สุขที่ได้สร้าง
ก้าวย่างอย่างมั่นใจในโลกที่ไร้แสง
สุขหมุนรอบตัวเรา
ทีม PM2.5
เรื่อง : สุปราณี ศรีสวัสดิ์
ภาพ : ณัฐวดี หอมกุหลาบ
เมื่อคุณเดินบนถนนหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะใดๆ ก็ตาม อาจเคยเห็นคนพิการประเภทหนึ่งซึ่งใช้ไม้เท้าขาวนำทางหรือเดินไปกับผู้นำทาง
ใช่ค่ะ คนกลุ่มนี้คือผู้พิการทางการเห็น หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า คนตาบอด
แล้วรู้ไหมว่ากว่าคนตาบอดจะออกมาเดินบนถนนและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้นั้น พวกเขาต้องผ่านการเรียนรู้ทักษะใดบ้างและต้องใช้กำลังใจมากเพียงใด
วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับหนึ่งในผู้ที่ช่วยให้คนตาบอดกลับมายืนได้อีกครั้ง
ปฐมบทของครูสอนไม้เท้าขาว
“ก้าวซ้ายแตะขวา ก้าวขวาแตะซ้าย ถูกต้องค่ะ ค่อยๆ เดินแบบนี้เพื่อสร้างความคุ้นเคยนะคะ”
เป็นเวลากว่า ๒๐ ปีที่ถ้าใครบังเอิญเดินผ่านมาจะได้พบและได้ยินเสียงของครูณุชที่คอยดูนักเรียนด้วยความเอาใจใส่อยู่ตรงสะพานลอยที่เชื่อมระหว่างสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กับมหาวิทยาลัยมหิดล
ครูณุช - ณุชนาฎ โต๊ะดี เล่าว่า สมัยเรียนหนังสือต้องนั่งรถประจำทางไปเรียน เมื่อมองจากหน้าต่างรถโดยสารเห็นคนตาบอดที่เดินบนถนน ในใจก็คิดว่า
“คนกลุ่มนี้น่าสงสารจัง เขาจะดูแลช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไร”
จนกระทั่งปี ๒๕๓๘ เมื่อครูณุชเข้าทำงานที่วิทยาลัยราชสุดา (ชื่อในขณะนั้น) แล้วได้รับคัดเลือกให้เข้าอบรมหลักสูตรการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม โดยทางต้นสังกัดเชิญ Mr. Joseph F. Choffee ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สอน หลังสิ้นสุดการอบรม ครูณุชได้นำความรู้มาใช้สอนคนตาบอดโดยมีจุดมุ่งหมายว่า
“คนตาบอดต้องเดินได้อย่างปลอดภัย มั่นใจ และสง่างาม”
เมื่อถามครูณุชว่า ระหว่างสอนรู้สึกทุกข์ใจบ้างไหม ทุกข์ใจเรื่องอะไร และวางความทุกข์อย่างไร คำตอบที่ได้คือ
“ความทุกข์นั้นเกิดจากความห่วงใยต่อนักเรียน กลัวเขาเรียนจบแล้วไม่นำไปใช้และจะลืมสิ่งที่เราสอน ครอบครัวไม่ยอมรับให้คนตาบอดใช้ไม้เท้าหรือคนตาบอดเองไม่กล้าออกเดินทางไปที่ต่างๆ นานวันเข้าครูก็ทำใจได้และบอกตัวเองว่า ได้แค่ไหนก็แค่นั้น”
“อะไรคือสิ่งที่ครูประทับใจในการสอน?”
