โรยาวา : จากยูโทเปีย
สู่ความเป็นจริง
change from below
เรื่อง : ภัควดี วีระภาสพงษ์
Image
ชาวโรยาวาไม่ได้ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ พวกเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของซีเรีย ในขณะเดียวกันก็มุ่งหวังให้ระบอบของตนเป็นต้นแบบความมั่นคงในตะวันออกกลาง
อาจมีคนไม่มากนักรู้ว่าชัยชนะของกองกำลังหลายฝ่ายเหนือรัฐอิสลาม ISIS (Islamic State of Iraq and Syria) เมื่อไม่นานนี้ ประชาชนท้องถิ่นที่มีบทบาทอย่างมากในการต่อต้านรัฐอิสลามหัวรุนแรงก็คือเขตปกครองตนเองที่เรียกว่าโรยาวา (Rojava) หรือชื่อทางการคือเขตปกครองอิสระแห่งซีเรียเหนือและตะวันออก (Autonomous Administration of North and East Syria) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๕ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของประเทศซีเรีย มีประชากรประมาณ ๔.๖ ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวเคิร์ด  เขตปกครองอิสระแห่งนี้ไม่ได้รับการรับรองจากสหประชา-ชาติหรือประเทศใด ๆ  ตุรกีไม่ค่อยพอใจกับการดำรงอยู่ของมันด้วยซ้ำ ทว่านานาชาติยอมรับบทบาทของโรยาวาในการต่อสู้กับ ISIS และต้อนรับผู้นำของโรยาวาที่เดินทางไปเจรจาในต่างประเทศ บางประเทศตะวันตกก็ส่งบุคคลสำคัญไปสังเกตการณ์ที่โรยาวาด้วย

ของโรยาวาก็คือ ท่ามกลางสงครามซีเรียอันยืดเยื้อและสงครามกับ ISIS ที่แสนโหดร้าย โรยาวาก่อตั้งขึ้นตามอุดมคติของนักปรัชญา มีการปกครองแบบรัฐฆราวาสตามแนวทางสังคมนิยมอนาธิปไตย ตั้งบนหลักการสามประการ คือ ประชาธิปไตยทางตรง ความเท่าเทียมทางเพศ และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
Image
ทหารหญิงมีบทบาทมากในการสู้รบกับ ISIS ถึงกับร่ำลือว่าพวกนั้นจะวิ่งหนีเมื่อได้ยินเสียงทหารหญิง เพราะมีความเชื่อว่าหากถูกทหารหญิงฆ่าจะตกนรก

ภาพ : https://thekurdishproject.org/history-and-culture/kurdish-democracy/rojava-democracy/
จากนักรบจรยุทธ์ซ้ายเก่า
สู่นักปรัชญา
ยูโทเปียซ้ายใหม่

ผู้สถาปนาโรยาวาไม่เคยมีโอกาสมาที่เขตปกครองตนเองแห่งนี้เลย  อับดุล-เลาะห์ โอจาลาน (Abdullah Öcalan) ถูกคุมขังอยู่ในคุกบนเกาะอิมราละของตุรกีมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒  เขาเป็นผู้นำชาวเคิร์ดและก่อตั้งพรรคแรงงานเคอร์ดิสถานเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลตุรกี แรกเริ่มเดิมทีเขาและพลพรรคใช้แนวทางเหมาอิสม์และเลนินิสม์แบบพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต หลังจากถูกรัฐบาลตุรกีลงโทษจำคุกตลอดชีวิตบนเกาะที่มีเขาเป็นนักโทษเพียงคนเดียวท่ามกลางทหารกว่าพันนาย เขาได้รับอนุญาตให้พบปะทนายและอ่านหนังสือ หนังสือเล่มหนึ่งที่โอจาลานอ่านคือ The Ecology of Freedom ของ เมอร์เรย์ บุ๊กชิน (Murray Bookchin) นักปรัชญาการเมืองสังคมนิยมอนาธิปไตยชาวอเมริกันที่เสนอแนวคิดสังคมนิยม ซึ่งการปกครองประกอบด้วยคอมมูนหรือเทศบาลที่ปกครองตนเองเป็นเอกเทศและรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างเต็มที่ การตัดสินใจเป็นเรื่องของชุมชน ไม่ใช่ของชาติ  นอกจากความเสมอภาคแล้ว สิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นสำคัญยิ่งในแนวคิดของบุ๊กชิน

