รถแห่
เสียงไทบ้านสู่มหรสพสัญจร
ลูกอีสานพลัดถิ่น
เรื่อง : จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ยังจำเสียงดังกึกก้องจากนักร้องบนรถแห่ ไฟสีสันสวยงาม และเครื่องเสียงที่อึกทึกครึกโครมจากงานวัดท่าพระ ฝั่งธนบุรี ในปี ๒๕๖๒ ได้ดี และนั่นเป็นจุดสนใจแรกที่ทำให้พาตัวเองเข้าสู่วงการการศึกษารถแห่อย่างจริงจังในฐานะนักเรียนมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องดนตรีในฉบับของชาวบ้านอีสาน ได้เห็นความเป็นไทบ้านอีสานยุคใหม่ผ่านมหรสพเคลื่อนที่อย่างรถแห่อีกมิติหนึ่ง
กว่าจะประกอบร่างเป็นรถแห่
รถแห่ มหรสพเคลื่อนที่สัญจรไปมาแห่งยุคสมัยทศวรรษ ๒๕๕๐-๒๕๖๐ เป็นการประกอบสร้างทางวัฒนธรรมจากมหรสพสองทางในอีสานด้วยกัน คือ ๑. กลองยาว ในฐานะของการเป็นดนตรีแห่ในพิธีกรรม ใช้รถเข็นบรรทุกเครื่องเสียงและเครื่องปั่นไฟขนาดเล็ก และ ๒. หมอลำซิ่ง การแสดงดนตรีที่มีพัฒนาการมาจากหมอลำแบบเก่าในวัฒนธรรมลาวอีสาน สองสิ่งนี้ผนวกรวมกัน ก่อร่างสร้างตัวตนทางเสียงดนตรีจากคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นที่เห็นช่องทางการแสดงใหม่ ๆ จากเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คือ เครื่องเสียง เครื่องดนตรีแบบระบบดิจิทัล และการดัดแปลงรถบรรทุกเพื่อการแสดงดนตรี
"กว่าจะมีวันนี้ เราได้ลองถูกลองผิดกันมาเยอะพอสมควร เสียเงินไปก็เยอะ"
พี่โอเล่ - สุวิทย์ ภาคบัว
เจ้าของรถแห่ย่องเบามิวสิค
รถแห่มักมีสองชั้น บริเวณชั้นบนเสมือนเป็นเวทีหรือพื้นที่แสดงที่นักร้องนักดนตรีใช้เล่นดนตรี ปัจจุบันเป็นแบบเปิดข้างได้ เพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ชมกับนักแสดงได้เป็นอย่างดี
ส่วนบริเวณชั้นล่างเป็นพื้นที่ของผู้ควบคุมเสียง หรือในวงการรถแห่เรียกมือมิกซ์ มีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องเสียงของช่างเทคนิค สองส่วนนี้ทำงานร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผ่านระบบปฏิบัติการการเล่นดนตรีสมัยใหม่ที่ใช้ไฟฟ้าแทบจะทั้งหมด ถือเป็นความรู้แห่งยุคสมัยของคนดนตรีอีสานที่ค่อย ๆ เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ธุรกิจบันเทิง
รถหกล้อบรรจุเครื่องเสียงเล่นสดไม่ใช่ของแปลกใหม่ในวัฒนธรรมอีสาน ชาวอีสานต่างคุ้นตาดีกับการเล่นดนตรีในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะในงานบุญบั้งไฟที่มีการประกอบรถขึ้นมาสำหรับเล่นดนตรีในวันแห่บั้งไฟเพื่อความสนุกสนาน
แต่นั่นเป็นเพียงการเล่นชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อเลิกรางานบุญก็แยกย้าย นำรถไปประกอบกิจกรรมการงานอื่น ๆ ไม่ได้แต่งรถให้คงทนถาวรเพื่อใช้ในงานเฉพาะกิจอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
“เล่นแบบนี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้หน้าตาแบบนี้หรอก” คำกล่าวของพี่ช้าง ช่างทำรถแห่จังหวัดชัยภูมิ
รถแห่ของพี่ช้าง-สัญญา จุลชีพ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อราวทศวรรษ ๒๕๔๐ โดยพี่ช้างทดลองใช้เครื่องปั่นไฟกับการแห่งานบวชของคนใกล้ชิดเป็นครั้งแรก จากการโอนย้ายเครื่องปั่นไฟของวงดนตรีหมอลำที่เคยได้ร่วมงานกัน จากนั้นดัดแปลง ทดลองระบบ จนสามารถรับงานอย่างจริงจังในเวลาต่อมา
ความรู้รวมถึงแนวทางการเล่นดนตรีแห่ในลักษณะนี้เพิ่มขยายมากขึ้นในดินแดนอีสานในช่วงทศวรรษ ๒๕๕๐ และในพื้นที่ชัยภูมิยังมีโรงงานประกอบรถแห่เจ้าดังคือเอกซาวด์ของ
เอกรินทร์ ทางชัยภูมิ ที่เติบโตในธุรกิจนี้ได้ดี จนขยายเครือข่ายและผลิตรถแห่อย่างมืออาชีพส่งออกทั่วประเทศ
“กว่าจะมีวันนี้ เราได้ลองถูกลองผิดกันมาเยอะพอสมควรเสียเงินไปก็เยอะ”
คำกล่าวอีกเสียงของผู้ประกอบการรถแห่ พี่โอเล่ หรือสุวิทย์ ภาคบัว เจ้าของรถแห่ย่องเบามิวสิค จากจังหวัดมหาสารคาม เล่าถึงที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นรถแห่ เครื่องเสียง หรือมหรสพเคลื่อนที่สำเร็จรูปอย่างในปัจจุบันที่มีความนิยมแพร่หลาย เขาเริ่มต้นทำรถแห่มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๒๕๕๐ จนในปัจจุบันมีรถแห่ที่รับงานแสดงได้สองคันด้วยกัน รับทั้งงานแห่และงานจอดเล่น