Image
ทหารไทย ใน
“สมรภูมิเวียดนาม”
ภาค ๒
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
Image
โน้ตเพลง “มาร์ชเสือดำ” ของกองพลเสือดำ ปรกติทั้งหน่วยจงอางศึกและเสือดำจะมีเพลงประจำหน่วยซึ่งกำลังพลทุกคนต้องร้องได้
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒

ฉากที่ ๕
ตามรอย “สมรภูมิเบียนหว่า”
สาธารณรัฐ
สังคมนิยมเวียดนาม
ปลาย ค.ศ. ๒๐๑๘

ผมใช้เวลา ๓ ชั่วโมงจากเมืองโฮจิมินห์ซิตี (อดีตกรุงไซ่ง่อน) ไปยังพื้นที่ “อดีตสนามรบ” ของทหารไทย

จากโฮจิมินห์ซิตีผมใช้ถนนเดียนเบียนฟูมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมกับถนนหมายเลข ๕๑ (QL51) ผ่านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำที่เคยเป็น “ท่าเรือนิวพอร์ต” (New Port) สถานที่แรกที่ทหารไทยจะได้พบเห็นเมื่อมาถึงเวียดนามใต้ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นย่านหมู่บ้าน คอนโดฯ ราคาแพง มีสวนสาธารณะและตึกที่สูงที่สุดในเวียดนามคือ Landmark 81 เป็นสัญลักษณ์

ถนนสาย ๕๑ มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามแม่น้ำด่งนาย (Đồng Nai river) เข้าสู่เมืองอานบิ่งห์ (An Bình) จากตรงนี้มีสี่แยกถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปเมืองเบียนหว่า (Biên Hòa) ซึ่งสมัยสงครามเวียดนามคืออดีตอำเภอลองถั่นห์ (Long Thành) จังหวัดเบียนหว่า (Biên Hòa province) แต่ปัจจุบันชื่อเมืองกลายเป็น “เบียนหว่า” และชื่อจังหวัดถูกเปลี่ยนเป็น “ด่งนาย” ตามชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่าน

ผมเลี้ยวขวาไปใช้ถนนหมายเลข ๕๑ ซึ่งในอดีตคือทางหลวงหมายเลข ๑๕ ที่ “กรมจงอางศึก” และ “กองพลเสือดำ” ดูแลเส้นทางนี้เชื่อมไปทางใต้จนถึงหวุงเต่า (Vũng Tàu) เมืองท่าและเมืองตากอากาศสำคัญ

ตลอดเส้นทาง ที่เห็นหนาตาที่สุดบนถนนคือรถบรรทุกขนาดใหญ่ บรรยากาศขมุกขมัวด้วยฝุ่นละอองตลอดเวลา คนนำทางเล่าให้ฟังว่าที่ที่ผมกำลังไปเป็น “เขตอุตสาหกรรม” ที่เต็มไปด้วยโรงงานจำนวนมาก และปัญหาสุขภาพของผู้คนที่นี่คือมลภาวะจากฝุ่นละอองซึ่งไม่มีใครสนใจ

ผมพบว่ายังมีร่องรอยกองกำลังทหารไทยเหลืออยู่ชัดเจนเรื่องหนึ่ง คือสามแยกซึ่งได้ชื่อว่า “สามแยกไทย” (Ngã Ba Thaí Lan) จากตรงนี้ ถนนฝุ่งฮึง (Phùng Hưng) ขนาดสองเลนที่แยกออกไปทางทิศตะวันออกพาผมไปยังอดีตค่ายแบร์แคต  (Bearcat/หมีขอ) ซึ่งปัจจุบันเป็นค่ายทหารขนาดใหญ่ของกองทัพเวียดนาม และน่าจะมีโรงเรียนทหารด้วยเพราะมีนักเรียนนายร้อยใส่ชุดสีเขียวขี้ม้าเดินอยู่ในตลาดรอบค่ายจำนวนมาก
Image