บุ๊กชินล่วงลับไปแล้วด้วยหัวใจแตกสลายว่าอุดมคติของตนไม่มีทางเกิดขึ้น เขาคงคาดไม่ถึงว่าดินแดนท่ามกลางสงครามทางตอนเหนือของซีเรียจะนำอุดมคติของเขาเป็นหลักการพื้นฐานในการสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา แต่ก็เป็นไป
ได้เช่นกันว่าเพราะสภาพยุ่งเหยิงของสงครามนั่นเองที่เป็นช่องว่างทำให้เกิด “โครงการทดลอง” (Project - คำที่ชาวโรยาวาเรียกเขตปกครองของตน) ทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เขตปกครองตนเองตามแนวทางอนาธิปไตยในแคว้นกาตา-ลุญญาของสเปนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐  ด้วยอิทธิพลของบุ๊กชินนั้นโอจาลานจึงละทิ้งแนวทางยึดอำนาจรัฐแบบมาร์กซิสม์และหันมารับแนวทางประชาธิปไตยทางตรงแบบอนาธิปไตย  ในเดือนมีนาคม ๒๕๔๘ โอจาลานออก “แถลง
การณ์สมาพันธรัฐประชาธิปไตยในเคอร์ดิสถาน” เรียกร้องให้สมาชิกพรรคแรงงานเคอร์ดิสถานทุกคนอ่านหนังสือของบุ๊กชินและนำไปปฏิบัติ เขาแนะนำให้นักรบจรยุทธ์เลิกโจมตีรัฐบาลและหันไปสร้างสมัชชาเทศบาลตามอุดมคติของบุ๊กชิน  สมัชชาเทศบาลแต่ละแห่งจะรวมกันเป็นสมาพันธรัฐทั่วทั้งดินแดนของชาวเคิร์ด สร้างสังคมพหุนิยมที่มีความเท่าเทียมทางเพศ เขาเรียกมันว่า “ประชาธิปไตยที่ปราศจากรัฐ”

เมื่อแนวคิดของเขาเผยแพร่ออกไปในหมู่สมาชิกพรรค ตอนแรกหลายคนก็อิดเอื้อน แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยอมปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกผู้หญิงคือกลุ่มที่ตอบรับอุดมการณ์ใหม่นี้มากที่สุด พวกเขาค่อย ๆ สร้างสมัชชาลับ ๆ ขึ้นมาในพื้นที่ที่คาบเกี่ยวระหว่างซีเรีย อิรัก และตุรกี สงครามเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค กระทั่งความใฝ่ฝันบนตัวหนังสือของนักปรัชญาที่ทุกคนแทบลืมไปแล้วกลายเป็นจริงขึ้นมาในพื้นที่ขนาดประมาณรัฐคอนเนตทิคัต
สัญญาประชาคมโรยาวา
โรยาวามีรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า “กฎบัตรสัญญาประชาคม” ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๗ ระบุว่าประชาชนทุกคนในดินแดนแห่งนี้มีสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ เสรีภาพในการนับถือศาสนา ใช้นโยบาย “ธรรมาภิบาลร่วม” กล่าวคือในทุกตำแหน่งทุกระดับของรัฐบาลจะมีเจ้าหน้าที่หญิงกับชายคู่กันและมีอำนาจหน้าที่เท่าเทียมกัน  นอกจากนี้มีความพยายามที่จะให้พื้นที่และการมีเสียงของชนกลุ่มน้อย ผ่านการเลือกตั้งในทุกระดับ  ทุกเขตการปกครองมีอิสระในการตัดสินใจตราบที่ไม่ขัดต่อหลักการในกฎบัตร

ชาวโรยาวาไม่ได้ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ พวกเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของซีเรีย ในขณะเดียวกันก็มุ่งหวังให้ระบอบของตนเป็นต้นแบบความมั่นคงในตะวันออกกลาง

ISIS เกิดมาจากลัทธิชายเป็นใหญ่ การนิยมความรุนแรง ความคลั่งศาสนา และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ โรยาวาพยายามสร้างสังคมที่ตรงกันข้ามเพื่อเป็นหลักประกันว่า ISIS จะไม่เกิดขึ้นอีก  แม้ภาวะสงครามทำให้พวกเขายังมีปัญหามากมาย เช่น การใช้ทหารเด็ก (อายุ ๑๔-๑๖ ปี) การละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ แต่โรยาวายินดีให้องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบและพยายามปฏิบัติตามหลักสากลจนได้รับคำชมจากสหประชาชาติ  ทหารหญิงของโรยาวาพิสูจน์ตัวในสนามรบว่ามีความสามารถไม่แพ้ผู้ชาย พวกเธอรบมิใช่เพื่อฆ่า 

แต่เพื่อการมีชีวิตเสรี