Image

ชะตากรรมแม่น้ำโขง

Foto Essay

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ภาพโดรน : นพ. สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์

ในอดีตแม่น้ำโขงเป็นที่รู้จักว่า “Mighty Mekong” หมายถึงแม่น้ำโขงอันอุดมสมบูรณ์ สีของสายน้ำเป็นสีปูนจากตะกอนหินและดินที่ถูกกระแสน้ำพัดพามา  แต่ไม่นานมานี้เองที่แม่น้ำโขงถูกตั้งฉายาใหม่ว่า “Hungry ​Mekong” หมายถึงแม่น้ำโขงผู้หิวโหย เนื่องจากขาดแคลนตะกอนในน้ำ เพราะถูกเขื่อนตอนบนกักตะกอนไว้ โครงการต่าง ๆ ทั้งการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานและแม่น้ำสาขา เขื่อนกันตลิ่ง ทำให้แม่น้ำไม่มีโอกาสไหลอย่างอิสระ

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนมากกว่า ๖๐ ล้านคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างผูกพันกับทรัพยากรและสภาพแวดล้อม ชุมชนท้องถิ่นสั่งสมภูมิปัญญาเรื่องพันธุ์ไม้ พันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาในลักษณะต่าง ๆ


หากแต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยจากการล้างผลาญและแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ กำลังนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย อาจถึงเวลาทบทวนและตรวจสอบทิศทางการพัฒนาให้อยู่
บนพื้นฐานความเคารพต่อความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น 

Image

แม่น้ำโขงบางช่วงแผ่กว้าง บางช่วงหดแคบลง เรือต้องแล่นตามร่องน้ำผ่านเกาะแก่ง ทั้งการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 

Image

เกาะแก่ง หาดหิน หาดทราย แปรผันไปในแต่ละฤดู เกิดระบบนิเวศตามการขึ้นลงของแม่น้ำ บริเวณที่โผล่พ้นน้ำเป็นแหล่งวางไข่ของนกและแมลงหลายชนิด ที่เห็นชัดเจนช่วงฤดูแล้ง เช่น บุ่ง คัน หาด ผา เวิน  ช่วงฤดูฝน เช่น คอน น้ำก้อง ซ่ง 

ต้นไคร้น้ำ (Homonoia riparia) ยืนต้นตายหลังแม่น้ำโขงแปรปรวนตลอดทั้งปี ๒๕๖๒ ทั้งความผันผวนของระดับน้ำและปริมาณตะกอนที่ลดลง เมื่อไม่มีดินตะกอนมาทดแทนมากพอ รากก็ลอยและทยอยตายไป เหลือแต่ต้นที่แคระแกร็น ต้นไม้ที่เหลืออยู่ไม่ว่าไคร้น้ำ หญ้าหวีด พลับพลึงธาร ส้มแหนบ นาวน้ำ หว้า หรือพันธุ์พืชท้องถิ่นอื่น ๆ ต่างพยายามต่อสู้กับวิกฤตที่เกิดขึ้น

Image