Image

แม่น้ำยวมไหลลงแม่น้ำเมย แม่น้ำเมยไหลลงแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสาละวินไหลลงทะเลที่อ่าวเมาะตะมะ เชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศเฉพาะของลุ่มน้ำสาละวิน 

สืบชะตา สาละวิน
KEEP THE RIVERS FLOWING

สายน้ำที่ถูกสาป

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง, ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพจำลองโครงการผันน้ำยวม : อภิชาติ งามเลิศ

เพลง “Salween in the world” ที่คำร้องยาวไม่ถึงครึ่งหน้ากระดาษ ถูกร้องริมฝั่งแม่น้ำสาละวินในช่วงเช้าวันหยุดเขื่อนโลก

ช่วงต้นของบทเพลงเป็นภาษากะเหรี่ยง มีความหมายเกี่ยวกับการดูแลรักษาแหล่งน้ำ ตามด้วยภาษาอังกฤษที่สื่อความตรงไปตรงมา

Salween in the world. River never dies. For people. For life. I like Salween. I love Salween. Protect Salween.

หลังเดินขบวนลงมาจากลานกลางหมู่บ้านท่าตาฝั่ง ผู้คนจากสองฝั่งแม่น้ำร่วมชุมนุมบนหาดทราย อ่านแถลงการณ์แล้วยกแพไม้ไผ่ติดข้อความ “NO DAM” ลอยลงไปในแม่น้ำ

“ขอให้แม่น้ำไหลอย่างเสรี”

“ขอให้ยกเลิกเขื่อนทั้งหลายในภูมิภาคนี้”

“save the river”

ไม่มีใครรู้ว่าแพลำเล็ก ๆ จะลอยไปถึงไหน จะฝ่าคลื่นลมไปไกลถึงอ่าวเมาะตะมะปลายทางของแม่น้ำสาละวินหรือไม่

สาละวินมีความยาวทั้งหมด ประมาณ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่ยังคงไหลอย่างอิสระ แทบไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์เหมือนแม่น้ำหลักสายอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้

แก่งหินงามกลางแม่น้ำยวมที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่สี่อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน หากสร้างเขื่อนและอุโมงค์ผันน้ำ แม่น้ำและผืนป่าปกคลุมสองฟากฝั่งจะถูกน้ำท่วมเป็นระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร 

สายน้ำ
สามแผ่นดิน

“หยุดเขื่อนสาละวิน”
“หยุดอุโมงค์ผันน้ำยวม”

ข้อความบนป้ายผ้าที่ติดอยู่ในหมู่บ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สถานที่จัดงานวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action for Rivers : against Dams) เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗ บ่งบอกสถานการณ์ที่ไม่สู้ปรกตินัก

“เราขอให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนเพื่อให้แม่น้ำไหลอิสระ ยุติโครงการพัฒนาที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ เพราะแม่น้ำจะถูกทำลาย ระบบนิเวศจะเปลี่ยนไป” แอรีน่าบอก เธอเป็นตัวแทนเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน อ่านแถลงการณ์บนหาดทรายริมน้ำ

แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติ มีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านสามประเทศ คือ จีน พม่า และไทย

คนไทยส่วนใหญ่รู้จักแม่น้ำสาละวินน้อยกว่าแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านพรมแดนไทย-ลาวทางภาคเหนือและภาคอีสาน อาจเป็นเพราะพรมแดนตะวันตกซึ่งแม่น้ำสายนี้ไหลผ่านเป็นดินแดนชายขอบทั้งทางภูมิศาสตร์และการเมืองทางชาติพันธุ์

โครงการพัฒนาที่ขาดการคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม มองแต่การแสวงหาประโยชน์ กำลังทำร้ายแม่น้ำ

Image