นกแต่ละตัวที่ถูกปล่อยคืนธรรมชาติถูกติดแท็กเป็นอุปกรณ์ติดตามตัวเล็ก ๆ ที่ขาเพื่อติดตามพฤติกรรม
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง
หนึ่งในนกน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มที่ตัวสูงใกล้เคียงกับคน ลำตัวและปีกสีเทา คอและขายาว
หลังสูญพันธุ์จากธรรมชาติของประเทศไทยร่วม ๔๐ ปี โครงการนำร่องปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากสถานเพาะเลี้ยงสู่พื้นที่ชุ่มน้ำของจังหวัดบุรีรัมย์เกิดขึ้นในปี ๒๕๕๔
ในช่วงแรกเริ่มของโครงการ นกต้องปรับตัวให้เคยชินกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทดลองปล่อย การดำรงชีวิตออกหากินของนกขนาดใหญ่เป็นภาพแปลกตาของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ
เริงฤทธิ์ คงเมือง ช่างภาพและนักเขียนสารคดีเล่าว่า วันหนึ่งระหว่างวิ่งออกกำลังกายรอบอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากเมื่อหลายปีก่อน มองเห็นนกกระเรียนอยู่กลางทุ่ง ภาพแปลกตาทำให้เขาเริ่มนำกล้องมาบันทึกภาพเก็บไว้
ทั้งที่ชื่อว่านกกระเรียนพันธุ์ไทย แต่รายงานการพบครั้งท้ายสุดย้อนไปถึงปี ๒๕๑๑ ในพื้นที่อีสานใต้ ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสุรินทร์ และนำไปเลี้ยงไว้ที่สวนรุกขชาติช่อแฮ จังหวัดแพร่ มีชีวิตอยู่ต่อมา ๑๖ ปีจนตายลงในปี ๒๕๒๗
ปีถัดมา เดือนมกราคม ๒๕๒๘ มีผู้อ้างว่าพบนกกระเรียนพันธุ์ไทยสี่ตัวในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน นับแต่นั้นก็ไม่มีข่าวการพบเห็นในธรรมชาติอีก คงเหลืออยู่แต่นกในสถานเพาะเลี้ยงของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับในบางพื้นที่ของประเทศกัมพูชา เวียดนาม ลาว
พ่อแม่นกกระเรียนพันธุ์ไทยพาลูกเดินหากินใกล้บริเวณรัง การจับคู่ ทำรัง และวางไข่ ยืนยันว่านกที่ปล่อยสู่ธรรมชาติสามารถขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง