ความสุขลอดผ่านมาทางหน้าต่าง
ความฝันจางๆ ลอยบนท้องฟ้าแสนสวย
สุขต่างวัย
ทีมทิมดาบแฟมิลี่
เรื่องและภาพ : อดิเรก เร่งมานะวงษ์ ปัณณพัทธ์ เร่งมานะวงษ์
เมื่อจ้องมองออกไปนอกหน้าต่าง ความมืดมัวเริ่มกลืนกินสีสดใสของท้องฟ้าจนมืดมิดและเหน็บหนาว ฝนเม็ดใหญ่ซัดสาดกระหน่ำพื้นดินอย่างบ้าคลั่ง ภายในใจเต็มไปด้วยความรู้สึกมากมายถูกยึดครองพื้นที่จากความหวาดกลัว หมองหม่น วิตกกังวล และไม่เข้าใจกับธรรมชาติ
ชะตาชีวิตของคนในครอบครัวหนึ่งพบพานเรื่องราวแสนเจ็บปวด เมื่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหนึ่ง และกระจายสู่ตับ ปอด กระดูก เส้นเลือด หรือแท้จริงแล้วฝังอยู่ในทุกอณูของร่างกายก็ว่าได้
ปีนี้ครบรอบอายุ ๕๐ ปี พร้อมกับที่หน้าต่างแห่งความตายเปิดต้อนรับ “รัสนี” ผู้หญิงที่แข็งแรงและทำงานมาทั้งชีวิต แต่ตอนนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียง ร่างกายผ่ายผอมไร้เรี่ยวแรง มีถุงเก็บปัสสาวะแขวนไว้ข้างเตียงลม และเครื่องผลิตออกซิเจนที่อยู่ใกล้ริมหน้าต่าง ภายในบ้านปูนชั้นเดียว หลังคาสังกะสี เป็นห้องโถง ไม่มีห้องเป็นสัดส่วน รายล้อมด้วยมุ้ง ๒-๓ หลัง ตู้เสื้อผ้า และหิ้งพระ
“อาการที่ทำให้รู้สึกว่าต้องป่วยหนักแน่นอน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเลือดเริ่มออกจากไรฟันและจมูกบ้าง ทั้งที่ไม่ได้แปรงฟันและแหย่จมูก แน่นท้อง ปวดหลัง จนนอนไม่ได้หลายวัน ไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ก็พบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แรกก็เดินได้ ไปไหนได้ พอเดือนมิถุนายนเริ่มไปไหนไม่ได้ นอนบนเตียง ทำอะไรทุกอย่างบนเตียงตลอด”
รัสนีได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ซึ่งเป็นการดูแลผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เป็นช่วงที่เหนื่อยยากลำบากสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว มีแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น มาช่วยเหลือดูแลที่บ้านตลอด
เดือนกรกฎาคม รัสนีเริ่มมีแผลกดทับที่ก้นและสะโพก เนื้อเริ่มเปื่อยยุ่ย กลิ่นเหม็นโชยไกล เจ็บปวดแทบสิ้นใจ เมื่อใครมาจับมือเพียงเบา ๆ ความเจ็บปวดก็พุ่งแล่น เสียงร้องโอดโอยดังก้องบ้านสู่บ้านข้างเคียง ฟูมฟายจนหมดเสียง จะทุเลาเบาบางลงก็เมื่อได้มอร์ฟีนเหมือนเสียงห่าฝนกระหน่ำบนหลังคาสังกะสี แล้วก็เงียบสงบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น หยดน้ำในตาแห้งผาก หัวใจยังคงเต้นช้า ๆ ถ้าพระเจ้ากรุณาขอจงเอาชีวิตไปทันทีทันใด ไม่ใช่เพราะทนต่อความเจ็บปวดไม่ได้ แต่เพราะสงสารแม่และพ่อ ที่ต้องเป็นภาระดูแลตนเองโดยไม่ขาดตกบกพร่อง
“แม่ต้องดูแลทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เมื่อหลับตาหรือลืมตาแม่ก็อยู่ปลายเตียง ข้างเตียง หรือนอกหน้าต่างข้างเตียงเสมอๆ แม่ดูแลเหมือนตอนเป็นเด็ก ๆ ป้อนข้าว เช็ดตัว ใส่แพมเพิร์ส ทำความสะอาดทุกอย่าง เมื่อเห็นแม่ปรับระดับเครื่องผลิตออกซิเจน เอาสายมาใส่จมูกให้ตอนเหนื่อยหอบมาก ๆ จ้องมองน้ำในกระบอกที่ละอองกระจายฟ่องฟู มันเป็นภาพที่เจ็บปวดทรมานมากจนอยากไม่มีชีวิต เพราะแทนที่เราจะได้ดูแลแม่ที่อายุ ๗๐ ปีกว่าแล้ว กลับต้องให้แม่ดูแล”
“แสง” แรกของลูก
ผูกพันกับนางเอกละครวิทยุ
เมื่อ รัชนี จันทรังษี เรียนจบแล้วเธอทำงานเป็นนักพิมพ์ดีดที่สถานีวิทยุทหารอากาศ ด้วยเสียงพูดที่ไพเราะมากจึงได้ไปทำงานต่อที่วิทยุเสียงสามยอด พอดีกับที่ “แก้วฟ้า” ผู้จัดละครวิทยุชื่อดัง ได้ยินเสียงเข้า จึงชวนไปเล่นละครวิทยุ เธอกลายเป็นนางเอกละครวิทยุ นางเอกหนัง-ละครไทย และนักพากย์ชื่อดัง
ละครวิทยุเรื่องแรกที่เธอเล่นและเป็นนางเอกคือ สลักจิต ทำให้เธอมีชื่อเสียงทันที ผู้คนต่างหลงใหลเสียงดั่งมีมนต์สะกด ส่งเธอก้าวสู่นางเอกหนังจอเงินในวงการภาพยนตร์ โดยเรื่องแรกคือ ลำเนาไพร (ปี ๒๕๐๕) ต่อด้วยเรื่องอื่นๆ มากมาย ประสบความสำเร็จกับทุกเรื่องและบทบาทการแสดง
คู่สมรสของเธอคือ เสนีย์ บุษปะเกศ เจ้าของละครวิทยุ “บุษปะเกศ” ที่โด่งดังและเป็นตำนานเล่าขาน
นอกจากนั้น เธอยังเป็นนักเขียนทั้งนิยายและบทภาพยนตร์ ใช้นามปากกาว่า “แพรชมพู” และเมื่อปี ๒๕๔๓ ได้เขียนหนังสือเรื่อง บนโลกใบสวย เป็นเรื่องราวของตนเองที่ต้องทนทรมานกับมะเร็ง โรคร้ายที่คุกคามอย่างไร้ความเมตตาปรานี แต่เธอยังมีใจต่อสู้อย่างเข้มแข็งและมองโลกอย่างสวยงาม
“แม่สมบัติ” เล่าย้อนถึงช่วงเวลาคลอดลูกสาว “รัสนี” ซึ่งคลอดง่าย และไม่ตื่นเต้นนัก เนื่องจากเป็นลูกคนที่ ๒ ห่างจากลูกสาวคนแรกเกือบสามปี รัสนีเลี้ยงง่าย แข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีชีวิตชีวา พูดจาไพเราะนิ่มนวลและว่านอนสอนง่าย เมื่อโตขึ้นก็ผ่านเรื่องราวทั้งความสุขความทุกข์ปะปนกันตามประสามนุษย์ที่เกิดขึ้นบนโลก แต่เรื่องราวฉากสุดท้ายของชีวิต ไม่น่าเชื่อว่า จะคล้ายกับ รัชนี จันทรังษี นางเอกดังในอดีต ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ “พ่อแสง” ตั้งชื่อลูกสาวให้เหมือนชื่อดาราที่ชื่นชอบ
“ปี ๒๕๑๔ เมื่อพ่อแสงรู้ว่าจะมีลูกสาวคนนี้ ก็จะให้ตั้งชื่อว่า รัชนี เพราะตอนไปนาไปไร่ไปสวน เอาวิทยุติดตัวตลอดเพื่อฟังละครวิทยุบุษปะเกศ แม้อยู่บ้านก็เปิดฟัง แกว่าเสียงไพเราะมาก ๆ อยากให้ลูกสาวเสียงเพราะ หน้าตาสวยแบบนั้น แต่พอไปแจ้งเกิดแกสะกดชื่อผิด จาก ช กลายเป็น ส จนได้ชื่อว่า รัสนี ส่วนชื่อเล่นตั้งว่า ‘มดแดง’ ให้พ้องเสียงกับชื่อพ่อ น่าหัวเราะนะ แม่ไม่มีโอกาสได้ตั้งชื่อจริงและชื่อเล่นให้ลูกเลย (เสียงหัวเราะ)”
แสงแห่งสมบัติ
ชิ้นสุดท้าย
ครอบครัวของรัสนีอยู่ในหมู่บ้านขนาดปานกลาง ปัจจุบันมีเกือบ ๒๐๐ หลังคาเรือน ห่างจากอำเภอบ้านแฮด ๕ กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น ๓๕ กิโลเมตร ตอนรัสนีเกิดนั้น แม่สมบัตินับเป็นผู้มีสมบัติตามชื่อเสียงเรียงนามที่พ่อกับแม่ตั้งให้ ที่ดินทำกินมีถึง ๕๐ ไร่ ที่ดินสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยเกือบ ๑๐ ไร่ มีวัวควายราว ๕๐-๖๐ ตัว
