕๖๐. ๒๕๖๐ 
  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. คู่มือสำหรับภาคประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง. ๒๕๕๗ 
  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. แนวทางการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง. ๒๕๖๒