๒๐ ปี ไฟใต้
ฮารา ชินทาโร่
นักวิชาการอิสระ
ผู้เกาะติดการเจรจาสันติภาพ
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
Small Talk
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
‘ความยาวนาน’
เป็นเรื่อง ‘ปรกติที่สุด’
ของการเจรจาสันติภาพ
นับตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๔ (ปี ๒๕๔๗) ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ ๔ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส จนถึงตอนนี้เหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้กินเวลานานเกินกว่า ๒ ทศวรรษแล้ว
ใน ค.ศ. ๒๐๑๔ (ปี ๒๕๕๗) สารคดี เคยสัมภาษณ์อาจารย์ฮารา ชินทาโร่ นักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งรกรากในไทยและศึกษาปรากฏการณ์ความรุนแรงและกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สังคมไทยรู้จักอาจารย์ในฐานะผู้แปลแถลงการณ์ของ BRN (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี - Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) โดยอาจารย์บอกเจตนาของการแปลว่า ไม่ได้ต้องการช่วยขบวนการต่อต้านรัฐ แต่อยากอาสาเป็น “น้ำมันเครื่อง” ของกระบวนการสันติภาพ เพราะเคยพบการรายงานข่าวของนักข่าวที่อาจใช้ภาษาแย่จนอาจเข้าข่ายบิดเบือนเนื้อหา บวกกับประสบการณ์สะเทือนใจเมื่อครั้งทำงานเป็นล่ามให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในพื้นที่กับเรื่องราวความสูญเสียในเหตุการณ์
“พระเจ้าคงต้องการให้ผมทำเรื่องนี้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในการสื่อสาร ผมจึงสมัครใจลงมือทำ”
ค.ศ. ๒๐๒๔ (ปี ๒๕๖๗) ในวาระ ๒ ทศวรรษของปัญหาไฟใต้ สารคดี สนทนากับอาจารย์ชินทาโร่อีกครั้ง เพื่ออัปเดตและฟังมุมมองว่าตอนนี้ “ไฟใต้” ของไทยอยู่ตรงจุดไหนของกระบวนการสันติภาพ
การเจรจาระหว่างรัฐไทยกับฝ่ายตรงข้ามคือกลุ่ม BRN ที่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๓ (ปี ๒๕๕๖) ส่งผลกับเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
เกี่ยวข้องกัน ถ้าดูสถิติความรุนแรงจะพบว่าตั้งแต่มีกระบวนการเจรจาสันติภาพเหตุการณ์รุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดูกราฟสถิติจะพบว่ามีการเพิ่มและลดเป็นจังหวะสอดคล้องกับสถานการณ์การเจรจาด้วย จะเห็นว่าหากมีพื้นที่ที่ให้คนนำเสนอจุดยืนทางการเมือง ปริมาณความรุนแรงก็ลดลง แต่เมื่อใดก็ตามที่การเจรจามีอุปสรรค พื้นที่แสดงออกทางการเมืองถูกปิด ความรุนแรงก็เหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตอนนี้ (พฤษภาคม ค.ศ.๒๐๒๔/ปี ๒๕๖๗) เหตุรุนแรงรายวันก็เริ่มถี่ขึ้นอีก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ไม่ดี
คนในพื้นที่ตีความและให้ความหมายเหตุการณ์ “กรือเซะ” และ “ตากใบ” อย่างไร
มองว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ รัฐบาลไทยอาจไม่ตระหนักว่าเหตุการณ์นี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุดความคิดและวาทกรรมในการต่อสู้ของพวกเขา มูฮัมมัด อาราฟัต นักวิชาการสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยแห่งบรูไนดารุสซาลาม ที่ศึกษาเรื่องนี้ระบุว่า เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เกิด “ความทรงจำร่วม” (collective memory) และความรู้สึกร่วมกันว่าถูกกระทำ ตกเป็นเหยื่อ
กรณีตากใบ คนในพื้นที่เขารู้สึกทันทีว่า “คนมลายู” โดนกดขี่ คนที่รู้สึกแบบนี้อาจไม่ได้มีญาติหรือคนรู้จักเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ แต่เขารู้สึกร่วมด้วย ยังไม่นับว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์กรณีอุ้มหายหะยีสุหลงและอื่น ๆ จะถูกเชื่อมเข้ามาด้วยโดยอัตโนมัติ