EP.01
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
โอ ละนอ...
โอ ละนอ...
ได้ยินเสียงนี้ สายเลือดอีสานรู้ทันทีว่าหมอลำกำลังเริ่ม หลังเกริ่นลำ โอ ละนอ... การลำจะดำเนินต่อเนื่องไปจนข้ามคืนโดยไม่มีใครถอยหนี เพราะมีทีเด็ดม่วนๆ มันๆ อยู่ตลอดแบบไม่มีเดดแอร์
เป็นมาแต่ยุคที่ยังไม่มีเครื่องเสียง ไม่มีไฟฟ้า ขี่ม้าไปเล่นจนถึงยุคเสียงแสงสีเวทีราคาหลายล้าน ทีมงานหลายร้อยชีวิต ที่ดึงดูดคนเรือนหมื่นให้มารวมตัวกันอยู่ได้ทั้งคืนอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
เหมือนเป็นมหรสพพื้นบ้านเก่าแก่ที่คนทั่วไปอาจรู้สึกว่าเชยล้าสมัย แต่ใครเคยเฉียดใกล้เวทีหมอลำจะรู้ว่ามนตร์เสน่ห์ในบันเทิงศิลป์โบราณนี้ยังเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย ทั้งยังขยายออกนอกถิ่นอีสานไปอยู่ในรายการโชว์วาไรตี ในละครโทรทัศน์ และยังเป็นมหรสพในดวงใจของคนอีสาน
รุ่นใหม่ทุกกลุ่ม
หมอ
ผู้เก่งกาจเชี่ยวชาญในด้านหนึ่งด้านใด
ลำ
การเล่าเรื่องด้วยเสียงและท่วงทำนองอันไพเราะ
หมอลำกลอน
หมอลำชายหญิงคู่หนึ่ง “ลำใส่กัน” ลำกลอนถามตอบเรื่องคดีโลกคดีธรรม มีหมอแคนเป่าแคนประกอบ บางทีเรียกลำโจทย์ลำแก้ หรือหมอลำคู่
หมอลำพื้น
หมอลำยุคแรกสุด ลำนิทานพื้นบ้าน ชาดก เล่นคนเดียว แสดงบทบาทและทำหลายเสียงตามลักษณะตัวละคร มีเสียงแคนประกอบ
หมอลำเรื่องต่อกลอน
มีการแบ่งตัวละคร มีบทเจรจา คุยหยอกกระเซ้าเย้ากัน มีผู้ร่วมแสดงและเครื่องดนตรีจำนวนมากขึ้น บางทีเรียก “หมอลำหมู่”
หมอลำที่ดูชมกันอยู่ทั่วไปในทุกวันนี้ ไม่ใช่ภาพจำเดิม ๆ ที่เป็นชายหญิงคู่หนึ่งลำกลอนโต้ตอบกัน คลอเสียงแคน แต่เป็นการแสดงบนเวทีใหญ่ ๆ ที่มีระบบแสงสีเสียงไม่แพ้เวทีคอนเสิร์ตมาตรฐาน
“ต้องให้สนุกเข้ากับยุคสมัย คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้”
กลยุทธ์การทำวงของ ภักดี พลล้ำ หัวหน้าคณะระเบียบวาทะศิลป์ ที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีชื่อเสียงอยู่ในระดับแถวหน้าสุดของหมอลำยุคนี้ ด้วยคิวงานที่เต็มแน่นตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดฤดูกาลยาวไปเกือบตลอดทั้งปีแล้ว มีคิวเล่นทุกวันต่อเนื่องไม่มีวันหยุด ด้วยอัตราค่าจ้างเริ่มต้นที่ ๓.๓ แสนบาทต่องาน ทีมงานเต็มวง ๓๐๐ กว่าชีวิต กับอุปกรณ์เวทีและชุดการแสดงที่ขนกันไปด้วยรถใหญ่ร่วม ๒๐ คัน เปิดการแสดงครั้งละ ๙ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๓ ทุ่มยันเช้า
หมอลำยุคใหม่ที่ดูชมกันในทุกวันนี้จึงไม่ใช่ภาพจำเดิม ๆ ที่เป็นชายหญิงคู่หนึ่งลำกลอนโต้ตอบกันคลอเสียงแคน แต่เป็นโชว์วาไรตีบนเวทีใหญ่ประดับแสงสี มีจอและอุปกรณ์ประกอบฉากที่ซับซ้อน มีมิติทั้งในแนวลึกและแนวดิ่ง ซึ่งคนดูได้ตื่นตาเมื่อนักร้องอาจโผล่จากด้านล่างขึ้นมากลางเวที หรือโรยตัวลงมาจากมุมบนด้วยสายสลิง
ไฟสีแสงแรงสูงไม่แพ้เวทีคอนเสิร์ตมาตรฐาน เครื่องเสียงกระหึ่มหูสะเทือนถึงในอก
มีช่วงโชว์เพลงกับทีมนักเต้นที่ประดับแต่งตัวและหัวแบบจัดเต็ม ตื่นตาอลังการไม่แพ้วงดนตรีลูกทุ่งใหญ่ ๆ มีช่วงลำเรื่องที่เป็นการแสดงเหมือนละครเวที โดยมีพิธีกรกับโชว์ตลกคั่นบางช่วง
“เป็นแบบนี้มาหลายสิบปีแล้ว” ภักดี หรือที่ใคร ๆ เรียกเขาว่าพ่อเอ๊ะ พูดถึงพัฒนาการของคณะระเบียบวาทะศิลป์ในช่วง ๓๐ กว่าปี ที่เขากับพี่ชาย-สุมิตรศักดิ์ พลล้ำ หรือพ่อเปียรับช่วงต่อจากคุณพ่อระเบียบ พลล้ำ ผู้ก่อตั้งคณะมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๗
“คุณพ่ออยากเป็นหมอลำ ขอเรียนวิชาจากย่าแสงอรุณ หรือหมอลำแส่ง นามคันที ในหมู่บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น เริ่มจากสามสี่คน แสงสีเสียงไม่มี ลำให้พอเป็นมหรสพ รับงานสมโภชต่าง ๆ สะสมประสบการณ์ หลังแต่งงานกับคุณแม่จึงตั้งคณะของตัวเอง”
ในสังคมอีสาน หมอลําถือว่าเป็นศิลปินและปัญญาชนที่ได้รับการยอมรับยกย่องว่าเป็นผู้มีวิชาความรู้ ไหวพริบ มีเสน่ห์และความสามารถในการเล่าเรื่องให้คนเบิกบานม่วนใจ ซึ่งไม่ใช่ว่าใครจะเป็นได้ง่าย ๆ ต้องผ่านการเรียนรู้ฝึกฝนหนักหน่วง
ช่วงที่คุณพ่อระเบียบเป็นหัวหน้าคณะ พ่อเอ๊ะได้ร่วมเดินทางเรียนรู้ไปด้วยในฐานะลูกเจ้าของวง และเป็นหมอลำฝึกหัด เริ่มจากรับบทลูก ต่อมาเป็นตัวร้าย และเป็นพ่อ ก่อนจะปล่อยให้ลูกหลานรุ่นใหม่รับสืบต่อ เขาถอยออกมาเป็นผู้บริหาร