แต่วันนี้พื้นที่บ้านมีไม่ถึงครึ่งไร่ ที่ดินไร่นาสวนและวัวควายไม่เหลือแล้ว ยังชีพด้วยเงินเบี้ยผู้สูงอายุทั้งแม่สมบัติและพ่อแสงไม่ถึงสองพันบาท ลูกๆ หลานๆ ให้เงินและสิ่งของตามสมควร
ตอนลูกชายคนที่ 3 ซึ่งเป็นลูกคนสุดท้าย ลืมตาดูโลกไม่นาน พ่อแสงก็ไปทำงานยังประเทศแถบตะวันออกกลาง ตามกระแสนิยมตั้งแต่ราวปี ๒๕๑๘ และสืบเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ต่อมาเพลง “น้ำตาเมียซาอุ” (ปี ๒๕๒๙) โด่งดัง
ข้อมูลจากดุษฎี อายุวัฒน์ ในหนังสือ คนอีสานย้ายถิ่น สถานการณ์และผลกระทบ พบว่า “เวลานั้นประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตลอดจนมีการถอนทหารอเมริกาออกจากประเทศไทย ทำให้แรงงานไทยที่เคยทำงานในฐานทัพอเมริกาและกิจการที่เกี่ยวข้องต้องว่างงานลงจำนวนมาก รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงส่งเสริมให้จัดส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบียและบาห์เรน ในรุ่นแรกมีจำนวน ๙๘๔ คน”
พ่อแสงเดินทางไปทำงานถึงห้าประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ลิเบีย บาห์เรน บรูไน และสิงคโปร์ แต่ละประเทศอยู่ไม่ถึงปี บางประเทศอยู่ไม่ถึงเดือน ถึงแม้ถูกหลอกหลายครั้ง เช่น จ่ายเงินก้อนใหญ่ไปแล้วแต่ไม่ได้ขึ้นเครื่องบิน ถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง ทำงานแล้ว ๑-๒ เดือน ถูกจับส่งกลับประเทศไทยเนื่องจากเป็นแรงงานเถื่อน ทั้งหมดนี้ทำให้สูญเสียเงินและเป็นหนี้สิน ต้องขายที่ดิน วัวควาย แต่ก็ไม่เข็ดหลาบ จนถึงสิงคโปร์ประเทศสุดท้าย จึงยอมรับว่าถูกโกงจากนายหน้าและผู้จัดหางานที่ต่างประเทศ
ปัจจุบันกรมการจัดหางานกล่าวว่า “มีศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ทำหน้าที่ตรวจสอบ ป้องปราม และปราบปรามการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศมาโดยตลอด ซึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ผลการดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ – ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๕ มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อนแล้ว ๕๕ ราย หลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น ๗๐ คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน ๖,๗๓๕,๑๖๔ บาท”
กว่าพ่อแสงจะรู้สึกตัวสมบัติพัสถานก็ได้อันตรธานแทบหมดสิ้น และแม่สมบัตินับเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่มีค่าที่สุดของพ่อแสงในเวลานี้
“สิบห้าปีที่ไทเฮาห่างแดนดิน
จงเอ็นดูหมู่ข้าน้อย
ที่พลอยพรากบ้าน”
