Image

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น
สำหรับนกนักล่า สิ่งน่าทึ่งที่ธรรมชาติมอบให้ไม่เพียงสายตาเฉียบตรวจจับเหยื่อที่อยู่ไกลหลายกิโลเมตรได้ จะงอยปากที่แข็งแรง โค้งมน และแหลมคม บวกกับ “ฟัน” ชนิดหนึ่งของกรามบนอันทรงพลัง ซึ่งเมื่อรวมกับส่วนที่ยื่นออกมาของกรามล่างแล้ว ช่วยให้มันสามารถฆ่า-หักคอเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพ : กตัญญู วุฒิชัยธนากร

เหยี่ยวนกเขา
ภารกิจอพยพฝ่าศูนย์กลางโลก

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
สนับสนุนการลงพื้นที่ :
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

เสาร์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคมและตุลาคมทุกปี

สอดคล้องกับวงจรการอพยพของนกในซีกโลกต่าง ๆ ได้รับการจัดเป็น “วันนกอพยพโลก (World Migratory Bird Day)” ที่กลุ่มคนรักสัตว์ปีกเพียรหาวิธีสร้างความตระหนักรู้ด้านการอนุรักษ์ให้ผู้คนเห็นความสำคัญของ “ถิ่นที่อยู่อาศัย” และ “ภัยคุกคามที่นกอพยพกำลังเผชิญ”

หลายประเทศนิยมจัดกิจกรรม “เทศกาลดูนก” ในฤดูที่นกนานาชนิดทั้งกลุ่มนกบก นกทะเล นกชายเลน นกลุยน้ำ นกเป็ดน้ำ ไปจนนกล่าเหยื่ออย่างเหยี่ยวหรือนกอินทรีมีการอพยพสูงสุด ซึ่งจะมีช่วงเวลาต่างกันตามระยะเวลาที่พวกนกใช้พักอาศัยในเส้นทางอพยพ

บรรดาสถานดูนกล่าเหยื่อ “เขาดินสอ” จังหวัดชุมพรของไทยขึ้นชื่อระดับโลก

แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครรู้พฤติกรรม เพราะพวกมันอาศัยในพื้นที่ห่างไกลและมักย้ายถิ่น รู้เพียงเมื่อถึงเดือนกันยายนจนพฤศจิกายนจะมีฝูงเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เหยี่ยวหน้าเทา เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ฯลฯ ฝ่าอากาศหนาวจากจีน มองโกเลีย ไซบีเรีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน มาขอไออุ่น-อาหารแถบเขาดินสอที่ตั้งอยู่ระหว่างทะเลกับเทือกเขาตะนาวศรี-จุดแคบสุดของแหลมมลายู ทำให้บริเวณนี้มีอุณหภูมิเหมาะแก่การร่อนบิน จนเป็นสถานจัด “เทศกาลดูเหยี่ยวอพยพ” ที่นักดูนกทั่วโลกสนใจ

ไม่กี่ปีนี้มีองค์กรไทยสนับสนุนอุปกรณ์ให้นักวิจัยศึกษา “เส้นทางอพยพ” ของ “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน” กับ “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น” กระทั่งตุลาคม ๒๕๖๒ จึงประกาศอย่างเป็นทางการว่านี่เป็น “ครั้งแรกในอาเซียน” ที่มนุษย์ติดตามได้ว่าฝูงนกย้ายถิ่นมีวิถีสัญจรในรอบฤดูกาลอย่างไร 

เพราะมี “เหยี่ยว-ผู้ช่วยนักวิจัย” ฝ่าเวหา ๑๔,๕๓๒ กิโลเมตร กลับมายืนยันผลผ่าน “เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์” ตัวจิ๋วที่นักวิจัยขอให้ช่วยสะพายไปด้วย

kyeew… kyeew… kyeew… kyeew…

เจ้าของเสียงสูงแหลมคมพากันโฉบร่อนเหนือเขาดินสอทักทายเสียงดัง

และนี่คือบันทึกจาก “เฟิร์น-เหยี่ยวจอมอึด” ผู้บินไกลกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางโลก !

Welcome to เขาดินสอ

เกือบจะเหมือนเดิมกับทุกปีที่เมื่อฤดูร้อนใกล้สิ้นสุด

ซีกโลกตอนเหนือย่างเข้าสู่ฤดูหนาว กลางวันสั้น-กลางคืนนาน อากาศเริ่มเย็น-อาหารเริ่มหายาก ฝูงสัตว์นานาชนิดในเอเชียตะวันออกที่ชอบความอบอุ่นจะทยอยอพยพหนีหนาว เหยี่ยวจำนวนมากก็เช่นนั้น สัญชาตญาณบอกให้พวกมันมุ่งลงทิศใต้ไล่มาตามแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พฤติกรรมของเหยี่ยวจะอพยพโดยยึดแผ่นดินเป็นหลัก) ผ่านคาบสมุทรไทย-มาเลเซียและหมู่เกาะในอินโดนีเซีย 

Image

เหยี่ยวปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้หลากหลาย ทั้งทะเลทราย ภูเขา ป่าไม้ ทุ่งโล่ง กระทั่งชายฝั่งทะเล ขอแค่ที่นั่นชุกชุมด้วยเหยื่อโอชะอย่างสัตว์ฟันแทะและสัตว์สายพันธุ์เล็ก

เฟิร์น & satellite

สัตว์ป่าบางตัวถูกกำหนดให้เป็นผู้เพิ่มพูนความรู้แก่มนุษยชาติ

แทนที่จะเป็นเหยี่ยวอพยพทั่วไป มันจึงมีหน้าที่ดั่งผู้ช่วยนักวิจัย

และในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ คณะวิจัยก็ได้พบ “เฟิร์น” 

“หลักการคือเราจะเลือกจุดติดตั้งตาข่ายโดยพิจารณาพื้นที่โล่ง เพราะถ้าต้นไม้เยอะนกจะบินตํ่าลงมาไม่ได้ จากนั้นรอเวลาช่วงเช้าประมาณ ๗-๙ โมง หรือกลางวันที่อากาศดีมีลมแรงเหยี่ยวจะบินลงมาหากิน อาจมีบางตัวติดตาข่ายที่เราทำขึ้นพิเศษ คือเป็นตาข่ายแบบพรางตาและมีถุงรองรับนกที่ดักได้ตาข่ายละตัว เมื่อนกบินมาติดก็จะตกใส่ถุง นักวิจัยจะอาศัยจังหวะนี้รวบปีกขึ้นมา”

แอนดรูว์ เจ. เพียร์ซ (Andrew J. Pierce) ผู้เชี่ยวชาญสังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เล่าขณะนำเดินขึ้นเขาดินสอ

Image