Image

Owning Her Own Story :
บันทึกช่วยชีวิต

สุขหมุนรอบตัวเรา

ทีมปูแดง
เรื่อง : วนิสา พัดศรี
ภาพ กุลระวี สุขีโมกข์

สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ๑๙ อย่างหนักระลอกแรกในประเทศเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง

เป้ คือหนึ่งในคนนับล้านที่มีชีวิตอยู่เพื่อต่อสู้กับความหวาดกลัว ความไม่รู้ ตะเกียกตะกายหาแสงที่ปลายอุโมงค์ ถึงแสงริบหรี่ได้ถึงวันพรุ่งนี้ก็ยังดี

ขณะนั้นเธอทำงานลงพื้นที่ในฐานะนักข่าวภาคสนามบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสระแก้ว ด้วยความรู้สึกสับสน เธอจึงหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนระบายความรู้สึก พร้อมตั้งคำถามว่า “ชีวิตคืออะไร” ถึงแม้ยังไม่อาจหาคำตอบได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ค้นพบคือ “การเขียน” ช่วยเยียวยาความรู้สึกได้

และนี่คือจุดเริ่มต้นการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ รอบตัวมาจนถึงทุกวันนี้

 แรงบันดาลใจในการเขียน เธอเล่าว่าได้จากคุณพ่อ การจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอของพ่อในฐานะนักข่าวอยู่ในสายตาเธอมาตั้งแต่เด็ก ของขวัญที่ได้รับก็เป็นสมุดที่พ่อบรรจงเขียนบรรยายเพื่อเปิดเล่ม ด้วยข้อคิดในการใช้ชีวิตแก่ลูกสาว ทำให้เธอซึมซับความรักการเขียน และจดบันทึกบ้างเป็นครั้งคราว ก่อนจะถึงจุดเปลี่ยนในครานั้น

“ชอบจดบันทึกมาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะติดกับความสมบูรณ์แบบ เลยไม่ค่อยทำ บางทีจดปีละครั้ง การจดบันทึกคือการปลดล็อกความรู้สึกลึกๆ ในใจ ถือว่าบรรลุเป้าหมายเรื่องหนึ่งในชีวิต เพราะได้ทำจริงจังสักที หลังผ่านเหตุการณ์โควิดมาได้”

คำบอกเล่าจากปาก “เป้”- กัลยาวีร์ คล้ายแววหงษ์ นักจดบันทึก และแม่ของเด็กชายวัย ๑ ขวบ ที่พูดพลางหยิบไดอารี่ต่างสี ต่างขนาด และต่างเรื่องราว พร้อมแววตาเปี่ยมพลัง และใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดการสนทนา

บรรยากาศพูดคุยวันนั้นค่อนข้างเป็นกันเอง ผู้เขียนรับฟังเรื่องราวที่เป้ถ่ายทอดถึงแรงบันดาลใจขณะมือก็พลิกกระดาษที่อัดแน่นด้วยความทรงจำอย่างแผ่วเบา ความรู้สึกที่ถูกกลั่นกรองและร้อยเรียงอยู่ในไดอารี่ ผู้เขียนรู้สึกเหมือนกำลังเล่นรถไฟเหาะ บางช่วงราวอยู่บนจุดสูงสุดของโลก และบางช่วงก็ดำดิ่งจนไม่รู้ว่าถ้าตกอยู่สถานการณ์นั้นจะตัดสินใจอย่างไร

จุดเปลี่ยนในการเขียนบันทึกเป็นช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ๑๙ ราว ๓ ปีก่อน ชีวิตต้องพบเจอความรู้สึกโดดเดี่ยว โกรธ และหวาดกลัวกับวิกฤตของคนวัยใกล้ ๓๐ ปี ที่เรื่องราวหลายอย่างประดังประเด ขณะสมองก็เอาแต่คิดว่าทำไมฉันยังไม่มี ยังไม่เป็น ยังไม่ทำ ราวกับชีวิตหลังวัย ๓๐ ปีไม่มีอยู่จริง

ตอนนั้นรู้สึกว่า “ไดอารี่คือเพื่อน” เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ระบายทั้งเรื่องดี-ร้าย ทำให้เธอกล้าเผยความรู้สึกแท้จริง

Image

หรือความสำเร็จ
จะเป็นกับดักสาว ๓๐?