ท่อนหนึ่งในบทเพลง “ไทดำรำพัน” ที่ข้ามฝั่งโขงมาโด่งดังในประเทศไทย บอกเล่าอดีตแสนขมขื่นรันทดของคนไทดำที่ต้องอพยพหนีภัยสงครามเวียดนามกับฝรั่งเศส เป็นการเดินทางรอนแรมผลัดบ้านผิดเมืองมาอยู่ต่างแผ่นดิน สะท้อนสะเทือนใจถึงความพลัดพราก จากบ้านจากเมืองที่เคยอยู่สุขสบาย แล้วไปผจญภัยข้างหน้า
เช่นเดียวกับชีวิตของรัสนี เมื่ออายุ ๑๕ ปี เพิ่งผ่านจากเด็กหญิงมาเป็นนางสาวไม่นาน ก็ต้องจากบ้านเกิด ห่างจากอ้อมกอดของพ่อแม่พี่น้อง เดินทางไปทำงานเป็นสาวโรงงานรองเท้า เย็บผ้าห่ม ทำขนมปังในกรุงเทพฯ เพื่อหาเงินช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว จากการที่พ่อแสงถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ นับเป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ของลูกๆ สมัยนั้นที่เชื่อว่าลูกต้องกตัญญู สามารถดูแลพ่อแม่ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่
“ตอนมาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ เหงามาก เพราะไม่เคยจากบ้าน มาอยู่เมืองแสงสีที่ไม่คุ้นเคย ต้องมีงานมีเวลาบังคับ ไม่เหมือนตอนอยู่ที่บ้าน สบายๆ ไม่รีบ แม่ทำให้หมดทุกอย่าง คิดถึงบ้าน พ่อแม่พี่น้อง แต่ต้องอดทนทำงานเพื่อส่งเงินให้ทางบ้าน พอได้ยินเสียงเพลงไทดำรำพันมันเหมือนชีวิตของเรา ถึงแม้เนื้อเพลงจะเป็นการพลัดพรากบ้านเกิดเมืองนอนจากสงคราม แต่ชีวิตเราก็เหมือนกัน ต้องพรากจากบ้าน ยิ่งตอนช่วงเทศกาลเช่นปีใหม่ เพลงนี้ดังขึ้นเมื่อไหร่ เพื่อนๆ พี่ๆ ในโรงงานพากันเต้นตาม พาให้หายเหงาไปบ้าง”
เมื่อทำงานที่กรุงเทพฯ เกือบสิบกว่าปี อายุเฉียด ๓๐ ภาระทางบ้านเริ่มคลี่คลาย รัสนีจึงขออนุญาตพ่อกับแม่กลับมาทำงานโรงงานใกล้บ้าน
ในช่วงนี้เองมี “นายฮ้อย” หนุ่มจากต่างอำเภอที่มีอาชีพรับซื้อวัวและควายเพื่อไปขายต่อเข้ามาจีบ สนิทสนมคบหากันจนตกลงแต่งงานตามประเพณี ไม่ถึงปีก็ตั้งครรภ์และคลอดลูกสาวชื่อ “น้องตุ่น” แต่ด้วยอาชีพสามีที่เดินทางไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยได้กลับบ้าน ทำให้ความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาสั่นคลอน จนต้องแยกทางกันเมื่อน้องตุ่นอายุย่าง ๓ ขวบ ตั้งแต่นั้นมารัสนีในบทบาทแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ไปทำงานที่โรงงานใกล้บ้านเพื่อเลี้ยงชีวิต ครอบครัว และลูกสาว
ตอนนี้น้องตุ่นอายุ ๒๗ ปีแล้ว เพิ่งแต่งงานได้ ๓ ปี เปิดร้านอาหารกับสามีที่จังหวัดหนองคาย แต่ก็มาดูแลแม่ที่ป่วยหนักอยู่เรื่อยๆ ถ้าวันไหนไม่ได้อยู่กับแม่ ก็โทรศัพท์หรือ LINE ติดต่อคุยส่งข่าวกันทุก ๆ วัน
รัสนีกล่าวว่า “ชีวิตคู่ล้มเหลว เป็นทุกข์ที่มีรสชาติหลายหลาก ทำให้ทรงตัวลำบากพอควร เดินเซไปเซมาสะเปะสะปะ คิดหนักมาก ๆ จนหัวแทบระเบิด จะเลี้ยงลูกไหวมั้ย ตัวเองจะทำไงดี เอาภาระมาให้พ่อกับแม่อีก แต่ก็ผ่านไปด้วยดี ถู ๆ ไถๆ เลี้ยงลูกได้จนโต ดูแลพ่อกับแม่ได้ น้องตุ่นก็รักเรามาก ห่วงใย เอาเงินให้ใช้ ดูแลปรนนิบัติเราอย่างดี”