“มีนักเรียนคนหนึ่งป่วยด้วยโรคไข้สมองอักเสบ ตอนหายใหม่ๆ เขายังเดินไม่ได้ ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอยู่ที่บ้านถึง ๒ ปี แต่หลังจากมาเรียนกับครูจนจบหลักสูตร เขานำทักษะทุกอย่างไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันจนปัจจุบันเป็นบุคลากรทำหน้าที่ฟื้นฟูด้านเทคโนโลยีให้คนตาบอดที่ราชสุดาด้วยค่ะ” ครูณุชเล่าด้วยความภาคภูมิใจ
“พอจะบอกได้ไหมคะว่าเขาเป็นใคร มีที่มาอย่างไร”
“ได้ค่ะ” ครูณุชเริ่มเล่าถึงนักเรียนที่ประทับใจ
“เจน” ชัยเดช ติวเตอร์หนุ่มอนาคตไกล ชีวิตการงานกำลังไปได้ดี เขาตั้งใจทำงานเต็มที่เพื่อสร้างครอบครัวให้มั่นคงยิ่งขึ้น แต่แล้วไข้สมองอักเสบก็มาดับความหวัง
เขาสูญเสียการมองเห็น จมูกไม่ได้กลิ่น หูขวาได้ยินไม่ชัด มีปัญหาการเคลื่อนไหว กว่าจะฟื้นฟูตนเองและปรับสภาพจิตใจให้ยอมรับกับการตาบอดต้องใช้เวลาถึง ๒ ปี ระหว่างนั้นครอบครัวและเพื่อนๆ เป็นกำลังใจสำคัญมากในการเตรียมความพร้อมร่างกายเพื่อเรียนรู้บทเรียนใหม่กับโลกที่ไร้แสง
เจนเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพเมื่อปี ๒๕๔๙ เหตุผลที่เลือกที่นี่เพราะใช้การฝึกระยะสั้นรวมจบทุกหลักสูตรในเวลา ๓ เดือน ขณะที่หากไปฝึกที่อื่นต้องใช้เวลา ๒ ปี และต้องฝึกอาชีพเพิ่มด้วย ซึ่งเขาไม่สนใจ เนื่องจากต้องการเป็นติวเตอร์วิชาเคมีและคณิตศาสตร์ให้ความรู้กับนักเรียนเหมือนก่อนจะตาบอด
หลังจากโทรฯ ติดต่อประสานงานและนัดวันพบครูณุชซึ่งเป็นผู้สอนหลัก ได้พูดคุยเรื่องการเรียนและข้อควรปฏิบัติ รวมถึงประเมินการมองเห็นและสภาพจิตใจเรียบร้อยก็ถึงเวลาเรียนจริงๆ
“แล้วที่นี่พี่เจนได้เรียนรู้อะไรบ้างคะ”
“เรียนทักษะการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม หรือ O&M (Orientation & Mobility)”
ครูณุชให้ความหมายว่า เป็นกระบวนการหรือวิธีทางการเห็น ให้รู้จักใช้ประสาทสัมผัสที่เหลืออยู่ ได้แก่ สายตาบางส่วน (คนสายตาเลือนราง) การฟังเสียง การสัมผัส การดมกลิ่น รวมทั้งประสบการณ์เดิม เพื่อให้ตระหนักว่า ตนเองอยู่ที่ไหน สภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นอย่างไร และสัมพันธ์กันตนเองอย่างไร เพื่อให้สามารถเดินทางไปสถานที่ที่ต้องการอย่างสะดวก รวดเร็ว สง่างาม ปลอดภัย มั่นใจ และอิสระ ซึ่งเรียกว่าเป็น
“การเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ”
เดินทางอย่างไร
ในโลกที่ไร้แสง
เจนค่อยๆ เล่าสิ่งที่เขาเรียนมาทีละหลักสูตร เริ่มต้นจากการเดินทาง การฝึกเดินเลาะแนว การป้องกันส่วนบน-ส่วนล่าง การเดินกับผู้นำทาง การหาสิ่งของที่ทำหล่น การใช้ไม้เท้าเดินไปตามที่ต่างๆ เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า ใช้บริการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
การทำกิจวัตรประจำวัน การเรียนคอมพิวเตอร์ร่วมกับโปรแกรมอ่านจอภาพ การฝึกทักษะการใช้อักษรเบรลล์ขั้นพื้นฐาน