หนึ่งในความฝันของ ด.ญ. เป้ คือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทว่าการนำตัวเองไปสู่จุดนั้นคือการเรียนต่อ แต่เป้ในวัยทำงานกลับลังเลว่าจะเดินไปจุดไหน แรงบันดาลใจในการเรียนคืออะไร ถามตัวเองซ้ำๆ จนต้องตัดใจปล่อยมันไป รู้สึกสูญเสีย ว่างเปล่า และหลงทางในเวลาเดียวกัน

เป้รักอาชีพนักข่าว เธออยากเขียนข่าว ลงพื้นที่ และพบเจอผู้คน ไม่ได้อยากแบกรับความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้า หรือปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น เงินเดือน ความมั่นคงทางอาชีพ ที่ขณะนั้นเธอยังเป็นนักข่าวอิสระ เมื่ออายุถึงจุดหนึ่งที่คนรอบตัวตั้งค่าความสำเร็จว่าต้องมีเงิน มีบ้าน มีรถ แต่เธอกลับไปไม่ถึงแม้ความฝันเดียว รวมทั้งอาชีพนักข่าวที่ออกไปทำข่าวในพื้นที่ต่างๆ ก็ชะงักลง เพราะสถานการณ์โควิด ๑๙

เป้ตัดสินใจปลดระวางความรู้สึกที่ทิ่มแทงผ่านการเขียนอย่างเป็นกิจวัตร ลายเส้นที่คมหนักเปรียบเสมือนความหนักอึ้งในความรู้สึก จำนวนตัวอักษรที่บรรจงขีดเขียน เปรียบดั่งจำนวนครั้งในการย้ำคิดย้ำทำ ย้อนคิดถึงความล้มเหลวของตัวเอง

“ตอนนั้นไม่อยากเป็นหัวหน้า คือเราอยากเป็นนักข่าวที่ลงไปทำข่าว แต่ด้วยงานเราไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะเงินเดือนอาจไม่ขึ้น แล้วสถานะจ้างงานของเราเป็นฟรีแลนซ์ ก็ถามตัวเองว่า ทำไมต้องเป็นทางนี้ตลอด ทำไมไม่เลือกเป็นพนักงานประจำที่มีประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จนอายุเท่านี้แล้วเราจะตั้งตัวได้ไหม”

เมื่อถ่ายทอดความรู้สึกผ่านตัวอักษร เป้เริ่มสบายใจ เพราะได้ปลอบประโลม ตั้งคำถาม และทบทวนตัวเองทุกๆ วัน จนถึงจุดหนึ่งที่เธอย้อนกลับมาอ่าน จึงหากุญแจเพื่อปลดล็อกความยึดติดที่อยู่ในใจมาตลอด และค่อยๆ ไขความรู้สึกเหล่านั้นออกทีละปม หากค้นพบว่าไม่ใช่คำตอบ ก็จะเยียวยาด้วย “การยอมรับตัวเอง”

Image

เข้าใจตัวเองมากขึ้น
จากการเขียนจนเป็นกิจวัตร

“เราก็มองต่างจากเดิม หลังจากที่เขียนซ้ำๆ มาหลายรอบก็เริ่มเอ๊ะว่า ทำไมต้องยึดติดเรื่องนี้ คือเรายังหลุดไม่ได้ แต่ก็พอเห็นแล้วว่า ปัญหาชีวิตเราวนเวียนแค่สี่ห้าเรื่อง แสดงว่าเราต้องลงมือจัดการ ถ้าไม่ทำก็จะคิดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ แล้วจะมีความหมายอะไร...เลยลองไปสอบภาษาอังกฤษ สอบชิงทุนเรียนต่อ ไปทำฟัน ผ่าฟันคุด เหมือนได้กลับมาทำอะไรกับตัวเองมากขึ้น ช่วงสิ้นปีก็ซื้อคอนโดฯ ทั้งที่ไม่เคยอยู่ในแผน แต่ต้องการให้ตัวเองประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง”