ความสุขของแม่สมบัติ
ความฝันแจ่มชัดของรัสนี
พระไพศาล วิสาโล กล่าวในหนังสือ เหนือความตาย จากวิกฤตสู่โอกาส ว่า “ความตายมีอยู่ในทุกชีวิตและทุกขณะของชีวิต น้อมรับความตายอย่างเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ความตายถือเป็นโอกาสที่จะหันมามองชีวิตในอีกมิติหนึ่ง เพื่อค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริง หลายคนหัวใจถูกเปิดกว้างขึ้น ในวันที่ได้รู้ว่าเวลาของชีวิตของตนบนโลกนี้เหลือน้อยลงทุกขณะ และพร้อมจะเปิดสายตาและหัวใจ เพื่อต้อนรับการมองเห็นและการรับรู้อย่างใหม่ และนั้นก็คือ ธรรม”
แม่สมบัติเล่าว่า “ถึงแม้บ้านของเราจะเก่าทรุดโทรม แต่สังเกตมั้ย แม้ใบมะขามสักใบบนลานบ้านแทบไม่มี บ้านเรือนต้องสะอาดเรียบร้อยมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นหนทางนำส่งลูกสาวไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้าที่มีแต่ความงดงาม สดใส สบายหู สบายตา สบายใจ
“ตอนแรกทำใจไม่ได้ ถ้าแลกชีวิตแม่ให้ลูกได้ก็พร้อม ความทุกข์มันก็ทำให้ค้นพบความสุข เข้าใจความตายว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่ได้ ความสุขคือได้ดูแลเขาและทำให้เขาไม่ต้องห่วงกังวลอะไร เพราะเขาทำหน้าที่ลูกได้ดีที่สุดมาก ๆ แล้ว” แม่สมบัติเล่าถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วก็หายไป ทั้งยังได้เห็นแง่ที่งดงามของความสุขในเรื่องราวเหล่านั้นด้วย
. . . . .
“ได้บอกลาทุกคน ขออโหสิกรรมทุกคนแล้ว ได้ยกมือไหว้ท่วมหัวขอบพระคุณพ่อกับแม่ทุก ๆ วัน ไม่มีห่วงอะไร ลูกสาวเขาก็สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเองแล้ว พยายามมีสติอยู่ตลอดเวลา ปล่อยวางทุกอย่างเหมือนกับตอนที่แม่มาลูบหัวทุกครั้ง อวยพรให้เจอแต่เรื่องดีงามสดใส ไม่ว่าจะเดินทางไปแห่งหนใด ความฝันซึ่งไม่รู้จะเป็นความจริงหรือไม่ ตอนนี้อยากเห็นหน้าหลานที่จะคลอดเดือนหน้า จะมีชีวิตอยู่ถึงน้องตุ่นคลอดมั้ย แค่คิดว่า จะเจอหน้าหลานก็มีความสุขแล้ว ถ้าไม่เห็นไม่เป็นไร ขอให้หลานเป็นตัวแทนความรักของยายต่อไปนะ” รัสนีเล่าด้วยสายตาเป็นประกาย แม้ลมหายใจจะอ่อนล้าสวนทาง
. . . . .
รัสนีจากครอบครัวและทุกคนที่รักอย่างสงบในช่วงบ่ายของวันหนึ่ง แม้ไม่มีโอกาสเจอหน้าหลานตามที่ตั้งใจและวาดฝันไว้ แต่ความรักจะเป็นสะพานเชื่อมสายใยความสุขให้กันและกันตลอดไป
ภายในใจแทบไม่มีความรู้สึกใด ๆ มีเพียงความว่างเปล่า เงียบสงบ อบอุ่น และเริ่มเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ ฝนเม็ดใหญ่ที่เคยกระหน่ำกลับนิ่งเงียบในอ้อมกอดของพื้นดิน
ความสว่างไสวเริ่มขีดเขียนระบายสีสันงดงามให้ท้องฟ้าจนมีชีวิตชีวาและชุบชีวิตสรรพสิ่ง เมื่อท้องฟ้าสาดแสงอ่อนโยนลอดผ่านมาทางหน้าต่าง
หมายเหตุ: ได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่เรื่องราวและรูปถ่ายจากบุคคลต้นเรื่องทุกท่านแล้ว