ระหว่างเรียนมีผู้ให้คำปรึกษาเข้ามาพูดคุยเพื่อปรับสภาพจิตใจควบคู่กัน
เจนเล่าว่าการเดินกับผู้นำทางนั้น ผู้นำทางจะใช้หลังมือแตะแขนคนตาบอดให้สัญญาณเริ่มเดิน คนตาบอดจะเดินตามผู้นำทางประมาณครึ่งก้าว มือของผู้ตามจับเหนือข้อศอกผู้นำทางเป็นลักษณะตัว C โดยผู้นำทางปล่อยแขนตามปรกติ หากต้องเดินผ่านที่แคบผู้นำทางจะนำแขนข้างที่คนตาบอดจับข้อศอกอยู่ไปไพล่หลัง เป็นสัญญาณให้มาเดินด้านหลังโดยมือของผู้ตามจะเลื่อนลงมาจับเหนือข้อมือของผู้นำทาง เมื่อสิ้นสุดทางแคบผู้นำทางจะขยับแขนมาไว้ข้างลำตัวเช่นเดิม หากต้องขึ้นหรือลงบันไดผู้นำทางจะหยุดเป็นสัญญาณว่าต่อไปจะขึ้นหรือลงบันได
“ช่วงเรียนพี่เจนประทับใจตอนไหนมากสุดคะ”
“คงเป็นตอนที่ครูณุชให้กลับบ้านเองครับ ก่อนจะมาเรียนพี่ไม่ได้ออกจากบ้านเลย หรือถ้าออกไปคนแถวนั้นก็ถามตลอดว่าทำไมคนในบ้านไม่พามา พอครูณุชให้ลองกลับบ้าน เหมือนได้ติดปีกเลย ครูณุชจะให้เล่าวิธีเดินทางคร่าวๆ แล้วก็ซักซ้อมแผนการเดินทาง
“ครูณุชช่วยสร้างความมั่นใจให้พี่กล้ากลับบ้านเอง มีครั้งหนึ่งพอพี่เดินไปถึงหน้าบ้าน แม่ถามใหญ่ว่ามาได้ยังไง” ท่าทางแม่ตื่นเต้นมาก พี่เจนเล่ายิ้มๆ
ครูณุชซึ่งแอบติดตามเพื่อสังเกตการเดินทางของเจน เล่าว่า นั่งรถโดยสารประจำทางตามเจนอย่างห่างๆ จนถึงบ้าน และหลังจากเปิดเผยตัวกันเรียบร้อย เจนก็พาครูณุชไปกินข้าวที่ร้านประจำในตลาด ลุงเจ้าของร้านที่เห็นเจนเดินโดยใช้ไม้เท้านำทางก็เอ่ยทักด้วยความดีใจสุดขีดว่า
“เอ้าเจน มองเห็นแล้วเหรอ ถึงเดินมาได้ถึงนี่”
เจนยิ้ม ครูณุชก็ยิ้มอย่างเป็นสุข และภูมิใจว่าเจนไม่รู้สึกอายที่ต้องใช้ไม้เท้านำทาง
ใช้ชีวิตประจำวัน
อย่างไรในโลกมืด
นอกจากฝึกใช้ไม้เท้าขาวเพื่อทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมแล้ว การทำกิจวัตรประจำวัน (activities daily living) ก็ถือเป็นอีกบทเรียนซึ่งสำคัญไม่แพ้บทเรียนแรก เพราะทำให้ผู้เรียนช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น ทำความสะอาดบ้าน เลือกเสื้อผ้า รินน้ำ ทำอาหาร เสียบปลั๊กไฟ หรือแม้แต่ตรวจสอบมูลค่าธนบัตร เมื่อหยิบธนบัตรใบหนึ่งส่งให้เจนและถามว่า
“นี่แบงก์อะไรคะ” เจนนำแบงก์พับครึ่ง แล้วเสียบระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลาง วัดขอบแบงก์กับปลายนิ้ว แล้วตอบ
“ใบร้อยครับ”
ด้วยความสงสัยจึงถามต่อว่า
“รู้ได้ไงคะ”
“เพราะแต่ละแบงก์มีความยาวไม่เท่ากัน แบงก์ยี่สิบมีขนาดสั้นสุดและแบงก์พันยาวสุดครับ ครูสอนวิธีนี้ให้ใช้ตรวจสอบ”
สำหรับทักษะการใช้อักษรเบรลล์ขั้นพื้นฐาน เจนเล่าว่าต้องการเรียน เพราะอยากทราบว่าคนตาบอดอ่านและเขียนหนังสือได้อย่างไร แต่อักษรเบรลล์อ่านยาก อาจเพราะมือเจนที่ชาเนื่องจากตอนป่วยจึงไม่ประสบผลสำเร็จในการอ่าน ทว่าเขาสามารถจดจำและใช้อักษรเบรลล์คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ดี