“คือไม่ได้หมายความว่าเราอยากมีบ้านขนาดนั้น แต่สิ่งที่ต้องการคือไปเรียนต่อ ซึ่งตอนนั้นจะไปเรียนต่อก็ไม่ได้ เลยตัดสินใจทำในสิ่งที่สามารถทำได้แต่ซื้อคอนโดฯ แล้วก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แต่ทำเพราะที่ผ่านมาจ่ายค่าหอพักมาเป็น ๑๐ ปีแล้ว”

หลายครั้งเธออดเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างไม่ได้ บางครั้งก็นึกย้อนถึงวัยเยาว์ที่จินตนาการถึงตัวเองในวัย ๓๐ ปีว่าคงได้มี ได้เป็น และทำสิ่งต่างๆ ตามคาดหวัง ทว่าภาพฝันกลับแตกต่างสิ้นเชิงกับภาพความเป็นจริง
เชื่อว่าหลายคนที่ย่างเข้าสู่ช่วงวัยนี้คงมีความรู้สึกที่ขอนิยามว่า กับดักสาว ๓๐

“ช่วงอายุ ๒๗-๒๘เริ่มรู้สึกว่าชีวิตกำลังจะแตกดับ ตอนอายุ ๓๐ ปีเป็นช่วงโควิดพอดี ก็เต็มไปด้วยคำถามว่าทำไมเรายังไม่ได้เรียนต่อ ทำไมเราไม่มีเวลาทำในสิ่งที่อยากทำ สุดท้ายคิดได้ ก้าวข้ามกับดักที่สร้างขึ้นเอง ปลุกปลอบตัวเองให้ลุกขึ้นทำในสิ่งที่อยากทำ”

Image

Do or not do.
There’s no try.

การจดบันทึกเป็นหนึ่งในเป้าหมายชีวิตของเป้ และการนำมาซึ่งความสำเร็จคือทำเป็นกิจวัตร ถ่ายทอดได้ทุกอารมณ์ความรู้สึก แต่ช่วงแรกของการบันทึกนั้น เธอยังติดหล่มความสมบูรณ์แบบ การเริ่มต้นจึงวนเป็นวงกลม นับหนึ่งใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความสำเร็จห่างไกลจากความคาดหวัง แต่ทุกเหตุการณ์มีจุดเปลี่ยนเมื่อถึงวันที่เธอพร้อมสละคำว่า “สมบูรณ์แบบ”

เธอเปรียบเทียบการจดบันทึกเหมือนการวิ่งมาราธอน ต้องวิ่งให้เกิดความเคยชิน ทำจนเป็นนิสัย ถ้าอยากเขียนก็แค่เขียน ไม่มีอะไรต่างกัน เพราะจุดร่วมของทั้งสองสิ่งคือความต่อเนื่อง

“พอเริ่มเขียน ปัญหาคืออยากให้สมบูรณ์แบบ ประดิษฐ์ให้สวยทุกหน้าทุกคำ...พอไม่เพอร์เฟกต์ (สมบูรณ์แบบ) ก็ฉีกออก ซึ่งตอนหลังคิดว่าคงไม่เป็นไร ทำให้เขียนได้เยอะขึ้นและต่อเนื่อง ความต่อเนื่องสำคัญมาก”

เขียนให้ลึกลงไป
เพื่อรับรู้ตัวตนของตัวเอง

ก่อนหน้านี้เป้คิดว่าเธอไม่สมควรได้รับในสิ่งที่ชอบ จึงกดดันตัวเองด้วยคำพูดว่าไม่คู่ควร กระทั่งการเขียนบันทึกคือความเคยชิน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การร่ายถ้อยคำลงบนกระดาษ แต่งแต้มสีสันด้วยความรู้สึกที่พบพานในแต่ละวัน ทำให้เธอเข้าใจตัวเองลึกซึ้งขึ้น และรักตัวเองมากพอที่จะไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น

ความรู้สึกที่ค้นพบว่าคุณเป็นตัวของคุณเอง และการยอมรับความจริง เกิดหลังจากเป้อ่านบันทึกย้อนหลัง ทำให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป

