สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
นักเล่าเรื่อง ณ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา
Curator
40 Years of Storytelling
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ เกิดที่จังหวัดเชียงราย (นี่เป็นคำอธิบายอันหมดจดถึงที่มาของชื่อตัว) เติบโตที่พิษณุโลกและสุโขทัย เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (ม.ศ. ๕) รุ่นสุดท้ายของประเทศจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก สำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อด้วยมานุษยวิทยามหาบัณฑิต จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรม-ศาสตร์ จากนั้นเดินทางไปศึกษาชีวิตและโลก ณ กรุงปารีส อีกหลายปี
ถ้าจะเล่าให้เข้ากับ สารคดี ฉบับครบรอบ ๔๐ ปี สมควรต้องกล่าวด้วยว่าอาจารย์สุดแดนเป็นอดีตฝ่ายวิชาการของนิตยสาร สารคดี (ปี ๒๕๓๒-๒๕๓๔) อดีตโปรดิวเซอร์และผู้เขียนบทสารคดีโทรทัศน์ ทั้งในสังกัดบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๗) และบริษัทพาโนราม่า ดอคคิวเมนทารี่ จำกัด (ปี ๒๕๓๘-๒๕๔๐) ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของทางคณะระบุ “ความสนใจทางวิชาการ” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ท่านนี้ ว่าครอบคลุมประเด็นหลากหลาย อันได้แก่ มนุษย์กับการเดินทาง/มานุษยวิทยาการเดินทางและการท่องเที่ยว/พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมศึกษา/ภาพถ่ายและภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์/พุทธศาสนาในเอเชีย ซึ่งล้วนแล้วแต่สอดคล้องกับภูมิหลังดังกล่าว พ่วงด้วยรายชื่อหนังสือสารคดีเดินทาง อันได้แก่ จะไปให้ไกลถึงไหนกัน (ปี ๒๕๔๖) จะไปให้ไกลทำไมกัน (ปี ๒๕๕๕) และ Paris Syndrome ชีวิตอันระเหิดไปของชายไทยคนหนึ่ง (ปี ๒๕๕๕) ขณะที่ความสนใจในด้านงานพิพิธภัณฑ์และมรดกทางวัฒนธรรม ยังนำพาอาจารย์สุดแดนเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรม-ศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเพิ่งหมดวาระไปเมื่อไม่นานมานี้
สารพัดสารพันในชีวิตของเขา ทั้งในฐานะ “ศิษย์เก่า (นิตยสาร) สารคดี” “นักสารคดี” “ผู้เล่าเรื่อง” “อาจารย์มหาวิทยาลัย” และ “พิพิธภัณฑกร” จึงทำให้เราเลือกมาคุยกับ ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ในประเด็นว่าด้วยเรื่องเล่าของพิพิธภัณฑ์ ผ่านประสบการณ์ตรง ซึ่งเขาบอกว่าเคยดูมาเป็นร้อยแห่งกับนับพันนิทรรศการ