ส่วนการเรียนคอมพิวเตอร์ร่วมกับโปรแกรมอ่านจอภาพ ตอนแรกเจนคิดว่าตาบอดแล้วจะใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างไร แต่พอเรียนการพิมพ์สัมผัสและใช้คำสั่งจากปุ่มคีย์บอร์ด บวกกับที่เขาศึกษาและต่อยอดความรู้ด้านนี้ ทำให้เจนใช้คอมพิวเตอร์ได้เหมือนก่อนตาบอด และยังได้ทำงานในตำแหน่งนักเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่สถาบันราชสุดา มีหน้าที่แนะนำการใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน แก่คนตาบอดหรือคนทั่วไปที่สนใจ รวมถึงได้รับเชิญเป็นวิทยากรจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในค่าย Global IT Challenge for Youth with Disabilities (GITC) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจากต่างประเทศ เพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนพิการได้แสดงความสามารถด้าน IT
เจนยังใช้พื้นความรู้เดิมด้านเคมีและคณิตศาสตร์เป็นจิตอาสาสอนนักเรียนตาบอดที่โรงเรียนธรรมิกวิทยา จังหวัดเพชรบุรี และเป็นวิทยากรประจำค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอด ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และเครือข่าย
สุขอยู่ที่ใดในการสอนของครู
ครั้งหนึ่งครูณุชเห็นเจนถือไม้เท้าขาวที่ปลายไม้สึกจนเห็นเส้นยางและตัวไม้คดงอ เธอเกิดความรู้สึกดีใจมากที่นักเรียนนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและเดินทางได้เองอย่างสง่างาม และจากไม้เท้านี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เจนกลับมาสร้างครอบครัวของเขาให้มั่นคงอีกครั้ง
ครูณุชเล่าว่า เมื่อใดเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหรือท้อแท้ใจ พอมองเห็นเจนตั้งใจเดินไปที่ใดก็ตาม ก็ทำให้เธอมีกำลังใจลุกขึ้นสู้กับอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาได้เสมอ อีกทั้งประสบการณ์จากเจนและนักเรียนคนอื่นๆ ยังเปรียบเสมือนครูของครูณุชเช่นกัน
ปัจจุบันครูณุชและเจนถือเป็นกำลังสำคัญของสถาบันราชสุดาในการส่งแสงสว่างแก่คนตาบอดให้กลับมาใช้ชีวิตได้เองอีกครั้งภายใต้ความมืดมิดที่ต้องเผชิญ
ทุกครั้งที่ทั้งคู่ได้ยินข่าวว่าลูกศิษย์ที่พวกเขาสอนนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์เต็มที่ และส่งต่อความรู้และทักษะการใช้งานแก่คนอื่นๆ รอยยิ้มเปี่ยมสุขของผู้เป็นครูก็เปล่งประกายสดใส
แล้วคุณล่ะคะ รู้สึกอย่างไรเมื่อพบคนตาบอดเดินอยู่บนถนนหรือทำกิจวัตรตามสถานที่ต่างๆ
ขอขอบคุณ
เจน ชัยเดช นักเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ณุชนาฎ โต๊ะดี นักวิชาการศึกษา (ผู้ชำนาญการพิเศษ) สาขาบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการเห็น สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์แฉล้ม แย้มเอี่ยม
คู่มือแนวทางปฏิบัติงานการจัดบริการทักษะการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว สำหรับคนพิการทางการเห็น