“อย่างเรื่องกลัวอายุ ๓๐ ปี เราไม่เคยบอกใคร หรือเรื่องความอิจฉา เมื่อก่อนเราจะเขียนว่ารู้สึกแย่ แต่ตอนนี้เขียนเลยว่าอิจฉา เราจะไม่ใช้ว่า วันนี้รู้สึกดีจังหรือแย่จัง แต่จะระบุละเอียดลงไป อย่างวันนี้ปลาบปลื้ม ซาบซึ้ง มีความสุข หรือถ้ารู้สึกแย่ ก็ระบุว่าแย่เพราะอาย คือถ้าลงรายละเอียดได้มากเท่าไหร่จะเป็นผลดีแก่เรา...หลายครั้งที่รู้สึกแย่มากๆ ก็จะเขียนระบายเลยโดยไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง ได้ให้กำลังใจตัวเอง เป็นสิ่งที่อยากทำมาทั้งชีวิต”

Image

จักรวาลการเขียน

เมื่อถามถึงวิธีแก้เครียด เป้มองว่าไม่มีวิธีใดดีที่สุด เพราะแต่ละคนมีแนวทางของตัวเอง แต่สำหรับเป้การเล่าเรื่องให้ใครสักคนฟังคือการระบาย แต่หลายครั้ง เธอรู้สึกเหมือนถูกตัดสินจากคนอื่น จึงเลือกคุยกับตัวเอง

วิธีต่อมาคือดูภาพยนตร์ เพื่อขยายขอบเขตความคิดที่แตกต่าง ได้ทำความเข้าใจผู้อื่น และย้อนกลับมาเข้าใจตัวเอง

วิธีการสุดท้าย คือฟังเรื่องราวคนอื่น การฟังสัมภาษณ์ผ่านพอดแคสต์ ยูทูบ จะได้รู้จักชีวิตหลากหลาย ตอกย้ำสัจธรรมว่า แต่ละคนเป็นเจ้าชีวิตของตัวเอง

จากความสำเร็จแรก ทำให้เป้ต่อยอดสู่เป้าหมายอื่นๆ ที่เคยวางไว้ได้ การวาดภาพประกอบ การทำสติ๊กเกอร์ไลน์ที่ช่วงหนึ่งไม่ใช่แค่งานอดิเรก ช่วยสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ นอกจากนี้เธอเริ่มฝึกทักษะด้านภาษาตามความฝันของตนเอง

“จริงๆ การเขียนไดอารี่กับทำไลน์สติกเกอร์ มันเริ่มคล้ายๆ กันนะ เราต้องไม่คาดหวังว่าจะต้องสมบูรณ์ตั้งแต่แรก ปล่อยไปเลยว่าจะไม่สวย แต่ความรู้สึกที่เราต้องการหลังจากนั้น คือฉันได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่รู้สึกค้างคา ไม่ผัดวันประกันพรุ่งแล้ว ก็คงมีวันที่เราทำสวยขึ้น แต่พอดูภาพรวมแล้ว เราชอบ มีความสุข อันนี้คือความสุขของพี่มากเลย”

ตลอดบทสนทนาผู้เขียนได้ขบคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาในชีวิต ทบทวนเป้าหมาย มันอาจใหญ่เกินจะเล่าให้ใครฟัง แต่ควรเริ่มจากคำว่า “ลงมือทำ”

ความสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ ทำสิ่งนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงจะเป็นก้าวเล็กๆ แต่ก็เป็นหมุดหมายอันดีที่ได้เริ่มต้น แม้หมุดหมายจะล้ม ก็สร้างใหม่ต่อไปเรื่อยๆ โดยระหว่างทาง เราต้องโอบรับทุกความรู้สึกและไม่โทษตัวเอง

คำถามสุดท้ายที่ใจร้ายสุดของผู้เขียน คือ ถ้าทุกสิ่งที่เธอทำอันตรธานไปโดยไม่ทันตั้งตัวจะรู้สึกอย่างไร เธอก็ยังยืนยันหนักแน่นด้วยคำว่า “การยอมรับ”

“เวลาย้อนกลับไปอ่านบันทึก ทุกเรื่องราวในนั้นสะท้อนตัวตน เหมือนมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ถ้าไฟไหม้แล้วหายไปคงแบบ...ในมุมหนึ่งคิดว่าต้องทำใจและยอมรับให้ได้”

Image