หมายเหตุ มอเตอร์ไซค์ประกอบฉากเพื่อเล่าเรื่องราวได้มากขึ้น
วินัย ดิษฐจร
Photojournalist
(วัย ๖๐ ปี)
Photographer
40 Years of Storytelling
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
กวาดตามองวงการช่างภาพข่าว/สารคดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นชื่อเครดิตช่างภาพที่โดดเด่นในจำนวนนับนิ้วได้ โดยเฉพาะในสนามภาพข่าวการเมือง
หนึ่งในนั้นคือ วินัย ดิษฐจร ผู้โดดเด่นในแง่ของการเล่าเรื่อง ด้วยภาพ เช่น ภาพจากการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงในปี ๒๕๕๓/ค.ศ. ๒๐๑๐ บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่มีโทนภาพเป็นสีฟ้าขมุกขมัว มีผู้ชุมนุมคนหนึ่งใส่ชุดคลุมปกปิดมิดชิด สวมหมวกกันน็อก ยืนเป็นโฟร์กราวนด์ ด้านหลังมีแนวรั้วลวดหนาม ด้านบนเป็นคานของทางยกระดับข้ามแยก
คนที่ได้ดูภาพต่างก็สงสัยว่า ช่างภาพคิดอย่างไรก่อนจะลั่นชัตเตอร์เก็บบรรยากาศและจังหวะที่ราวกับการทำ “สงครามอวกาศ” มาถ่ายทอดได้
ในความเป็นจริง วินัยไม่ใช่ช่างภาพหน้าใหม่ เขาเป็น “มือเก๋า” ที่ผ่านงานภาคสนามมาแล้วแทบทุกแบบ งานหลายชิ้นได้รับการยอมรับจากต่างประเทศในฐานะภาพถ่ายประเภท photojournalist ซึ่งมีช่างภาพไทยจำนวนน้อยคนทำได้
โดยพื้นฐานทางบ้าน วินัยไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีอันจะกิน แต่เขามีฝันแน่วแน่ในอาชีพช่างภาพ ซึ่งเป็น “ความฝันราคาแพง” ในวัยเด็ก วันนี้ฝันนั้นเป็นจริงและยืนระยะยาวนาน เขาผลิตงานต่อเนื่องอย่างไม่ย่อท้อมาจนถึงตอนนี้
การ “เล่าเรื่องด้วยภาพ” ของวินัยเป็น “เรื่องเล่า” ที่น่าสนใจสำหรับช่างภาพสารคดีรุ่นหลัง
๑
พื้นฐาน
“ในยุคที่ผมเติบโต อาชีพช่างภาพเป็นความฝันที่มีราคาแพง ค่าอุปกรณ์แพงมาก ครั้งที่ถ่ายภาพเล่าเรื่องหนแรกคือตอนอายุ ๒๒ ปี ตอนนั้นยังทำงานหลักเป็นกระเป๋ารถเมล์ ผมยืมกล้องจากคุณลุงเพราะจำได้ว่าพ่อขายกล้องนี้ให้คุณลุง เป็นกล้องยี่ห้อ Petri กล้อง Rangefinder เลนส์เดี่ยวระยะ ๔๐ มม. ใส่ฟิล์มสีโกดักโกลด์ ๒๐๐ นั่งรถ บขส. สีส้มจากกรุงเทพฯ ไปลงที่พัทยาเหนือ เดินเท้าเปล่าทั่วเขตพัทยากลาง ขึ้นเขา ลงหาด ถ่ายภาพไปเรื่อย ถ่ายภาพคน ขอทานไปจนหาดจอมเทียน นั่งรถสองแถวกลับไปยังถนนที่ตอนนี้เป็นถนนคนเดินที่พัทยาใต้ ความรู้สึกคืออยากสำรวจโลกด้วยกล้องถ่ายภาพ เล่าให้จบในฟิล์ม ๑ ม้วนที่มี ๓๖ ภาพ เล่าเรื่องพัทยาแบบมวยวัด จากสายตาคนรากหญ้า ไม่ได้มีหลักการอะไร ถ้าเทียบกับที่มีการแบ่งประเภทในยุคนี้ก็คงเป็นภาพถ่ายแนวสตรีต เสียดายว่าฟิล์มม้วนนั้นเสื่อมสภาพไปแล้ว